บุคคลสำคัญชุมชนเมืองหนองบัว : พะสงฆ์(๒)


                                        
                                           หลวงพ่ออ๋อย(๒๔๔๒-๒๕๒๙)

บุคคลสำคัญ : ชุมชนเมืองหนองบัว : พระสงฆ์(๒)

  • ประวัติ : พระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ-พรมบุญ /๒๔๔๒-๒๕๒๙)อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ อำเภอหนอบัว จังหวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปแรก
    โดย : พระนิภากรโสภณ(ไกร  ฐานิสฺสโร-ศรสุรินทร์) เจ้าคณะอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    จากหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย) อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัวกิตติมศักดิ์  จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ ๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๒
  • ชื่อ พระครูนิกรปทุมรักษ์  ฉายา  สุวณฺโณ  นามสกุล  พรมบุญ อายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ น.ธ. ตรี (ท่านจบนักธรรมชั้นตรี –การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม มี ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก)
  • วัดหนองกลับ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ดำรงตำแหน่ง อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัว กิตติมศักดิ์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ
    ๑. สถานะเดิม ชื่อ อ๋อย นามสกุล พรมบุญ เกิดวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ บิดาชื่อนายพรม มารดาชื่อนางพวง หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    ๒. อุปสมบท
    วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ วัดพนมรอก ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์  โดยมีหลวงพ่อคล้าย(พระนิพันธ์ธรรมาจารย์) วัดพนมรอก เป็นพระอุปัชฌาย์
    วิทยฐานะ ป. ๒
    ๓. งานปกครอง
    ๑. พ.ศ. ๒๔๖๙  เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และเป็นเจ้าคณะหมวด วัดหนองกลับ
    ๒. พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็นพระอุปัชฌาย์
    ๓. พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว ๔. พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัวกิตติมศักดิ์
    ๔. งานการศึกษา น.ธ. ตรี
    ๕. สมณศักดิ์
    พ.ศ. ๒๔๖๙  เป็นพระฐานานุกรมที่พระสมุห์
    พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิกรปทุมรักษ์

พ.ศ. ๒๕๐๕  เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
พ.ศ. ๒๕๑๕  เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ
๖. พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน คือ 
      ๑. พระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงปู่อ๋อย) นามสกุล พรมบุญ  ๒. นายดำ พรมบุญ ถึงแก่กรรมแล้ว ๓. นายไพร พรมบุญ ถึงแก่กรรมแล้ว ๔. นางป่วน พรมบุญ  ถึงแก่กรรมแล้ว ๕. นางนวล พรมบุญ ถึงแก่กรรมแล้ว ๖. นางปุ่น   พรมบุญ ถึงแก่กรรมแล้ว ๗.นางปุ้น พรมบุญ (พุกน้อย) สมรสกับ นายปุย พุกน้อย ๘.นางพู พรมบุญ(ใยชม)สมรสกับทายกกรี ใยชม ถึงแก่กรรมแล้ว ๙.นางพัน พรมบุญ (ฉ่ำน้อย) สมรสกับนายลื่น ฉ่ำน้อย เป็นชาย ๓ คน หญิง ๖ คน รวม ๙ คน 

  • ปฏิปทา : หลวงปู่อ๋อย
  • การเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเงิน
    ที่กุฏีหลวงปู่อ๋อยจำวัตรอยู่นั้น ท่านตั้งใจสร้างด้วยอาคารไม้สักทั้งหลังเพื่อเป็นอนุสรณ์ ท่านบอกว่าต่อไปไม้สักจะหายาก หลังคามุงด้วยสังกะสีอลูมิเนียมเป็นกุฏี ๒ ชั้น ๕ ห้องมีมุข
  • ท่านอยู่จำพรรษาที่กุฏีหลังนี้ตลอดอายุของท่าน หลวงปู่อ๋อย ท่านเป็นผู้แสวงหาวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ
  • ท่านเล่าว่าเมื่อประมาณพรรษา ๒ ได้เดินทางไปวัดหลวงพ่อเงิน อำเภอโพทะเล จ.พิจิตร เพื่อศึกษาวิชา ขณะนั้นหลวงพ่อเงินชราภาพ พอดีมีโรคอหิวาต์เกิดขึ้น  ได้จำวัตรอยู่ ๒ คืน จึงเดินทางกลับ
  • ท่านเล่าว่ารอบวัดมีไม้ไผ่ ท่านคงจะไปวัดท้ายน้ำเป็นแน่และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ข่าวหลวงพ่อเงินมรณภาพ
  • และท่านเคยเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงพ่อเดิม ท่านเป็นโรคประจำตัวคือโรคปวดหลัง ท่านรักษาตัวเองจนหาย รักษาอยู่หลายปีจนอายุถึง ๖๐ ปี จึงหายขาด
  • ความเป็นผู้นิยมในคาถาอาคม
    มีคาถาอยู่บทหนึ่งจะว่าในขณะที่จาม จะว่า "ติงหะ คัชชะ " คือเวลาจามนั้นไม่จามเหมือนคนทั่วไป จะเปล่งเสียงออกมาว่า "ติงหะ คัชชะ" ท่านบอกว่าเป็นคาถากันผีปอบเข้า
    เป็นคนอดทนคอคำนินทาว่าร้าย
  • การกระทำกิจการต่าง ๆ ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนทุกคน เวลามีคนนำไปพูดต่าง ๆ นา ๆ ลูกศิษย์ผู้หวังดีมาบอกท่าน ท่านจะพูดอยู่คำเดียวว่า "ช่างเถอะปากตลาด" อย่างนี้ทุกครั้งไป
  • จนบางครั้งลูกศิษย์ทนไม่ได้ แต่นานไปก็เป็นดังหลวงปู่ ว่าบุคคลที่กล่าวร้ายภายหลังก็เห็นดีเห็นงามไปด้วยคือท่านถือหลักไม่โต้ตอบกับคนว่าร้าย
  • หลวงปู่อ๋อยเป็นคนช่างพูด มีอัธยาศัยไมตรีกับคนทุกคนโดยเฉพาะแขกบ้านไกลมา ท่านนิยมให้พักแรกกับท่าน ให้ลูกศิษย์จัดที่นอนให้เป็นเนืองนิตย์ เป็นที่ติดใจแก่ผู้มาเยือนทุกคน

แต่บั้นปลายชีวิตของท่าน คือพรรษาสุดท้าย หลวงปู่อ๋อยไม่ค่อยพูดเหมือนเช่นเคย พูดน้อย เหตุเพราะโรคประจำตัวรบกวนคือโรคไตไม่ทำงาน.

  • ความขลังที่ลูกศิษย์เล่าให้ฟัง โดยนางนันทา เลาหะเรืองรองกุล เจ้าของโรงสีร่วมเจริญ ประสบการณ์ครั้งหนึ่ง โรงสีร่วมเจริญ มีหนูกินข้าวที่โรงสีเป็นเนืองนิตย์ เถ้าแก่บุ้นกวงให้ลูกน้องเอายาฆ่าและให้ลูกน้องไล่ฆ่าหนู แต่ต่อมาหนูมากัดกระสอบข้าวกันใหญ่ ภรรยาเถ้าแก่โรงสีรู้เข้า บอกเรื่องอย่างนี้ไม่ดี ห้ามไม่ให้ลูกน้องฆ่าหนู จึงมาเล่าให้หลวงปู่อ๋อยฟัง ท่านยิ้ม ๆ แล้วขอน้ำมนต์ไปพรม ปรากฏว่าหนูไม่รบกวนใหม่เลยจนถึงขณะนี้ทั้งที่โรงสีอยู่ติดตลาดมีหนูชุกชุม นางนันทา เลาหะเรืองรองกุล ภรรยาเถ้าแก่โรงสีเล่าให้ฟังว่า เวลาไปพรมน้ำมนต์ก็บอกว่าหิวก็ให้มากินแต่อย่ามารบกวนกัดกระสอบทางใครทางมัน ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยใช้ยาฆ่าหนูอีกเลย
  • ทำน้ำมนต์คลอดลูกง่าย หลายรายในอำเภอหนองบัวในสมัยที่ยังไม่มีโรงพยาบาลการคลอดลูกเป็นเรื่องลำบากมาก ชาวหนองบัวนิยมมาอาบน้ำมนต์ก่อนคลอดเวลาท้องใกล้คลอดและนำน้ำมนต์ไปดื่ม เลาจะคลอดปรากฏว่าปลอดภัยทุกราย
  • เสกทรายหว่านตามไร่ ตามนาชาวบ้านรังย้อย อำเภอหนองบัว ถึงฤดูลงนาจะมาขอดินทรายหลวงปู่ทุกปี บอกว่ากันหนูกัดข้าวในนาดีนัก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ชาวรังย้อยมาขอจากผู้เขียนไปกันหนูกัดข้าวในนา ผู้เขียนบอกให้ไปเอาดินทรายในกระถางหน้าศพหลวงปู่ ปรากฏว่าได้ผล หนูไม่รบกวนเหมือนท่านปลุกเสกเอง
  • ใครกินน้ำสระหลวงปู่อ๋อยแล้วต้องกลับมาอีก เป็นคำพูดของคนหนองบัวว่า ถ้าใครมาหนองบัวกินน้ำสระหลวงปู่อ๋อยแล้วต้องกลับมาอีก เรื่องนี้ส่วนมากพ่อค้าที่ตลาดหนองบัวหลายคนเคยพูดให้ฟังว่าครั้งแรกมาดูทำเลการค้าที่หนองบัว ไม่คิดว่าจะมาอยู่แต่ต่อมาต้องมาอยู่หนองบัวเสียจนได้

แม้ข้าราชการก็เหมือนกัน หลายคนเวลามาอยู่หนองบัวร้องไห้ไม่อยากมาอยู่ แต่เวลาจะกลับร้องไห้คิดถึงคนหนองบัวด้วยความอาลัยรักทุกรายไป ไม่รู้ว่าหลวงปู่อ๋อยทำอะไรไว้แต่เป็นเช่นนี้ส่วนมากจนเป็นที่กล่าวขานดังที่กล่าวแล้ว.

ในปัจฉิมวัยของท่าน

  •  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงปู่อ๋อยได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ด้วยโรคไตและต่อมลูกหมากอักเสบ จากนั้นกลับมาพักจำพรรษาที่วัดเมื่อถึงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ หลวงปู่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองบัวเพื่อทำการเช็คร่างกายด้วยโรคเดิม
  • คณะศิษย์ก็คิดว่าเป็นการไปตรวจรักษาตามปกติธรรมดาเช่นเคย แต่เป็นการจากวัดครั้งสุดท้ายกล่าวคือ เมือถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙ โรงพยาบาลหนองบัวได้นำส่งหลวงปู่อ๋อยไปรักษาตัวต่อทีโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลคณะศิษย์ไปเยี่ยม ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านนอนจำวัตรเป็นส่วนมากไม่ยอมพูดจากับใครเลย
  • มีบรรดาหลานเฝ้าไข้อยู่ ๒- ๓ คน สร้างความห่วงใยให้บรรดาลูกศิษย์เป็นอันมาก เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๙ ทางวัดได้รับโทรศัพท์ประมาณตี ๔ แจ้งข่าวมรณภาพของหลวงปู่อ๋อย
  • ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๙ เวลา ๐๒. ๐๕ น. ด้วยโรคระบบหัวใจล้มเหลวและเบาหวาน รวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๙ วัน
  • เตรียมการรับศพ ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลาเช้า ๐๗.๐๐ น. ทางวัดและคณะกรรมการวัดหนองกลับ ได้เรียกประชุมด่วน มีทายกทายิกาผู้บำรุงวัดมากันเนืองแน่นบริเวณวัด ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจึงแบ่งหน้าที่และรถไปรับศพ รถรับศพโดยรถของ สจ. ประเวศ ศิริยส ไปรับที่โรงพยาบาลพร้อมรถอีก ๕ คัน เมื่อถึงโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ได้นำศพหลวงปู่อ๋อยมาไว้ชั้นล่างเพื่อรอการฉีดยา มีนายสวัสดิ์ คำประกอบ สส. นครสวรรค์และพระภิกษุอยู่ในห้องนั้นหลายท่าน
  • เกิดอุบัติเหตุในขณะฉีดยา(ยาฉีดศพ) ในขณะที่คณะกรรมการพร้อมกันที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ได้มาถามว่าจะเก็บศพไว้นานเท่าไร จะได้ฉีดยาป้องกันจึงตอบกันว่าจะเก็บไว้ประมาณ ๒ ปี เจ้าหน้าที่มีหมอมาลินีเป็นหัวหน้า และนายสวัสดิ์ คำประกอบ พระภิกษุอยู่ในห้อง ในขณะที่เครื่องฉีดยาทำงานทำการฉีดศพหลวงปู่อ๋อย สายยางจากขวดยาได้หลุด น้ำยาที่สายยางจึงสบัดไปถูกคนที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นผลให้น้ำยาเข้าดวงตา คือ นายสวัสดิ์ คำประกอบ พระสมเกียรติ และหลานท่านอีก ๑ คน รวม ๓ คน ต้องรีบล้างตาโดยด่วนและต้องใช้ผ้าปิดตาอยู่หลายวัน
  • เป็นที่แปลกคือน้ำยาถูกตาซ้ายเหมือนกันหมดและถูกเฉพาะคนที่ใกล้ชิด และตรงกับที่ดวงตาหลวงปู่ที่เป็นโรคต้อที่ตาข้างซ้ายเช่นกัน นำศพกลับวัดเวลา ๙.๑๐ น. ถึงวัดหนองกลับ เวลา ๑๐.๒๕ น.
  • การเข้ารักษาของหลวงปู่ บรรดาศิษย์ไม่นึกเลยว่าท่านจะกลับมาในสภาพเช่นนี้ พอรถถึงวัดหนองกลับซึ่งเต็มไปด้วยพระภิกษุและญาติโยม ข้าราชการหลายร้อยคนบนศาลาเต็มพอดี ยังมีญาติโยมนั่งอยู่บริเวณวัดยิ่งสายเข้าคนก็ยิ่งมากขึ้นจนเต็มบริเวณวัด คณะกรรมการนำศพขึ้นตั้งเพื่อเตรียมสรงน้ำศพ มีพระเถระจากรุงเทพฯ คือท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี วัดเศวตฉัตรมาร่วมรดน้ำศพด้วย และพระราชเวที เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และคณะสงฆ์อำเอหนองบัว
  • เริ่มสรงน้ำศพเวลา ๑๕. ๐๐ น. จนถึง ๒๐.๐๐ น. จึงทำพิธีบรรจุศพ ตั้งศพสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ๑๕ วัน มีเจ้าภาพสวดอภิธรรมทุกคืนไม่ได้ขาดทั้งกลางวันและกลางคืน ทำพิธีเก็บศพไว้บนวิหารหลวงพ่อเดิม ในวันเก็บศพ มี สส.ประเทือง คำประกอบ และ สส. วิจิตร แจ่มใส นายอำเภอหนองบัว สวญ. สจ. ร่วมงานโดยทั่วหน้า
  • เป็นประวัติการณ์คนมากมายสุดที่นับได้เต็มวัดไปหมด คงไม่ต่ำกว่า ๑๕, ๐๐๐ คน เมื่อหลวงปู่มรณภาพ คณะกรรมการสำรวจทรัพย์สิน ปรากฏว่าไม่มีเงินสดเลย มีแต่วัตถุมงคล เช่นรูปหล่อ เหรียญ มีดด้ามงา ส่วนเงินสดนั้นท่านให้หลานสาวเก็บไว้เพื่อรักษาพยาบาล มีเงินในบัญชี ๑๕๐,๐๐๐ บาท ท่านสั่งเอาไว้ใช้ในงานศพ เหมือนท่านรู้ชะตากรรม เหลือแต่วัตถุมงคลของท่านเท่านั้นที่จะเป็นอนุสรณ์และคุณงามความดีให้ได้จดจำสืบไป

หลวงปู่ไม่สะสมเงินทอง
หลวงปู่อ๋อย
: นักเสียสละ ถือเมตตาเป็นหลัก ใครต้องการสิ่งใดจะบริจาคให้ เช่น มีงานบุญต่าง ๆ มักจะรับเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะงานศพ ท่านชอบรับเป็นเจ้าภาพอยู่เสมอ โดยมีญาติโยมเตือนหลวงปู่ว่าให้เก็บเงินไว้ทำศพตังเองบ้าง เพราะว่าเป็นพระผู้ใหญ่ เวลาสิ้นบุญจะได้มีเงินทำศพ หลวงปู่ท่านตอบว่าเงินงานศพหลวงปู่มีแล้ว ฝากไว้กับลูกหลานและศิษย์ทุกคน ท่านหมายถึงเงินที่หลวงปู่ให้เป็นขวัญถุงวันแต่งงาน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมคนหนองบัว-หนองกลับ เวลาแต่งงานสมรสคู่บ่าว สาว ทั้งคู่จะมาไหว้หลวงปู่ขอศีล ขอพร ท่านจะให้เงินขวัญถุงเป็นการผูกข้อมือทุกคนไป สร้างความสนิทสนมและผูกพัน อย่างแน่นแฟ้นไม่มีวันลืม   เช่น บางคนแต่งงานปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มาไหว้หลวงปู่ให้เงินเป็นขวัญถุงถึง ๔ บาท เท่ากับข้าว ๑ เล่ม(๑ เกวียน : ๑ ตัน) ในสมัยนั้น จนถึงขณะนี้ได้ ๔๖ ปี (พ.ศ.๒๕๓๑) หลวงปู่จะกล่าวเตือนลูกหลานที่มาไหว้ท่านวันแต่งงานว่า “เวลาหลวงปู่ตาย เอาเงินกลับมาทำบุญกันนะ” ซึ่งคำกล่าวนี้ได้เป็นจริงตามท่านพูดทุกประการ เมื่อกลางพรรษาปี ๒๕๓๑ คณะกรรมการประกาศจะจัดงานศพหลวงปู่ ในวันที่ ๑๕-๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงบอกบุญไปยังพี่น้องชาวหนองบัว ได้มีประชาชน พ่อค้า ข้าราชการ พระสงฆ์ได้นำเงินมาบริจาค เพื่อจัดงานศพหลวงปู่อ๋อย เป็นจำนวนเงินถึง ๖๒๔,๑๕๐ บาท เพราะว่าทุกคนรู้ว่าหลวงปู่ไม่มีเงินเหลือ จึงเตรียมใจกันบริจาคด้วยจิตศรัทธาโดยทั่วกัน.

การบูรณะนอกวัดของหลวงปู่อ๋อย
มีทั้งสิ้นมี ๘ แห่งดังนี้
๑. วัดเทพสุทธาวาส ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ
๒. วัดใหม่นิกรปทุมรักษ์(บ้านตาลิน) ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ ๓.วัดหนองประดู่ ต. หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างกุฏิ และศาลาการเปรียญ ๔. วัดเขาพระ ต. หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างกุฏิและศาลาดิน ๕. วัดจิกยาวใต้ ต.ห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ บูรณะอุโบสถที่หลวงพ่อเดิมสร้างไว้ ๖.วัดห้วยถั่วใต้ ต.ห้วยถั่วใต้  อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ บูรณะศาลาการเปรียญ ๗.วัดสหชาติประชาธรรม(วัดเหมืองแร่) ต. หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ ๘. วัดหนองไผ่ ต. หนองบัว อ.หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ.



หมายเลขบันทึก: 443376เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเรื่องหลวงพ่ออ๋อยเพิ่มเติม ตามอ่านได้อีกที่หนึ่งในหัวข้อนี้
"หลวงพ่ออ๋อย ศิษย์หลวงพ่อเดิม : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานความเป็นปึกแผ่นชุมชนหนองบัว"
http://www.gotoknow.org/blog/nongbua-community/379070

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ขำสุข

  • แวะมากราบนมัสการเจ้าค่ะ ตั้งแต่ติดตามเรื่องราวของชุมชนหนองบัว ให้ได้ศรัทธาหลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม ผู้เป็นเนื้อนาบุญของชาวหนองบัวค่ะ ..
  • คงมีโอกาสได้ไปหนองบัวอีกค่ะ หรืออาจจะเป็นเวทีคนหนองบัวครั้งต่อไปค่ะ (ถ้ามี) ^^

เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาทักทาย
คราวไปหนองบัวครั้งนั้น นิสิตป.โทมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ไปกับอาตมาในวันไปชมนิทรรศการเวทีฯงานงิ้วหนองบัว(๒๖ มีนาคม๒๕๕๔)ที่ผ่านมานั้น เขาเห็นอาจารย์ณัฐพัชร์ช่วยงานตลอดไปไม่ไหนเลย ทำตัวกลมกลืนเข้ากับคนหนองบัว ก็เข้าใจว่าอาจารย์เป็นคนหนองบัวไปด้วย

พอทราบว่าเป็นอาจารย์ที่มหิดลเขาทำท่าแปลกใจไม่อยากจะเชื่อ ด้วยว่าเห็นอาจารย์ทำตัวสบายๆติดดินมาก ทุกท่านที่ไปจากพิษณุโลกด้วยกันทั้งหมดมีความประทับใจทีมงานอาจารย์วัรัตน์มากเลย

เมื่อปลายเดือนพ.ค.๒๕๕๔ อาตมาไปหนองบัวมา เห็นทางวัดหนองกลับกำลังก่อสร้างทราบว่าสร้างวิหารหลวงพ่ออ๋อยขึ้นอีกหนึ่งหลัง บริเวณตะวันออกศาลาเยื้องๆด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือวิหารหลวงพ่อเดิม โดยมีเจ้าภาพบริจาคสร้างให้ทั้งหลัง

หลังจากงานงิ้วแล้วได้พบคุณครูผู้นำชุมชนและพระสงฆ์หลายรูปบ่นเสียดาย ที่พลาดโอกาสไปชมนิทรรศการเวทีคนหนองบัว เลยมีคำถามฝากมาว่าจะจัดอีกไหม

เจริญพรคุณครูคิม
ขอบคุณสำหรับกำลัใจ

บทคัดย่อ

           การวิจัยกรณีศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทเรียนจากกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายครู ศึกษากรณีกระบวนการเรียนรู้เวทีคนหนองบัวในเว็บบล็อก GotoKnow.org เพื่อทราบบทเรียนจากกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายครู และเสนอแนะเชิงนโยบายจากกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายครูจากกรณีศึกษากระบวนการเรียนรู้เวทีคนหนองบัว ในการศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีสัมภาษณ์แบบลูกโซ่ (Snowball Sampling) และการสนทนากลุ่ม (Focus Groups) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและให้ข้อเสนอแนะจากข้อมูลปฏิบัติ

              ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการเรียนรู้เครือข่ายครูมีบทบาทต่อการระดมสรรพกำลังปวงชนเพื่อการศึกษาและเคลื่อนไหวการศึกษาเพื่อชุมชน งานเทคโนโลยีการศึกษาชุมชนจะเป็นระบบการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขยายผลให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการดียิ่งขึ้นขณะเดียวกัน ระบบภูมิปัญญาและเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ก็จะมีวิธีการได้อย่างเหมาะสมเครือข่ายครูสามารถพัฒนาตนเองสอดคล้องกับความจำเป็นได้มากยิ่งๆ ขึ้น

              ผลการวิเคราะห์และถอดบทเรียนสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ชุมชนของเครือข่ายครู ได้แก่ ขั้นตอนและวิธีการที่มีบทบาท ที่ริเริ่มสร้างความรู้ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติงานของครูที่ทำให้การดำเนินงานของเครือข่ายครูประสบผลสำเร็จหรือมีผลงานที่โดดเด่นได้ ขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวได้แก่ 1) กระบวนการเรียนรู้สื่อออนไลน์ มีวิธีการ ได้แก่ เรียนรู้การใช้สื่อเทคโนโลยีการศึกษาชุมชน 2) การวางแผนกระบวนการเรียนรู้ วางแผนร่วมกัน มีวิธีการ ได้แก่ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน 3) กระบวนการเรียนรู้ได้ผลลัพธ์ มีวิธีการ ได้แก่ การสอนและลงมือปฏิบัติไปพร้อมกันขยายผลสืบเนื่องไปสู่การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 4) กระบวนการเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ มีวิธีการ ได้แก่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ให้ความสำคัญกับบทบาทผู้นำเครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท