๑๑๖.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา


ดังนั้น “ผญา” ในที่นี้จึงหมายถึงผู้รอบรู้ ผู้รักในความรู้ หรือเป็นผู้นำทางด้านความคิด ในลักษณะของการสร้างรูปแบบแห่งการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามเฉพาะขึ้น ตลอดจนถึงการอุทิศตนต่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ ด้วยการพัฒนาตนจนเป็นองค์แห่งความเรียนรู้ พร้อมเผยแผ่องค์แห่งความรู้นั้นสู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจนด้วยคุณธรรม

    

     ช่วงนี้ ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ใหญ่ให้เขียนถึงพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ปราชญ์เมืองพะเยา โดยจัดทำ เพื่อนำไปแจกในคราวครบรอบ ๙๕ ปีในวันที่  ๑๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ในการนี้ผู้เขียนใช้ชื่อหนังสือว่า  "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา" จึงทำให้เวลาส่วนใหญ่ทุ่มไปที่งานเขียนเล่มนี้เป็นหลัก

     วันนี้งานค่อนข้างจะสมบูรณ์ และส่งโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้ชาว gotoknow อ่านก่อนเป็นขวัญตา แล้วกรุณาช่วยชี้แนะ เติมเต็มให้ข้อความสมบูรณ์ด้วย-จักขอบคุณยิ่ง

  

............................................. 

 ความเบื้องต้น 

……………………………...

                จากการที่ผู้เขียนได้อยู่รับใช้พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถร) มานานร่วมกับศิษยานุศิษย์ท่านอื่น ๆ ได้สังเกตพัฒนาการทางความคิดและแบบอย่างทางความประพฤติมากมาย ตลอดจนถึงได้ซึมซับเอาสิ่งดี ๆ ที่พระเดชพระคุณท่านได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาผ่านวันเวลาที่ทรงคุณค่ายิ่ง จนเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับบุรุษคนหนึ่งที่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเอาไว้ให้กับสังคมและคนพะเยาอย่างหาที่เปรียบมิได้

              เมื่อจะถึงวันคล้ายวันเกิดที่  ๑๑  กรกฎาคม ของทุก ๆ ปี บรรดาลูกศิษย์มักจะพูดคุยกันเสมอ ๆ ว่าปีนี้เราจะทำอะไรถวายพระเดชพระคุณท่านบ้าง? ศิษย์ท่านไหน ถนัดงานอะไร ต่างก็เสนอและร่วมกันจัดทำในสิ่งนั้น ๆ ตามที่ตนเองมีศักยภาพและความสามารถที่จะกระทำได้ให้เป็นอาจาริยบูชา

                ส่วนตัวผู้เขียนนั้น ได้ปรารภกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่าน โดยมักจะถามท่านว่าปีนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่เขียนหนังสืออะไร? คำตอบเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีก่อน ท่านจะตอบทันทีว่าจะพิมพ์หนังสืออะไรบ้าง? ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงแนวคิดของท่านว่าปีไหนท่านคิดและทำอะไรบ้าง? แต่หลายปีมานี้ เมื่อพระเดชพระคุณท่านอายุย่างก้าว เข้าสู่วัย ๙๐ ปี คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่” 

     ดังนั้น การคิดและการเขียนของท่านไม่สามารถทำได้อีกต่อไปด้วยสังขารที่ท่านใช้งานมาอย่างหนัก ยาวนานตลอด ๙๕ ปีของท่านไม่อำนวยผล  ดังคำบาลีที่พระจักขุบาล ก่อนออกบวชได้กล่าวเอาไว้ว่า[1]

                ชราชชฺชริตา  โหนฺติ                          หตฺถปาทา  อนสฺสวา

                ยสฺส  โส  วิหตตฺถาโม                        กถํ  ธมฺมํ  จริสฺสติ

                มือและเท้าของผู้ใดคร่ำคร่าเพราะชรา  ไม่เชื่อฟัง  บุคคลนั้นมีเรี่ยวแรงอันชรากำจัดแล้วจะประพฤติธรรมอย่างไร  นั้นก็หมายความว่าเมื่ออายุมากแล้ว การจะสั่งการให้มือและเท้าทำตามอย่างวัยหนุ่ม ๆ นั้นไม่ได้แล้ว

                จึงจำเป็นอยู่เองที่ผู้เขียนต้องเสนอและสนองงานด้านนี้เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และเพื่อเป็นการสานต่อปณิธานของท่านไว้ ในปีนี้ก็เหมือนกัน พระเดชพระคุณท่านได้ปรารภให้ผู้เขียน ๆ อะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อแจกในงาน เมื่อผู้เขียนคิดว่า ผลงานของท่าน ก็มีมากแล้ว ประวัติส่วนตัวของท่านก็พิมพ์อยู่เป็นประจำทุกปี แต่ประวัติความคิดและวิถีชีวิตการทำงานของท่านที่เป็นกระบวนทัศน์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นแนวทางปฎิบัติที่ท่านเดินผ่านมา-ยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนจึงลงมือเขียนเพิ่มเติมจากหนังสือ “พระเด่นเมืองพะเยา” ให้เป็นเรื่องเป็นราวของพระเดชพระคุณท่านโดยตรง ดังนั้นจึงให้ชื่อใหม่ว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา” เล่มนี้ขึ้น

                 

ข้อตกลงเบื้องต้น               

                ในการศึกษาครั้งนี้  คำว่า “ผญา” ให้อ่านว่า "ผะ-หย๋า" เป็นภาษาพื้นเมืองล้านนาหมายความว่า “ปัญญา”  และคำว่า “ปัญญา” นี้เองมาจากศัพท์ว่า “ป+ญา” แปลว่ารู้รอบ ดังนั้นคำว่า ปัญญา จึงสามารถเทียบได้กับคำว่า “ปราชญ์” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีปัญญารู้รอบ” 

     ดังนั้น “ผญา” ในที่นี้จึงหมายถึงผู้รอบรู้ ผู้รักในความรู้ หรือเป็นผู้นำทางด้านความคิด  ในลักษณะของการสร้างรูปแบบแห่งการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามเฉพาะขึ้น ตลอดจนถึงการอุทิศตนต่อส่วนรวม  สังคม  ประเทศชาติ ด้วยการพัฒนาตนจนเป็นองค์แห่งความเรียนรู้ พร้อมเผยแผ่องค์แห่งความรู้นั้นสู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจนด้วยคุณธรรม

     พระเดชพระคุณหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) เป็นพระมหาเถระ ผู้เพียบพร้อมไปด้วยลักษณะดังกล่าว ตลอดระยะเวลา ๙๕ ปีแห่งชีวิตของท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่าให้กับคนและสังคมเมืองพะเยาและล้านนาอย่างใหญ่ยิ่ง สมกับคำว่าพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “ปรมาจารย์ผู้มีคุณเข้าไปรักษาอย่างประเสริฐ” 

     พระเดชพระคุณหลวงปู่ ถือว่าเป็นปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีผลงานในระดับชาติด้านสาขาวรรณกรรมล้านนา ผลงานต่าง ๆ ที่ท่านทำเกิดจากจุดเล็ก ๆ คือกระบวนทัศน์ในตัวท่านเอง เมื่อผู้เขียนลงมือเขียน สังเกตว่าอัตชีวประวัติของพระเดชพระคุณท่านน่าสนใจยิ่ง พอ ๆ กับอายุที่ยาวนานของพระเดชพระคุณท่าน

    จากการเพียรสร้างและพฤติกรรมที่แสดงออก ล้วนผ่านกาลเวลาที่ควรค่าแก่การจดจำ พร้อมนำเสนอรูปแบบ วิธีคิด วิถีชีวิตของท่านต่อไป

 

                เพื่อให้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  หลวงปู่ใหญ่แห่งเมืองพะเยาเป็นกระบวนการมากยิ่งขึ้น  ดังนั้น ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอประเด็นหลักใหญ่ ๆ ใน  ๔  ประเด็น  ดังนี้

                ๑.ผญาในฐานะส่งเสริมงานด้านการศึกษา

                ๒.ผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้

                ๓.ผญาในฐานะเป็นองค์แห่งความรู้

                ๔.ผญาในฐานะเป็นแบบอย่างแห่งการประพฤติปฏิบัติ



 

 

[1] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. ธมฺมปทฏฺฐกถา (ปฐโม ภาโค). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหา มกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑, หน้า ๖.

หมายเลขบันทึก: 445188เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอน้อมกราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ผู้ถึงพร้อมด้วยความดีงามในทุกประการ

ในวาระดิถีอันเป็นมงคลครบรอบคล้ายวันเกิดปีที่ ๙๕ นี้ ขอให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งแก่หมู่ชน เป็นประทีปแห่งสังฆมณฑล ตลอดไปตราบนานเท่านาน

พระมหาแล  อาสโย  วัดศรีโสภณ ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

                                        

ขออนุญาตท่านพระครูโสภณปริยัติสุธี ด้วยการนำรูปภาพของหลวงพ่อมาลง ณ ที่แห่งนี้
รูปภาพนำมาจากที่นี่ครับ http://phayaorath.net/vimon/?p=126

อาจารย์มหาแล เก่งเรื่องแทรกรูป - เชื่อมลิงค์ได้ ทันสมัย

ผมอายุน้อยกว่าเกือบ ๑๐ ปี-ยังแทรก-ลิงค์ไม่ได้เลย

ขอบคุณที่แทรกรูปมาให้ครับ

ผมก็งมไป คลำไปเรื่อยๆครับ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะเป็นคนไม่มีความถนัดด้านนี้เลยครับ ทำเสร็จแล้ว ไม่นานก็ลืมอีก บางทีก็ปวดหัว ไปไม่เป็นเหมือนกัน

วิธีเชื่อมลิงค์ผมทำอย่างนี้ครับ
เราจะลิงค์เว็บไซต์ใด
ให้นำที่อยู่ของเอกสารบนเว็บนั้นมาวาง(เขาเรียกว่า URL : Uniform Resource Locator) ผมก็ยังแปลไม่ได้เลย
ด้วยการcopy&paste แล้ววางที่บันทึก,ความคิดเห็น,อนุทิน
อย่างตัวอย่างที่๑นี้ เป็นที่อยู่ของเอกสารบนเว็บไซต์ที่มีรูปภาพหลวงพ่อพระอบาลีคุณูปมาจารย์ ให้ก็อปปี้มาวางได้เลย ที่อยู่เอกของสารบนเว็บที่ก็อปปี้มา จะมีขีดใต้ข้อความด้วย ถ้าไม่มีขีด จะไม่สามารถอ่านลิงค์ที่นำมาวางได้
(๑)(http://phayaorath.net/vimon/?p=126) (นี้คือที่อยู่ของเอกสารบนเว็บที่มีรูปหลวงพ่อ)

ตัวอย่างที่๒ เป็นที่อยู่ของเอกสารบนเว็บโกทูโน ในบันทึกหัวข้อที่ชื่อว่า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา

(๒)http://www.gotoknow.org/blog/buddhismmcu/445188 (นี้คือที่อยู่บันทึกพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ครับ)

วิธีแทรกรูปภาพ อันดับแรกนำภาพถ่ายไปย่อในACDSee Pro 2 ก่อนครับ
ย่อให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ขนาดประมาณ๕๐๐x๓๗๕
ไฟล์รูปนั้น ต้องตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษหรือตัวเลขเท่านั้นครับ

ส่วนขั้นตอนการนำรูปมาลงนั้น ขอนำวิธีของคุณโยมใบบุญมาฝากครับ
ท่านพระครูลองทำดูได้เลย
ปรากฏผลเป็นประการใด ก็นำมาบอกกันบ้างนะครับ

Ico48
  • เข้าที่ เมนูของฉัน
  • ไปที่อัลบั้ม
  • ไปที่นำไฟล์ขึ้น
  • ไปที่ browse
  • และนำภาพที่ย่อไว้เข้าไปใส่ไว้ในอัลบั้ม
  • หลังจากนั้น ใส่ชื่อภาพ คำสำคัญ และบันทึก
  • และเมื่อจะนำภาพเข้าบันทึกใดก็จะ"คลิกที่นี่เพื่อแทรกรูปภาพ"และเลือกภาพ ค่ะ
  • บางครั้ง ภาพที่นำขึ้นใหญ่เกินไปเพราะไม่ได้ย่อหรือย่อไว้ไม่เล็กพอ  จะย่อในบันทึกด้วยการคลิ๊กที่ภาพให้มีสัญญลักษณ์ที่มุม แล้วไปที่มุมบนด้านซ้ายของภาพแล้วคลิ๊กให้เป็นเส้นเอียงๆแล้วลากเพื่อย่อภาพ ในบันทึกเลย
  • แต่บางทีภาพจะเบี้ยวค่ะ

ท่านพระครูครับ

วันนี้ผมได้รับหนังสือจำนวนสามเล่ม ที่ท่านพระครูส่งไปให้แล้วครับ
เห็นหนังสือที่ท่านพระครูเขียนเผยแพร่เรื่องชุมชนชุดนี้แล้ว ดีใจ ภูมิใจแทนคนพะเยาอย่างมากจริงๆครับ

ผมได้เห็นแนวทางการทำเรื่องชุมชนบ้านเกิดที่คิดไว้ในใจแล้วครับ
ขอบพระคุณอย่างสูงเลยครับ

    
   
     
   
        

ขอบคุณครับที่แนะนำ วิธีการลิงค์ จะพยายามลองทำดูครับ

ถ้าทำได้ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไร้ขีดจำกัดยิ่งขึ้นครับ

ดีใจด้วยครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวงล้อแห่ง KM ด้านพระพุทธศาสนา

ภาษา วัฒนธรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผมคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่

พระองค์คงสอนให้ใช้สื่ออย่างมีสติ และรู้เท่าทัน เพื่อประโยชน์ต่อมหาชนชาวโลกต่อไปครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

กระผมเข้ามาในเว็บตามคำแนะนำลายแทงของพระคุณท่าน ซึ่งติดตามค่อนข้างยากสำหรับคนไม่เก่งเว็บ ได้อ่านบทความไปหลายบรรทัดทำให้ทราบว่าเป็นหนังสืออัตชีวประวัติผู้สมควรแก่การยกย่อง แต่เนื้อหามีนิดเดียวหรือว่ากระผมเปิดไม่เป็นก็ไม่ทราบ ก็คงจะเป็นเพชรเม็ดดีของพะเยาได้อีกเม็ดหนึ่ง อยากอ่านเล่มจริงขอรับกระผม

นมัสการมาด้วยความเคารพยิ่ง

เขมรัฐ สัตตบรรณ

เจริญพรคุณโยมเขมรัฐ ที่ได้แวะเข้ามาทักทาย เป็นสหายทางความคิด เป็นเพื่อนสนิททางธรรม

การค้นหามีอยู่ ๔ แนวทาง คือ

๑.ในหน้านี้คุณโยมต้องเลื่อนขึ้นไปข้างบน ดูขวามือ จะเห็นคำว่า สารบัญ นั่นแหละคลิกเลย หรือ

๒.ไปบนสุดแล้วไปที่ค้นหา พิมพ์คำที่ต้องการ-ก็จะเจอ

๓.ไปที่ google แล้ว พิมพ์คำที่ต้องการ หรือ คำว่ามหาศรีบรรดร ก็ได้

๔.ไปที่มหาจุฬาฯ www.mcu.ac.th แล้วเลื่อนลงไปสุดของหน้าแรก กล่อง-การจัดการความรู้ เมื่อเข้าได้แล้วไปที่คำว่า blog แล้วเลือกคำว่า gotoknow ใต้รูปพระครูโสภณปริยัติสุธี ก็ตามไปค้นหา.....

ส่วนหนังสือตอนนี้กำลังพิมพ์อยู่ที่โรงพิมพ์ ถ้าอยากได้ขอให้ส่งที่อยู่มา อาตมายินดีจัดส่งให้....เจริญธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท