สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับสถาบันพระพุทธศาสนา


พระไตรปิฎก
อักษรขอมในใบลาน

สถาบัน พระมหากษัตริย์ไทยกับสถาบันพระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและสืบทอด มาในแผ่นดินไทยตั้งแต่โบราณกาล ในสมัยรัตนโกสินทร์พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ทรงเป็นผู้มีพระราชศรัทธาธำรงพระพุทธศาสนา เห็นได้จากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงพระ ราชนิพนธ์ไว้ขณะทรงนำทัพไปต้านศึกพระเจ้าปดุงแห่งพม่าในสงครามเก้าทัพที่ พม่ายกมาเมื่อ พ.ศ. 2329 ว่า

 

           ตั้งใจจะอุปถัมภก                     ยอยกพระพุทธศาสนา

           ป้องกันขอบขันฑสีมา               รักษาประชาชนและมนตรี

 

                                           นิราศท่าดินแดง บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1

 

พระราชปณิธานนี้ได้ปรากฏเป็นพระราชกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลที่ 1 หลังสงครามเก้าทัพ ภารกิจที่สำคัญที่สุดคือการสถาปนาราชธานีใหม่ด้วยการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวงพร้อมทั้งการสถาปนาจิตวิญญาณของชนชาติไทยหลังการเสียกรุง ศรีอยุธยา การสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความรู้นานาประการ พร้อมทั้งการสนันสนุนของผู้นำสูงสุดและประชาชนในชาติ ในการรวบรวมพระคัมภีร์ใบลานอักษรต่างๆ ทั่วดินแดนไทยเพื่อมาตรวจชำระและบันทึกใหม่ให้ถูกต้องสมบูรณ์ การจารพระไตรปิฎกภาษาปาฬิด้วยอักษรขอมลงในใบลานจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ลาน หรือ 1,250 ผูก เพื่อประดิษฐานไว้ในหอพระมณเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสร้างความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจของชนในชาติ โดยเฉพาะการจัดสังคายนาเป็นงานบุญกิริยาที่ยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา ซึ่งในพงศาวดารได้บันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จ มาที่ประชุมสังคายนาอย่างเป็นทางการทุกวัน เพื่อถวายภัตตาหารและน้ำปานะแก่ผู้ประชุมสังคายนาวันละสองเพลาเป็นเวลากว่า เจ็ดเดือน การสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นจิตวิทยาในการสร้างขวัญของชาติที่สำคัญในเบื้องต้น

นอกจากนี้ พุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเป็นสาระของพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติ การที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงซึ่งเป็นรากฐานของสถาบันพระ พุทธศาสนาให้เป็นมาตรฐานได้สำเร็จ จึงเป็นการวางรากฐานวัฒนธรรมแห่งความมั่นคงทางจิตใจของประชาชนไทยโดยมี สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมพระไตรปิฎกฉบับหลวงได้ใช้เป็นมาตรฐานตลอด มาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันพระไตรปิฎกฉบับหลวงก็ยังได้รับการเก็บรักษาอย่างดีในพระบรมมหาราช วังในกรุงเทพมหานครเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น ครองราชสมบัติ ได้ทรงสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้น ในปี พ.ศ. 2421 สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้ทรงสร้างขึ้นตามวัฒนธรรมภูมิปัญญาในสถาบันพระ พุทธศาสนา คือการสร้างพระไตรปิฎกใบลานอักษรขอม ซึ่งเป็นการคัดลอกจากต้นฉบับที่ได้สังคายนาไว้เมื่อ 90 กว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันพระไตรปิฎกใบลานอักษรขอมในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ได้เก็บรักษาอยู่ในพระวิหารวัดราชบพิธ ซึ่งในพระวิหารนี้ได้มีการสร้างตู้พระไตรปิฎกสำหรับเก็บรักษาใบลานชุดนี้ เป็นพิเศษ และถือว่าพระวิหารนี้เป็นหอไตรของพระอารามหลวงใหม่นี้ด้วย ที่สำคัญคือ ใบลานทั้งหมดเก็บอยู่ในกล่องไม้ ซึ่งกล่องไม้นี้สร้างเป็นหนังสือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้มีความคิดของระบบการพิมพ์หนังสือกับพระไตรปิฎกแล้ว แม้ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 20 พรรษาแต่การสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลพร้อมด้วยการสืบทอดคำสอนในพระพุทธ ศาสนาจากอดีตด้วยการสร้างพระไตรปิฎกบาฬีแสดงให้เห็นว่าทรงตระหนักถึงสาระของ การสถาปนาพระอารามในพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องมีการสร้างพระไตรปิฎกบาฬีเป็นศูนย์กลางด้วยต่อมาอีก 10 ปี พระราชปณิธานในการสืบทอดพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา ได้ปรากฏอย่างชัดเจนเมื่อโปรดให้มีการปริวรรตจากอักษรขอมเป็นอักษรสยามและ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ ขึ้นในดังปรากฎในคำประกาศอารัมภกถาที่พิมพ์ในพระไตรปิฎก ว่า :

 

“...แต่ก่อนมาประเทศที่นับถือพระพุทธสาสนา ยังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยลำพังตัว พระเจ้าแผ่นดินเปนผู้นับถือพระพุทธสาสนา ได้ทำนุบำรุงอุดหนุนการสาสนาอยู่หลายประเทศด้วยกัน คือ กรุงสยาม เมืองลังกา เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร เมื่อเกิดวิบัติอันตรายพระไตรปิฎกขาดสูญบกพร่องไปในเมืองใดก็ได้อาไศรยหยิบ ยืมกันมาลอกคัดคงฉบับบริบูรณ ถ่ายกันไปถ่ายกันมาได้ แต่ในกาลทุกวันนี้ประเทศลังกาแลพม่า ตกอยู่ในอำนาจอังกฤษผู้ปกครองรักษาบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุธสาสนา ก็ทำนุบำรุงแต่อาณาประชาราษฎรไพร่บ้านพลเมือง หาได้อุดหนุนการพระพุทธสาสนาเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับถือพระพุทธ สาสนาแต่ก่อนไม่ พระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติตามพระพุทธสาสนา ก็ต่างคนต่างประพฤติตามลำพังตน คนที่ชั่วมากกว่าดีอยู่เปนธรรมดา ก็ชักพาให้พระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิปริตผิดเพี้ยนไป ตามอัธยาไศรย์ ส่วนเมืองเขมรนั้นเล่า ก็ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศษ ไม่มีกำลังที่จะอุดหนุนพระพุทธสาสนาให้เปนการมั่นคงถาวรไปได้ ส่วนเมืองลาวที่อยู่ในพระราชอาณาเขตรสยาม เจ้านายแลไพร่บ้านพลเมืองก็นับถือพระพุทธสาสนาวิปริตแปรปรวนไปด้วยเจือปนผี สางเทวดา จะเอาเปนหลักฐานมั่นคงก็ไม่ได้... ”

 

จาก พระราชปรารภดังกล่าว เห็นได้ว่านอกจากพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ในทางการเมืองได้มีการเปลี่ยนแปลงทางความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทำให้ประเทศอื่นในเอเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาไม่อาจสืบทอดพระไตรปิฎก ต่อไปในโลกได้ สยามประเทศเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังมีศักยภาพในการสืบทอดพระไตรปิฎก

 

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยสากลและยุทธศาสตร์ความมั่งคงแห่งชาติ
ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

 

 

คำสำคัญ (Tags): #กษัตริย์#ศาสนา
หมายเลขบันทึก: 440189เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท