ชี้เปลี่ยนปท.ไทยต้องสร้างมหาวิทยาลัยชีวิต


จะให้นักศึกษา สัมผัสความรู้สึกจากแววตา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ดีต้องเริ่มการพานักศึกษาลงเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตดีกว่า

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2554 หน้า 11 ได้ลงข่าวเกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยชีวิต ดังนี้


ชี้เปลี่ยนปท.ไทยต้องสร้างมหาวิทยาลัยชีวิต

ให้นักศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

“ประเวศ” ชี้เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ต้องสร้างมหาวิทยาลัยชีวิต เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ท้องถิ่น ปลื้ม อุตรดิตถ์โมเดล ต้นแบบของ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ติงการศึกษาติดขัดมา 100 ปี ปฎิรูปไม่สำเร็จ เหตุไม่ได้ปฎิรูปแนวคิด การศึกษาไทย เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ (มรอ) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฎิรูปประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง มหาวิทยาลัย..พลังแก้วิกฤตชาติ” ภายในงาน “อุตรดิตถ์โมเดลสู่การพัฒนาท่าเหนือเมืองน่าอยู่ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ตอนหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะทำให้ชาติพ้นวิกฤต แต่ตอนนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน วัฒนธรรมอำนาจเข้ามาครอบงำ ฉะนั้น โจทย์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมเผด็จการสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อเป็นแผ่นดินแห่งการเรียนรู้ ผู้คน ท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตามอยากเห็นในแต่ละจังหวัด สถาบันการศึกษา ทำงานร่วมกับทุกคนในพื้นที่ และใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติ เพราะการเรียนรู้จากการท่องตำรา ไม่สามารถช่วยอะไรได้ การเรียนรู้นอกเหนือจากการปฎิบัติทำให้เกิดสิ่งที่ดีงาม เนื่องจากการเรียนรู้ระหว่างกัน เชื่อว่าจะนำไปสู่การเชื่อถือ ไว้วางใจกัน และทำให้เกิดความสุข ไม่เกิดการระแวงต่อกัน ไม่ต้องระมัดระวัง ไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบ มีความสุขที่จะทำ และประสบความสำเร็จในสิ่งที่จะทำ แต่การศึกษาจำกัดอยู่ในกรุงเทพมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในรูปใหม่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต

“การศึกษาที่ติดขัดมา 100 ปี และพยายามปฎิรูป แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ปฎิรูปแนวคิด อุตรดิตถ์โมเดล เป็นการปฎิรูปแนวคิด และการศึกษาไทย เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไมได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง แผ่นดินจึงอ่อนแอ และมีการแย่งชิง ดังนั้น อุตรดิตถ์โมเดลไม่ได้เอาวิชาเป็นตั้งตั้ง และปฎิรูปประเทศไทยที่สำคัญที่สุด ศูนย์อำนาจต้องไม่มีไว้ในส่วนกลาง ซึ่งการรวมอำนาจส่วนกลางเกิดขึ้นนานเกินไป ทำให้เกิดการแย่งอำนาจ และได้เปลี่ยนอำนาจจากพระเจ้าแผ่นดิน มาเป็นราษฎร กองทัพ และนักการเมืองทำให้เกิดความหายนะต่อประเทศบ้านเมือง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาช่วยสร้างสันติระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม จึงอยากให้ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นศีลธรรม โดยเฉพาะศีลธรรมในครอบครัว และชุมชน เพราะที่ผ่านมาชุมชนเกิดการแตกจากอำนาจรัฐ เงิน และความรู้ เกิดวิกฤตของสังคม นอกจากนั้นระบบราชการอ่อนแอทั้งประเทศ ควรสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเชิงนโยบาย และความรู้ ส่วนการจะลดปัญหาคอรัปชั่น อำนาจความคิด มากกว่าอำนาจเงิน กระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่ากำแพงของสถาบันการศึกษา คือกำแพงที่ขวางกั้นการศึกษากับชีวิตการลงพื้นที่ สัมผัสวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นจะให้นักศึกษา สัมผัสความรู้สึกจากแววตา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ดีต้องเริ่มการพานักศึกษาลงเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตดีกว่า ตอนนี้มีนักศึกษาเป็นแสนคน มีหมู่บ้านประมาณ 8 หมื่นแห่ง จะทำให้สร้างนักศึกษาที่มีความรู้และปัญญา ต้องให้ได้เรียนรู้จากตำรา และบุคคล วิถีชีวิต ประสบการณ์ เพราะตำราสอนให้ได้ความรู้ แต่ถ้าสอนจากบุคคล จะทำให้นักศึกษาได้ปัญญา อย่างไรก็ตาม การสร้าง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัดให้เกิดขึ้นต้องปรับแนวคิดให้เป็นรูปแบบ พื้นที่เป็นตัวตั้ว มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกันจังหวัด และมี สสส.เข้ามาสนับสนุน ทำให้เปิดพื้นที่ปัญญา และพื้นที่สังคม

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด มีภารกิจ ในการจัดองค์ความรู้ ศูนย์ความรู้ในมหาวิทยาลัย สร้างนักวิชาการรับใช้สังคม เพื่อให้กำแพงที่กั้นระหว่างมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องปิดตาย และเป็นที่พึ่งของสังคม นอกจากนั้นงานวิชาการต้องสามารถช่วยเหลือพัฒนาสังคม อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานผลักดันให้งานวิจัย สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้นั้น อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยกันคิดว่างานวิจัยเชิงพื้นที่ควรเป็นอย่างไร ผลงานที่ได้รับการยอมรับควรมีลักษณะแบบไหน และที่สำคัญทำไมชุมชนถึงต้องมองเห็นมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่ง

น.ส.ธันวธู จอมสืบ อดีตนักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกพัฒนาชุมชน มรอ. กล่าวว่า ในช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยตนได้เห็นและร่วมกับมหาวิทยาลัยทำงานกับชุมชนทำให้คิดเป็นทำอะไร และรู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง ที่สำคัญรู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน จึงทำให้เมื่อจบออกมาสามารถแก้ปัญหาชุมชนได้ทันที และที่สำคัญมีจิตอาสาที่จะทำงานร่วมกับท้องถิ่น

ด้านนายศรายุทธ์ ทิอ่อน นายกองค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.)ขุนฝาง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคนจะมองว่าการทำงานขององค์กรต่างๆในชุมชนนั้นจะมีการทุจริต แต่จากประสบการณ์ที่ตนทำงานร่วมกับชุมชน ไม่พบว่ามีกรณีดังกล่าว เพราะทำงานด้วยการไว้ใจกัน และมีการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายจึงทำให้มีระบบการตรวจสอบกันด้วย ดังนั้นตนอยากให้ส่วนกลางมีการนำวัฒนธรรมเชื่อใจกันเข้าไปใช้ในงานด้วย


ขอเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ชาว ม.ชีวิต แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ได้โดยพลัน...

หมายเลขบันทึก: 442781เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณ อ.ไอศูรย์ ครับที่ส่งข่าวดี ผมอยากจะเพิ่ม อีกสัก ๑ ประโยคครับ

"เปลี่ยน ปท.ไทยต้อง สร้าง มหาลัยชีวิต ๑ อำเภอ ๑ มหาลัยชีวิต "ทั้งประเทศ

อยากให้ทุกมหาวิทยาลัยในไทยทำแบบนี้บางจัง

พอดีผมก็ไปดูงานที่นั้นเหมือนกัน นักศึกษากับอาจารย์ ลงพื้นที่ไปศึกษาในพื้นที่จริงๆๆ

แล้วมาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหา

หนึ่งวันก่อนจะไปรับฟังข้อคิดจากศ.นพ.ประเวศ วะสี ตามที่เป็นข่าวข้างต้น ผมไปเยี่ยมพื้นที่ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ลูกศิษย์ และชาวบ้านร่วมกันขบโจทย์หมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้าน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นั้นมี "มหาวิทยาลัยวัววิทยา" คือ ทุกเรื่องมีวัว(และขี้วัว)เป็นย์ศูนย์กลาง คือ วิชาใดๆ ก็จะเริ่มจากวัวจบที่วัว ที่ชุมพร อาจเกิด "มหาวิทยาลัยปาล์มวิทยา" ก็เป็นได้นะครับ

เห็นด้วยครับ นักการเมือง ผู้นำด้านการศึกษา เขาจะรู้มั้ย เขาได้ฟังหรือไม่อย่างไร ควรได้รีบดำเนินการ มิฉะนั้นอาจสายไป

จริงๆแล้ว เรื่องชีวิต เรื่องท้องถิ่น เรียนรู้กันได้ตั้งแต่ประถม แล้วต่อยอดถึง อุดมศึกษา ปัจจุบันปฏิรูปการศึกษา พูดถึงอะไรก็ไม่รู้

เอะอะ เอะ อะ ก็จะกู้เงินท่าเดียว (บ่นอีกแล้ว)

ÄÄÄ.......ก่อนสังคมจะคืบคลานไปสู่..ความมีพลัง..มีสติ..และ..ปัญญา..(คงจะต้องมองดูว่า..ปาก..ท้อง..ของคนเป็นอย่างไร..ถ้าสิ่งที่ถูกป้อนเข้าไป..ยังเป็นสิ่ง..ที่เคี้ยวแล้วไม่ให้สุขภาพ...)....กำลังปัญญาที่ไฝ่หา..(คงไม่เกิด.นะ..ยาย"แอบคิด")..แล้วถ้าจะใช้เงินกู้มาแก้..ก็คงจะเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้..อ้ะ.(ชาวบ้านเขาเรียกว่า..ชักหน้าไม่ถึงหลัง..เป็นมานานแล้ว..ก็ดู..ซิ วิกฤติที่กำลังเกิดเป็นลูกโซ่อยู่เวลานี้..)...สงคราม"น้ำ"..กำลังจะ..เดือดไปเรื่อยๆ..ตอนนี้เริ่มละลาย..อ้ะ...แล้ว "ไฟ" ที่สุมๆกันไว้..ก็เตาระเบิด..คุมไม่อยู่...หม้อข้าว..มันเกินปริมารต..ก็คงแตกเข้าสักวัน..อ้ะ....(ยายธี..ก็แอบคิดไปตามประสาชาวบ้าน..อ้ะ..ความรู้ก็เท่าหางอึ่ง..ไม่รู้ๆๆจะบ่นไปทำไมอ้ะ)

มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นมหาลัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ชุมชนมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐต้องให้การสนับสนุน โดยการผ่านกระทรวง กรม ที่ดูแลพิ่น้องรากหญ้า ให้เขาเกิดการเรียนรู้ เมื่อชุมชนได้เรียนรู้ เขาจะจัดการตนเอง ครอบครัว ชุมชนได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง

แหล่งที่จะเรียนรู้ได้ก็คือ มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในชุมชน ที่เอา ผู้นำชุมชน ชาวไร่ ชาวนา ทุกสาขาอาชีพมาเข้ากระบวนการจัดการเรียนรู้

"มหาวิทยาลัยฃีวิต" คือ ศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตของตนเอง มีส่วนได้เสียกับสถาบันเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) ซึ่งชุมชนเราทั้งประเทศจะต้องช่วยกันสร้างแนวคิดใหม่ แนวทางปฏิบัติใหม่ และให้คุณค่าใหม่ เพื่อให้ชุมชนของเรารอด พอพียง และยั่งยืน พร้อมที่จะแข่งขันได้ในโลกบาล ผมมั่นใจครับ

ด.ต.ไพฑูรย์  ทะวะลัย

ผปจ.ร้อยเอ็ด

เห็นด้วยกับความคิดนี้ของอาจารย์หมอประเวศ ผมเองทำงานกับชุมชนมานานกว่า ๓๐ ปีได้ประสบการณ์ได้ความรู้จากชาวบ้านที่ล้มเหลว และประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากหลายเรื่อง จึงยึดถือการทำงานแบบ ใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ ชุมชนเป็นฐาน บูรณาการกับชีวิตจริง และอิงเทคโนโลยี สามารถทำงานได้ง่าย ราบรื่นและส่วนใหญ่สำเร็จ

สถาบันการศึกษาในประเทศไทยปัจจุบันเปรียบเสมือนบริษัทผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันกันสูงมากเน้นจำนวนปริมาณจนลืมเรื่องคุณภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของการล้มเหลวในเรื่องของการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยชีวิตเป็นของชุมชน เป็นการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนโดยชุมชนเอง หากท่านทั้งหลายที่กำลังสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตทั่วประเทศสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาของท้องถิ่นเอง สร้างคนในชุมชนที่มีคุณภาพร่วมกันแก้ปัญหาท้องถิ่นของตนเองหลายๆท้องถิ่นขยายออกไปจนเกือบทั้งประเทศ ผมคิดว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะพบกับแสงสว่าง (ส่วนนักการเมืองอย่าไปยุ่งกับเค้าปล่อยให้เค้าทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ของเค้าไป เพราะเมื่อใดชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน เข้มแข็ง เมื่อนั้นเค้าไม่สามารถครอบงำ ชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน) เราทั้งหลายมาช่วยสร้างให้ ชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน เข้มแข็งกันเถอะครับ

สวัสดีครับ จาก ปรีชา นาสาร

เห็นด้วยกับความคิดนี้ของอาจารย์หมอประเวศ ดิฉันมีแนวคิดใหม่ แนวทางปฏิบัติใหม่ และประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากหลายเรื่อง จึงยึดถือการทำงานแบบ ใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ ชุมชนเป็นฐาน บูรณาการกับชีวิตจริง และอิงเทคโนโลยี สามารถทำงานได้ง่าย ราบรื่นและส่วนใหญ่สำเร็จ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท