คำว่า "สวัสดี"


คราวที่แล้วผมเล่าถึงคำว่า "ศุภมัสดุ" ซึ่งเป็นคำแขกแท้ ที่ไทยเรานำมาใช้ในเอกสารสำคัญ ผมนึกได้ว่ายังมีอีกคำที่คล้ายกัน คือคำว่า "สวัสดี"

คำว่า "สวัสดี" นี้ หลายท่านคงทราบมาบ้างแล้ว ว่าท่าน อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร(นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้คิดขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นคำทักทาย 

คำนี้ อันที่จริงก็เป็นศัพท์ที่คุ้นกันอยู่ในวรรณคดี ในรูป สวัสดิ, สวัสดิ์ หรือ สวัสดี แปลว่า มีความสุข ความเจริญ โชคดี ฯลฯ ความหมายก็คล้ายๆ กับ "ศุภ" ในบันทึกที่ผ่านมา

มาดูรูปสันสกฤตกันเลยนะครับ

คำนี้ถอดมาจาก "สฺวสฺติ" (svasti) ออกเสียง 2 พยางค์ครับ

ในภาษาบาลีสันสกฤต อาจแผลงเป็น ในภาษาไทยได้

เสียง "ส ควบ" นั้น เราแผลงมาเป็น "ส นำ"

ส่วนสระอินั้น ยืดเป็น อี ซึ่งพบได้ทั่วไปเช่นกัน แต่ที่ใช้เป็น "สฺวสฺตี" ในภาษาสันสกฤตเองก็พบได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ในภาษาไทยจึงแผลงมาเป็น "สวัสดี" (สะ-หวัด-ดี) 3 พยางค์

 

มาดูรากศัพท์กันนะครับ คำนี้มาจาก "สุ" กับ "อสฺติ"

คำว่า สุ เป็นเสียงเติมหน้า (อุปสรรค; prefix) แปลว่า ดี งาม

คำว่า อสฺติ แปลว่า การเป็นอยู่ การมีอยู่ คำนี้แยกธาตุออกได้อีกแน่ะ

ดูสนธิกันนิดหนึ่งนะครับ สุ (su) ตามด้วยสระ อะ (a) ลองออกเสียงดูนะครับ จะได้เสียง สฺว (sva) พยางค์เดียว สุ+อสฺติ จึงสนธิได้ "สฺวสฺติ"

(เวลาฝึกสนธิ ถ้าเขียนด้วยตัวโรมัน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงง่ายกว่าเขียนด้วยอักษรไทย)

 

อสฺติ มาจาก ธาตุ (รากศัพท์ชนิดกริยา) √อสฺ แปลว่า เป็น อยู่ คือ  คำนี้ มีรากศัพท์เดียวกับคำ is ในภาษาอังกฤษ หรือ es est ในภาษาละติน และภาษายุโรปอื่นๆ บางภาษา (ในบันทึก ศุภมัสดุ ก็ใช้ธาตุ √อสฺ เหมือนกัน), แล้วก็เติม "ติ"  เข้ามา

อสฺ + ติ เป็น อสฺติ นี่เป็นการสร้างรูปกริยา ปัจจุบันกาล (present tense) ประธานเอกพจน์ บุรุษที่สาม เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ he is, she is, it is ทำนองนั้นแหละครับ (ที่เทียบภาษาอังกฤษ เพราะมีโครงสร้างคล้ายกัน)

กริยาตัวนี้ ในภาษาไหนๆ ก็มีนิสัยคล้ายกัน คือ ถูกใ้ช้บ่อย จนเหลิง มันเลยออกจะเอาแต่ใจ ไม่ค่อยจะเดินตามกฎระเบียบเท่าไหร่  ทำให้มีรูปพิเศษมากมายเหลือเกิน (อาจจะมากกว่ากริยาอื่นๆ ทั้งหมดก็ได้)

ใช้มาเรื่อยๆ "อสฺติ" กลายเป็นสำนวนไป คือ มาทีเดียวทั้งก้อน ไม่ต้องผันอะไรทั้งนั้น "อสฺติ" จึงอาจแปลว่า "มี" ก็ได้ เช่น ขึ้นต้นประโยคว่า "มีกระต่ายน้อยตัวหนึ่ง...." 

สุ + อสฺติ จึงแปลว่า เขาอยู่ดี, เขาสบายดี (He is well., he is happy.)

นี่เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา แต่ใช้ติดปากเป็นคำอวยพรไป แปลว่า "ขอให้โชคดี, ขอให้สุขสบายดี" เป็นคำอวยพรแก่บุรุษที่สอง มิใช่บุรุษที่สาม ตามโครงสร้างเดิม

 

ในวรรณคดีสันสกฤตก็พบคำนี้อยู่บ่อยๆ อย่างเช่น ในคัมภีร์ภควัทคีตา มีตอนหนึ่ง (บทที่ 11 โศลกที่ 21) ความว่า

"สฺวสฺตีตฺยุกฺตฺวา มหรฺษิสิทฺธสงฺฆาะ" (แยกสนธิ: สฺวสฺติ อิติ อุกฺตฺวา มหรฺษิ-สิทฺธ-สงฺฆาะ)

แปลว่า เหล่ามหาฤษีและนักสิทธิ์ได้กล่าวว่า "สวัสดี" (ขอให้มีความสุข)

 

สำหรับคำว่า "สวัสดิกะ" (เครื่องหมายมงคล รูปกากบาทแบบหนึ่ง) ก็มีที่มาจากคำนี้แหละครับ

หมายเลขบันทึก: 439892เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ช่วงนี้เิปิดภาคเรียนแล้วค่ะ เลยไม่ค่อยมีเวลาได้เข้ามาทักทาย แต่จะพยายามเข้ามาอ่านเป็นระยะๆ นะคะ ขอบพระคุณที่กรุณานำสรรพวิชามาเผยแพร่ค่ะ สวีดัส เอ้ย! สวัสดีค่ะ ^o^

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากมายสำหรับความรู้ที่ให้ค่ะ

ตอนนี้เรียนสังขยาจบแล้ว ยังสนุกกับการเรียนอยู่ค่ะ

อยากเรียนถามว่า

"√อสฺ แปลว่า เป็น อยู่"

เครื่องหมายที่อยู่หน้า อสุ หมายถึงอะไรคะ

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ
  • ขอให้มีความสุขค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

ช่วงนี้ผมก็ไม่ค่อยได้เขียนเพิ่มเท่าไหร่ครับ

จะพยายามหาเวลาเขียน คิดไว้ในใจหลายเรื่องเชียวครับ

สวัสดีครับ คุณพี่Ico48 ณัฐรดา

ตอนเรียนสันสกฤต สังขยามาหลังๆ เลยครับ

สำหรับ อสฺ มีเครื่องหมาย √ ข้างหน้านี้ เป็นวิธีของฝรั่งนะครับ

เป็นการบอกว่า ตัวนี้เป็นธาตุ นั่นเองครับ

 

สันสกฤต จะเรียกธาตุนี้ว่า อัส (อสฺ) (ส่วนมากตัวท้ายจะการันต์) ไม่ใช่ อะสะ (อส)

เวลาอธิบายเรื่องการเติมปัจจัยจะเข้าใจง่ายครับ

สวัสดีครับ อ.Ico48 ลำดวน

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะครับ

ขอบพระคุณมากค่ะ

สำหรับคำอธิบายให้หายข้องใจค่ะ

มีความสุข ความเจริญ โชคดีค่ะ อ.Ico48 ธ.วั ช ชั ย

ใช้แทนคำว่า สวัสดี ก็ดูจะเยิ่นเย้อไปนะคะ

ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ค่ะ ;)

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

ขอบคุณมากครับ

ทักแบบไทยเป็นเอกลักษณ์ดีนะครับ

เคยเห็นพจนานุกรมภาษาอื่นบางเล่มเก็บคำว่า สวัสดี ไว้ด้วยครับ

สวัสดีคะ

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รักษาสุขภาพด้วยคะ

สวัสดี ^^

เขมรลอก สวัสดี ของเรา (ที่ลอกมาจากแขกอีกที่) แต่เขมร ว่า ซัวเสดย (ซัว สะ เดย)

ผมเดาว่า เขมรใช้ภาษาผิดอ่านสวัสดีของเรา เป็น สวั สดี (แล้วคิดว่า สวั คือ สัว ) ก็เลยกลายเป็น ซัว สดี แต่ สระอีจของเขมรออกเป็น เอย เสมอ เช่น ศรี ก็เป็น เสรย ดังนั้น บันทายศรี ก็เป็น บันเตียยเสรย

จากซัวสดี ก็เลย เป็น ซัวสเดย ดังนี้แล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท