ชีวิตที่พอเพียง : 86. ปรีดา มาลาสิทธิ์ กัลยาณมิตรของผม


          ผมรู้จักปรีดาตั้งแต่ตอนปรีดาเป็นนักเรียนแพทย์     ปรีดาสอบได้ที่ ๑ ในรุ่นของแพทย์ศิริราชรุ่น ๗๖ หลังผม ๕ รุ่น     และน้องชายของผม นพ. วิชัย พานิช อยู่รุ่นนี้     ผมได้สอน นศพ. รุ่นนี้นิดหน่อยด้วย ทั้งวิชาพันธุศาตร์ และโลหิตวิทยา     ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับ ศ. พญ. คุณสุภา ณ นคร  และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี  เป็นอาจารย์เด็กๆ โดยกินเงินเดือนของบัณฑิตวิทยาลัย 

          มาเริ่มสนิทกันก็ตอนปรีดาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล     ไปเรียน Immunology อยู่กับ Professor John Humphrey ที่ Royal Postgraduate School, Hammersmith Hospital ในลอนดอน     ปี พ. ศ. ๒๕๒๑ ผมลาออกจากหน้าที่จากรองอธิการบดีไปฟื้นวิชาการโดยทุน WHO ที่ภาควิชาโลหิตวิทยาของ Royal Postgraduate Medical School ซึ่งร้างหัวหน้าภาควิชามานานหลังจาก Professor Sir John Dacie ปรมาจารย์ของโลกด้าน Hemolytic Anemia เกษียณอายุไป     หาคนมาสวม "รองเท้ายักษ์" ยากมาก     เขาให้ Prof. Humphrey มารักษาการชั่วคราว

         ผมไปพบปรีดาที่นั่น     ได้สนิมสนมกัน  ได้รู้จัก รศ. แดงต้อย ภรรยาของปรีดา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      และยังได้อุ้มจ้อน ลูกชายของปรีดา ซึ่งตอนนั้นยังเป็นทารกอยู่     พอดีหมออมรา ภรรยาผม ก็ได้ทุน WHO ไปฝึกงานด้านวิสัญญีวิทยาที่ Cardiff และลอนดอน     ครอบครัวของเราจึงสนิทกัน 

        ปรีดาทำวิจัยทดลองโดยใช้หนู mice    เล่าว่าอยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ด้านป้องกันการทรมานสัตว์มาตรวจ     และแนะนำว่าต้องเลี้ยงหนูให้ดีกว่านี้ เพราะเอาหนูมาไว้ในห้องปฏิบัติการ ไม่ได้อยู่ในห้องเลี้ยงสัตว์     เขาบอกว่าในห้องทดลองอากาศถ่ายเทน้อยไป     ปรีดาบ่นว่าทีคนยังอยู่ได้ไม่บ่น ไม่อึดอัด แต่หนูต้องอยู่ดีกว่านั้น     ผมไปเยี่ยมปรีดาที่ห้องแล็บทีไรก็ได้กลิ่นหนู โดยเฉพาะกลิ่นปัสสาวะ และสงสัยว่าปรีดาทนได้อย่างไร     เดาว่าคงจะชินจนไม่ได้กลิ่น

        ปรีดาเล่าเรื่องการเมืองในภาควิชาโลหิตวิทยาที่ผมไปอยู่ให้ฟัง     ทำให้ผมสังเกตเห็น "อัตตา" ของอาจารย์ใน RPMS (Royal Postgraduate Medical School) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ทรงเกียรติภูมิสุดๆ ในอังกฤษ     ช่วยให้ผมได้สอนตัวเองว่าอย่าไปแบกเกียรติภูมิแบบผิดๆ    จะทำให้เรา "ตัวหนัก" และเป็นคนไม่น่ารัก     ถ้าไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกจากปรีดา ผมก็จะไม่ได้เรียนพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์แบบนี้

       ปรีดาอยู่ที่นั่นมาหลายปี    รู้ลู่ทางการเรียนรู้จากกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ที่มีคุณภาพสูง หาเรียนจากที่อื่นได้ยาก     และคอยมาชวนผมไปร่วมเสมอ     กิจกรรมอย่างหนึ่งคือ Grand Round ซึ่งทำในห้อง ไม่ต้องเดิน round     โดยนำเอากรณีผู้ป่วยที่เมื่อเอามานำเสนอและอภิปราย จะเกิดความรู้มากมาเรียนรู้ร่วมกัน    เขามีวิธีจัดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าที่ผมเคยเห็นที่อื่น    ในเวลาที่ผมไปอยู่เพียง ๕ เดือน ผมเห็นเขาเอากรณีผู้ป่วยบางรายมานำเสนอ ๒ ครั้ง     โดยครั้งหลังมีนักวิชาการยักษ์ใหญ่ภายนอกมาอภิปรายหลังจากมีการนำเสนอรายละเอียดของผู้ป่วยแล้ว     ผมมาตระหนักในภายหลังว่า นี่คือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึ่ง    เป็นวิธี capture ความรู้จากภายนอกอย่างแยบยล     และผมได้เอามาปรับใช้สมัยผมทำงานวิชาการเล็กๆ ด้านพันธุศาสตร์ และด้านธาลัสซีเมีย    

       ปรีดาเป็นนักอ่านหนังสือ     ได้แนะนำหนังสือหลายเล่มแก่ผม    ทำให้ผมได้รู้จักสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดีๆ     ผมได้ใช้เวลา ๕ เดือนอ่านหนังสือ และหาซื้อหนังสือทั้งด้านวิชาการพันธุศาสตร์ และโลหิตวิทยา     และที่เป็นหนังสือวิชาการแนวกว้าง    ในช่วงหลังๆ มีคนชมว่าผมมีความรู้หลากหลายด้านกว้างขวาง     ปรีดาเป็น "ครู" คนหนึ่งของผม ที่ช่วยให้ผมรู้กว้าง     แต่ก็ไม่กว้างเท่าปรีดา     หนังสือที่ผมติดใจมากเล่มหนึ่งคือ The Selfish Gene แต่งโดย Richard Dawkins  ซึ่งมีการปรับปรุงและพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง     ถือเป็นหนังสือ classic ด้านวิวัฒนาการ แนว Post-Darwinism    ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็น เซอร์

       เมื่อกลับมาเมืองไทย  ผมอยู่ที่หาดใหญ่ ปรีดาอยู่ที่ศิริราช     ได้พบกันบ้างเป็นครั้งคราว     พบกันทีไรปรีดาก็จะมีเรื่องราวพัฒนาการด้านวิชาการด้านที่สำคัญต่อปัญหาสุขภาพคนไทยมาเล่า    เช่น ไหลตาย    RTA   ไข้เลือดออก  เป็นต้น     จนปี ๒๕๓๖ ผมมาเป็นผู้อำนวยการ สกว. กลับเข้ามาอยู่กรุงเทพ เราจึงพบกันบ่อยขึ้น  

        เมื่อ สกว. จัดให้มีทุนวิจัยที่ทรงเกียรติที่สุด คือทุนพัฒนากลุ่มวิจัย ที่ไม่มีการรับสมัคร แต่จะใช้วิธีเชื้อเชิญ     โดยผู้ได้รับเชื้อเชิญจะได้ชื่อที่ทรงเกียรติว่า "เมธีวิจัยอาวุโส สกว."     ในไม่ช้าเราก็มองว่าปรีดาน่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับมอบภารกิจและเกียรตินี้     แต่ผมเกร็งมากที่จะตัดสินใจ     เพราะเหตุผลใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ  (๑) เกรงข้อครหา  เพราะปรีดากับผมสนิทกันมาก   และ (๒) เกรงว่าปรีดาจะไม่ค่อยมีผลงานตีพิมพ์   เพราะ ศ. นพ. ประเวศ บ่นให้ฟังบ่อยๆ ว่าปรีดำทำงานมาก  มีผลงาน แต่ตีพิมพ์น้อย  ไม่ขยันเขียน paper     แต่ผมก็โชคดีที่ผลงานของปรีดาเป็นที่ชื่นชมมากเมื่อมีการประเมินผลงานของเมธีวิจัยอาวุโส สกว. โดยทีมประเมินที่เป็นบุคคลภายนอก

        ข้อเด่นของปรีดาคือเป็นคนคิดใหญ่  และจับแพะชนแกะเก่ง     คนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีสมองดีมาก    ซึ่งผมไม่มีความสามารถขนาดนี้     ในระหว่างที่ปรีดากลับมาทำงานวิจัยที่ศิริราช ก็อาศัยความสัมพันธ์กับ Prof.  Humphrey ทำโครงการวิจัยร่วมกับทางอังกฤษ และร่วมกันขอทุนวิจัยจาก Wellcome Trust     จากทุนวิจัยหลายๆ ทางทำให้ปรีดาสามารถสร้างทีมวิจัยที่ทำงานซับซ้อนมาก     มีนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเป็นทีม และทำงานร่วมกับต่างประเทศ     เกิดการสร้างคน โดยเฉพาะนักศึกษาหลักสูตร PhD - MD ของศิริราช    และนักวิจัยที่ไม่จำกัดเฉพาะภายในศิริราชเท่านั้น แต่เชื่อมไปถึงรามา   มช.  ขอนแก่น   และต่างประเทศ คือ อ็อกซฟอร์ด   และสถาบันปาสเตอร์ ที่ฝรั่งเศส 

        เมื่อ สวทช. - สกว. - WHO/TDR ร่วมกันจัดตั้งโครงการ T-2 (Thailand Tropical Disease Research Program) ขึ้น  ปรีดาก็ได้ร่วมเป็นกรรมการ     และเป็น
ผู้รับทุนด้วยในเวลาเดียวกัน     เป็นกรณีที่เรียกว่ามี COI (Conflict of Interest) ทำให้เราต้องจัดระบบระมัดระวังข้อครหา     แต่เมื่อผลงานด้านไข้เลือดออกได้รับการตีพิมพ์  จดสิทธิบัตร และมีการเจรจาธุรกิจนำผลวิจัยสู่ตลาด    ก็เป็นข้อพิสูจน์โดยตรงว่า Potential COI นี้ไม่ได้ก่อผลเสีย   แต่กลับก่อผลดี    ผมมองว่าผลงานเหล่านั้นยังก่อผลกระทบน้อยกว่าผลดีด้านการสร้างคน

         กล่าวได้ว่า ความเข้มแข็งด้านการวิจัยของศิริราช ที่เด่นขึ้นมากในช่วง ๑๐ ปีหลัง มีปรีดาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการออกแบบด้วยคนหนึ่ง     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงระหว่าง Basic Research กับ Clinical Data     การพัฒนาระบบ Clinical Data / Information ของโรคไข้เลือดออกของประเทศ เพื่อหนุนการวิจัยพื้นฐาน สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเกิดอาการ ช็อก ในผู้ป่วยไข้เลือดออก     เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของปรีดาและทีมงาน      

        เมื่อ ๓ ปีที่แล้วปรีดามาบอกว่าศิริราชมีงานวิจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งแล้ว    มีการเชื่อมงานวิจัยพื้นฐานกับ Clinical Data ที่ดีแล้ว     แต่ยังขาดระบบการส่งเสริมการวิจัยต่อยอดงานประจำไปสู่การวิจัย     ปรีดาเจรจากับคณบดีจนได้งบประมาณมาสนับสนุนโครงการนี้     นำไปสู่ความร่วมมือกับ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ที่มี นพ. สมศักดิ์ ชุณะรัศมิ์  เป็นเลขาธิการ และหัวหน้าทีมที่ปรึกษาของโครงการนี้     ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าโครงการ R2R (Routine to Research)     เป็นชื่อที่ติดตลาด มีการนำไปใช้ในหลายหน่วยงาน     หัวหน้าโครงการคนแรกคือ อ. นพ. สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล    เมื่อ อ. หมอสมเกียรติไปเป็นรองคณบดี ก็ได้ อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ มาเป็นหัวหน้าโครงการ  

        โครงการ R2R ของศิริราช ดำเนินการมากว่า ๒ ปี    มีเค้าว่าจะเป็นการสร้างระบบการจัดการงานวิจัยแนวใหม่ ของวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ    ปรีดามีส่วนอย่างมากในการริเริ่ม และขับเคลื่อนโครงการนี้  

         ตอนนี้ผมนึกถึงปรีดาแทบทุกวัน     เมื่อผมฟังเพลงจาก iPod ผมก็จะนึกถึงปรีดา      เพราะปรีดาเป็นคนบอกให้ผมไปซื้อเครื่องมา     แล้วปรีดาช่วยเอาเพลงใส่ให้     ใน iPod ของผมมีเพลงอยู่เกือบสี่พันเพลง    ปรีดากับผมบ้าเครื่องอีเล็กทรอนิกส์คล้ายๆ กัน     แต่ผมว่าปรีดาเก่งกว่าหรือหนักข้อกว่า     ส่วนใหญ่ผมเรียนรู้จากปรีดา 

        ผมตำหนิปรีดาใน ๒ เรื่อง    คือเรื่องเขียนต้นฉบับตีพิมพ์น้อยไป    เหมือนที่ อ. หมอประเวศ ตำหนิ     ซึ่งปรีดาก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน     ข้อที่สองคือการไม่เสนอขอตำแหน่งวิชาการ     ทำให้ปรีดาขาดการเชื่อมต่อกับระบบตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัย     ผมมองว่าระบบนี้ยังไม่ดี     ยังต้องการคนเข้าไปช่วยกันพัฒนา     การที่ปรีดาปฏิเสธแบบหันหลังให้ระบบ ทำให้ขาดคนเก่งและดีเข้าไปช่วยกันพัฒนาระบบ 

        ในโอกาสที่ปรีดาจะมีอายุครบ ๖๐ ปี    ซึ่งถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นอายุที่เข้าวัยอาวุโสอันงดงาม    ชีวิตของปรีดาเป็นชีวิตที่งดงามยิ่ง เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ทำให้แก่ศิริราช   แก่วงการวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทย   และของโลก     โดยเฉพาะในช่วง ๑๐ ปีหลังที่ปรีดาเน้นทำงานเชิงระบบ เชิงสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่     วงการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าวัยชราในคนปัจจุบันไม่ได้เริ่มที่อายุ ๖๐   แต่เริ่มที่อายุ ๘๐ ปี     ผมจึงขอตั้งความปรารถนาว่าจะได้เห็นปรีดายังทำงานต่อไป   เน้นงานที่สำคัญยิ่งขึ้นกว่าเดิม คืองานฟูมฟักนักวิจัยรุ่นน้องๆ รุ่นศิษย์ ให้เติบโตเป็นตัวของตัวเองต่อไป   

วิจารณ์ พานิช
๑๐ กค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 44240เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
    อ่านจบด้วยใจจดจ่อครับ
   ซึมซับรับความเป็นกัลยาณมิตรที่ท่านมีให้กันแล้ว อิ่มสุข เสียง่ายๆ ก็หวังว่าพลังความรู้ ความคิด สติปัญญา และ ประสบการณ์ของท่านทั้งสอง จะได้รับการเผยแพร่เพื่อสร้างสรรค์ จรรโลงสังคม และโลกให้งดงาม น่าอยู่ยิ่งๆขึ้นครับ

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ปรีดา โดยอาจารย์ให้ยีนส์ไข้เลือดออกแก่ดิฉัน เพื่อนำไปทำวิจัยสำหรับการเรียนปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าอ.ปรีดาเป็นนักคิด และนักวิจัยที่มีความคิดก้าวไกลเป็นอย่างมาก

ก็ขออวยพรให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมที่จะต่อสู้กับงานหนักต่อไปนะคะ

 ศิษย์คนหนึ่ง

อาจารย์ปรีดาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผมตอนเรียน ป.โท ที่ศิริราช อาจารย์มีทั้งพระเดชและพระคุณแก่ผมมาก

ผมเห็นด้วยกับที่ท่านอาจารย์หมอวิจารย์กล่าวมาทั้งหมดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท