ที่นี่ เตียงเต็มไม่มี มีแต่เตียงไม่เต็ม


เรื่องอย่างนี้ไม่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี เพราะรพ.สรรพสิทธิประสงค์ แม่ข่ายรับคนไข้ส่งต่อในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ไม่มีนโยบาย"เตียงเต็ม"

ปีก่อน เพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นศัลยแพทย์ที่ผันตัวมาทำงานบริหารในกระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ฟังว่า เมื่อลูกป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องพาไปรักษารพ.นอกกทม. เพราะตระหนักดีว่า หาเตียงในกทม.ยาก มากๆ

หลายปีก่อน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่ง ก็เล่าเรื่องคล้ายกันคือ ได้รับการร้องขอให้ช่วยหาเตียง ญาติที่ป่วยด้วยไส้ติ่งอักเสบ ท่านไม่ลังเลใจที่จะติดต่อกับรพ.นอกกทม. เพราะตระหนักดีว่า ไม่มีความหวังกับรพ.ในกทม.

 

เรื่องอย่างนี้ไม่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี เพราะรพ.สรรพสิทธิประสงค์ แม่ข่ายรับคนไข้ส่งต่อในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ไม่มีนโยบาย"เตียงเต็ม"

 

โจทย์การพัฒนาบริการสำหรับคนไข้ไส้ติ่งอักเสบที่รพ.นี้ คือ ทำอย่างไร คนไข้จึงจะไม่ต้องทนทุกข์กับ

การรอคอยที่ห้องฉุกเฉินนานเกินไป ไม่ต้องถูกตรวจร่างกายซ้ำหลายรอบ(เพราะแต่ละรอบอาจหมายถึง การคลำหน้าท้อง และหรือ ล้วงก้น เพื่อให้แน่ใจว่าไส้ติ่งอักเสบจริง ซึ่งใครๆก็คงเดาได้แม่นยำว่า คนไข้ไส้ติ่งอักเสบจริงจะเจ็บปวดสักเพียงใด) ไม่ต้องถูกเจาะเลือด เก็บปัสสาวะไปตรวจซ้ำอีก ไม่ต้องตอบคำถามเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

เพื่อตอบโจทย์ จึงมีการวิเคราะห์ที่มาของคนไข้ทั้งหมด ซึ่งพบว่า คนไข้ส่วนใหญ่ถูกส่งต่อมาจากรพ.ใกล้เคียง ก็แปลว่า ได้ผ่านการตรวจสารพัดที่กล่าวมาแล้ว โดยแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์มากกว่าแพทย์ฝึกหัดที่ห้องฉุกเฉิน

 

เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้ นพ.เศวต ศรีศิริ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม จึงออกแบบขั้นตอนรับคนไข้ ณ ห้องฉุกเฉินใหม่ จากเดิมที่ต้องผ่านการตัดสินใจของแพทย์ฝึกหัด แล้วโดนตรวจซ้ำๆอย่างนั้น เปลี่ยนมาเป็นการใช้แบบสอบถามที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่ามีคุณภาพดีพอควร ถ้าแพทย์ฝึกหัดเป็นผู้สอบถามแล้วประเมินออกมาว่า "เข้าข่าย ไส้ติ่งอักเสบ" ก็ให้ส่งตัวคนไข้เข้าไปแผนกคนไข้ในศัลยกรรมได้เลย ถ้าเป็นพยาบาลสอบถามแล้วประเมินอย่างเดียวกัน ให้ส่งตัวคนไข้เข้าไปที่เดียวกันโดยระบุว่า เพื่อการวินิจฉัยยืนยันว่าไม่เป็นไส้ติ่งอักเสบ(rule out)

 

เมื่อเข้าไปแล้วศัลยแพทย์จะประเมินอีกรอบแล้วดำเนินการผ่าตัดถ้าแน่ใจว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

 

หนึ่งปีหลังจากเริ่มกระบวนการใหม่ ปรากฎว่า คนไข้เสียเวลาที่ห้องฉุกเฉินน้อยลง เหลือ ๒๒นาที(ร้อยละ ๘๐ใช้เวลาต่ำกว่า ๓๐นาที) โดยเฉลี่ยจากเดิม ๒๙นาที(ร้อยละ ๖๕ใช้เวลาต่ำกว่า ๓๐นาที) การวินิจฉัยพลาดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบทั้งๆที่ไม่ได้เป็น ลดลงเหลือ ร้อยละ ๙ จากเดิม ร้อยละ ๑๕

 

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นภาวะเร่งด่วนที่มีสัดส่วนมากที่สุด ในกลุ่มคนไข้ที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉินด้วยภาวะฉุกเฉินจริง(ไม่รวมคนไข้บาดเจ็บ) แต่ละปี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ให้บริการคนไข้ไส้ติ่งอักเสบอยู่ระหว่าง ๑๘๐๐ ถึง ๒๖๐๐ ราย

 

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ป่วยด้วยโรคอย่างเช่นไส้ติ่งอักเสบซึ่งไม่มีทางป้องกัน จึงไม่มีอะไรดีเท่ากับการรักษาให้ถูกต้องที่สุด เร็วที่สุด ด้วยความสะดวกสบายเท่าที่ทรัพยากรจะเอื้ออำนวย โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น ฐานันดรใดๆ

หมายเลขบันทึก: 442466เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท