จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ : ๑๒. สร้างนิสัยรักเรียน (๒)


 

          จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson  บทที่ 6 Motivation and Morale Boosters

 

          หัวใจในหน้าที่ครูคือสร้างนิสัยรักเรียน   ซึ่งสำคัญกว่าการรู้เนื้อหาวิชา

 

          ต่อไปนี้เป็นหลัก ๒๘ ประการ สำหรับสร้างนิสัยรักเรียน สร้างพลังหรือ “ไฟ” ในการเรียนรู้ ของศิษย์ ต่อจากตอนที่แล้ว

 

๑๕.  สร้างตัวแบบของพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับ และตัวแบบของความเป็นเลิศ   ครูพึงตระ หนักว่าผู้เยาว์สับสนง่าย   ต้องการตัวแบบที่เป็นรูปธรรมให้ยึดถือจึงจะไม่สับสน   ยิ่งเด็กที่ผลการเรียนไม่ดี หรือความประพฤติไม่ดี ยิ่งต้องการ   ในเรื่องพฤติกรรม ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือตัวครูเอง   สำหรับผลงานแบบฝึกหัดที่เป็นตัวแบบของความเป็นเลิศ ครูหาได้จากผลงานของนักเรียนบางคน  ให้ปิดชื่อเสีย แล้วเอาติดประกาศให้นักเรียนคนอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง


๑๖. หาโอกาสชมเชย  เด็กต้องการความสนใจหรือเอาใจใส่ และต้องการกำลังใจ   ครูจึงต้องหาโอกาสแสดงความเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน   โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก คือเอาใจใส่การทำดี หรือมำได้ดี ด้วยคำชมเชย

 
๑๗. ติดต่อพ่อแม่หรือผู้ปกครอง  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ให้เข้าใจร่วมกันว่าครูกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง จะร่วมกันใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการกระตุ้นการเรียนรู้และการเจริญเติบโตของวุฒิภาวะของนักเรียน  และให้นักเรียนเข้าใจข้อนี้ด้วย   ดังนั้นเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมดี หรือเรียนได้ดี ครูควรโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีต่อพ่อแม่/ผู้ปกครอง และขอบคุณที่การเลี้ยงดูสั่งสอนที่บ้านมาอย่างดีช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น  ในทางตรงกันข้าม หากเด็กแสดงพฤติกรรมก่อกวนก้าวร้าว ก็ต้องโทรศัพท์ไปแจ้งและหารือวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน 


๑๘. เปลี่ยนความคิดของนักเรียน ที่คิดด้านลบต่อตนเอง   ในสหรัฐอเมริกามีปัญหาสังคมมาก  มีเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา   เด็กคุ้นเคยกับอนาคตที่มืดมนของคนในครอบครัวคนแล้วคนเล่า และคิดว่าตนเองก็จะเดินเส้นทางเดียวกัน   ครูต้องหาวิธีเปลี่ยนความคิดนี้ให้ได้   ครูเลาแอนน์แนะนำให้ใช้วิธีสังเกตความถนัดหรือพรสวรรค์บางอย่างที่นักเรียนคนนั้นมี   และหาโอกาสถามว่าเขารู้ตัวไหมว่ามีความสามารถพิเศษด้านนั้นๆ  และบอกว่าคิดว่าในอนาคตเขาน่าจะเป็น ... ที่มีความสามารถ หรือมีชื่อเสียง   แรงกระตุ้นเช่นนี้จะไปกระตุกจินตนาการของเด็ก  ทำให้จิตใจมีความหวัง   โดยครูอาจไปขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ช่วยบอกเด็กแทนครู เพื่อให้คำพูดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า   และครูอาจชวนนักเรียนจินตนาการว่าในอนาคตตนเองจะไปทำงานเป็น....   เพื่อกระตุ้นจินตนาการและความฝันของนักเรียน  การเชิญคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆ มาเล่าเรื่องราวของชีวิต จะช่วยกระตุ้นความทะเยอทะยานในชีวิตของนักเรียน


๑๙. ช่วยให้ทั้งเต่าและกระต่ายวิ่งได้เร็ว   เป็นธรรมดาที่ในชั้นเรียนจะมีทั้งเด็กที่เรียนช้า และเด็กที่เรียนเร็ว   ครูจะต้องช่วยเด็กทั้ง ๒ กลุ่มนี้ โดยมีบทเรียนเสริมที่เหมาะสมให้   โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดรูปแบบการเรียนรู้แยกกัน   สำหรับเด็กเรียนช้า ครูอาจช่วยจัดเพื่อนที่เรียนดีช่วยติวให้   เด็กที่ก่อกวนหรือเบื่อเรียนบางคนเกิดจากเรียนเร็ว และแบบฝึกหัดไม่ท้าทาย   ครูต้องหาแบบฝึกหัดที่ท้าทายให้   หรือให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์บางอย่างที่เขาภูมิใจ


๒๐. แยกนักเรียนกับเกรดออกจากกัน  เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกว่าครูลำอียง รักศิษย์ที่เรียนเก่งกว่า   ทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งเกิดความท้อถอย   ครูต้องแสดงให้เห็นว่าศิษย์ที่ครูรักคือศิษย์ที่ทำตัวดีในชั้นเรียน  มีความพยายามในการเรียน   โดยที่ศิษย์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้เกรด A   แต่ครูก็ต้องฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจเช่นนี้จริงๆ


๒๑. จัดให้มีกลุ่มนักเรียนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อน (peer support group)   เพื่อสร้างบรรยากาศเพื่อนนักเรียนช่วยเหลือกัน   เวลาทำการบ้าน คนที่เรียนไม่เก่งแทนที่จะนั่งทำอยู่คนเดียวก็มีการจัดกลุ่มช่วยกัน  อาจจัดให้มัโครงการติวโดยเพื่อนนักเรียน   ผมอ่านตอนนี้แล้วเกิดความคิดว่าหนังสือเล่มนี้เขียนมานานหลายปี ตอนที่ PBL (Project-Based Learning) ซึ่งเป็น team – learning ยังไม่แพร่หลาย   โรงเรียนที่ใช้ PBL จะเท่ากับมีระบบเพื่อนช่วยเหลือเพื่อนโดยปริยาย


๒๒. จัดกลุ่มนักเรียนที่เข้ากันได้   ในการเรียนต้องมีการจับกลุ่มเรียนหรือทำงานร่วมกัน   วิธีจัดกลุ่มทำได้หลายวิธี โดยที่ควรให้เด็กได้เลือกกันเองด้วยส่วนหนึ่ง   และมีหลีกการว่าควรย้ายกลุ่มกันไปเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับคนที่มีนิสัยหรือบุคลิกต่างๆ กัน   แต่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่เอาคนที่เข้ากันไม่ได้ หรือเป้นอริกัน มาเข้ากลุ่มเดียวกัน


๒๓. จัดบทเรียนให้สร้างความรู้สึกเป็นกันเอง   ครูเลาแอนน์แนะนำให้ครูเอารายชื่อนักเรียนชุดหนึ่งไว้ที่บ้าน เวลาเขียนแบบฝึกหัดก็เอาชื่อนักเรียนผลัดเปลี่ยนกันใส่ลงไป   เพื่อสร้างบรรยากาศ   และตอนท้ายของแบบฝึกหัด ก็ใส่อารมณ์ขันลงไปด้วยคำว่า  Borught to you by Miss Johnson --- your teacher who loves you.  และในวันเกิดของเด็ก ครู เลาแอนน์ จะมอบปากกาหรือดินสอสวยๆ ให้ และบอกว่าเป็นปากกาวิเศษ ใช้แล้วได้เกรดดี   เด็กจะยิ้มและแม้นักเรียนจอมแก่นก็ยังยิ้มและใช้ปากกานั้น

๒๔. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นดาวเด่น  โดยที่จริงๆ แล้วนักเรียนแต่ละคนต่างก็มีดีหรือจุดเด่นคนละอย่างสองอย่าง   ครูต้องหาวิธีให้เด็กแต่ละคนได้แสดงจุดเด่นของตน   วิธีหนึ่งคือจัดให้นักเรียนจัดทำโครงการส่วนตัวเพื่อนำมาแสดงต่อชั้น   โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม  สัตว์เลื้อยคลาน มีพิษ เหยียดผิวหรือเชื้อชาติ  หรือเสียงดังเกินไป   เมื่อถึงวันรายงานหรือแสดง อาจเชิญผู้ปกครองมาชม  และควรถ่ายวีดิทัศน์ไว้   เพราะจะพบว่าเด็กมีความสามารถกว่าที่คิด   และเป็นแรงกระตุ้นแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ และให้รักโรงเรียนหรือชั้นเรียน   เรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า หากใช้ PBL ทำโครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย ได้ทำเป็นทีมด้วย และเด็กได้แสดงความสามารถหรือความสร้างสรรค์ของตนด้วย จะยิ่งได้ประโยชน์หลายทาง


๒๕. ใช้บันทึกส่วนตัวเป็นเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน   โดยครูฝึกตั้งโจทย์ของการเขียนบันทึกให้จ๊าบสำหรับนักเรียน   สำหรับให้นักเรียนได้ระบายความรู้สึกลึกๆ ออกมา   โดยครูต้องมีจิตวิทยาในการกระตุ้น ส่งเสริมให้นักเรียนเขียนอย่างสนุก  โดยนักเรียนของครูเลาแอนน์เสนอว่าควรได้ฝึกเขียนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  ตัวอย่างของหัวข้อ เช่น “ครูดี และครูไม่ดี เป้นอย่างไร”   “ชีวิตของเด็กผู้ชาย สบายกว่าเด็กผู้หญิง จริงหรือไม่”   “จงเล่าเรื่องครูที่เลวที่สุดที่เคยพบ”   การเขียนบันทึกส่วนตัวนี้ นอกจากเป็นการหัดเขียนจากใจของตนเองแล้ว   ยังเป็นเครื่องมือสร้างสมาธิด้วย   ครูบางคนให้เด็กเขียนทุกวัน ครั้งละ ๑๐ นาที   จนเด็กๆ บ่น   แต่เมื่อครูให้ทำติดต่อกันทุกวันหลายสัปดาห์ แล้วให้หยุดเขียน ไม่มีการเขียนบันทึกอีก เด็กๆ กลับบ่นว่าทำไมไม่ให้เขียนอีก   ผมเดาว่าการเขียนออกจากใจตนเอง ให้ความรู้สึกพึงพอใจ เอ็นดอร์ฟินหลั่ง   เมื่อทำทุกวันจะติด เหมือนที่ผมกำลังทำอยู่นี่แหละ       


๒๖. ให้ศิษย์เรียนรู้เรื่องจริยธรรม   เด็กมีสัญชาตญาณของความยุติธรรม  แต่มองตนเองเป็นศูนย์กลางของความยุติธรรมนั้น  ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อผู้อื่น   เด็กจึงต้องเรียนรู้ความจริงว่าตนไม่ใช่ศูนย์กลาง ต้องคำนึงถีงผู้อื่น หรือการอยู่ร่วมกันด้วย   ครูต้องช่วยให้เด็กได้เข้าใจภาพใหญ่ของชุมชน สังคม และโลก   บทเรียนแรกที่นักเรียนควรได้เรียนคือแรงกดดันเชิงลบของกลุ่ม (negative peer pressure)   นักเรียนควรได้เข้าใจว่าคนเราทุกคนต่างก็มีข้อยึดถือเชิงคุณธรรมจริยธรรมของตนเอง   คนที่มีความสามารถสื่อสารความเชื่อเชิงคุณค่า เชิงศีลธรรม ออกมา อย่างชัดเจน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของแรงกดดันเชิงลบของกลุ่มได้ง่าย   เช่นไม่ตกเป็นสมาชิกของแก๊งอันธพาล  แก๊งติดยา  ฯลฯ   ครูเลาแอนน์ ใช้บทเรียนเรื่องเงิน สำหรับทำความเข้าใจจริยธรรม   โดยมีคำถามเรื่องไปกินอาหารแล้วได้รับเงินทอนเกิน จะเก็บไว้หรือคืน หรืออาจขึ้นกับว่าทอนเกินมากหรือน้อย   ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนตอบคำถาม แล้วให้จับกลุ่ม ๕ คนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน   แล้วแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้น  เรื่องแบบฝึกหัดเรียนจริยธรรมนี้ ครูสามารถออกแบบอย่างสร้างสรรค์ได้มากมาย


๒๗. ใช้การทดสอบเป็นเครื่องมือ  การสอบคือเครื่องมือวัดการเรียนรู้ ไม่ใช่เครื่องมือปิดกั้นความก้าวหน้า   และต้องไม่ใช่เครื่องมือหลอกเอางบประมาณ  ครูต้องใช้การทดสอบเพื่อประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก  คือใช้วัดการเรียนที่แท้จริง ไม่ใช่วัดการเรียนหลอกๆ   ผมมีความเห็นว่าต้องสอบความคิด มากกว่าสอบความจำ   สอบให้ครบถ้วนทุกด้านของการเรียนรู้   ไม่ใช่แค่สอบวิชา 

  
๒๘. ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย   เด็กๆ ชอบคอมพิวเตอร์ และใช้เก่งกว่าผู้ใหญ่   ครูต้องชักชวนและส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง   ไม่ใช่เอาแต่ใช้เล่นเกมหรือท่องเน็ตอย่างไร้เป้าหมาย   ครูต้องแนะนำศิษย์ให้รู้จักแหล่งความรู้ออนไลน์ด้านต่างๆ

          อ่านและเขียนบันทึกมาถึงตอนนี้ ผมเกิดความรู้สึกว่า นักเรียนที่ได้เรียนกับครูที่มีความคิด ความรับผิดชอบ และทักษะ อย่างครูเลาแอนน์ จะได้รับการปูพื้นฐานไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทั้งความรักการเรียนรู้ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความเข้าใจโลกและชีวิต  จะเติบโตไปเป็นพลังของสังคม   ในขณะที่ครูที่ไม่เอาถ่าน ไม่รับผิดชอบ ไม่รักเด็ก ก็จะเป็นผู้ทำลายชีวิตของศิษย์ทางอ้อมอย่างไม่รู้ตัว     

          ผมตั้งความหวังว่า น่าจะมีการแปลหนังสือเล่มนี้ สำหรับให้ครูใช้เป็นคู่มือครู   เพราะหากปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เหล่านี้ (มีรายละเอียดเชิงเทคนิค มากกว่าที่ผมเก็บมาบันทึกกว่า ๑๐ เท่า) แล้ว   ปัญหาเด็กสอบ NET ผ่านในอัตราต่ำ จะทุเลาลงไปมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ เม.ย. ๕๔

            

 

หมายเลขบันทึก: 443981เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมจำ อันนี้ไปใช้ครับอาจารย์ "หัวใจในหน้าที่ครูคือสร้างนิสัยรักเรียน ซึ่งสำคัญกว่าการรู้เนื้อหาวิชา" ขอบคุณนะครับ

สวัสดีค่ะท่าน "Prof. Vicharn Panich"

       ตามมาอ่านเหมือนเดิมค่ะ และขออนุญาตนำไปอ่้างอิงในบันทึกที่ 2 Blog "Leantoknow" ของดิฉันนะคะ

                                                                                                                    ขอบพระคุณค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท