หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

พลาสติก (๑๕) : ฟีแนนทรีน….ของแถมที่ไม่อยากได้…จัดการยังไง


น้ำมันที่โดนความร้อนแล้วเผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือแหล่งปล่อยฟีแนนทรีนสู่อากาศรอบตัว

งานประจำทำให้ไม่แปลกหูเมื่อพูดถึงจุลินทรีย์ และมีจุลินทรีย์ที่ย่อยสารเคมีแล้วให้สารชีวภาพเข้ามาทดแทน PE,PP แต่ที่แปลกก็เป็นมุมนี้ค่ะ มีจุลินทรีย์ที่สามารถลดสารพิษก่อมะเร็งอย่างฟรีแนนทรีนในอากาศได้ และจุลินทรีย์ที่ว่านี้อยู่บนใบไม้

อ.เอกวัล ลือพร้อมชัย ผู้ค้นพบจุลินทรีย์ที่ช่วยฟอกอากาศที่ปนเปื้อนฟีแนนทรีนให้สะอาดได้

มันจัดการฟีแนนทรีนได้อย่างไร มีฤทธิ์จัดการสารก่อมะเร็งตัวอื่นอย่างเช่นไดออกซินหรือเปล่า มีวงจรชีวิตอย่างไร ยังไม่รู้กัน

รู้แต่ว่าความชื้นกับความมันของผิวใบไม้ เป็นเรื่องสำคัญ ในการเลือกบ้านอยู่ของมัน

ต้นไม้ที่มันเลือกใช้เป็นบ้านกันมากที่พบแล้วคือ เข็มและโมก และเวลามันอยู่ที่บ้านหลังนี้ มันก็ไม่ได้อยู่แต่ที่ใบเท่านั้น แจ๋วม๊ยละ

รู้อย่างนี้แล้วดีใจกับบ้านและสวนสาธารณะ ที่ปลูกเข็มและโมกไว้ในบริเวณด้วย

จะดีกว่าเดิมอีกถ้าสำรวจบริเวณซะใหม่ ว่ามีบริเวณอับลม อากาศไม่ค่อยถ่ายเทอยู่มุมไหนบ้าง และมุมตรงนั้นมีโอกาสสะสมมลพิษอย่างฟีแนนทรีนอยู่ตรงไหนบ้าง พบแล้วก็ลงมือปลูกต้นไม้ ๒ ชนิดนี้เป็นไม้ประดับเพิ่มเพื่อช่วยฟอกอากาศให้สะอาดขึ้นซะนะคะ

น้ำมันที่โดนความร้อนแล้วเผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือแหล่งปล่อยฟีแนนทรีนสู่อากาศรอบตัว

แหล่งที่อยู่ใกล้ตัวคนมากๆคือ ครัว ท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และควันที่เกิดจากการเผาพืชที่ให้แป้งหรือน้ำตาล

ฟีแนนทรีนที่ครัวผลิตมาจาก ไอน้ำมันที่ใช้ทอดแป้งหรือเนื้อสัตว์ซ้ำหลายครั้ง

ฟีแนนทรีนที่ผ่านออกทางท่อไอเสีย มาจากการเผาผลาญน้ำมันของเครื่องยนต์

ในพื้นที่ที่มี อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันดิบ การเคลือบเนื้อไม้ด้วยสารที่มีพาส์ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การแปรรูปอาหารที่ใช้แป้งหรือน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ การแปรรูปอาหารในรูปหมักดอง ย่าง หรือรมควัน หรือมีการเผาเชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อน ฟีแนนทรีนผ่านออกสู่อากาศได้ทางปล่องไฟ ท่อปล่อยของเสีย ช่องปล่อยของเสีย และท่อระบายอากาศ

ในส่วนตัว จุลินทรีย์ตัวนี้สอนให้รักต้นไม้มากขึ้น ยิ่งเมื่อแถมความรู้มาให้ว่า ต้นไม้จะเป็นทางออกของการจัดการสารพิษได้ ต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างต้นไม้และจุลินทรีย์ และมีจุลินทรีย์อยู่อีกหลายชนิดในดินที่มีความสามารถจัดการกับ “พาส์” ได้ ยิ่งรักธรรมชาติมากขึ้น

มาจนถึงวันนี้ ก็มีคนไปทำความรู้จักจุลินทรีย์ตัวนี้เพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้รู้ว่าเมื่อไรจุลินทรีย์ตัวนี้ไปอยู่ในดินเปื้อนน้ำมันเครื่อง ถ้าดินนั้นมีจุลินทรีย์ตัวอื่นปนอยู่ด้วย พวกมันจะมีจำนวนลดลง แต่ก็สามารถช่วยสลายฟีแนนทรีนเพิ่มขึ้นได้ ๑/๔ เท่า ถ้าดินนั้นมีแต่พวกมัน มันกลับสามารถเพิ่มจำนวนได้และสลายฟีแนนทรีนได้เต็มที่

มีต้นไม้อีก ๒ ต้นที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟีแนนทรีน เป็นต้นไม้ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารโดยตรงเชียวแหละ

“ข้าวโพด” และมะขามนี่แหละค่ะ คือ ต้นไม้ที่กำลังพูดถึง

มีคนปลูก “ข้าวโพด” บนดินที่ปนเปื้อนน้ำมันเครื่อง แล้วพบว่าถ้าดินนั้นมี “พาส์” ปน ๑๐๐ มก./กก. หลังปลูกข้าวโพด “พาส์” ในดินจะลดลงถึง ๙๐%

มีเรื่องที่ไม่รู้คือ กลไกการสลาย “พาส์” ของข้าวโพดอาศัยอะไรเป็นตัวช่วย มีจุลินทรีย์ชนิดใดมาเกี่ยวด้วยหรือเปล่า  การสลาย “พาส์” ก่อสารตกค้างอะไรที่ให้โทษไว้ในต้น ฝัก และเมล็ดข้าวโพดหรือเปล่า

ที่รู้กันแล้วก็มีแต่ข้าวโพดมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มเบต้าแคโรทีนที่ ชื่อว่า cryptoxanthin ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ให้กับผู้ที่รับประทานอาหารที่อุดมด้วย crytpoxanthin เป็นประจำลงได้ร้อยละ ๒๗ และเส้นใยในข้าวโพดยังช่วยลดความเสี่ยงของโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย

ส่วนมะขาม ถ้าใช้ใบที่ร่วงหล่น ๑ ส่วนผสมกับดินที่มีน้ำมันปนเปื้อน ๙ ส่วน ผสมกันบดละเอียด ควบคุมความชื้นให้ได้ ๖๐%  เก็บในภาชนะกันอากาศเข้าและอับแสงที่อุณหภูมิ ๓๐ องศาเซลเซียส นาน ๕๖ วัน จะได้จุลินทรีย์ที่มีความสามารถสลายฟีแนนทรีนในดิน มาใช้งาน

หมายเลขบันทึก: 439867เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท