โลกแห่งแอพพลิเคชั่นกับประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย


ประเด็นทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับวงจรธุรกิจของแอพพลิเคชั่นมี ๔ ประเด็น คือ (๑) ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ในแอพพลิเคชั่น (๒) ข้อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (๓) การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ และ (๔) มาตรการภาครัฐกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาแอพพลิเคชั่น

(๑)          สถานการณ์ด้านจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

จากผลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมนครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี๒๕๕๓ พบว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า ๓๘.๒ ล้านคน หรือประมาณร้อยละ ๖๑ ของประชากร ในขณะที่การสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในไตรมาศที่ ๒ ของปี พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า ๖๑.๔ ล้านราย และจากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเนคเทคในปี พ.ศ.๒๕๕๓ พบว่า มีการใช้แอพพลิเคชั่นผ่านจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึงร้อยละ ๙๑.๖

 

(๒)          สถานการณ์ด้านรูปแบบของการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ประเภทพกพา หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ 

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงรูปแปบของการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น iPhone หรือ Sumsung Galaxy หรือ อุปกรณ์ประเภทพกพา หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device) เช่น iPad นอกจากจะใช้บริการในแอพพลิเคชั่นในรูปแบบของ (๑) การส่งข้อความสั้น เสียง หรือภาพพร้อมเสียงแล้ว (๒) การดาวน์โหลดโปรแกรมต่างๆ (๓) การเข้าชมเว็บไซต์หรือใช้บริการในเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านทางมือถือ  ยังมีการพัฒนานารูปแบบไปสู่(๔) การซื้อสินค้าและชำระราคาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ประเภทพกพา หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่

ในแง่ของการพัฒนารูปแบบของการใช้งานที่ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้พัฒนารูปแบบของการใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ต้องการใช้บริการมาไว้ที่โทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์ประเภทพกพา หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ และเมื่อต้องการใช้งานแอพพลิเคชั่นใดก็สามารถคลิกที่แอพพลิเคชั่นนั้นได้เลย โดยไม่ต้องอาศัยช่องทางของ www แต่อย่างใด เช่น เราสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า friendly ไว้ที่หน้าจอของโทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์ประเภทพกพา หรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น iPad หลังจากนั้นเราก็สามารถเข้าถึง facebook.com โดยการคลิกที่แอพพลิเคชั่น friendly ได้โดยไม่ต้องเข้าไปที่ www.facebook.com

(๓)          วงจรธุรกิจของแอพพลิเคชั่น

ในเรื่องของวงจรธุรกิจของแอพพลิเคชั่น คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จากบริษัทโชว์ไร้ขีดจำกัด[1] อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นเป็น ระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ หรือ  (Eco System) ที่ผู้ผลิตระบบปฏิการณ์ เช่น Apple : AppStore, Android Market, BB AppWorld, Windows LIVE Marketplace สร้างให้ "คนหลายฝ่าย" มาเกี่ยวข้องกันในวงจรแห่งธุรกิจนี้ เช่น (๑) นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นก็มีพื้นที่ในการแจกหรือได้ขายซอฟต์แวร์ตัวเองไปทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือ  Operator ยกตัวอย่างเช่น นักพัฒนาจากเนคเทคได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น สวนโมกข์ หรือ BIA App ที่เป็นแอพพลิเคชั่นในการพาไปเยี่ยมชมสวนโมกข์ กรุงเทพมหานคร และ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งข้อมูลข่าวสาร และ เกมทายภาพในสวนโมกข์ เป็นต้น ซึ่งมีการพัฒนาผ่านทางช่องทางของ Appstore (๒) ผู้ให้บริการในการดาวน์โหลดซอฟท์แวร์หรือ Operator จะได้ส่วนแบ่งจากการดาวน์โหลดโดยคำนวณจากยอดใช้งานข้อมูลจากการโหลด ยกตัวอย่างเช่น Apple สร้างต้นแบบของสัดส่วนไว้เป็นบรรทัดฐานนั่นคือ นักพัฒนา : Apple คือ 70:30 (นักพัฒนาได้มากกว่า) ทำให้ผู้ให้บริการอื่นๆใช้สัดส่วนนี้โดยปัจจุบัน Apple มี App อยู่ 35x,xxx แอพพลิเคชั่น[2] จากระบบนิเวศน์นี้ ในขณะที่ กูเกิ้ล แอนดรอยด์ อยู่ที่ 25x,xxx[3] แอพพลิเคชั่น

หมายความว่า ในวงจรแห่งธุรกิจแอพพลิเคชั่นจะมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน้อย ๓ ฝ่าย กล่าวคือ (๑) นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ในกรณีของ Apple สามารถเข้าไปสมัครเพื่อระบุว่าตนเองจะพัฒนา แอพพลิเคชั่นใดผ่านทาง www.developer.apple.com (๒) ผู้ให้บริการในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลักๆ ๒ บริษัท กล่าวคือ Apple และ กูเกิ้ล แอนดรอยด์ (๓) ผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์ ที่จะเป็นผู้มาโฆษณาสินค้าของตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการดาวน์โหลด ซึ่งนักพัฒนาแอพลิเคชั่น จะสามารถได้ส่วนแบ่งจากผู้สนับสนุนอีกทางหนึ่งนอกจากจะได้จากสัดส่วนการแบ่งจากผู้ให้บริการ

(๔)          ข้อพิจารณาทางกฎหมาย 

หากพิจารณาจากระบบวงจรของการให้บริการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ปัญหาในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น พบว่ามี ๔ ประเด็นกล่าวคือ

ประเด็นแรก ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในแอพพลิเคชั่น เพราะการที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อนำไปไว้ในระบบของผู้ให้บริการ จะต้องทำการสมัครกับผู้ให้บริการ และ ใช้ซอฟท์แวร์ของผู้ให้บริการในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น คำถามก็คือ ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในแอพพลิเคชั่น ผู้พัฒนา หรือ ผู้ให้บริการ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาจากข้อสัญญาที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นได้ตกลงไว้กับผู้ให้บริการ

ประเด็นที่สอง ความน่าเชื่อถือของการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าที่ซื้อแอพพลิเคชั่น เพราะในการซื้อแอพพลิเคชั่นจะต้องใช้ชำระเงินโดยใช้บัตรเครดิต และ ในการทำการซื้อในระบบออนไลน์ จะต้องใช้หมายเลขบัตรเครดิตในการชำระเงิน คำถามสำคัญก็คือ ในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การเก็บรักษาความลับของข้อมูลก็ดี หรือ ความปลอดภัยในการชำระราคาก็ดี ของผู้ให้บริการมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ซึ่งมาตรการในการเก็บรักษาความลับของข้อมูล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจส่งผลต่อกรณีปัญหาการโทรศัพท์มาเพื่อขายสินค้าโดยผู้ประกอบการรายอื่น หรือที่เรียกว่า Cold Calling เช่น บริษัทขายประกัน เป็นต้น

ประเด็นที่สาม    แนวคิดของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ กับ วัฒนธรรมการแบ่งปันในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ใช้ระบบทางเทคนิคมาเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเจ้าของสิทธิในผลงานที่ตนเองสร้างขึ้น แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในโลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในขณะที่แนวคิดเรื่องสัญญาอนุญาต หรือ creative common : CC ที่ผูกโยงไปกับระบบการจัดการทางเทคนิค ที่หากผู้คัดลอกมาจากเว็บไซต์ต้นทางไม่มีการระบุ CC ทางเว็บไซต์ปลายทางจะไม่ยินยอมให้มีการสำเนาเนื้อหาด้งกล่าวในเว็บไซต์ปลายทางได้ ทำให้การบังคับใช้ตามสัญญาอนุญาตในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นไปได้จริงมากกว่าการบังคับใช้กติกาโดยไม่มีการรองรับทางเทคนิค อีกทั้ง วัฒนธรรมเสรี (Free Culture) หรือ วัฒนธรรมแบ่งปันในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้อาจจะต้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ โดยใช้ต้นแบบการจัดการทางเทคนิคของระบบ CC มาร่วมด้วย

ประเด็นสุดท้าย      มาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น คำถามสำคัญก็คือ ภาครัฐมีแนวโน้มหรือทิศทางในการส่งเสริมนักพัฒนาซอฟท์แวร์ในประเทศไทยเพื่อให้มีโอกาสในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั้งการสนับสนุนด้านซอฟท์แวร์กลางในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น รวมทั้ง การสนับสนุนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองต่อการพัฒนาสังคมไทยมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุน ที่นำมาซึ่งการสนับสนุนนักพัฒนารายย่อยในประเทศไทย

ดาวน์โหลดเอกสาร 

 

 

 

 

 

 



[1] สัมภาษณ์ผ่านทาง facebook.com : http://www.facebook.com/ithipolp?and=nuishow

[2] Apple คือตัวกลางแต่เพียงผู้เดียวในระบบ iOS ในระบบของตัวเอง

[3] Google ก็คือตัวกลางแต่เพียงผู้เดียวของระบบ Android ในระบบของตัวเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 442999เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท