การใช้เงินงบประมาณด้านการศึกษาให้ได้ผลต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง


          ผมเคยวิพากษ์นโยบายและวิธีบริหารการศึกษาของรัฐบาลและของกระทรวงศึกษาธิการ   ว่าวิธีการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะเสียเงินมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ หรือไม่กระเตื้องขึ้น  เพราะเป็นวิธีการที่เงินที่ใช้ไปไม่ถึงกิจกรรมที่ตัวเด็ก   ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑   อ่านได้ที่ ,   

          วันที่ ๒ พ.ค. ๕๔ ผมได้รับเชิญไปเป็นผู้วิเคราะห์ร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ ภายใต้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ   ในเวทีประชาพิจารณ์แผนแม่บทฯ    จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้บันทึกว่า วิธีใช้เงินให้เกิดผลจริงจังต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ทำอย่างไร ตามความเห็นของผม ซึ่งอาจเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้

          อ่านบันทึกเล่าการไปฟังการประชุมของเวทีประชาพิจารณ์นี้ของคุณมานิดา ยมสวัสดิ์ ที่นี่  

          ผมถามท่านอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ว่ามีเงินอยู่เท่าไร   และต่อไปจะมีเงินปีละเท่าไร   ได้ความว่ามีอยู่ ๑๐๕ ล้าน   ส่วนปีต่อไปต้องเจรจา  

          ท่านรองปลัดกระทรวง ดร. สมบัติ สุวรรณพิทักษ์ แนะนำผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองทุน   ทำให้ผมแปลกใจมาก ว่าทำไมท่านผู้นั้นไม่เป็นผู้เสนอยุทธศาสตร์   กลับไปให้คนนอกเป็นผู้เสนอ   ผมมีความเชื่อว่า การทำงานใหม่ต้องหาคนที่เก่งฉกาจฉกรรจ์ มาทำงานในแนวที่จะได้ผลอย่างแท้จริง   ยิ่งเป็น “กองทุน” ด้วยแล้ว มีโอกาสทำงานต่อเนื่อง และปลอดอิทธิพลการเมืองแบบชั่วร้าย   ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในระบบของไทย

          หลังจาก อ. อิทธิพล ปรีติประสงค์ เสนอแผนแม่บทเสร็จ ผมก็ได้รับเชิญให้วิเคราะห์และวิพากษ์เป็นคนแรก   ผมบอกว่า อ. อิทธิพลเสนอแผนยุทธศาสตร์แบบครบถ้วน ตั้งแต่ ๑ – ๑๐   แต่ผมจะแสดงความเห็นเฉพาะที่ขั้นตอนที่ ๑ เท่านั้น   คือกองทุนฯเพื่อใคร หรือเป้าหมายที่ชัดเจนคืออะไร วัดผลอย่างไร   กับประเด็นที่ ๒ คือยุทธศาสตร์การบริหารควรเป็นอย่างไร

          ที่เสนอมานั้น เป้าหมายกว้างมาก ทำให้ขาดโฟกัส และวัดผลที่ outcome ไม่ได้   เงินที่มีนิดเดียวก็จะถูกใช้แบบกลืนหายเข้าไปในเงินหลายแสนล้านของกระทรวงศึกษาธิการ   เป็นการละลายเงินโดยไม่เกิดผลต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของนักเรียนอีกแล้ว

          ผมเสนอให้โฟกัสเป้าหมาย ว่าเพื่อใช้สนับสนุนนวัตกรรมที่ริเริ่มโดยครู หรือโรงเรียน หรือกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่   ทำเป็นโครงการนำร่อง เป็นตัวอย่าง สำหรับเมื่อปรับจนได้ผลดีแล้ว   ส่วนอื่นๆ ของระบบการศึกษาก็เอาเป็นตัวอย่าง เอาไปปรับใช้ได้   คือมีเป้าใช้เงินนิดเดียวนี้ ริเริ่มการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง โดยใช้เทคโนโลยีการศึกษาหนุน

          คำว่าได้ผลดีที่ขีดเส้นใต้ในย่อหน้าบน หมายความว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้นเป็นที่พอใจ   และครูก็ทำหน้าที่ “ครูเพื่อศิษย์” สนุกขึ้น   โรงเรียนได้รับการยกย่องนับถือมากขึ้น

          บริหารกองทุนนี้อย่างไร ผมขออภัยที่ประชุม ซึ่งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะต้องใช้วาจาไม่ไพเราะว่า  กองทุนนี้ควรอยู่นอกกระทรวงศึกษาธิการ   เพื่อให้ทำงานอย่างเป็นอิสระได้   เพราะควรใช้เงินกองทุนนี้สร้างนวัตกรรมให้แก่การจัดรูปแบบการเรียนรู้   การทำงานหนุนนวัตกรรมต้องการความเป็นอิสระ

          ที่จริงผมอธิบายยาวกว่านี้   โดยยกตัวอย่างวิธีใช้เงินกองทุน สสส. เพื่อสร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ ให้แก่ประเทศไทยอย่างได้ผลดียิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๔ พ.ค. ๕๔
 
         
         
         
        

หมายเลขบันทึก: 440731เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท