ครู 2 แบบ


วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมไปประชุมในฐานะผู้ปกครองนักเรียนที่ปัตตานี หลังเสร็จประชุมก็ไปทานข้าวเที่ยงกับลูก ทานข้าวไปคุยกันไปหลายเรื่องจนมาถึงเรื่อง "ครู" ในฐานะ "เคยเป็นครู" (แต่ลูกศิษย์ไม่ค่อยเรียกขานว่า "ครู" แต่จะเรียกผมว่า "แบเฮง" แทน พอไม่ได้เป็นครูแล้ว เจอกับลูกศิษย์อีกครั้งแล้วลูกศิษย์เรียก "แบเฮง" ก็ทำให้รู้สึกดี แต่ก็มีครับบางคน (ส่วนน้อยที่เรียกผมว่าครู))  ก็เลยบอกกับลูกว่า  ในภาษาอาหรับมีคำที่เรียกครูอาจารย์อยู่หลายคำ มีอยู่ 2 คำที่อยากจะบอกกับลูกคือ คำว่า "มุอัลลิม" กับคำว่า "มุร็อบบี" ผมบอกลูกว่า ตามความเข้าใจของอาเยาะ คำสองคำนี้ต่างก็หมายถึง "ครู อาจารย์" แต่มีความแตกต่างกัน 

 

มุอัลลิม นั้นจะเป็นครูในบริบทของความรู้ที่เขาหรือเธอสอนอยู่และจะไม่ก้าวพ้นออกจากกรอบวิชาที่เขาหรือเธอสอนอยู่ มุอัลลิมจะปฏิบัติหน้าที่ในห้องเรียน หรือในห้องปฏิบัติการ ผมยกตัวอย่างให้ลูกฟังว่า เช่น ครูสอนวิชาศาสนาที่เป็นมุอัลลิมนั้น เขาจะสอนวิธี รูปแบบ และเนื้อหาของการละหมาด สอนคำอ่านต่างๆในละหมาด สอนว่าอะไรที่อาจจะทำให้การละหมาดนั้นเป็นโมฆะ สอนว่าละหมาดมีละหมาดอะไรบ้าง กี่อย่าง ครูที่เป็นมุอัลลิมจะวัดความสำเร็จของการสอนของเขาหรือเธออยู่ที่ว่าผู้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาหรือเธอสอนหรือไม่ อันนี้ดูที่ผลสอบ การตอบคำถาม และทำได้ทำเป็นหรือไม่ เช่น ละหมาดเป็นหรือไม่ สรุปก็คือดูที่คะแนนต่างๆ  หากทำได้สำหรับครูที่เป็นมุอัลลิมถือว่า "สำเร็จแล้ว" 

 

ในขณะที่ครูที่เป็น "มุร็อบบี" นั้นในเบื้องต้นก็เช่นเดียวกับครูที่เป็นมุอัลลิม แต่ สำหรับครูที่เป็น "มุร็อบบี" จะมีมากกว่านั้น ห้องเรียนของเขาหรือธอ กว้างกว่าห้องเรียนของครูมุอัลลิม เขาจะไม่หยุดการสอนของเขาเพียงแต่ในห้องเรียนแคบๆ สำหรับครูมุร็อบบีแล้ว แค่เพียงรู้และทำเป็นยังไม่พอ เช่น รู้ว่าละหมาดอย่างไร และละหมาดได้ยังไม่พอ เขาและเธอจะติดตามลูกศิษย์ของเขาและเธอว่า เมื่อรู้แล้วและทำเป็นแล้ว ลูกศิษย์ "ทำหรือปฏิบัติ" อย่างที่เรียนรู้มาหรือไม่ สม่ำเสมอแค่ใหน อย่างไร

 

เราจึงมักพบว่า ครูที่เป็นมุร็อบบีสนใจติดตามการปฏิบัติหรือพฤติกรรมของลูกศิษย์ เขาหรือเธอจะไปชวนลูกศิษย์ให้ไปละหมาดด้วยกัน จะคอยสังเกตว่าในแถวของผู้ที่กำลังละหมาดมีลูกศิษย์ของตนอยู่ในแถวหรือไม่? และเขาหรือเธอจะถือว่า ยังสอนไม่สำเร็จจนกว่าลูกศิษย์จะละหมาดครบห้าเวลาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และไปละหมาดในเวลาที่มัสยิด ลูกศิษย์มีการละหมาดซุนนะห์หรือไม่นอกเหนือจากละหมาดฟัรฎู และจะคอยติดตามว่า การละหมาดของลูกศิษย์มีอิทธิพลในการควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบจริยธรรมที่ดีงามหรือไม่อย่างไร  ครูที่เป็นมุร็อบบีจะคอยให้ "คำแนะนำ" หรือ "คำตักเตือน" แก่ศิษย์ทันทีที่พบว่า มีบางสิ่งที่อาจจะทำให้ศิษย์เบี่ยงเบนมุ่งไปยังจุดที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ครูที่เป็นมุร็อบบีจะเป็นที่ปรึกษา จะเป็นพ่อหรือแม่ที่ดูแลและห่วงใย ครูที่เป็นมุร็อบบีจะฝึกฝน อบรม ขัดเกลาศิษย์ จะโน้มน้าวจูงใจ จะช่วยเหลือสนับสนุน จะวัดผลสัมฤิทธิของการสอนของเขาในชีวิตจริงของศิษย์

 

และที่สำคัญที่สุด ครูที่เป็นมุร็อบบีจะเป็น "แบบอย่างที่ดี" แก่ศิษย์ของเขา และหากเขาเป็นครูที่สอนอิสลาม ลูกศิษย์ของเขาจะพบว่า ในตัวครูของเขาปรากฏสิ่งต่างๆที่เขาหรือเธอสอนพวกเขาอยู่อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และแม้นเขาหรือเธอไม่ใช่ครูสอนอิสลาม แต่ครูที่เป็นมุร็อบบีก็จะเป็นเช่นเดียวกับครูที่สอนอิสลาม 

 

ในปัจจุบันสำหรับครูที่เป็นมุอัลลิมมีระบบการกำกับควบคุมอย่างดี มีกระบวนการในการทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นครูมุอัลลิมที่ดี สิ่งที่ผมอยากเห็นเพิ่มเติมก็คือ หากจะมีระบบในการ "ผลิต" มุร็อบบี" ที่มีกระบวนการในการทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นครูมุร็อบบีที่ดีบ้าง จะดีไม่น้อย...

คำสำคัญ (Tags): #ครู 2 แบบ
หมายเลขบันทึก: 440728เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท