มหาวิทยาลัยชีวิต (2) : แรงบันดาลใจ (บรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ)


"ครูที่ไม่พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนระหว่างเรียนเหมือนคนตีเหล็กเย็น ตีเท่าไหร่ก็ไม่แบนซักที การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนก็เหมือนการตีเหล็กร้อน คือทำให้เขามีความรู้สึกที่ดี มีความพร้อม เขาก็จะเปลี่ยนแปลงได้"

 

 

การบรรยายพิเศษ

ในการอบรมอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ประจำวิชา และอาจารย์พิเศษ

โรงแรมแม็กซ์ วันที่ 13 มิถุนายน 2554

โดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ

อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

 

 

     เราอยากจะเรียนรู้ต่อเนื่องว่าจะจัดการเรียนรู้แบบไหน มันจึงสมควรที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต เราจะสร้าง Benchmark หรือว่ามาตรฐานเทียบเคียงใหม่ได้อย่างไร ว่าอะไรที่มันเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อชุมชนต้องมาเรียนที่นี่ ต้องมาดูที่นี่ เหมือนที่ซีพีตั้ง Benchmark ของอาหารนั่นละครับ เราก็ตั้ง benchmark ของการศึกษาเพื่อชุมชน อาจารย์ก็รู้อยู่แล้วว่าสถาบันนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสาธารณะประโยชน์ไม่ใช่ของผม อาจารย์อย่าคิดว่าเป็นของผมเหมือนมหาวิทยาลัยทั้งหลายนะครับที่เป็นของครอบครัวนั้นครอบครัวนี้ ผมมีส่วนร่วมในการก่อตั้งก็จริงแต่ผมไม่ได้มีหุ้นเลยซักบาทเดียว สถาบันนี้ก่อตั้งขึ้นมาโดยมูลนิธิ มูลนิธินี้ก่อตั้งขึ้นมาโดยสี่ภาคี ประกอบด้วยมูลนิธิหมู่บ้านโดยคุณหมอประเวศ วะสี และผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ไปเชิญ ปตท. ธกส. สวทช. มาร่วมกันตั้งมูลนิธิชื่อ ‘มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน’ ตอนแรกมูลนิธินี้ก็ทำงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วันดีคืนดีเราก็เลยเห็นว่า ความรู้ดีๆ เหล่านี้ทำไมเราไม่นำมาผ่านสถาบันอุดมศึกษาด้วย ก็คือที่มาของมหาวิทยาลัยชีวิตนั่นล่ะครับ และมูลนิธินี้ก็คือเจ้าของของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนนี่ล่ะครับ ซึ่งก็มีกรรมการที่มี คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน แล้วก็มี ดร.ศักรินทร์ จาก สวทช. มีคุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ จาก ธกส. เป็นกรรมการในมูลนิธิ และกรรมการอีกหลายๆ ท่าน มีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการกิติมศักดิ์ เพราะฉะนั้นนี่คือองค์กรสาธารณะประโยชน์ และเราก็ขออนุมัติมาตั้ง 2 ปี 8 เดือน กว่าจะได้รับอนุมัติ เนื่องจากว่าไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรเพราะประหลาดกว่าชาวบ้าน แต่สุดท้ายก็รู้ว่านี่คือสถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชน ที่เรียกว่า UFC (University for Community) สถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชนแปลว่าอะไร แปลว่า สถาบันนี้เน้นการศึกษาเพื่อให้คนในท้องถิ่นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน เป็นการศึกษาทางเลือกให้ผู้คนเลือกอยู่ในท้องถิ่นได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนเราถึงต้องเรียนในชุมชน เรียนในท้องถิ่น และเราก็ตั้งใจอย่างนั้น ... (เปิดวิดีโอแนะนำสถาบัน)


     ในโลกวันนี้ที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว การศึกษาเราไม่ได้ช่วยที่จะสามารถทำให้คนปรับตัวได้ ‘ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด ที่จะอยู่รอดได้ แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุดต่างหาก’ ชาร์ล ดาวินพูด วันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมากครับ เราไม่อยู่ในยุคเกษตร เราไม่ได้อยู่ในยุคอุตสาหกรรมอีกแล้ว เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร อาจจะยุคหลังข้อมูลข่าวสารด้วยซ้ำไป ในยุคนี้ถ้าเราไม่ปรับตัวเราก็จะอยู่ไม่ได้ ถามว่าทำไมวันนี้เมืองไทยถึงอยู่แบบนี้ เพราะว่าเราปรับตัวไม่ได้ เรามีดิน มีน้ำ มีแดด แต่ปรับตัวไม่ได้ เราอยู่ในสภาพที่นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรทั้งๆ ที่มีทุกอย่างที่สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง ประเด็นปัญหาของเรา มันไม่ใช่เพราะเราจนทรัพยากร จนเงิน จนแรงงาน แต่เราจนปัญญา และสังคมเรามันเหมือนมีทางเลือกเดียว เหมือนกับที่พี่น้องเครือข่ายฮักเมืองน่านเค้าบอก “วันนี้พวกหมู่เฮาเหมือนหมาบนทางด่วน” ลองนึกภาพดูว่าเราจะลงอย่างไร ไปไหนก็กลัวรถทับ วันนี้เราถูกต้อนขึ้นบนทางด่วน ชาวบ้านมีทางเลือกเดียว สถาบันนี้อยากจะช่วยให้พี่น้องชาวบ้านได้ปรับตัวได้ เพราะที่มาของมหาวิทยาลัยชีวิตมาจากชุมชนที่เค้าปรับตัวได้ครับ มีคนเป็นหนี้ที่เค้าแก้หนี้ได้ เราก็ไปเรียนรู้จากเค้า มีชุมชนที่เคยอ่อนแอมีปัญหาอย่างเช่นที่ไม้เรียงที่เคยเป็นแดนสนธยา ที่มีแร่วูลแฟรมที่ต้องฆ่ากันตายเพื่อแย่งสมบัติ วันดีคืนดีพอมันปิดจึงเริ่มเรียนรู้และก็กลายมาเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง โดยมีลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซเป็นผู้นำ มีชุมชนอย่างอินแปงที่ถางป่ากันจนเตียนไปหมด จนไม่มีข้าวกินต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่วันดีคืนดีเค้าก็ฟื้นฟูชีวิตของเขา ฟื้นฟูธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชนของเขาจนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ เราก็ไปเอาความรู้เหล่านี้มาประมวล มาสังเคราะห์ พัฒนาให้เป็นหลักสูตรแล้วนำไปให้พี่น้องชาวบ้านได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้แบบนี้จึงเป็นการเรียนรู้ที่เอามาจากปัญญาของคนที่เค้าปรับตัวได้ อยู่รอดได้ หนังสือตำราบางทียังไม่ใช่คำตอบ ไม่ได้ทำให้ผู้คนสามารถที่จะอยู่รอดได้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมมา ท่านลองนึกดู 50 ปีมาแล้วที่เราใช้เงินนำหน้าปัญญาตามหลังมาตลอด ในสังคมแบบนี้จะทำอย่างไรให้พี่น้องชาวบ้านมีทางเลือกที่จะเรียนรู้จะได้อยู่รอดได้ เราต้องคิดแตกต่าง เหมือนลุงที่อยู่ที่ภูวาน สมัยนั้นที่ผมไปถามแกว่า “ทำไมลุงไม่เป็นหนี้ คนอื่นเค้าเป็นกันหมดทำไมลุงไม่เป็นหนี้ มีเคล็ดลับอะไรไหมบอกผมหน่อยผมจะได้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง” ลุงบอกไม่มีเคล็ดลับ หนี้ก็ไม่มี ลุงมีแต่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอด ปีไหนถ้ารู้ว่ารัฐท่านส่งเสิมอะไรลุงก็จะไม่ทำ เลยไม่เป็นหนี้


     วันนี้เราจะต้องคิดต่าง และจะต้องคิดสวนกระแสหลายอย่าง คือว่าทำอย่างไรเราถึงจะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มันแตกต่าง ที่แตกต่างก็เพราะว่ามันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตั้ง 3 เรื่องครับอาจารย์ อันที่หนึ่งคือเราจะต้องปรับวิธีคิดหรือปรับกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมการเรียนรู้ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบท่องจำ วัฒนธรรมการเรียนรู้ไทยมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ ‘วัง’ กับ ‘วัด’ วังก็คือว่าต้องการสร้างผู้นำที่เป็นเจ้าเป็นนาย จุฬาฯ ตั้งแต่สมัยที่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งขึ้นมาก็เพื่อเป็นโรงเรียนผลิตข้าราชการ พอรัชกาลที่ 6 ท่านก็ทำเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก่อตั้งเมื่อปี 2477 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ปี ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตข้าราชการไปสร้างสังคมประชาธิไตย นี่คืออิทธิพลของการศึกษา แต่วัฒนธรรมของการศึกษาไทยมาจากวัด ใครอยากเรียนก็ต้องเข้าไปเรียนในวัด ไปบวชเรียนแล้วก็ท่อง ญาณวิทยาแบบไทยๆ คือเชื่อว่าความจริงมีอยู่แล้วคุณมีหน้าที่ต้องไปท่องเอามา แล้วเราก็เรียนแต่รับ คือไม่มีถามมีแต่ตอบ เราถูกสอนให้หาคำตอบไม่ได้ถูกสอนให้ถาม แปลกดีเหมือนกันนะครับ ที่คนถามไม่กลายเป็นคนโง่ ก็กลายเป็นคนทะลึ่ง ผมเคยถามครูพีชคณิตของผมว่า “ครูครับเรียนแล้วเอาไปทำอะไรใช้ประโยชน์อะไร” ผมถูกตัดคะแนนเพราะถูกกล่าวหาว่าทะลึ่ง วันนี้เราเรียนแบบแยกส่วน เป็นกลไก เป็นเครื่องจักรกล เราไม่ได้มองเป็นชีวิต การศึกษาก็เลยกลายเป็นกลไก เป็นเครื่องจักร เป็นวิชา เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เรียนแบบแยกส่วนหมด ถามว่าบูรณาการอย่างไรไม่รู้ บูรณาการคือทุกด้านทำอย่างไรเราจึงจะเรียนรู้วัฒนธรรมแบบนี้


     มหาวิทยาลัยชีวิตคือที่เรียนที่สร้างความรู้มือหนึ่ง ความรู้ที่เปลี่ยนคนได้ เปลี่ยนชุมชนได้ เพราะเป็นความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ ‘ความรู้ที่ดีที่สุดมาจากการปฏิบัติ’ ไอไสตน์พูด ‘สอนผมแล้วผมจะลืม แสดงให้ผมดูผมจะจำได้ ให้ผมทำด้วยผมก็จะเรียนรู้’ นี่ก็คือยุทธวิธีที่เราอยากจะให้มันเกิด เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาของเราในวันนี้ จึงเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์นะครับ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่โง่เง่ามาจากไหน  ผมอยากจะให้ท่านได้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาเนี่ย อันที่หนึ่งเราจะต้องให้ผู้เรียนได้รุก รุกก็คือการค้นหาพัฒนาความรู้ด้วยตัวของเขาเองโดยการเรียนรู้ในการตั้งคำถาม อันที่สองคือทำอย่างไรจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ ก็คือไม่ใช่มีแต่ห้องสี่เหลี่ยผืนผ้ามีตาบ้าพูดอยู่คนเดียวอย่างนั้น ทำอย่างไรถึงจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในชีวิตจริง จะทำอย่างไรให้เข้าได้เรียนรู้จากชีวิตจริง เรียนจากการปฏิบัติ เรียนจากตัวอย่างให้ได้เห็น เพื่อนผมไปบอกชาวบ้านเมื่อซักยี่สิบปีมาแล้วที่ร้อยเอ็ดว่า ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผัก ชาวบ้านบอกไม่มีเงิน วันหนึ่งเพื่อนผมชวนชาวบ้านไปดูงานที่ลำปรายมาศ ไปดูที่ที่เค้าขุดบ่อเองด้วยมือของเขา เขามีบ่อ มีปลา มีผัก มีอะไรสารพัดเต็มไปหมด ไปดูเค้าจับปลาเก็บผัก แล้วก็ได้พูดคุยกันตอนตอนกลางคืน พอรุ่งขึ้นก็เอามาคุยกันในรถ กลับถึงบ้าน สิ่งแรกที่ลุงคนที่ปฏิเสธว่าไม่มีเงินทำหลังจากลงจากรถก็คือไปหยิบจอบมาแล้วก็ขุด การแสดงแรงบันดาลใจมันไม่ใช่แค่เพียงคำพูด คำพูดสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่มาก แต่ว่าตัวอย่างที่เขาเห็น หรือเรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจได้เยอะ เยอะมาก ผมจึงคิดว่าการสร้างแรงบันดาลใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของอาจารย์

 

     ครูที่ไม่พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนระหว่างเรียนเหมือนคนตีเหล็กเย็น ตีเท่าไหร่ก็ไม่แบนซักที การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนก็เหมือนการตีเหล็กร้อน คือทำให้เขามีความรู้สึกที่ดี มีความพร้อม เขาก็จะเปลี่ยนแปลงได้

 

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 445241เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท