ถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานศึกษาดีเด่น


ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการดีเด่น

ทำไมจึงต้องคัดเลือกสถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการดีเด่น

        สืบเนื่องมาจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีโครงการคัดเลือกเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา (ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่มีการกระจายอำนาจการบริหารงาน 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ประสบผลสำเร็จและมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) สามารถถอดบทเรียนเป็นแบบอย่างได้

การพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการดีเด่น

        สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดคัดเลือกสถานศึกษาแต่ละระดับๆละ 2 โรง (ระดับปฐมวัย, ประถมศึกษา, มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย) พร้อมทั้งเสนอรายชื่อพร้อมข้อมูลเบื้องต้นไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกสถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการดีเด่น ซึ่งเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนออกไปตรวจเยี่ยม เก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อคัดเลือกให้ได้สถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการดีเด่นระดับละ 1 โรงเรียน

องค์คณะที่ทำหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมสถานศึกษา

         หลังจากที่ได้รับข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาแล้ว คณะกรรมการได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมการออกตรวจเยี่ยมประเมินสถานศึกษาดีเด่น แต่ละระดับ โดยคณะกรรมการแต่ละคณะจะประกอบด้วย ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี ซึงมีนักวิชาการจากสภาการศึกษา เป็นกรรมการเลขานุการ

           ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2554 คณะกรรมการได้มีโอกาสออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เช่น ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่  ภาคใต้ที่จังหวัดยะลา  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา ภาคกลางที่จังหวัดเพชรบุรีและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถสรุปผลการประเมินได้ประมาณเดือนกรกฎาคมศกนี้

การสรุปและถอดบทเรียน

           ภารกิจการตรวจเยี่ยมยังคงดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับครู ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษาของไทย ควรจะได้รับรู้ร่วมกันคือ ความมุ่งมั่นในการกระจายอำนาจและการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เริ่มเปล่งประกายให้เห็นเด่นชัดแล้ว

           ต่อจากนี้ไปคงจะได้ถอดบทเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้ประสบผลสำเร็จต่อไป

หมายเลขบันทึก: 441299เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โอโห อาจารย์หายไปนานมากๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท