เมื่อครูของผมคือ...คนไข้โรคเรื้อน


วันพฤหัส ฯ ที่ 19 พฤษภาคม 2554 ผมได้รับเกียรติ (อาจจะเรียกว่า โชคร้าย ด้วยก็ได้) ที่ได้ประชุมวิชาการโรคเรื้อน (Leprosy) ที่โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโด่งดังเรื่องการตรวจและรักษาคนไข้โรคเรื้อนในแถบภาคอีสาน และอยู่แนวหน้าในระดับประเทศก็ว่าได้
 
โรงพยาบาลสิรินธร ถ้าบอกว่า เป็นบ้านโนนสมบูรณ์ คนทั่วไปจะรู้จักว่า หมู่บ้านนิคมโรคเรื้อน หรือหมู่บ้านขี้ฑูต (ตอนนี้ คนไข้โรคเรื้อน นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากโรค) สมัยก่อน คนปกติจะไม่ย่างกรายไปเยียน เพราะกลัวติดโรค คนป่วยโรคเรื้อน ถ้ามารักษา หายแล้วหรือพิการ ก็จะอยู่ที่นี้เลย ไม่กล้ากลับบ้านเดิม เพราะคนในหมู่บ้านรังเกียจ สมัยนั้น หมอจะเป็นฝรั่ง และมีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ด้วย
 
ผมอิดออดนิดหน่อย เพราะชีวิตในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา... กิน อยู่ หลับ และนอนในรถตลอดเวลา ผมเดินทางบ่อยมาก  แต่ด้วยหน้าที่ และยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ อย่างไงผมต้องมา ถึงแม้ผมเป็นหมออนามัย แต่ถ้าผมสามารถดูแล วินิจฉัย และคัดกรองโรคเบื้องต้นได้รวดเร็ว จะส่งผลดีต่อคนไข้และครอบครัว และป้องกันความพิการได้ในอนาคต
 
 
มาถึงโรงพยาบาลสิรินธรประมาณสองโมงเช้ากว่า ๆ ผู้รับบริการมากมาย ในรู้สึกหวั่น ๆ เล็กน้อย ถึงมีความรู้เรื่องโรคเรื้อนพอสมควร แต่ก็กลัวเชื้อโรคที่มาจากทางเดินหายใจ และการสัมผัส (แต่ถ้าผู้ป่วยได้ทานยาในครั้งแรกเลย ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อนะครับ  และต้องทานยาต่ออีก 6 เดือน หรือ 2 ปี  แล้วแต่ละคน เพื่อป้องกันความพิการที่เกิดขึ้น
 
มาถึงห้องประชุม ลงทะเบียน และรับเอกสารแล้ว ผมนึกว่า จะมีการนำเสนอ ซักถาม และจดบันทึกอย่างเดียว จึงอุ่นใจว่า คงไม่มีการตรวจโรคกับคนไข้จริง ๆ (สบายแล้วเรา)
 
 
แต่ทันใดนั้นเอง วิทยากรหรืออาจารย์ พี่จ่อย...อาจารย์สุพรรณี พัสดร ท่านเก่งมาก เป็นพยาบาล แต่มีความเชี่ยวชาญโรคเรื้อนมากกว่าแพทย์อีก โดยแพทย์ที่จบใหม่ ๆ ผ่านมือท่านหลายคน (ผ่านการสอนครับ)
 
อาจารย์เปลี่ยนหลักสูตรการสอน คือ จะให้คนไข้มาเป็นครูในช่วงเช้า แล้วช่วงบ่ายค่อยเรียนทฤษฎีนะ โดยให้พวกเราจับกลุ่มย่อย 4 คน ต่อคุณครู 1 ท่าน แล้วให้ซักประวัติและตรวจ  แล้วเมื่อทำงานกลุ่มย่อยเสร็จ จะให้ทำงานกลุ่มใหญ่ แล้วร่วมกันซักประวัติและตรวจคุณครูทั้ง 15 คน
 
ตอนแรก ๆ ผมและครู ก็ประหม่า ผสมกับความหวาดระแวงกันเล็กน้อย แต่เมื่อถามไถ่กันก็รู้สึกคุ้นเคยในเรื่องราวความเป็นมาของกัน ครูของผม มีความเป็นครู เล่ารายละเอียดให้พวกผมฟังมากที่สุด โดยไม่เหน็ดเหนื่อย พวกเราจะถาม หรือขอดูรอยโรค  ในทุกส่วนของร่างกาย ก็ให้ความสะดวกพวกเราตลอดครับ
 
 
 
 
มาถึงตอนตรวจ ต้องใช้นิ้ว 3 นิ้ว นิ้วชี้ กลาง และนางคลำ เบา ๆ  ทั้งรอยโรค และไม่ใช่รอยโรค เพื่อเปรียบเทียบกัน โดยไม่สวมถุงมือ เพื่อการสัมผัสที่ชัดเจน ในใจทุกคนน่าจะกลัว ๆ เล็กน้อย จนอาจารย์บอกว่า ให้พวกเราหายใจได้ เต็มปอดด้วย เพราะคุณครูไม่อยู่ในระยะติดต่อแล้ว
 
 
 
 
และเมื่อตรวจมาตรวจไป คลำมาคลำไป พวกเราและคุณครูก็ค้นเคยกัน ครูก็มีใจให้พวกเราได้รับความรู้จากครูมากที่สุด ครูไม่อายเลยที่จะแก้ผ้าแก้ผ่อน  จนผมนึกในใจว่า ทำไมต้องกลัวด้วย ไม่น่ากลัว และสุดท้ายกับการตรวจกับครูทุกคน พวกเรายกมือไหว้อย่างจริงใจและเคารพในพระคุณครูครับ
 
ผมปิ๊งคิดในใจว่า พวกเราในฐานะหมออนามัย การดูแลคนไข้ต้องไม่ดูเฉพาะโรคเท่านั้น แต่ต้องดูให้ลึกซึ้งถึงตัวคนไข้และครอบครัว...สังคมด้วย
 
 
 
 
เหมือนอาจารย์พูดเลยครับว่า คนไข้ไม่ชอบคำว่า โรคเรื้อน ขี้ฑูต และกุฏฐังเลย แต่ถ้าคุณหมอเรียก ก็จะไม่โกธร เพราะคุณหมอยังรักษา จัดูแล และจับเนื้อต้องตัวเขา แต่สำหรับชาวบ้านด้วนกัน คนไข้จะโกธรถ้ามาเรียกด้วยคำดังกล่าว (ด้วยความไม่รู้)   เพราะชาวบ้านมีแต่รังเกียจ  ดูหมิ่น  เหยียดหยาม และไม่คบค้าสมาคมด้วย
 
 
 
 
 
ผมได้เทคนิคมากมายในการคัดกรอง เพื่อวินิจฉัยอาการโรคผิวหนังและโรคเรื้อน แยกออกจากกัน (คงมีบันทึกที่กล่าวเฉพาะเจาะจงอีกนะครับ) แต่ถ้าใครที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ แล้วเจอคนที่ที่เป็นโรคผิวหนัง ที่มีอาการผื่นที่แห้ง มีอาการชา แต่ไม่คัน (จนต้องได้เกาบ่อย ๆ ) และเป็นนานถึง 3 เดือน บริเวณที่โรคเรื้อนที่ไม่เกิด คือ หนังศีรษะ  รักแร้  และขาหนีบ (เพราะไม่ชอบอากาศร้อน) ให้รีบมามาตรวจได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านครับ
 
 
 

 

ถึงแม้จะกลับบ้านเกือบ 6 โมงเย็น แต่ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจ ที่ได้มาทำงาน ถึงแม้เป็นเพียงหมออนามัยเล็ก ๆ แต่ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ ทำให้ผมเข้าใจผู้อื่น และย้อนกลับมาเข้าใจตนเอง
 
ผมได้ฉุกคิดในแว๊บหนึ่งของสมองว่า...ไม่ว่าใครก็ตาม สถานภาพ การศึกษา และฐานะ สามารถเป็นครูได้  เฉกเช่นเดียวกับครูผมในการอบรมครั้งนี้  การเป็นครู นอกจากเรื่องวิชาการที่ตนเองถนัดแล้ว จิตใจที่พร้อมที่จะมอบให้ผู้คนได้ความรู้จากเราสำคัญกว่า
 
แม่ครับ... ผมบอกกับแม่ตอนจบมอ 6 เสมอว่า ผมอยากเป็นครู แต่แม่บอกว่า สอบได้ และเรียนหมออนามัยดีแล้ว เรียน 2 ปี มีทุนให้ จบแล้วก็ได้รับราชการ เราฐานะก็ไม่ดี มีน้องอีกหลายคน เรียนครู 4 ปี แม่คงส่งเรียนไม่ไหวหรอก รีบ ๆ เรียนให้จบ จะได้ส่งน้องเรียนต่อนะลูก
 
ผมยังเก็บความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่ได้เรียนครูมาอีกหลายปี  และเมื่อวันเวลาผ่านมา ผมก็รู้สึกรักที่จะเป็นหมออนามัย และรู้สึกขอบคุณแม่ ที่แม่ทำให้ผมเป็นอย่างนี้  อย่างไรผมก็อยากเป็นครูนะแม่  และมั่นใจว่า ผมทำได้ เพราะวันนี้ สิ่งที่ผมได้จากคุณครูวันนี้...
 
ผมบอกอีกอีกครั้งนะครับ ....ถึงแม้ผมเป็นหมออนามัย ผมก็สามารถเป็นครูได้นะครับแม่...........
หมายเลขบันทึก: 440216เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ  คุณหมอ(คุณครู)

  • อ่านตั้งแต่ต้นจนจะจบ  ซึ้งมาตลอด
  • พอมาถึงบรรทัดสุดท้ายอดยิ้มไม่ได้
  • "ผมบอกอีกครั้งนะครับ ....ถึงแม้ผมเป็นหมออนามัย ผมก็สามารถเป็นครูได้นะครับแม่.........."
  • ค่ะ ... ในฐานะครูคนหนึ่ง   มายืนยันว่า  "คุณหมอเป็นคุณครูไ้ด้แน่นอนค่ะ...สิ่งที่คุณหมอทำในปัจจุบันนี้... แบ่งปันและเผยแพร่ความรู้ (ก็คือครูของหลายๆคนที่แวะเวียนมาอ่านและนำไปปรับใช้ตามสถานการณ์)

สวัสดีค่ะคุณหมอ'ทิมดาบ'

อ่านจบ'คุณหมอ'มีลูกศิษย์เพิ่มอีกหนึ่งคนนะคะ

  • คำว่าดูแลคนไข้ถึงครอบครัวญาติพี่น้อง
  • อาจหมายถึงว่า โรคอาจมาจาก หรือติดไปจากเราสู่ญาติ
  • ด้วยใช่หรือเปล่าครับ
  • ส่วนที่ว่าฐานะไม่ดีพี่น้องหลายคนนั้น
  • เหมือนกับเปี๊ยบเชียวคุณหมอครับ
  • ตามน้องปูมานะครับ
  • บางครั้ง ไม่ต้องพูดอะไร เพียงแค่สายตา ก็บ่งบอกอะไรบางอย่าง ทั้งความรู้สึกที่ดีและไม่ดีนะครับ
  • ต้องขอขอบคุณ คุณครู ที่เสียสละ มาให้พวกเราได้เรียน ทั้งในห้องนั้น และออกอากาศท่ัวโลกแบบนี้นะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

อยากให้ดอกไม้หมดทั้งบ้าน....

อ่านด้วยความประทับใจค่ะ..

".....ไม่ว่าใครก็ตาม สถานภาพ การศึกษา และฐานะ สามารถเป็นครูได้ เฉกเช่นเดียวกับครูผมในการอบรมครั้งนี้ การเป็นครู นอกจากเรื่องวิชาการที่ตนเองถนัดแล้ว จิตใจที่พร้อมที่จะมอบให้ผู้คนได้ความรู้จากเราสำคัญกว่า...."

Thank you for sharing this frank and informative article.

I think you are doing more than just passing on some (textbook) knowledge -- you are showing humanity for all to learn.

May I bow to your courage and your learning?

Respectfully yours,

Your humble admirer

Sunthorn Rathmanus

สวัสดีค่ะ

แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นครูนอกกรอบได้นะคะ

ปัจจุบันคนเราสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายอาชีพนะคะ  และทุกอาชีพไม่พ้นหน้าที่ "นักพัฒนา" ค่ะ

มีคนบอกว่าโรคเรื้อนกว่าจะฟักตัวก็ ๖๐ ปี และนับผ่านกรรมพันธุ์ด้วย  จริงไหมคะ

จะไม่โกธร = จะไม่โกรธ  ยายคิมอ่านเจอค่ะ

ผมว่าโรคเรื้อนมันไม่น่ารังเกียจ เลยนะคับและไม่สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆเลยนะคับ

ผมอยู่หมู่บ้านแห่งนี้(นิคมโนนสมบูรณ์) มาแต่เล็กจนตอนนี้ผมอายุ 21 ปีละ ไม่เหนมีการติดต่อเลยคับ

และก้อคนที่ที่อยู่ในนิคมโนนสมบูรณ์ก้อไม่มีคนเป็นดโรคเรื้อนแล้วนะคับหลือแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท