KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 131. การจัดการคุณค่า


การจัดการเชิงคุณค่าจะช่วยทำให้การทำงานมีมิติที่ลึก เป็นมิติด้านจิตใจ จิตวิญญาณ ความเชื่อ

         การทำ KM จะมีพลังได้ ต้องมีการจัดการคุณค่า     ต้องทำให้เป้าหมายของงาน หรือกิจกรรม (ที่นำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือ) มีความหมาย    หรือมีคุณค่าสูงส่ง     ทีมงานที่ร่วมกันทำ KM เห็นคุณค่าที่สูงส่งนั้นร่วมกัน

        บุคคลสำคัญที่สุดในการจัดการคุณค่า ทำให้เกิด "การเห็นคุณค่าร่วมกัน" (Shared Value) คือ "คุณเอื้อ" หรือ ซีอีโอ   

        ต้องไม่จัดการคุณค่าสไตล์ "คุณอำนาจ"     แต่ต้องจัดการคุณค่า สไตล์ KM หรือ "จัดการแบบไม่จัดการ"     และต้องจัดการคุณค่าในลักษณะที่เป็นเนื้อเดียวกันกับกิจกรรม KM ในภาพรวม     คือจัดการคุณค่าเป็นกิจวัตรประจำวัน  

        การจัดการคุณค่า ต้องทำในหลายรูปแบบประกอบกัน    ทั้งเชิงนามธรรม  เชิงวาทกรรม  และเชิงรูปธรรม     โดยที่กิจกรรมใน ๓ มิตินี้อาจซ้อนเหลื่อมกัน

        ในเชิงนามธรรม เป็นการร่วมกันค้นหาคุณค่าในระดับศีลธรรม   ระดับคุณค่าต่อสังคม หรือต่อมนุษยชาติ     ว่ากิจกรรมหรืองานที่เรากำลังร่วมกันทำนั้น    มีโอกาสสร้างคุณค่าในระดับดังกล่าวอย่างไร     ทำอย่างไรจึงจะเกิดคุณค่า     และหากทำ (หรือแสดงท่าที) อย่างไรจะไม่เกิดคุณค่า หรือเกิดคุณค่าน้อย    

        ในเชิงวาทกรรม หรือการสร้างถ้อยคำหรือประโยค ที่สะท้อนการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของกิจกรรมภาพรวม     และของกิจกรรมย่อย     มีการกล่าวย้ำคุณค่าโดยบุคคลที่หลากหลาย ทั้งหลายฐานะ หลายหน่วยย่อย หลายหน้าที่ ฯลฯ

        ในเชิงรูปธรรม มีการนำความสำเร็จน้อยใหญ่ มาตีความ ว่าเกิดผลเชิงคุณค่าในด้านใด อย่างไรบ้าง

         การจัดการเชิงคุณค่าจะช่วยทำให้การทำงานมีมิติที่ลึก  เป็นมิติด้านจิตใจ  จิตวิญญาณ  ความเชื่อ     มีมิติของความสัมพันธ์จากใจถึงใจ     เกิดความสุขลึกๆ เมื่อมีผลสำเร็จน้อยใหญ่

วิจารณ์ พานิช
๗ สค. ๔๙
พิษณุโลก

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 44243เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท