เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ถึง ๓ มิถุนายน ๒๕๕๔


๖  มิถุนายน  ๒๕๕๔

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔  เช้านี้กำหนดเดิมจะไปโรงแรมตะวันนา  ถนนสุรวงศ์ เพื่อร่วมเป็นเกียรติในงานประกาศ เกียรติคุณสถานศึกษาที่ได้รับพระราชทานรางวัลเกียรติคุณ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓  ปีนี้ท่าน ผอ. นันทนิจ เที่ยงพูนโภค ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเปรมประชากร ได้รับพระราชทานรางวัล สถานศึกษาระดับประถมศึกษาดีเด่นด้วย  แต่ก็ติดภารกิจที่ต้องเดินทางไปส่งครูแน่งน้อย กลับโรงเรียนป่าไม้อุทิศ ๙ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นสังกัดตามนโยบายของ สพฐ. จึงให้ท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ไปแทน คณะของโรงเรียนก็ไปกับรถตู้ของเขตเพื่อความสะดวกและประหยัด  สมัยปี๒๕๒๕ โรงเรียนป่าไม้อุทิศ ๙ รถยนต์เข้าไม่ถึง ต้องลงเรือหางยาวที่ท่าน้ำนนท์ ไปขึ้นท่าน้ำวัดประชารังสรรค์ แล้วเดินเท้าผ่านคันร่องสวนเข้าไปอีกไกลเหมือนกัน นับเป็นโรงเรียนกันดารของ สปอ.เมืองนนทบุรี ปัจจุบันมีถนนเข้าออกได้หลายทาง จึงสะดวกในการเดินทางของครู สมัยนั้นชาวบ้านบอกขายที่ดินพร้อมสวนทุเรียนไร่ละสามหมื่นบาท เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเขาขายที่แถวนั้นไปหนึ่งไร่เศษในราคาเพียง ๔๗ ล้านบาท วันนี้มีผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด สพป.นนทบุรี เขต ๑ ซึ่งเคยเป็นครูโรงเรียนนี้มาต้อนรับด้วย คือ ผอ.ปัญญา เนื่องฤทธิ์ โรงเรียนชุมชนวัดไทรม้า คณะครูโรงเรียนอนุบาลปทุมธานีนำโดย ผอ.สิงห์โต แก้วกัลยา มาส่ง ๑ คันรถตู้ นอกนั้นก็เป็นเพื่อนข้าราชการในเขตอีกจำนวนหนึ่ง เห็นใกล้เที่ยงพาไปทานข้าวที่ร้านอาหารครัวคันไถ ใกล้วัดสิงห์ทอง เพราะเป็นร้านอาหารดังในย่านนี้ โดยเฉพาะปลาช่อนลุยสวนถือเป็นเมนูเด็ดที่ทุกโต๊ะต้องสั่งมากิน

บ่ายเข้าเขตเพื่อทำงานแฟ้มเอกสารต่าง ๆ ก่อนเลิกงาน ท่าน ผอ.นันทนิจ เที่ยงพูนโภค และคณะครูจากโรงเรียนวัดเปรมประชากรมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกพร้อมโล่รางวัลที่ได้รับพระราชทานมา

วันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เข้าที่ทำงานตั้งแต่เช้าขึ้นห้องทำงานตามปกติ เรื่องแรกที่ทำความเข้าใจ เป็นเรื่องที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งถามมาว่า ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจตามกฎหมายโรงเรียนเอกชนมาตราใดในการสั่งการให้โรงเรียนชะลอการเรียกเก็บค่าเล่าเรียน เพราะอ่านแล้วก็ไม่เห็นมีเขียนไว้ตรงไหน ขอให้ชี้แจงให้ทราบภายในเวลาที่กำหนด หากทำเฉยก็ถือว่าเห็นชอบ เรื่องโรงเรียนเอกชนมีกลุ่มงานส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน เป็นผู้ดูแล ปกติก็ไม่ได้เข้าไปจุกจิกอะไรเขามาก เพราะเห็นว่าเป็นเอกชน จนเขาอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเอกชนเหมือนบริษัทที่จะทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ ความจริงโรงเรียนเอกชนเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒  ประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง การจัดการศึกษาเป็นบริการสาธารณะของรัฐ เมื่อกฎหมาย(พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐)บัญญัติให้สามารถจัดตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นได้ โรงเรียนเอกชนดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติให้อยู่ในหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ความบกพร่องทั้งในเรื่ององค์ประกอบ หรือพฤติการณ์ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาจทำให้ถูกเพิกถอนสภาพโรงเรียนไปได้โดย "ผู้อนุญาต" ที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ทรงอำนาจทั้ง "อนุญาต" และ "ไม่อนุญาต" รวมทั้งการ "เพิกถอนการอนุญาต" นอกเขตกรุงเทพมหานคร "ผู้อนุญาต" ย่อมเป็นไปตามบทนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ว่า "ผู้อนุญาต หมายถึง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมอบหมาย"  ผู้อนุญาตมีหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองให้สอดคล้องกับเงื่อนไขในบทบัญญัติของกฎหมายโรงเรียนเอกชนทั้งกฎหมายหลักและกฎหมายรองต่าง ๆ ในรูปของการ "อนุญาต"  "ไม่อนุญาต" รวมทั้งการสั่งการใด ๆ ทั้งที่มีฐานะเป็นคำสั่งทางปกครอง หรือเป็นการเตรียมการจัดทำคำสั่งทางปกครอง หมายความว่าผู้อนุญาตจะต้องกำกับดูแลให้โรงเรียนเอกชนปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้การช่วยเหลือของ "พนักงานเจ้าหน้าที่" ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๗ เมื่อพบว่ามีโรงเรียนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตก็มีหน้าที่ต้องออกคำสั่งให้แก้ไขหากไม่ปฏิบัติตามก็จะได้รับผลร้ายตามควรแก่กรณี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ และมาตราอื่น ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน ที่ว่ามาคือหลักกฎหมายปกครองล้วน ๆ ที่อธิบายเชื่อมโยงให้เห็นโดยสังเขป มาเข้าประเด็นข้อขัดแย้ง มีผู้ปกครองร้องเรียนมาว่าได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นค่าเล่าเรียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เขาก็บรรยายมาหลายหน้ากระดาษ ลงชื่อเสียงเรียงนามมีตัวตน ในฐานะ "ผู้อนุญาต" จะต้องมีการตรวจสอบว่าการกระทำของโรงเรียนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกฟ้องว่าละเลยหน้าที่หรือถ้าจะให้เข้าอาญาก็ต้องละเว้นตามมาตรา ๑๕๗  ก็ต้องดูว่าโรงเรียนใช้อำนาจเป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่  ได้ทำตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการขึ้นค่าเล่าเรียนหรือไม่ เรื่องนี้ต้องขอข้อมูลมาดู ต้องเอาหลักเกณฑ์มาเทียบ และได้สั่งชะลอการเรียกเก็บค่าเล่าเรียนไว้ เพราะเห็นว่าไม่กระทบต่อโรงเรียน เพราะตามกฎหมายโรงเรียนจะเรียกเก็บค่าเล่าเรียนล่วงหน้าไปปีการศึกษาถัดไปไม่ได้ เช่น เปิดเรียนเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ แต่ไปเรียกเก็บค่าเล่าเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นปีการศึกษา ๒๕๕๓ หรือการแสวงหากำไรเกินร้อยละที่ กช.กำหนด เป็นต้น หากการพิจารณาทางปกครองเห็นว่าการขึ้นค่าเล่าเรียนของโรงเรียนได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็จะแจ้งให้โรงเรียนไปดำเนินการต่อไป ส่วนผู้ปกครองเมื่อเห็นว่าการกระทำของโรงเรียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม ก็สามารถไปใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน ได้ข้อยุติเรื่องโรงเรียนเอกชนแล้วก็ทำงานเอกสารอื่น ๆ ไปยันเย็น มีผู้ปกครองมาติดต่อเรื่องการบรรจุของผู้สอบขึ้นบัญชีไว้ โดยหารือว่าหากลำดับที่จะรับการบรรจุสละสิทธิ์ ลำดับถัดไปจะถูกเรียกมาบรรจุได้ทันก่อนเลิกบัญชีหรือไม่  ตอบเขาไปว่าหากเป็นอย่างที่พูดก็เรียกมาบรรจุได้ทัน เขาก็ลาจากไป

วันพุธที่ ๑  มิถุนายน  ๒๕๕๔  เช้านี้เป็นประธานในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ ห้องประชุม สพป.ปทุมธานี เขต ๑ ศน.ทรงเดช ขุนแท้ เป็นเจ้าของเรื่อง จัดอบรมระหว่าง วันที่ ๑-๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ E-book ย่อมาจากคำว่า electronic book หมายถึง หนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านเอกสารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์สามารถเชื่อมโยงไปยังส่วนต่างๆ ของหนังสือ เว็บไซต์ รวมทั้งสามารถแทรกภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว สิ่งที่แตกต่างกับหนังสือทั่วไปคือ สามารถปรับปรุงให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา ข้อดีของ E - book  ช่วยให้สามารถย้อนกลับมาอ่านได้และสามารถเลือกอ่านได้ตามเวลา-สถานที่ที่ตนเองสะดวก การตอบสนองที่รวดเร็วของคอมพิวเตอร์ที่ให้ทั้งสีสัน ภาพ และเสียง ทำให้เกิดความตื่นเต้นและไม่เบื่อหน่าย สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ให้ทันสมัยกับเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังศึกษา ส่วนจะทำอย่างไรต้องเข้าอบรมเล่าให้ฟังก็ทำไม่ได้  ขึ้นทำงานแฟ้มเอกสารที่ห้อง เที่ยงฝ่ายอบรมเขาส่งผัดไทยมาเลี้ยง 

 บ่ายเป็นประธานในการประชุมการจัดสรรอัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ใช้ห้องทำงาน ผอ.เขต ประชุมเพราะกรรมการเพียง ๔-๕ คน สพป.ปทุมธานี เขต ๑ ได้รับจัดสรรอัตราจากการเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ รวมทั้งสิ้น  จำนวน ๒๖ อัตรา จำแนกเป็นดังนี้ (๑) ให้โรงเรียนดีประจำตำบล(โรงเรียนวัดนาวง) จำนวน  ๓  อัตรา (๒) โรงเรียนที่มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วน (ตามเงื่อนไขที่ คปร.กำหนด) จำนวน ๑๙ อัตรา (๓) อัตราใช้รับนักศึกษาทุนโครงการครูพันธุ์ใหม่  จำนวน  ๔  อัตรา  ทั้งนี้ ให้สงวนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการตามข้อ (๒) ไว้ ร้อยละ ๒๕ เพื่อดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด (จำนวน ๔ อัตรา ) รวมกับตำแหน่งว่างที่เหลือจากครั้งก่อน      จำนวน ๔ อัตรา รวมเป็น ๘  อัตรา ที่ประชุมไล่เรียงจากอัตราการขาดครูต่อเนื่องมาจากการจัดสรรงวดที่ผ่านมา เมื่อดูตัวเลขการขาดครูของทุกโรงเรียนขณะนี้ลดลงอยู่ที่สูงกว่าและต่ำกว่า ๑๐ % เพียงเล็กน้อย และถ้านำครู อบจ. ๒ อัตรามาคิดคำนวณด้วย หลายโรงเรียนครูจะเกินด้วยซ้ำไป

 

วันพฤหัสบดีที่ ๒  มิถุนายน  ๒๕๕๔   ถึงสำนักงานเช้าหลังทานกาแฟเดินทางไปโรงเรียนคลองหนึ่ง(แก้วนิมิตร) เพื่อรับมอบอาคารเรียนจาก อบจ.ปทุมธานี อาคารหลังนี้สร้างมาหลายปีแต่ไม่สำเร็จเพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน และวิกฤตการณ์การตีความกฎหมายของ สตง.  แต่ อบจ.ได้ยืนหยัดสนับสนุนงบประมาณสร้างต่อจำนวน ๑๒ ล้านบาทจนแล้วเสร็จ ได้ฤกษ์งามยามดีจัดพิธีส่งมอบและเปิดใช้อาคารกันในวันนี้  ชุมชนคลองหนึ่ง(แก้วนิมิตร)เป็นมุสลิม การจะทำงานได้สำเร็จต้องใช้พระบรมราโชวาท เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา นางสาวจิตติภรณ์  เอื้อใจ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้เมื่อปี ๒๕๕๓ สามารถเข้ากับชุมชนได้ดี หากใครไม่รู้จักคงคิดว่าเป็นมุสลิมคนหนึ่ง วันนี้ชุมชนและโรงเรียนช่วยกันตกแต่งอาคารสถานที่สวยงามผิดหูผิดตาไปมาก  คณะจาก อบจ.ปทุมธานี นายกชาญ  พวงเพ็ชร และคณะมาพร้อมกันแล้ว ฝ่ายผู้บริหารโรงเรียนในเขตอำเภอคลองหลวงก็มากันเนืองแน่น ยิ่งประชาชนนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ พิธีเปิดอาคารทำโดยท่านนายก อบจ. มีกิจกรรมทางศาสนาอิสลามตามประเพณี หลังปล่อยลูกโป่งเปิดป้ายกันแล้ว พวกเราร่วมกันทำดุอาอฺเพื่อขอพรจากอัลลอหฺ ผมกล่าวขอบคุณเป็นอันเสร็จพิธี โรงเรียนเขาจะพาขึ้นไปชั้น ๕ ของอาคาร ต้องปฏิเสธเพราะรีบเดินทางไปประชุมที่ สพฐ. ไปแวะเช่าพระที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ  เป็นพระประจำศาลปกครองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "พระพุทธมหากรุณาประชานาถ" เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามประณีตมาก จะไปฝากผู้ที่นับถือในกระทรวง เที่ยงพอดีเลยลงไปทานข้าวชั้น บี ๑ เป็นชั้นที่มาเรียนทุกเสาร์อาทิตย์อยู่ใต้ดิน   ใช้ทางด่วนไปลงถนนยมราชต้องหลบม็อบพันธมิตรไปทางวัดราชบพิตรจึงสำเร็จ นั่งทำงานวิเคราะห์กฎหมายบริหารงานบุคคลที่จะแก้ไข  ได้แต่นั่งฟังเขาไปทำใจให้ว่างเปล่า  แต่บางประเด็นก็ให้ข้อคิดไปบ้าง เลิกประชุมชวนท่าน ผอ.ทองปอนด์  สาดอ่อน สพม. ๓๖ เชียงรายไปพบท่านเลขาธิการ กพฐ. ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน  เพราะไม่ได้พบหน้ากันนาน รอให้ท่านประชุมเสร็จเกือบ ๑๗ นาฬิกาจึงได้พบกัน   เดินทางกลับปทุมธานีมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจ ผู้บริหารโรงเรียนต้องการให้ครูไปช่วยราชการที่อื่น เพราะไปลงโทษนักเรียนจนผู้ปกครองจะเอาเรื่องไปฟ้องมูลนิธิชื่อดังแห่งหนึ่ง หากยังปล่อยให้อยู่ที่โรงเรียนต่อไป เพราะมีพฤติการณ์อย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ตัดสินใจให้ท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ทำหนังสือเรียกตัวมาช่วยงานที่เขตก่อน ส่วนจะให้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนไหนค่อยคิดกันอีกที

วันศุกร์ที่ ๓  มิถุนายน  ๒๕๕๔  เช้าเดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ ลงสะพานพระราม ๘ ฝนเทลงมาอย่างหนัก  นำรถไปจอดหน้าอาคาร สพฐ. ๔ ไปสมทบกับ ผอ.ทองปอนด์  สาดอ่อน ที่อาคารราชวัลลภ เข้าเยี่ยมปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านอภิชาติ  จีราวุฒิ  เพื่อแสดงความยินดีที่เจริญก้าวหน้าจนถึงระดับสูงสุดของข้าราชการประจำ จากนั้นขึ้นอาคารรัชมังคลาภิเษก ชั้น ๓ แวะเยี่ยม ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นลำดับแรก ต่อด้วยท่านกิจสุวัฒน์  หงส์เจริญ เราแยกกันเพราะผมต้องประชุมร่วมกับหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ คุณบัณฑิตย์  ศรีพุทธางกูร ในฐานะกรรมการสืบข้อเท็จจริงที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ  มีนิติกร สป.ศธ. อีก ๓ ท่านอยู่ในคำสั่ง  มีการประชุมวางแผนกันไม่นานนัก ก็จะเริ่มงานกันวันนี้เพราะมีเวลาเพียง ๑๕ วันทำการ  ทีมงานไปเยี่ยมสอบถามข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง ความจริงทุกคนก็เคยเป็นผู้บังคับบัญชามาทั้งนั้น เที่ยงหลังทานข้าวแวะขึ้นไปห้องประชุม สพฐ. ชั้น ๖ พบท่าน ผอ.ทวีพล  แพเรือง สพป.นครปฐม เขต ๑ มาช่วยวิเคราะห์กฎหมายให้ด้วยในวันนี้  ส่วนท่าน ผอ.ทองปอนด์  สาดอ่อน กลับเชียงรายไปแล้ว   บ่ายกลับไปทำงานตามคำสั่งต่อที่ห้องประชุมสำนักนิติการ สป. ชั้น ๑๐ เชิญนักกฎหมายของหน่วยงานมาถามข้อมูลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เย็นเดินทางมาแวะโรงแรมริเวอร์ไซด์ เชิงสะพานกรุงธน เพราะมีการอบรมการสอบสวนทางการวินัยอย่างร้ายแรง รุ่นที่ ๕ เพิ่งเปิดไปเมื่อวาน ในฐานะรองประธานคณะกรรมการจัดอบรม ได้พูดคุยกับผู้เข้าอบรมเพียงเล็กน้อย เพราะภาคกลางคืนจะต้องฝึกภาคปฏิบัติต่อไปอีก เดินทางกลับบ้านพักเพื่อเตรียมตัวเรียนกฎหมายปกครองฯ ที่ศาลปกครองทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ เดือนนี้เป็นเดือนที่ ๖ แล้วเรียกว่าเดินมาค่อนทางแล้ว เหลืออีก ๔ เดือนก็จะจบกระบวนการเรียนการสอน เหลือแต่การสอบเพื่อจบหลักสูตร

เรื่องราวก่อนลาสัปดาห์นี้เป็นเรื่อง "ทำเสมือนหนึ่งว่าไม่รู้เพื่อลองใจคน"   เรื่องที่รู้ข้อมูลอยู่แล้ว หากแม้นแสร้งทำเป็นไม่รู้ และออกปากเอ่ยถามทดลองดู ข้อมูลข้างเคียงอื่นที่ยังไม่รู้ ก็จะแสดงปรากฏออกให้เห็นตามมาได้   เรื่องราวเรื่องหนึ่งเรื่องใดแม้นเพ่งพิศพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ก็จักได้ปัญญาและความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมาเสมอ   นี่คือหลักการข้อที่เรียกว่า "ลองปัญญาดูใจ"  คือการทำเป็นไม่รู้ในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจแล้ว  จากนั้นก็แสร้งสอบถามผู้อื่นถึงวิธีการที่ควรทำ  ธรรมดาของคน ถ้าหากเกิดไปได้ความรู้หรือข้อมูลบางอย่างมา  ก็มักจะมีแรงโน้มเอียง อยากที่จะนำเอาความรู้มานั้นไปบอกกล่าวผู้อื่น หลักการ "ลองปัญญาดูใจ" นี้ก็คือ การจับเอาจุดอ่อนดังกล่าวนี้มาใช้ เพื่อทดสอบข้อมูลหรือความเห็นของหมู่ชนทั่วไป  หานเฟยจื่อได้ยกนิทานขึ้นประกอบหลักการดังกล่าวเช่นกัน   วันหนึ่งขณะที่จาวโหว เจ้านครรัฐหาน กำลังตัดเล็บอยู่ ก็แสร้งเอาเศษเล็บที่ตัด ซ่อนไว้ในอุ้งมือ แล้วร้องบอกบริวารข้างกายขึ้นว่า "มีเศษเล็บชิ้นหนึ่งของข้าหายไป จงรีบช่วยกันหาโดยเร็ว"   แม้จะเป็นเศษเล็บเพียงชิ้นเดียว แต่ก็ถือเป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของผู้เป็นเจ้าอันมีความสำคัญยิ่ง  บริวารผู้อยู่ข้างเคียงจึงต่างพากันลนลานก้มลงสอดส่ายควานหาเศษเล็บนั้นเป็นโกลาหล  ครู่หนึ่ง มีผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งลอบตัดเล็บของตนออก แล้วนำไปแสดงต่อจาวโหวว่า ได้หาพบแล้ว  จาวโหวจึงได้รู้ถึงความไม่ซื่อของบริวารผู้ใกล้ชิดคนนั้นด้วยประการฉะนี้

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

 

หมายเลขบันทึก: 442757เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในความไม่ซื่อนั้น จริง ๆ เขาต้องการประจบนายหรือเอาใจนายมากกว่า

คนประจบเก่ง มักมีข้อบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจเป็นเรื่องงาน..หรืออื่นๆๆๆ

แวะมาอ่าน...

อ่านไปอ่านมา....

อ้าวอ่านไปแล้วนี่หน่า...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท