๑๒๑.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาในฐานะเป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติปฏิบัติ ๑


ด้านสมณศักดิ์ ดูท่านจะไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องเหล่านี้ การทำงานเป็นการทำงานที่ไม่เอาหน้าไม่เหมือนพระภิกษุสามเณรสมัยนี้ ท่านชอบทำงานชนิดที่ว่าปิดทองหลังพระมากกว่า แม้แต่ใครจะมาซื้อฐานานุกรมจากท่านก็ไม่เอา มีอยู่ครั้งหนึ่งมีพระจากจังหวัดใกล้ๆ มาขอฐานานุกรมจากท่าน โดยถวายเงินไว้ ๕๐,๐๐๐ บาท ทีแรกท่านไม่ได้เปิดดูก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อท่านเปิดดูตอนกลางคืน รุ่งเช้าท่านให้คนเอาไปคืนให้ทันที่โดยพูดกำชับอีกว่า “ฐานาฯ ข้ามีไว้เพื่อคนทำงาน ไม่ใช่มีไว้ให้ซื้อขาย” นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันความถูกต้องของท่าน อยากให้พระรุ่นต่อไปเอาเป็นตัวอย่างและตระหนักให้มาก ๆ

 

บทที่  ๔

 

            พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระที่มีปฏิปทาดี มีศีลาจาริยวัตรที่งดงาม ถือเป็นแบบอย่างในหลายเรื่อง  ผู้เขียนตั้งใจจะสัมภาษณ์บรรดาลูกศิษย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๒๐ ท่าน เช่น พระมหาโพธิวงศาจารย์ พระธรรมราชานุวัตร พระมงคลวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสทุกรูป ศิษย์ฝ่ายบรรพชิตและศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์  แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด จึงตัดตอนเหลือผู้เกี่ยวข้องไม่กี่ท่าน ซึ่งผู้เขียนจะพยายามทำให้ละเอียดและลึกกว่านี้ในโอกาสต่อไป  ตัวอย่างบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

……………………………………………..

๑.พระราชวิริยาภรณ์

..................................................................

     พระเดชพระคุณพระราชวิริยาภรณ์  (ศรีมูล  มูลสิริ ป.ธ.๖) เจ้าคณะจังหวัดพะเยา และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา แม้จะไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่ก็ได้ส่งเสริมในหลายด้าน ทั้งให้คำแนะนำและสนับสนุนทางด้านการศึกษา กล่าวว่า ขณะที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้บิณฑบาตเป็นเงิน และได้เงินจำนวนหนึ่ง มอบให้กับท่านไว้เป็นทุนการศึกษาที่ประเทศอินเดีย

     ๑.เมื่อเริ่มตั้งโรงเรียนพินิตประสาธน์ ท่านได้ขอโต๊ะ และเก้าอี้ให้กับโรงเรียนโดยได้ขอจากเจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ อำเภอละชุด และดูตามวัดที่มีศักยภาพ

     ๒.ท่านจะออกเทศนาธรรมตามที่ต่าง ๆ และเงินที่ได้จากการเทศนานั้นเอง ก็เป็นค่าเงินเดือนจ่ายให้คณะครูและนักการภารโรงทั้งสิ้น

     ๓.เมื่อมีการสร้างอาคาร หรือมีการซ่อมแซมอาคารท่านจะลงมือลุยเอง ทั้งโบก ฉาบ หรือขึ้นหลังคามุงอาคารก็เคยทำมาแล้ว

     ๔.ด้านสมณศักดิ์ ดูท่านจะไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องเหล่านี้ การทำงานเป็นการทำงานที่ไม่เอาหน้าไม่เหมือนพระภิกษุสามเณรสมัยนี้ ท่านชอบทำงานชนิดที่ว่าปิดทองหลังพระมากกว่า แม้แต่ใครจะมาซื้อฐานานุกรมจากท่านก็ไม่เอา มีอยู่ครั้งหนึ่งมีพระจากจังหวัดใกล้ๆ มาขอฐานานุกรมจากท่าน โดยถวายเงินไว้ ๕๐,๐๐๐ บาท ทีแรกท่านไม่ได้เปิดดูก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อท่านเปิดดูตอนกลางคืน รุ่งเช้าท่านให้คนเอาไปคืนให้ทันที่โดยพูดกำชับอีกว่า “ฐานาฯ ข้ามีไว้เพื่อคนทำงาน ไม่ใช่มีไว้ให้ซื้อขาย” นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันความถูกต้องของท่าน อยากให้พระรุ่นต่อไปเอาเป็นตัวอย่างและตระหนักให้มาก ๆ

     ๕.ด้านสมณสารรูป ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดวินัยมาก ไม่เคยขาดการลงปาฏิโมกข์ ไม่เคยขาดพรรษา นี้เป็นสิ่งที่ควรยกย่องอย่างยิ่ง

     ๖.ด้านการปกครอง ท่านเด่นมาก ในการดูแลเอาใจใส่ ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ เมื่อมีการประชุม ท่านจะไปดูแล ตรวจตรา เพื่อความเรียบร้อยดีงาม ท่านจะดูจนกระทั้งเรื่องโฉนดที่ดินของวัด ต้องทำให้ถูกต้อง การผูกพัทธสีมา การนุ่งห่ม ถ้านุ่งห่มผ้าจีวรสี สบงสี อังสะสี ท่านจะขอให้เปลี่ยน โดยให้ใช้ผ้าเป็นสีเดียวกันให้หมด

     ๗.เรื่องปฏิสัณฐานดีมาก ใครไปใครมาท่านจะให้การต้อนรับดีมาก  ท่านมีความเคารพในการถืออาวุโสมาก ใครแก่กว่าแม้จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องกราบ แสดงความเคารพ ไม่ใช่นับถือกันที่สมณศักดิ์หน้าที่การงาน

     ๘.การกินเงินวัด การหาผลประโยชน์ใส่ตัว-ไม่มี  เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นชัดเจนซึ่งจะขอยกตัวอย่างเช่นการทำบุญฉลองอายุ พระเดชพระคุณท่านไม่เคยใช้เงินวัดในการจัดงาน แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา ผู้เขียนได้เสนอต่อคณะกรรมการวัด จึงได้เริ่มถวายเพื่อสมทบกับท่านในการทำบุญ

     ๙.ตอนท่านย้ายออกจากวัดศรีอุโมงค์คำใหม่ ๆ ท่านออกระเบียบการจัดงานวัดศรีโคมคำ ห้ามให้มีการเล่นการพนัน ห้ามให้มีการรำวง จนพวกที่ถูกขัดผลประโยชน์ข่มขู่ท่านต่าง ๆ นานา เช่น ยิงปืนขู่ กล่าวร้าย และตั้งค่าหัว ฯลฯ นี้คือแนวทางที่ท่านทำมา

     ๑๐.นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นพระนักออกแบบก่อสร้าง พระวิศวกรในการวางแผนผังพระอุโบสถ ศาลา วิหาร กุฏิ ฯลฯ อีกด้วย

 

.........................................................................

๒.คำสัมภาษณ์พระสุนทรกิตติคุณ

………………………………………………

     พระสุนทรกิตติคุณ (เดชา  อินฺทปญฺโญ) รองเจ้าอาวาส  เป็นลูกศิษย์อีกท่านหนึ่ง ที่อยู่รับใช้พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านมานานมากตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน รวม ๒๙ ปี (๒๕๕๔) เป็นพระที่พระเดชพระคุณท่านไว้ใจมากที่สุดและมอบภารงานให้สืบสานต่อภารกิจการภายในวัดทุกเรื่องทุกประเด็น ถือว่าเป็นแขนเป็นขาให้กับพระเดชพระคุณหลวงปู่มาจนถึงปัจจุบัน

     ได้ให้สัมภาษณ์ว่าปกติพระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่ท่านคนสมถะ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง  ชีวิตของท่านเอางานเป็นตัวตั้ง เป็นอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เสมอต้นเสมอปลาย มีชีวิตที่พอเพียง ไม่มีความทะเยอทะยานไม่ฟุ้งเฟ้อ เมื่อได้ลาภสักการะมา ท่านก็จะอนุเคราะห์สงเคราะห์ประชาชนทั่วไปตลอดจนถึงพระภิกษุสามเณรภายในวัด ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคขาดสารไอโอดีน (โรคเอ๋อ)  ที่อำเภอปง แม้ประชาชนเหล่านั้นจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน เมื่อท่านมีเวลาก็ออกไปเยี่ยมเยือน หรืออย่างหมู่บ้านโรคปอด ที่บ้านงิ้ว ตำบลบ้านสาง ประชาชนมีอาชีพเจาะหิน ทำครกขาย ผู้ชายตายก่อนวันอันสมควร บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านแม่หม้ายเกือบทั้งหมู่บ้าน พระเดชพระคุณท่านได้เข้าไปสงเคราะห์คนที่ยากจน และให้ทุนการศึกษาตลอดมา

     เมื่อผู้เขียนถามว่าอะไรที่ท่านอาจารย์ได้ซึมซับและได้อะไรจาก พระเดชพระคุณหลวงปู่บ้าง?  ได้รับคำตอบว่าพระเดชพระคุณท่านได้สอนให้เป็นคนที่มีความเสียสละ ตั้งแต่มีตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการรองเจ้าคณะภาค ๖ จนทำงานเพลินไปกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะคิดแต่การทำงาน ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นๆ เลย เมื่อทำงานกับพระเดชพระคุณหลวงปู่แล้วไม่เครียด สอนให้มีความอดทน เนื่องจากหลวงปู่ท่านเป็นคนทำงาน และมีความสบายใจทุกครั้งที่ท่านได้ให้สนองงาน

     นอกจากนี้แล้วพระเดชพระคุณท่านจะทำงานด้านการปกครอง ยิ่งในด้านการเผยแผ่แล้ว หลวงปู่ท่านจะออกไปทำงานการเผยแผ่ทั้งกลางวันและกลางคืน คือทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ บรรดาลูกศิษย์เห็นแล้วเกิดความภาคภูมิใจและยินดีในการมีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง แต่พอมาช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน บทบาทดังกล่าวไม่มี เนื่องจากท่านเริ่มอ่อนล้า เพราะร่างกายอ่อนแอเป็นเพราะสภาพสังขารของท่านที่ย่างเข้าสู่วัย ๙๕ ปีแล้ว

     อีกส่วนหนึ่งที่ได้คือ ได้แนวคิดการทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยถือสาธารณะเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พระเดชพระคุณท่านมีบารมีธรรมสูง แม้จะพูดแล้ว พระภิกษุสามเณรเห็นแล้วก็มีความเกรงกลัวอย่างมาก

     ด้านกิจวัตรประจำวันของท่านคือการจดบันทึกโดยเขียนลงในสมุดไดอารี่, สมุดปฏิทิน เขียนจนหมด หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย โดยการเขียนที่เหมาะของท่านคือประมาณ ตี ๓-๔ ท่านชอบบันทึกมาก อาจได้แนวคิดมาจากครูบาศรีวิราชวชิรปัญญามาก็ว่าได้ เช่น เขียนไปถึงตี ๔ พอรู้สึกว่าง่วง ท่านก็บันทึกไว้ว่าตอนนี้ง่วงแล้วจะไปนอน อะไรประมาณนั้น ซึ่งทำให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการทำงานของท่าน

     เมื่อผู้เขียนถามว่าบุคลิกด้านใดที่เป็นจุดอ่อนของพระเดชพระคุณท่าน? ได้รับคำตอบว่าท่านเป็นคนน้อยใจง่าย คือดีใจก็น้ำตาไหล เสียใจก็น้ำตาไหล ซึ่งตรงข้ามกับบุคลิกภายนอกที่มีท่าที่ทะมัดทะแมงอย่างยิ่ง ซึ่งในจุดนี้กลับทำให้ผู้เขียนเห็นว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นคนอ่อนโยน มีเมตตาธรรมสูง จึงสะท้อนออกมาในอารมณ์ที่อ่อนไหว

     เมื่อผู้เขียนถามว่าพระเดชพระคุณท่านชอบอะไรมากที่สุด ได้รับคำตอบว่าท่านชอบการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และสะสมของโบราณมาตั้งแต่วัดเมืองชุม ท่านจะออกไปสำรวจพื้นที่แทบทุกวัน วัดร้างที่ไหน พระพุทธรูปหินทรายหักเสียหายที่ไหน ท่านจะนำมาเก็บไว้ที่วัด ต่อมาเมื่อท่านย้ายมาอยู่วัดสูง (ศรีอุโมงค์คำ) ก็ย้ายตาม พอมาอยู่วัดพระเจ้าตนหลวง (ศรีโคมคำ)นี้ ก็ย้ายมา จนเป็นที่มาของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ท่านได้มาส่วนหนึ่งก็ชื้อ ส่วนหนึ่งก็ขอมาเก็บไว้

     เมื่อผู้เขียนถามถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของพระเดชพระคุณท่านตอนเป็นพระหนุ่ม ๆ ได้รับคำตอบว่าท่านเป็นคนใจร้อน เรียกพระภิกษุสามเณรแล้ว ห้องไหนไม่เปิดประตูท่านถีบประตูเข้าไป ประตูนี้พังเป็นแถบ ๆ ท่านแข็งแรงมาก ครั้งหนึ่งกำลังฉันเพลอยู่ ก็บอกให้ลูกศิษย์ไปหาผลไม้ของหวานมาให้ บรรดาลูกศิษย์ท่าน มีหนานคนหนึ่ง ไปที่ตู้สำหรับซึ่งมีขนมหวานและผลไม้หลายอย่าง แต่ดันไปได้แตงโมและจึงนำไปถวายทั้งลูก ท่านก็จะโยนไปเลย คงให้รู้ว่าทำไมไม่ปอกมาก่อนอะไรประมาณนั้น

     ประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้ยินบรรดาลูกศิษย์ของหลวงปู่หลายท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นเด็กวัดออกไปซื้อกับข้าวมาให้สามเณรตอนเย็น ท่านก็ยืนรอที่ประตูทางเข้าออก เมื่อเด็กมาถึงท่านก็ถามว่าซื้อให้ใคร? เด็กที่ซื้อมาไม่กล้าบอก จึงตอบไปว่าซื้อมากินเอง ท่านก็ให้เด็กวัดคนนั้นนั่งกินอยู่ตรงนั้น สามเณรที่สั่งซื้ออดกันไปตาม ๆ กัน

     ผู้เขียนยังได้ยินอาจารย์พูล เล่าว่า สมัยนั้นมีกุฏิอยู่หลังเดียว โดยอยู่รวมกัน  ทุกวันหลวงปู่จะออกไปเทศน์ บรรยายธรรม สามเณรเห็นว่าเวลานี้ท่านไปแล้วจะมารวมตัวกันหาอะไรมาฉันตอนเย็น เมื่อท่านกลับมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันหนึ่ง โยมมารับท่านไปงานแห่งหนึ่ง บรรดาสามเณรและเด็กวัดก็ให้สัญญาณกันและกัน โดยเริ่มนำข้าวปลาอาหารมานั่งล้อมวงกัน บังเอิญวันนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านลืมคัมภีร์เทศน์หรืออะไรสักอย่าง จึงย้อนกลับมาเอา วันนั้นทั้งข้าวปลาอาหารปลิวว่อนและสามเณรทั้งหลายต่างก็วิ่งหนีกันหมด อันนี้ถือว่าเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา

 

……………………………………………………………………………..

๓.พระศรีสุทธิเวที

………………………………………………………………………..

                พระศรีสุทธิเวที (สายัน  อรินฺทโม ป.ธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา เป็นศิษย์อีกท่านหนึ่ง ที่สอบได้เปรียญธรรม  ๔  ประโยคจากสำนักเรียนวัดศรีโคมคำ แล้วได้ไปเรียนต่อที่สำนักเรียนวัดมงคลทับค้อ จังหวัดพิจิตร จนได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค และได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคที่สำนักเรียนวัดบพิตรภิมุขฯ กรุงเทพมหานคร นับได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ที่สอบได้เปรียญธรรม  ๙  ประโยค อันเป็นผลผลิตจากสำนักเรียนวัดศรีโคมคำที่ได้ส่งต่อบุคลากรไปจนสุดสายของการศึกษาภาษาบาลี

     เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดแล้ว ได้กลับมาช่วยงานด้านการศึกษาภาษาบาลี ณ สำนักเรียนวัดศรีโคมคำจนถึงปัจจุบัน โดยพยายามฟื้นฟูและหาเด็กนักเรียนจากจังหวัดขอนแก่นเข้ามาศึกษาต่อในสำนักอีกเป็นจำนวนมาก ได้ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้คือ

     พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยเห็นพระเดชพระคุณท่านขออะไรจากใครเลย แม้ว่ามีโอกาส หรือญาติโยมปวารณาไว้ก็ตาม ท่านเป็นคนเกรงใจคน นี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ความเป็นผู้ไม่ร้องขอนี้เองเป็นมนต์เสน่ห์ของพระเดชพระคุณท่านอย่างหนึ่ง

                ส่วนประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือท่านเป็นอาจารย์ที่ไม่เคยทำร้ายลูกศิษย์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านมีแต่จะส่งเสริมให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน และในหน้าที่การงาน ตลอดไปจนถึงข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่ควรแก่สมณะ

 

………………………………………………………………………

……………………………………………………………………..

              

 

หมายเลขบันทึก: 445201เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บันทึกตำนานชีวิตบุคคลที่มีบทบาทสำคัญเช่นนี้โดยเฉพาะพระสงฆ์หาอ่านได้ยาก
ขอบคุณที่ท่านพระครูรวบรวมไว้
ได้อรรถรสครบเครื่อง ให้แง่คิดหลากหลายแง่มุมดี

 

 

ขอบคุณครับที่ติดตาม และเสนอแนะ

พะเยาโชคดีที่มีพระมหาเถระหลาย ๆ รูปที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไปครับ

โอกาสหน้า ผมจะเสนอบทบาทของครูบาศรีวิราชวชิรปัญญา ที่เป็นนักบันทึก

บ้าและ-สุดยอดรูปหนึ่งในยุค ร.๕ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท