จิตตปััญญาเวชศึกษา 168: ศึกษาด้วย กับ เพื่อ "ธรรม(ชาติ)"


ศึกษาด้วย กับ เพื่อ "ธรรม(ชาติ)"

เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากที่ได้จรลีเดินทางไปมามากมายรวมกันหลายพันกิโลเมตรในประเทศไทย ก็ค่อยเริ่มมีเวลามานั่งหยุดนับลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง มีเรื่องราวมากมายที่รอตกผลึก บ้างก็ตกตะกอนไปเรียบร้อย (เพราะ solvent ไม่พอ ยังละลายไม่ดี) ก็ไม่ต้องรีบร้อนบีบเค้นเร่งด่วนให้ออกมา นัยว่ามะม่วงสุกบนต้นนั้นมันหวานหอมกว่าบ่มสุกเยอะ จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวนึงคร้าบ (quoted from Ikkyusan)

หนึ่งในช่วงนั้น เราไปทำ workshop กันที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามคำเชิญของ "แม่มะ" อ.มยุรี วศินานุกร ที่ได้เมตตาเปิดโอกาสให้ทีมเราเข้าไปมีส่วนดูแลน้องๆนักเรียนแพทย์ชั้นปีหนึ่งขึ้นปีสอง มาปีนี้เป็นปีที่สามแล้ว 

ปีก่อนผมเขียนเรื่อง "การเรียนรู้โดย/อย่าง/กับ ธรรมชาติ" ภาคหนึ่งและสองไป แต่นั่นเป็นหลังงาน HA มาคราวนี้เป็นการเขียนที่น่าจะใกล้เคียงกับเรื่องการศึกษามากกว่า เพราะได้มาจากการสังเกตกลุ่มนักเรียนนักศึกษาใน workshop นี้

ท้องฟ้าเหนือ ม.วลัยลักษณ์ ก่อนจะ landing จากนกแอร์

นักเรียนแต่ละรุ่นมีเอกลักษณ์และอัตตลักษณ์ของตนเอง ในความ unique ของปัจเจกบุคคล ก็มีความเป็น collective unique ของทั้งรุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่ว่ามานี่ไม่ได้เกี่ยวกับดีกว่า/เลวกว่า แต่อยากเน้นเรื่อง "ความแตกต่างกัน" และเมื่อสอบถามเรื่องนี้กับแม่มะแล้ว ก็พบว่าอาจจะมีส่วนจริงไม่น้อย และเป็นสาเหตุหนึ่งที่แม่มะรักษายอดนักเรียนเอาไว้ที่ 45-48 คนเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าสัดส่วนของอาจารย์ต่อนักเรียนไม่เกินกว่าที่จะแบกภาระ ที่แม่มะคาดหวังว่าไม่เพียงแค่เป็นอาจารย์สอนวิชาต่างๆ แต่รวมไปถึงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสอนจริต จริยาวัตร และจริยธรรม จรรยาบรรณไว้ด้วย

เนื่องจากลักษณะและบริบทของที่นี่ นักศึกษาชั้นคลินิก (ปีสี่ขึ้นไป) จะต้องออกจากอ้อมอกวลัยลักษณ์ไปฝึกงานปฏิบัติที่โรงพยาบาลสมทบ เพราะที่นี่ยังไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง (กำลังสร้าง) รุ่นหนึ่ง The Pioneer กำลังจะบินออกจากรังในอีกไม่กี่วันนี้ ก็น่าตื่นเต้นจริงๆ (สำหรับพวกเรา ที่ขอถือว่า "มีส่วน" ในทีมจัดฝึกบินนิดหน่อยๆด้วย) ว่าจะหัวก้อยแบบใด เพราะน้องๆกำลังออกไปเจอของจริง การปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาล สถานการณ์จริง คนไข้จริงๆ เราได้แต่คาดเดาเอาว่าที่เราพยายาม "เตรียม" น้องๆมาสามปีนั้นเพียงพอหรือไม่

Theme หลักในปีนี้ เราเลยเน้นที่ "ความช้า" และการ "อยู่กับธรรมชาติ" เป็นหลัก (หรือจะเรียกว่าเป็น single theme ก็ว่าได้) คำว่า "ช้า" ในที่นี้ ไม่ได้ช้าแบบ retard หรือ slow motion แต่เป็นการ "ให้เวลากับปัจจุบัน สิ่งที่มี สิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็น" ให้มากขึ้น ให้ถ่องแท้ และให้ละเอียดนั่นเอง

และคำว่า "อยู่กับธรรมชาติ" ก็ไม่ได้หมายความอีกเช่นกันว่าให้ไปอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร แต่ธรรมชาติรอบๆตัวเรานี่แหละ มองให้เห็นเหตุปัจจัยและผลตาม มองให้ทราบความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เราอยู่กับธรรมชาติได้โดยอ่านหนังสือพิมพ์ เล่น FB เดินเล่นในสวน นอนใน park กินข้าวในโรงอาหาร ขอให้เรามี awareness จริงๆ เมื่อนั้นเราถึงจะ "อยู่กับ..." จริงๆ และเมื่อ "อยู่กับ" ได้ก็ให้เห็นผลกระทบ ความเชื่อมโยง สุดท้ายอาจจะลอง "อยู่เพื่อ..." ดู

ที่รู้สึกทึ่งในคราวนี้ก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่เรามีกิจกรรมให้น้องๆลอง free-style อยู่กับตนเองจริงๆสักระยะหนึ่ง ในตอนนั้น "ถ้ามีอะไรเข้ามา ก็ให้สังเกตดู" เรียกว่าเป็นวาระส่งมาจากฟ้า แล้วลองตามสติ ตามอารมณ์ไปกับเรื่องนั้นจนจบ ตัดขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อน วางมือถือทิ้งไว้ มีแต่สมุด ปากกา/ดินสอของตัวเอง กับตัวเองเท่านั้น

เรียนรู้ด้วย กับ เพื่อ ตนเองสักพักนึง

การจัดประสบการณ์การเรียนการสอนในยุคสมัยนี้ เราต้องการทักษะจำเป็นหลายๆประการ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ "การเห็น" สิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น และทักษะในการเชื่อมโยงเรื่องราว หารอยต่อ หาคานดีดคานงัดให้ได้ ให้มี concept การสืบค้นได้มาซึ่งความจริงที่ผ่านการ "สังเกต"​ของตนเอง เป็น first-hand learning ไม่ใช่แค่ฟังต่อๆกันมา อ่านต่อๆกันมา และรู้จัก "ใช้" อวัยวะต่างๆที่เรามีเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ในตอนนี้ที่ไปๆมาๆ จะเหลือแค่หูกับตา คืออ่านกับฟังเท่านั้น

"ตรงที่ที่ผมนั่ง มีดอกไม้อยู่ช่อหนึ่ง มีทั้งดอกบานดอกเล็กๆ และมีทั้งดอกตูมดอกเล็กๆ นั่งดูอยู่พักหนึ่ง ก็เห็นขบวนมดเดินมาที่ดอกไม้นี้ จะมีอยู่ดอกหนึ่งที่เป็นดอกตูม มดจะเดินเข้ามาเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ตัว มาตอมๆรอบๆสักพักแล้วก็จะกลับ ตอนนั้นเองที่มีสายลมเบาๆพัดมาโดนดอกไม้ ดอกไม้สั่นไหวเบาๆ ผมก็สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจเรื่องนึง คือพอลมพัดดอกไม้โยกไหว มดบางตัวก็เดินหนีกลับออกมา แต่ก็ยังมีมดบางตัว ยังทำงาน ทำอะไรของมันต่อไป ไม่ใยดีกับพื้นที่ที่โยกไหวแต่อย่างใด ก็กลับมาคิดถึงตัวเรา เมื่อเราเจออุปสรรค เราก็เลือกได้ว่าเราเดินหนีออกมา รอให้อุปสรรคนั้นมันหายไปเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ หรือว่าเรายังคงทำงานต่อไป สู้ต่อไป จนกว่าจะทำต่อไปไม่ได้เราถึงค่อยหยุด...."

นี่เป็นตัวอย่างการรำพึง รำพันบทเรียนจากน้องคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนสนาม

อีกตัวอย่างหนึ่ง

"ตรงที่ผมนั่งอยู่ ข้างหน้าผมก็คือ ... (ชื่อเพื่อน) เธอกำลังสังเกตสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเธออย่างมีสมาธิ มีสมาธิอย่างมากจนกระทั่งผมมั่นใจว่าเธอคงไม่ได้สังเกตเห็นผมที่นั่งอยู่ข้างหลังเธอเลย.." (เสียงเพื่อนๆฮิ้ววว) "บ่อยครั้งแค่ไหนที่เราเป็นอย่างนี้..." น้องคนนี้พูดต่อ

"ที่เรามักจะหมกมุ่นแต่สิ่งที่เราสนใจเบื้องหน้า จนละเลย มองไม่เห็นสิ่งรอบข้าง ข้างหลัง ที่อาจจะมีใครสักคน หรืออีกหลายๆคนที่กำลังช่วยเรา เป็นเพื่อนเรา เป็นห่วงเรา เป็นต้นทุนของเรา จะดีแค่ไหน หรือจะเป็นเช่นไร ถ้าเราเห็นทั้งหมดนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา?"

ผมจำไม่ได้ว่าใน session สะท้อนกิจกรรมนี้ วลีแล้ววลีเล่า เรื่องแล้วเรื่องเล่า ที่ออกมาจากประสบการณ์สั้นๆของน้องๆ (หรืออาจจะเรียกว่ารุ่นลูกก็ได้) และทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูก spell-bound อยู่กับที่เช่นนั้น อำนาจแห่งการสังเกต พลังแห่งธรรมชาติ และจินตนาการของมนุษย์ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ เพศ วัย วุฒิ และศักยภาพที่เก็บเอาไว้ แม้เพียงเล็กน้อยที่เผยออกมา ก็ยังทรงคุณค่าได้อย่างเหนือความคาดหมาย

ในการจัดเนื้อหาการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพแพทย์ เป็นเรื่องท้าทายส่วนหนึ่งเพราะว่าความรู้ เทคโนโลยี และความรุดหน้าของวิทยาศาสตร์ ทำให้เนื้อหามากขึ้นเป็นทวีคูณในระยะเวลาสั้นๆ เราถูกปริมาณมหาศาลของความเข้าใจใหม่ๆถมเสริมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้พื้นที่ที่เคยมืดมิดต่อความเข้าใจ ซับซ้อนเกินกว่าจะบอกเล่า ได้ถูกเปิดกว้างให้สำรวจในรายละเอียด

ความชัดเจนของวิทยาศาสตร์ทำให้เราตื่นเพริดจนละเลยสิ่งใกล้ตัวที่ยังคงเป็นปริศนาต่อตัวเราตลอดมา เช่น อะไรคือสิ่งที่เราทุกคนเกิดมาเพื่อ อะไรคือคำถามที่สำคัญที่สุดของตัวเรา?

ในการเป็นแพทย์ มันมีความสำคัญสักแค่ไหน ที่เราต้องทำความเข้าใจกับชีวิต ที่เราต้องเห็นนัยยะแห่งความสัมพันธ์ ที่เราต้องรู้สึกได้ถึงอารมณ์ ความหมาย และหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม มองเห็นต้นทุนแห่งความสุข สาเหตุแห่งความทุกข์ เพื่อที่เราจะได้ใช้ความรู้ ทักษะ ที่ได้เรียนมา รักษา ทะนุถนอม และเยียวยาสร้างเสริมสุขภาวะไว้ให้ดีที่สุด?

หมายเลขบันทึก: 441027เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เหมือนได้ไปยืนเกาะอยู่ริมสนามเรียนรู้ไปด้วยเลย การได้เรียนรู้กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีความสุขมากเลยครับ ...

ความชัดเจนของวิทยาศาสตร์ทำให้เราตื่นเพริดจนละเลยสิ่งใกล้ตัวที่ยังคงเป็นปริศนาต่อตัวเราตลอดมา เช่น อะไรคือสิ่งที่เราทุกคนเกิดมาเพื่อ อะไรคือคำถามที่สำคัญที่สุดของตัวเรา?

ผมคิดว่าความสุขของครู ถ้าอยู่ที่ตอนนักเรียนได้เรียน ได้รู้ งานนี้เป็นงานที่ blessing จริงๆ เพราะมนุษย์เรียนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันจบสิ้น

เห็นด้วยกับ อ.phoenix และ อ.ขจิต ที่ว่า ปัจจุบันคนส่วนมากละเลย สิ่งใกล้ตัว

อะไรกันแน่คือสิ่งที่เราทุกคนเกิดมาเพื่อ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตัวเรา

เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมทาง และมาให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท