พลวัตทางสังคมและวัฒนธรรม


สังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

พลวัตทางสังคมและวัฒนธรรม 

ความนำ 

 

              สังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะความต้องการของมนุษย์เรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด อีกอย่างหนึ่งสภาพสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง เช่น ระดับการศึกษาของผู้คนในสังคม การสื่อสารโทรคมนาคมทางดาวเทียม การติดต่อกันทางอินเตอร์เน็ต โลกข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน การติดต่อกันทาง E-Mail (จดหมายอิเลคทอนิคส์) ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้คนในสังคมนั้นๆ ทำสังคมโลกมนุษย์นั้นแคบขึ้น ก็เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ทั้งสิ้น

           การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การที่ระบบสังคม กระบวนการแบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม เช่นขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบครอบครัว ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ อาจเป็นไปในทางก้าวหน้าหรือถดถอย เป็นไปอย่างถาวรหรือชั่วคราวโดยวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง และที่เป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น  จากประสบการณ์ทางสังคมที่ผ่านมา เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดมา และการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อาจเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็นผลก่อให้เกิดความก้าวหน้าผู้คนให้การยอมรับ แต่บางครั้งก็อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เป็นผลให้สังคมหยุดชะงักหรือลดความก้าวหน้าลง      สังคมโลกในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ๔๐ ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้ประสบการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างสามารถเห็นได้จากประสาทสัมผัส เช่น การเปลี่ยนแปลงวัตถุและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ อันแสดงถึงความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจสัมผัสไม่ได้ แต่รู้สึกได้ เช่นการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและระเบียบแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคล

            ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสภาพของสังคมอาจแตกต่างกัน กล่าวคือในสังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปในอัตรารวดเร็วและสลับซับซ้อน ส่วนในสังคมชนบทการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปในอัตราที่ช้ากว่าสังคมเมือง แต่ก็มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของบุคคลหลายอย่าง กล่าวคือ ชุมชนที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะดำรงชีวิตอย่างเต็มไปด้วยความทุกข์และความทรมานและบางทีก็ปรับตัวผิด (Maladjustment) ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่นในสังคมจนกลายเป็นการสร้างปัญหาสังคมขึ้นมา และบางครั้งปรับตัวไม่ได้ก็อาจหาทางออกด้วยการทำลายชีวิตตนเอง

 

  พลวัตทางสังคมของโลก 

            สังคมโลกเป็นสังคมที่มีลักษณะเป็นพลวัตที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลายประการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วบางเรื่องอาจสิ้นสุดไปแล้ว แต่บางเรื่องยังดำเนินต่อไป ในบทนี้จะได้ศึกษาถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงและปัญหาในอนาคตของสังคมโลกทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ทั้งนี้เพื่อจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทัน รวมทั้งสามารถปรับตัวปรับใจให้เหมาะสมเพื่ออยู่ในสังคมโลกอย่างสันติสุข 

   แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลก

              จากการศึกษาวิวัฒนาการและปัญหาสังคมโลกที่ผ่านมาในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและปัญหาของโลกทางด้านสังคมในอนาคตได้หลายประเด็น ดังนี้

                  1. แนวโน้มเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางครอบครัว อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) นักวิชาการและนักวิจารณ์สังคม ผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “อนาคตระทึก” (Future Shock) ได้ชี้ให้เห็นถึงความตื่นกระหนกอย่างใหญ่หลวงของสังคมอเมริกันภายหลังจากสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศได้สำเร็จเป็นประเทศแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญยังทำไม่ได้ และในหนังสือเรื่อง “คลื่นลูกที่สาม” (The Third Wave) เขาได้ชี้ให้เห็นว่ากระแสคลื่นหรือกระแสวิถีชีวิตของมนุษย์ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วสองลูกคือคลื่น การปฏิวัติเกษตรกรรมในยุคหินใหม่ ซึ่งกระแสคลื่นดังกล่าวใช้เวลานับพันปีกว่าจะแสดงตัวเองอย่างเด่นชัด คลื่นลูกที่สองคือกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 300 ปี จึงสามารถแสดงออกซึ่งวิถีชีวิตบดบังวิถีชีวิตคลื่นลูกเก่าได้  ส่วนคลื่นลูกที่สามที่กำลังเกิดขึ้น คือ คลื่นแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งคลื่นลูกที่สามนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตแบบใหม่ ครอบครัวแบบใหม่ รวมทั้งสถาบันใหม่ ๆ จะบังเกิดขึ้น

                                1.1 ครอบครัวอนาคต อัลวินกล่าวว่าครอบครัวในปัจจุบันมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวอันประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก 1-3 คน พ่อมีหน้าที่ทำงานเลี้ยงครอบครัว แม่มีหน้าที่ดูแลบ้านและเลี้ยงลูก ครอบครัวแบบนี้มีความเหมาะสมกับรูปแบบสังคมในยุคคลื่นลูกที่สอง ซึ่งเป็นสังคมที่มีผลผลิตทีละมาก ๆ มีค่านิยมและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน มีการปกครองตามลำดับขั้น มีการแบ่งแยกชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวที่บ้านออกจากกันอย่างเด็ดขาด สำหรับในอนาคต อัลวินเห็นว่ารูปแบบครอบครัวจะเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ งานบางชนิด เช่น การสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบอาคาร การเขียนตำรา การตรวจสอบกระบวนการผลิตระยะไกล การโต้ตอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถทำได้ที่บ้าน สามีภรรยาจะมีเวลาได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ลักษณะการทำงานอาจแบ่งกันทำคนละชิ้นหรือแบ่งเวลากันทำคนละช่วง นอกจากนั้นแนวคิดในการหาคู่ครองจะเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งแต่เดิมการเลือกคู่ครองมีเหตุผลสำคัญจากความรักในเชิงโรแมนติก แต่ในอนาคตคู่สมรสจะต้องพิจารณาการทำงานแบบรวมมันสมอง โดยจะต้องเพิ่มเกณฑ์การเลือกคู่ครองในเรื่องสติปัญญา ความรับผิดชอบ ความมีวินัย และคุณธรรมการทำงานด้วยเด็ก ๆ ในยุคคลื่นลูกที่สามจะต้องถูกตัดขาดจากพ่อแม่เพราะต้องไปเรียนหนังสือ แต่เขาจะเติบโตในบ้านอิเล็กทรอนิกส์และคุ้นเคยกับงานของพ่อแม่ตั้งแต่เกิด เมื่อเขาโตขึ้นถึงระดับหนึ่ง เขาจะมีส่วนร่วมในการทำงานของพ่อแม่ด้วย อัลวินยังเห็นว่าครอบครัวในอนาคตจะกลับไปมีลักษณะคล้ายยุคคลื่นลูกที่หนึ่ง ตรงที่ครอบครัวจะมีลักษณะครอบครัวขยาย คือครอบครัวที่มีจำนวนคนมากขึ้นและมีลักษณะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือสหกรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ครอบครัวอาจประกอบด้วยเพื่อนของพ่อ เพื่อนของแม่ที่ร่วมธุรกิจด้วยหรืออาจรวมถึงลูกค้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะส่งผลตามมาในลักษณะใดก็ตาม อัลวินสรุปว่าโลกจะต้องก้าวต่อไปและระบบครอบครัวจะยังเป็นสถาบันหลักของสังคมต่อไป ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ระบบครอบครัวจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมและการปรับตัวสู่อารยธรรมของคลื่นลูกใหม่

                นอกจากแนวคิดของอัลวินเรื่องครอบครัวในอนาคตดังกล่าวแล้วความต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพจะทำให้มนุษย์สามารถเลือกมีบุตรตามความต้องการได้อีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องลักษณะทางกายภาพ

                                1.2 บ้านสำนักงาน (Office Home) อัลวินเชื่อว่าการปฏิบัติทางเทคโนโลยีการสื่อสารจะทำให้เกิดระบบการผลิตแผนใหม่ที่จะดึงคนจำนวนนับล้านคนให้ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อกลับเข้าทำงานในบ้านโดยการปรับบ้านให้เป็นที่ทำงานแทนการทำงานในโรงงาน บ้านดังกล่าวจะเป็นบ้านที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและเป็นศูนย์กลางการผลิต ทั้งนี้เพราะการทำงานในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลมากกว่าการทำกับสิ่งของหรือเครื่องจักรซึ่งงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นสามารถทำที่บ้านได้ ในอนาคตบ้านจึงกลายเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ เช่น

1)        ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงขึ้น เพราะคนทำงานไม่ต้องย้ายตามสถานที่ทำงานในกรณีถูกโยกย้าย

2)        เป็นการลดและกระจายพลังงานจากการกระจุกอยู่ตามอาคารใหญ่ ๆ และยังสามารถใช้พลังงานทดแทนจากดวงอาทิตย์ได้อย่างเพียงพออีกด้วย

3)       ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคมจะเจริญก้าวหน้า ในขณะที่ธุรกิจรถยนต์และธุรกิจซื้อขายที่ดินอาจลดลง

4)       เอกชนที่ทำงานคล้ายคลึงกันอาจร่วมมือกันเป็นเจ้าของเครื่องมือในการทำงานร่วมกันในลักษณะของหุ้นส่วนหรือบริษัทขนาดย่อม เป็นต้น

                   2. แนวโน้มเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ปัจจุบันสังคมโลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มากมายนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ สังคมโลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจแบ่งได้หลายประเภทที่สำคัญ ได้แก่

                            2.1 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) เทคโนโลยีสารสนเทศนับเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญในกระบวนการโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศมีวิวัฒนาการมานานหลายพันปีแล้ว เริ่มต้นจากการสื่อสารด้วยภาพและอักษรโดยมีอุปกรณ์ ได้แก่ กระดาษ หมึก และเครื่องเขียนต่างๆ ตามเทคโนโลยี ไมโครอิเล็กทรอนิกส์  เช่น เครื่องพิมพ์ดีด โทรศัพท์ ติดตามด้วยเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การส่งข่าวสารต่างๆ เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้เมื่อผสมผสานกับเทคโนโลยีคมนาคมซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรสาร รวมทั้งการสื่อสารผ่านดาวเทียมทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว การนำเอาวัสดุสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสง (Fiber Optics) ทำให้มีการพัฒนาการสื่อสารด้วยภาพ เสียง และตัวเลขได้ดีขึ้นอย่างมาก เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้สังคมโลกมีความใกล้ชิดกันจนเป็นเสมือนหมู่บ้านเดียวคือหมู่บ้านโลก ในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในอนาคตภาวะโลกาภิวัตน์จะกระจายไปทั่วทุกมุมโลกและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายิ่งกว่าในปัจจุบันซึ่งกระจายเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความสามารถและมีโอกาสสูงเท่านั้น เช่นระบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้เฉพาะประชากรบางกลุ่มเท่านั้น

                                2.2 เทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology) เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับผลิตสินค้าและการบริการขนาดใหญ่ ได้แก่เทคโนโลยีในการทำวัสดุภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น

                                1) เซรามิกส์ (Ceramics) ซึ่งมีคุณภาพแข็ง ทน เบา ไม่เป็นสนิม ทนต่ออุณหภูมิสูง บางชนิดมีความแกร่งแต่บางเบา จึงสามารถนำมาผลิตสินค้าจำพวกกรรไกร มีด เตารีด ในอนาคตจะมีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม รถยนต์ ดาวเทียม พลังงาน การแพทย์ และการทหาร

                                2) พลาสติก (Plastics) บางชนิดมีความแข็งเท่าโลหะแต่มีความบางเบากว่า เก็บความร้อนและไฟฟ้าได้ดีกว่า ทำให้ประหยัดพลังงาน สามารถนำไปทดแทนโลหะและกระจกได้ เช่น กาน้ำ ท่อน้ำ กระจกพลาสติก ขวดน้ำ หลอดนีออน หมวกทหาร เสื้อกันกระสุน ซิป คอนแทคเลนส์ แผ่นความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งชิ้นส่วนเครื่องบินและดาวเทียม

                                3) ใยแก้วนำแสง (Fiber Optics) มีขนาดเล็กเท่าเส้นผมหรือประมาณหนึ่งในห้าของสายเคเบิลที่ทำจากทองแดง แต่มีศักยภาพในการสื่อสารและรับส่งข้อมูลได้สูงกว่าสายเคเบิลที่ทำจากทองแดงมากมาย ในอนาคตเคเบิลใยแก้วจะถูกนำไปวางเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก สำหรับการสื่อสารคมนาคมทั้งด้านเสียง ภาพ และข้อมูลตัวเลข

                                4) เซมิคคอนดักเตอร์ (Semiconductors) เช่น การผลิตซิลิคอนจากทรายธรรมดาสำหรับไมโครอิเล็ทรอนิกส์จำพวกทรานซิสเตอร์ แผงวงจร และชิป (Chip) ในอนาคตจะมีการพัฒนาวัสดุผสมทำให้สามารถลดขนาดวงจรได้ วัตถุบางชนิดสามารถนำมาทำ Chip ที่ทำงานได้เร็วกว่ากินไฟน้อยกว่า และยังทนความร้อนดีกว่า Chip แบบเดิมอีกด้วย

                                5) นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เป็นเทคโนโลยีย่อส่วนที่จัดโครงสร้างของอะตอมแต่ละอย่างใหม่ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งในอนาคต อาจจะมีวัสดุบางอย่างที่แข็งกว่าเหล็กถึง 100 เท่า แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าเหล็กถึง 6 เท่า และในอนาคตจะมีการสร้างอะไหล่ ชิ้นส่วนของมนุษย์ เรียกว่า Bio Compatible Replacement คือ มีการเปลี่ยนอะไหล่มนุษย์ด้วยเทคโนโลยี และสามารถชะลอความแก่ โดยสิ่งที่เรียกว่า Artificial Red blood Cell

                   นาโนเทคโนโลยี เป็นอนาคตของโลก ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น “วัสดุฉลาด” ที่มีคุณสมบัติมหัศจรรย์ในการซ่อมแซม และสำเนาตัวเองได้ หากใช้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดีเอ็นเอ. จะทำให้มีความเร็วในระดับ 10 พันล้านครั้งต่อนาที และใช้พลังงานเพียง 1  ใน 1 หมื่นล้านส่วนของวัตต์ การประมวลผลได้ถึง 1 ล้านล้านคำสั่งพร้อม ๆ กันซึ่งเป็นศักยภาพที่เหนือกว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูงสุดในปัจจุบัน

                   เป็นที่คาดว่าในปี ค.ศ. 2005 ตลาดสินค้าที่ผลิตนาโนเทคโนโลยี จะมีมูลค่า 1 หมื่น 8 พันล้าน ดอลลาร์ และจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เชื่อกันว่า ปี ค.ศ. 2015 สินค้า “นาโนเทคโนโลยี” จะครองตลาดด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ (40 ล้านล้านบาท) อย่างแน่นอน (มติชนรายวัน 16 เมษายน 2547,20)

                   2.3 เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ในอนาคตคือเทคโนโลยีชีวภาพจะมีความก้าวหน้าหลายประการ เช่น

                                2.3.1 การตัดต่อยีนส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทั่งพืชและสัตว์ด้วยการแทรกแซงพันธุกรรมโดยตรงโดยใช้เทคนิคการรวมตัวของสารดีเอ็นเอ (DNA) และการตัดต่อยีนส์ เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิด “สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม” (GMOs) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพการตัดต่อยีนส์ในอนาคตได้แก่การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ให้ทนทานต่อโรคและปัจจัยที่บ่อนทำลายความเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเกษตร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหรกรรมอาหาร ยารักษาโรค รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมโลก

                                2.3.2 การคัดลอกพันธุ์หรือโคลนนิ่ง (Cloning) เป็นการคัดลอกพันธุ์พืชและสัตว์ให้เหมือนกับพ่อแม่ ประโยชน์ของการโคลน นอกจากจะเป็นการคัดลอกตัวใหม่ได้แล้วมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมไวรัสได้ด้วย พันธุ์พืชต้นเดียวที่ไร้โรคจะสามารถคัดลอกตัวใหม่ได้แล้วยังมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมไวรัสได้ด้วย พันธุ์พืชต้นเดียวที่ไร้โรคจะสามารถคัดลอกได้นับเป็นพัน ๆ ต้นการโคลนสัตว์มีข้อยุ่งยากกว่าการโคลนพืชแต่ก็ใช้หลักการคล้ายคลึงกันเพียงแต่พืชสามารถเลี้ยงเซลล์และต้นอ่อนได้ในหลอดแก้วแล้วสามารถนำไปปลูกได้เลย ในขณะที่การโคลนสัตว์จะต้องนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกของตัวเมียจึงจะให้ลูกออกมาได้ การโคลนนอกจากจะใช้กับสัตว์แล้วยังสามารถใช้กับมนุษย์อีกด้วย

                                2.3.3 การถอดรหัสยีนส์และทำแผนที่ยีนส์ (Human Genome & Gene Mapping) ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงความลับของกลไกแห่งความเป็นมนุษย์ทั้งทางกายภาพและพฤติกรรม รวมทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วยและความผิดปกติทางพันธุกรรม ตั้งแต่ก่อนการปฏิสนธิ เช่น รู้ว่าเด็กคนใดเกิดมาแล้วจะมี พฤติกรรมอย่างไร จะเป็นคนเก่งกาจแค่ไหนรวมทั้งจะเป็น โรคอะไรและจะมีอายุมากน้อยเพียงใดจุดมุ่งหมายสำคัญของ โครงการนี้ก็เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็น อุปสรรคต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติของยีนส์ได้ล่วงหน้า เช่น โรคโลหิตเป็นพิษ โรคอัลไซเมอร์ โรคแก่เกินวัย เป็นต้น ซึ่งการค้นพบดังกล่าวย่อม ก่อให้เกิดผลดีในแง่การป้องกัน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผล ต่อจิตใจผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กรณี ที่หญิงบางคนได้ทราบล่วงหน้าว่าลูกในท้องที่จะเกิดออกมา จะมีพฤติกรรมเลวร้าย จะมีชีวิต อยู่ได้ไม่กี่ขวบเป็นต้น

2.4    เทคโนโลยีอวกาศ มนุษย์สามารถส่งวัสดุออกไปนอกโลกได้เมื่อ 5 ทศวรรษมาแล้วเมื่อ สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมสปุตนิกขึ้นสู่วงโคจรในปลายปี ค.ศ. 1957 และสหรัฐอเมริกาส่งดาวเทียมเอ็กพลอเรอร์ (Explorer) ได้ในเดือนมกราคมปีถัดมา จากนั้นทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็แข่งขันกันส่งดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512 ) สหรัฐอเมริกาก็สามารถส่งมนุษย์อวกาศสามคนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกตามโครงการอพอลโล 11 และส่งมนุษย์อวกาศสองคนลงเหยียบผิวดวงจันทร์ในวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ซึ่งการที่จะส่งมนุษย์ ไปลงยังดวงจันทร์ได้จะต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงมาก หลังจากนั้นมนุษย์ก็ไม่อยู่นิ่ง แต่ได้พยายามสำรวจจักรวาล อันกว้างใหญ่ไพศาล โดยการส่งยานสำรวจออกไปนอกระบบสุริยะ ส่งกล้องโทรทัศน์ อวกาศไปลอยอยู่นอกโลกเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของจักรวาล รวมทั้งการส่งสัญญาณ ติดต่อไปยังดวงดาวที่คาดว่าอาจมี “สิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาด” (Extra Terrestrial) ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจักรวาลมีความกว้างนับหมื่นปีแสงและประกอบด้วยกลุ่มดาวหรือดาราจักร (Galaxy) มากมายนับหมื่นล้าน แกแล็กซี่ เทคโนโลยีอวกาศฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวแต่การศึกษาอวกาศ และจักรวาลนอกจากจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติที่อยู่รอบตัวและแสดงภูมิปัญญาความสามารถ ของมนุษย์แล้วผลประโยชน์อื่นที่ติดตามมาที่เราได้รับแล้วมีมากมาย เช่น  การส่งดาวเทียมสู่ท้องฟ้าก็เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และดาวเทียมนี่เองที่ทำให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ต รวมทั้งใช้ใน การถ่ายทอดรายการต่างๆ ทางวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีอวกาศจึงส่งผลประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งมวลอย่างมหาศาล

                   3. แนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาสังคม

                   ปัญหาสังคมที่ปรากฏขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น ปัญหาประชากร ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาสารเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จะเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังต่อไป

                                3.1 แนวโน้มเกี่ยวกับจำนวนประชากรและผลกระทบ ในช่วงแรก ๆ ของมนุษย์หรือเมื่อประมาณสองแสนปีเศษมาแล้วประชากรโลกมีจำนวนเพียงประมาณ 1 ล้านคน ปัจจุบันพลโลกที่ยังมีชีวิตอยู่คนที่ 6,000 ล้านได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 (ค.ศ. 1999) นักประชากรศาสตร์ใช้สูตรคำนวณว่าในปี ค.ศ. 2025 หรืออีกประมาณยี่สิบปีข้างหน้าโลกจะมีประชากรอย่างต่ำ 7,600 ล้านคน จึงกล่าวได้ว่าจำนวนประชากรส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงมากที่สุดคือประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งมีอัตราเพิ่มถึงร้อยละ 3 ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1.7 และยุโรปมีอัตราเฉลี่ยเพียง 0.22 จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้นอกจากจะส่งผลกระทบในเรื่องการขาดแคลนอาหารแล้วยังมีผลต่อการละทิ้งที่อยู่อาศัยเข้าอยู่ในเขตเมือง ประมาณว่าในละตินอเมริกาจะมีคนอาศัยในเขตเมือง ประมาณว่าในละตินอเมริกาจะมีคนอาศัยในเขตเมืองถึงร้อยละ 85 แอฟริการ้อยละ 58 เอเชียร้อยละ 53 ในต้นศตวรรษที่ 21 นี้จะมีเมืองขนาดยักษ์ที่มีประชากรเกิน 11 ล้าน ถึง 20 เมือง ปัญหาจำนวนหรือมีรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันประมาณ 1,200 ล้านคน และเพิ่มเป็น 1,300 คน ในปี ค.ศ. 1998 และ 1,500 ล้านคนในปี ค.ศ. 1999 หรือประมาณร้อยละ 30 ของประชากรทั่วโลก

                   นอกจากนั้นยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ส่งผบให้คนที่มีฐานะดีมีความร่ำรวยยิ่งขึ้นในขณะที่คนยากจนกลับยิ่งจนลง ช่องว่างระหว่างคนยากจนกับคนร่ำรวยจึงมีมากขึ้นด้วย

                                3.2 แนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาสารเสพติด แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะได้ทำการปราบปรามสารเสพติดอย่างจริงจัง แต่ปัญหาสารเสพติดก็ยังคงจะเป็นปัญหาสังคมอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยหลายประการที่จะส่งเสริมให้สารเสพติดแพร่หลายทั้งในกลุ่มเยาวชน และคนทั่วไป ปัญหาสารเสพติดจะยังเป็นปัญหาระดับโลกของหลายภูมิภาค สำหรับประเทศไทยเราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสารเสพติดที่มีการผลิตจำนวนมากทางแถบชายแดน สารเสพติดที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างมาก ได้แก่ ฝิ่น เฮโรอีน โคเคน และแอมเฟตตามีนหรือ “ยาบ้า”

                                3.3 แนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาเอดส์ (AIDS) เอดส์นับได้ว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมา คำว่า AIDS มาจากคำเต็มว่า Acquired Immuno-Deficiency Syndromes ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม หรือกลุ่มอยู่ในระยะเริ่มแรกเท่านั้น ในอีก 20 ปีข้างหน้าคาดกันว่าเอดส์จะคร่าชีวิตมนุษย์ถึง 17 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา

                   การที่สถานการณ์เอดส์ยังมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายออกไปอีกมากนั้น ปัจจัยด้านหนึ่งมาจากลักษณะพิเศษของเอดส์ที่สามารถหลบซ่อนอยู่ในเซลล์เม็ดเลือด สามารถเปลี่ยนแปลงผนังเปลือกนอกที่ห่อหุ้มตัวเองได้รวดเร็วมากจนยากที่จะหาวิธีป้องกันให้ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งมาจากมนุษย์เองที่ไม่รู้เท่าทันหรือไม่มีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

                   อย่างไรก็ตามในขณะมีข่าวในด้านดีสำหรับคนทั่วไปด้วยโดยขณะนี้ได้มีการทดลองวัคซีนป้องกันเอดส์ในสัตว์ประสบผลสำเร็จและกระทรวงสาธารณาสุขไทยร่วมกับโครงการ HIV แห่งกองทัพสหรัฐอเมริกาและสถาบันอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังทดลองวัคซีนป้องกันเอดส์ที่เรียกว่า “แอลแวควัคซีน” และ “เอดส์แวกซ์วัคซีน” ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์และทราบผลได้ในราวปี ค.ศ. 2005

                                3.4 แนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการเพิ่มขึ้นของประชากรจะยังส่งผลกระทบสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ การตัดไม้ทำลายป่ายังจะคงมีต่อไป แม้ว่ามลพิษทางอากาศอันเกิดจากสารอุตสาหกรรมจะได้รับการตระหนักมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันมลพิษต่าง ๆ โดยการงดใช้สารจำพวก Chlorofluocarbon-CFC กับเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ตู้เย็นเพื่อป้องกันการทำลายบรรยากาศที่หุ้มห่อโลก รวมทั้งการลดปริมาณแก๊สต่างๆ ที่ก่อให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกด้วย

                                3.5 แนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิของมนุษยชน คงจะได้รับการแก้ไขมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศต่าง ๆ หันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น แม้ว่าจะยังคงมีบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ซึ่งยังจะคงปัญหาดังกล่าวไปอีกระยะหนึ่ง

4. แนวโน้มเกี่ยวกับวัฒนธรรม

                                4.1 แนวโน้มเกี่ยวกับวัฒนธรรม จากการศึกษาแนวคิดของนักวิชาการด้านต่าง ๆ อาจสรุปได้ว่าแนวโน้มทางสังคมวัฒนธรรม อาจเป็นดังนี้

                                                4.1.1 ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปัจจุบันหลายชนชาติได้ประกาศตนเป็นอิสระซึ่งต่างก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองก่อให้เกิดชาตินิยมทางวัฒนธรรมขึ้น ทำให้วัฒนธรรมโลกมีลักษณะหลากหลาย การยึดมั่นในวัฒนธรรมของตนอย่างเหนียวแน่น และหลงใหลในชาติพันธุ์ของตนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามได้ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ ประชากรมีโอกาสได้พบเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากขึ้นทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรมได้

                                                4.1.2 การครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจเดียวในโลก ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจโฆษณาและลิทธิบริโภคนิยม (Consumerism) รวมทั้งการผูกขาดด้านข้อมูลข่าวสารและธุรกิจมวลชนแพร่หลายจึงเกิดการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกเข้าครอบงำวัฒนธรรมของชนชาติอื่น เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่ อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น นอกจากนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการศึกษา จำนนผู้รู้ภาษาสากลจะมีมากขึ้น และภาษาญี่ปุ่นจะกลายเป็นภาษาสากลอีกภาษาหนึ่ง

                                                4.1.3 ขบวนการทางการเมือง บางประเภทจะเติบโตขึ้น เช่น ขบวนการสันติภาพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ขบวนการสตรี ขบวนการสิทธิมนุษยชนและขบวนการกำหนด วิถีชีวิตของตนเอง (Determination) เป็นต้น

                                4.2 แนวโน้มเกี่ยวกับศาสนาและชาติพันธุ์    กระแสชาติพันธุ์นิยมจะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งด้านศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น จำเป็นจะต้องหาทางสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง

                                4.3 แนวโน้มเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ แนวโน้มเกี่ยวกับประชากรและสังคมมนุษย์ มีข้อพิจารณา ดังนี้

                                                4.3.1 แนวโน้มเกี่ยวกับประชากร สัดส่วนประชากรในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรในยุโรปและอเมริกาเหนือจะลดลง จีนและอินเดียจะยังเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดสองลำดับแรก และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 ของทั่วโลก สัดส่วนของประเทศด้อยพัฒนาจะมากขึ้นในขณะที่สัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้วลดลง สัดส่วนของเด็กจะลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุจะมากขึ้น อัตราส่วนการพึ่งพิงจะลดลงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาแต่จะเพิ่มขึ้นในประเทศพ

หมายเลขบันทึก: 442686เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ ปีหน้าผมจะเรียนเรื่องนี้พอดีเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท