คติชนวิทยา : ทฤษฎีการแพร่กระจายนิทานพื้นบ้าน (Dissemination of literature Theory) 1/3


เกริ่นนำ

          นิทานหมายถึงผลผลิตทางภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ผู้รู้พื้นบ้าน สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งบันเทิง สาระความรู้ คติสอนใจ มีทั้ง 1) วรรณกรรมมุขปาฐะ ถ่ายทอดผ่านรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจนแพร่หลายในสังคมจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่นนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย 2). วรรณลายลักษณ์ คือวรรณกรรม ตำนาน นิทาน คำสอนที่ปราชญ์บันทึกไว้เป็นต้นบทในการ ขับ อ่าน แสดง วรรณกรรมท้องถิ่นย่อมสัมพันธ์กับฉันทลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมของทิ้งถิ่นนั้น ๆ และส่งต่ออิทธิพลให้กับสังคมรุ่นต่อ ๆ ไป

นิทานพื้นบ้านกับแพร่กระจาย

          การเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เรื่องราวเหล่านี้มีกำเนิดมีวิวัฒนาการ และมีการแพร่กระจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ แต่จะไม่มีการดับสูญ การเล่าเรื่องจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มนุษย์มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ ซี่งการรวมตัวนี้มีการทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการที่จะเล่าเรื่อง และเกิดการต้องการที่จะฟังด้วย  ในตอนแรก ๆ การเล่าเรื่องสู่กันฟังคงจะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์บางอย่างที่คนอื่น ๆ ไม่มีโอกาสได้ร่วมรับรู้กับผู้เล่า และต่อมาก็เป็นการสร้างสรรเรื่องราวจากจิตนาการ ตามความฝันของแต่ละบุคคล ศิลปะการสร้างสรรค์นี้จะถูกกำหนดโครงสร้าง รูปแบบ เนื้อหา และนำไปถ่ายทอดโดยกลุ่มคนต่าง ๆ ดังนั้นการเล่าเรื่องจึงเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ตลอดมา เรื่องเล่าเป็นประเพณีปรัมปราที่หลากหลายและยังคงทนยั่งยืนอยู่ในสังคมมนุษย์ เป็นศิลปะที่กลุ่มชนพื้นบ้านสร้างสรรค์ขึ้น แล้วเผยแพร่ออกไปสู่สังคมอื่น ๆ ประเพณีนี้สืบทอดกันต่อ ๆ มาจากรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเราไม่ทราบว่าผู้ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกคือใคร การถ่ายทอดก็เป็นแบบมุขปาฐะเป็นส่วนใหญ่ คือมีผู้เล่า มีผู้ฟัง ผ็ฟังจดจำเรื่องนั้นไปเล่าให้คนอื่นฟังอีก โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเนื้อเรื่อง สาระบางอย่าง หรือตัดทอนเรื่องไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั่งใจก็ได้ โดยไม่มีการจดบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางครั้งประเพณีปรัมปรานี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ คือผู้เล่าหรือผู้ฟังเป็นผู้จดบันทึก หรือนำไปพิมพ์เป็นหนังสือ เมื่อวิทยาการด้านการพิมพ์เจริญก้าวหน้าขึ้น แต่ความเป็นประเพณีปรัมปราหรือมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ แม้นักวิชาการบางคนจะไม่ต้องการนำวรรณกรรมลายลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะต้องการให้ความสำคัญแก่บทบาทของการถ่ายทอดด้วยปากอย่างเดียวก็ตาม แต่วรรณกรรมลายลักษณ์ก็คือสิ่งที่บันทึกตังวรรณกรรมมุขปาฐะไว้ จึงมีความสำคัญในแง่ที่เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการถ่ายทอดวรรณกรรมของประเพณีปรัมปรา  เกี่ยวกับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ นักคติชนวิทยาได้สืบสาวถึงแหล่งข้อมูลดั่งเดิมและพบร่องรอยของการบันทึกนิทานเป็นตัวอักษรในจารึกของอียิปต์ว่ามีความเก่าแก่ถึง 1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช และในจารึกของอินเดีย กรีก เปอร์เซีย และฮิบรู เมื่อประมาณ 2,000 ปีมานี้ แต่เราก็ไม่อาจทราบแน่ว่าก่อนที่จะมีการจารึกลายลักษณ์อักษรนั้นนิทานมีกำเนิดมาเป็นเวลาเท่าไรแล้ว และแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนมากี่ร้อยกี่พันปี  (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 203)

          นิทานพื้นบ้านเป็นสิ่งที่เก่าแก่กระทั่งเราไม่อาจสืบทราบได้อย่างแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง หรือประดิษฐเรื่องราวนั้นขึ้นเป็นคนแรก เรื่องเหล่านี้อาจถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ แต่จะต้องมีเหตุหรือแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง นิทานทั่วโลกจะมีเนื้อเรื่อง รายละเอียดของเหตุการณ์หรือลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นนักคติชนวิทยาจึงพยามยามสืบสาวค้นคว้าเรื่องประวัติชีวิตของนิทาน คือการศึกษาว่านิทานมีกำเนิดขึ้นมาอย่างไรและเหตุใดจึงคล้ายคลึงกัน  เพราะได้มีการยืนยันกันอย่างแน่นอนแล้วว่า  บางชนชาติที่มีเล่านิทานที่คล้ายกันนั้น ไม่มีการติดต่อกันทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด และในการศึกษาเรื่องเล่าหรือนิทานในชุมชนต่าง ๆ นั้น บรรดานักคติชนวิทยาต่างก็พยายามใช้หลักเกณฑ์ และวิธีการที่มีเหตุผลเข้ามาวิเคาระห์ พบว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในนิทานของชาวยุโรปส่วนใหญ่ ตลอดจนโครงเรื่องและตัวละครที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน จะมีอยู่ในตำนานของพวกชนเผ่อารยันด้วย เช่น (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 204)

          - เรื่องราวของบุตรสาวคนสุดท้องผู้ถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในที่สุดจะประสบความสำเร็จ

          - เรื่องของบุตรชายคนสุดท้องผู้ได้ชัยชนะ

          - เจ้าสาวตัวปลอมมาแทนที่เจ้าสาวตัวจริง

          - ภรรยาหรือบุตรสาวของยักษ์หนีตามพระเอกผู้เป็นนักเผชิญโชค

          - การติดตามของยักษ์

          - ภรรยาผู้ถูกบังคับให้สามีทิ้งไป ด้วยสาเหตุที่ไม่ปรากฏ

          - สามีผู้ถูกบังคับให้ทิ้งภรรยาไป ด้วยสาเหตุที่ไม่ปรากฏ

          - ฯลฯ

          ในที่สุดนักคติชนวิทยาส่วนหนึ่งก็ยอมรับกันว่า นิทานพื้นบ้านจำนวนหนึ่งนั้นน่าจะเป็นของชนเผ่าอารยันหรือกลุ่มคนที่พูดภาษาตะกูล อินโด – ยุโรป แต่เดิมนิทานเป็นสมบัติของส่วนรวมของผู้คนที่พูดภาษานี้ และหากจะกล่าวโดยทั่วไปแล้ว นิทานจะประกอบด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ จำนวนไม่มากนักมาจัดรวมกลุ่มเข้าด้วยกันในลักษณะและการบวนการที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง เหตุการณ์ต่าง ๆ ของนิทานนี้ เป็นสิ่งที่แปลกประหลาด ไม่มีเหตุผล และไม่อาจอธิบายได้ เหตุใดธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ กับไม่มีชีวิตและเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่มีระดับของสติปัญญาเท่าเทียมกับมนุษย์ และมีคุณสมบัติแบบเดียวกับมนุษย์ นั่นคือพวกสัตว์ป่า นก ปลา ฯลฯ ไม่เพียงแต่จะพูดภาษามนุษย์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถแต่งงานหรือมีจุดหมายที่จะแต่งงานกับมนุษย์ได้เหมือนกับมนุษย์คนหนึ่ง เรื่องที่ปรากฏอย่างสม่ำเสมอในนิทาน คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเหลวไหลไร้สาระ เช่นพระราชินีถูกกล่าวหาว่าคลอดบุตรเป็นสุนัข หรือสัตว์ต่าง ๆ เช่น หอย กบ ฯลฯ คลอดบุตรโดยมีสิ่งของติดออกมาด้วย เช่น อาวุธต่าง ๆ คนกลายร่างเป็นสัตว์ป่า วัตถุไร้ชีวิต เช่นหยดเลือด น้ำลาย เสมหะ ที่ถูกถ่มออกมา ต้นไม้หรือก้อนหิน ฯลฯ สามารถพูดได้ และที่ปรากฏบ่อย ๆ คือ คำสาปหรือเวทมนต์มายาซึ่งอาจจะมีชัยชนะเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 204 - 205)

           ความสับสนของการแพร่กระจายของนิทานและการอธิบายถึงการแพร่กระจายนั้นมีมากเพราะ นิทานพื้นบ้านในประเทศต่าง ๆ จำนวนมากมีโครงเรื่องคล้ายกัน ตรงกัน เหมือนกัน จนน่าจะเชื่อได้ว่า มีแหล่งกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ชนชาติเหล่านั้นมีภูมิลำเนาห่างไกลกัน และไม่พบหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ในการติดต่อกันเลยไม่ว่ายุคใดสมัยใด ลักษณะดังกล่าวทำให้นักวิชาการกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า นิทานสามารถเกิดใด้ในท้องถิ่นของตนเอง เพราะสังคมย่อมพัฒนาผ่านขั้นตอนไปขั้น ๆ หนึ่งงย่อมมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสังคม เหตุการณ์สำคัญเหล่านั้น ผู้รู้หัวหน้าเผ่า ผู้นำ ย่อมนำเหตุการณ์ เหล่านั้นผสมผสานกับจินตนาการและประสบการณ์เล่าให้ลูกหลาน ชาวบ้านฟัง และสืบต่อมาเรื่อย ๆ  แต่กระนั้นนักวิชาการบางกลุ่มไม่เชื่อว่านิทานที่เกิดจากเหตุการณ์ของสังคม หรือประสบกรณ์ของผู้รู้หัวหน้าเผ่าจะตรงกันหรือมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกัน เพราะว่าสังคมหนึ่ง ๆ ย่อมมีจารีต ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างกัน มนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่ต่างกีนย่อมไม่มีประสบการณ์หรือจินตนาการที่ตรงกันได้ นักวิชาการกลุ่มหลังนี้เชื่อว่า นิทานพื้นบ้านย่อมมีแหล่งกำเนิด ได้แพร่กระจายไปโดยผ่านยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ผ่านกลุ่มชนเผ่าหนึ่งไปสู่กลุ่มชนอีกเผ่าหนึ่ง ผ่านภาษาหนึ่งไปสู่ภาษาหนึ่งไม่จบสิ้น (ธวัช ปุญโณทก, 2546 : 20 - 21) 

          สติป ทอมสัน (ดูใน เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 203) กล่าวว่า ได้มีการศึกษาเรื่องเล่าพื้นบ้าน ในสวนต่าง ๆ ของโลก ในวัฒนธรรมระดับต่างกันทุกหนทุกแห่งที่ทำได้ สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือเนื้อหาสาระทั่วไปของนิทานนั้นมีความคล้ายคลึกกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สะดุดใจนักวิชาการเป็นอย่างมาก จากสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน จากท้องถิ่นหนึ่งไปสู้อีกท้องถิ่นหนึ่ง และถึงแม้ว่าแบบแผนของนิทานจะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม นิทานก็มีแนวโนมที่จะจัดตัวเองเข้าอยู่ในกลุ่ม โดยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการเล่า ลีลาการเล่าหรือโอกาสในการเล่า นิทานผูกพันอยู่กับความคิดและความสนใจของนักวิชาการมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ซึ่งในช่วงเลานี้ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับเกี่ยวกับวิชาการด้านนิทานขึ้นมา นักวิชาการทั้งหลายก็มิได้สนใจปัญหาแบบเดียวกันหมด บางกลุ่มจะมีการพิจารณาร่วมกัน ในปัญหาเดียวกัน แต่บางกลุ่มมีความคิดแตกแยกเป็นอิสระออกไป ดังนั้นธอมสันจึงเสนอปัญหาหรือแนวคิดในการศึกษานิทานพื้นบ้านขึ้นมาดังต่อไปนี้

  1. การกำเนิดของนิทานพื้นบ้าน (Origin of folktales) คือการค้นหากำเนิดของนิทานแต่ละเรื่อง และธรรมเนียมประเพณีการเล่านิทาน
  2. จุดประสงค์หรือเป้าหมายของนิทานพื้นบ้าน    (Meaning of  folktales) คือการพิจารณาว่านิทานมีความหมายและเป้าหมายอย่างที่ผู้เล่าต้องการหรือไม่ หรือมีความสำคัญอย่างอื่นอย่างใดแอบแฝงอยู่
  3. การแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้าน (Dissemination of folktales หรือ Dissemination of  literature) คือการพิจารณาหลักความจริงที่ว่า นิทานจำนวนมากจะแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง การศึกษาธรรมชาติขิงการแพร่กระจาย สาเหตุของการแพร่กระจาย และกระบวนการของการแพร่กระจายนั้น  ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ทฤษฏีการแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้าน

 

การแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้านไทย

           การศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านเชิงวิเคาระห์เปรียบเทียบนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการแพร่กระจายวรรณกรรมท้องถิ่นของไทยด้วย เพราะวรรณกรรมพื้นบ้านในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยมีเนื้อหาตรงกันจำนวนมาก นั้นคือมีการแพร่กระจายของวรรณกรรมพื้นบ้านจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ภูมิภาคหนึ่ง โดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านจะแพร่จะกายโดยบุคคลที่เป็นพาหะนำไปเล่าสืบต่อไปในอีกภูมิภาคหนึ่ง ภายหลังผู้รู้หรือนักปราชญ์ในท้องถิ่นภูมิภาคนั้น ๆ ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยใช่ตัวอักษรท้องถิ่น ภาษาถิ่น และฉันทลักษณ์ที่นิยมในภูมิภาคนั้น จึงพบว่านิทานพื้นบ้านเรื่องเดียวกันเมื่อแพร่กระจ่ายไปสู่ภูมิภาคอื่น ยิ่งมีสำนวนโวหาร ฉันทลักษณ์ และอักษรต่างกันไป หากพิจารณาการแพร่กระจายวรรณกรรม (นิทานพื้นบ้าน) จะพบว่านิทานพื้นบ้านของชาติต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มีลักษระร่วมกันมาก ซึ่งนิทานพื้นบ้านเหล่านั้นอาจจะมีแหล่ากำเนิดดั่งเดิม หรือมีต้นตอเดียวกัน และแพร่กระจายไปยังต่างภูมิภาคต่างภาษาต่างวัฒนธรรม จึงพบว่านิทานพื้นบ้านมีโครงเรื่องคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านในถิ่นใด ภาษาใด แต่ความจริงแล้ว นิทานพื้นบ้านในต่างถิ่นต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลกัน และไม่เคยมีประวัติศาสตร์ติดต่อสัมพันธุ์กันมาเลยแต่ครั้งโบราณ น่าจะมีแหล่งกำเนิดต่างถิ่นกันแต่เค้าโครงเรื่องอาจจะพ้องกันได้ เพราะสังคมมนจุษย์ย่อมผ่านขั้นตอนในการพัฒนา ผ่านวิกฤตการณ์มาเหมือนกัน ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ฟ้าผ่า ฯลฯ มาเหมือน ๆ กัน ประสบการณ์ของสังคมที่ตรงกันดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิทานพื้นบ้านที่พ้องกันได้

           การแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้าน หมายถึงนิทานเรื่องหนึ่งเล่าสืบตือกันในอีกท้องถิ่นหนึ่ง ภายหลังต่อมามีการเล่าผ่านคนท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง โดยพ่อค้าเดินทางขายของไปตามทิ้งถิ่นต่าง ๆ หรือผ่านโดยพระสงฆ์ที่เดินทางจารึกแสวงบุญไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ หรือ บุคคลต่าง ๆ เช่น นักแสดง  เชลยสงคราม นักเดินทาง นักการทูต หรือการโยกย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ ย่อมนำนิทานในท้องถิ่นของตนไปเล่าต่อในท้องถิ่นอื่น นิทานย่อมแพร่กระจ่ายไปได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งมีการเดินทางกันติดต่อข้ามแดน ข้ามประเทศมากเท่าใด นิทานยิ่งแพร่ไปได้อย่างกว้างขวางมากเท่านั้น (ธวัช ปุญโณทก, 2546 : 19)  และจะไม่มีอุปสรรค์ต่าง ๆ มาขวางกันได้เลยไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 226) ดังเช่น เรื่องมโนราห์ เป็นนิทานที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งทางภาคเหนือเรียกว่า เจ้าสุธน ภาคอีสานเรียกว่า ท้าวสีทน ภาคใต้และภาคกลาง รวมถึงปรากฏอยู่ใน อินโดนีเชีย พม่า ลาว และสิบสองปัญนาของจีน (เรียก นางมยุรา) แต่กระนั้นก็ตามนิทานพื้นบ้านที่แพร่กระจ่ายไปยังท้องถิ่นอื่นยังมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา ชื่อตัวละคร และสถาณที่ไปตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ จึงพบว่านิทานื้นบ้านเรื่องเดียวกันเมื่อไปอยู่ต่างถิ่นย่อมต่างกัน แต่กระนั้นก็ตามโครงเรื่องยังคงเดิม คือสาระสำคัญของเรื่องยังตรงกัน ฉะนั้นการแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้านย่อมมีการเปลี่ยนสาระไปตามท้องถิ่นนั้น ๆ นอกจากนี้หากมีการประพันธ์หรือการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษา คือใช้ภาษาตามถิ่นนั้น ฉันทลักษณ์ คือฉันทลักษณ์ที่นิยมใช้ในท้องถิ่นนั้น และอักษรถิ่น อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบ้านนามเมืองในเรื่องให้เข้ากับชื่อบ้านนนามเมืองของท้องถิ่นนั้นอีกด้วย โดยอ้างงว่าเป็นตำนานทิ้งถิ่น    (ธวัช ปุญโณทก, 2546 : 19 - 20)

           การแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้านนี้ ได้มีการแพร่กระจายกันมานานจนไม่อาจสืบหาต้นตอแหล่งกำเนิดของนิทานได้ เช่น เรื่อง มโนราห์ อันเป็นเรื่องที่นิยมกันในภาคใต้แต่ก็พบว่าในภาคเหนือได้บันทึกวรรณกรรมลายลักษณ์ไว้ประมาณ 500 ปีแล้ว เรียกชื่อว่า สุธนกุมารชาดก เป็นชาดกเรื่องหนึ่งรวมอยู่ในชาดก 50 เรื่อง เรียกว่า ปัญญาสชาดก (พระภิกษุภาคเหนือนำนิทานพื้นบ้าน 50 เรื่อง ประพันธ์เป็นคาถาบาลี เมื่อ พ.ศ. 2000 – 2200 เรียกว่า ชาดก 50 เรื่อง) อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่อง ศรีธนญชัย เป็นนิทานมุขตลกที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีโครงเรื่องเหมือนกัน  แต่ตัวละครอาจแตกต่างกัน มีเหตุการณ์ต่างกัน แต่แนวคิดของเรื่องหรือเค้าโครงเรื่องเหมือนกัน นั้นคือมุขตลกเจ้าปัญหา ดังภาคอีสานและประเทศลาวเรียกว่า เซียงเมี่ยง ชาวเขมรจังหวัดสุริทร์เรียกว่า อาจี (ธวัช ปุญโณทก, 2546 : 20)

          นิทานจำนวนมากจะแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางจนไม่สามารถอธิบายการแพร่กระจายอย่างเป็นระบบได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องการศึกษาธรรมชาติของการแพร่กระจาย สาเหตุของการแพร่กระจาย และกระบวนการของการแพร่กระจายของนิทาน ซึ่งนักวิขาการอธิบายไว้ 2 ทฤษฎีด้วยกัน คือ ทฤษฎีเอกกำเนิด และทฤษฎีพหุกำเนิด

 


หมายเลขบันทึก: 439738เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอ ต่อให้จบ บทความ ได้ จะขอบคุณมากครับ ;-)

ดูอ้างอิงใน ทฤษฎีการแพร่กระจายนิทานพื้นบ้าน (Dissemination of literature Theory) 1/3

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท