อยุธยา : วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น


ความเป็นมาของวรรณคดีไทย 

          ตามประวัติสตร์ปรากฏว่า ชาติไทยเป็นชาติที่ใหญ่และเจริญมานาน ทั้งยังมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดจาให้มีสัมผัสคล้องจองกัน  ด้วยนี้ทำให้ชาติไทยน่าจะเป็นชาติที่มีวรรณคดีมานานแล้ว โดยเฉพาะวรรณคดีปาก แต่ตามประวัติวรรณคดีเรามีเอกสารแก่ที่สุดเพียงสมัยสุโขทัย คือศิลักลาจารึกสมัยสุโขทัย ราว ๔๐ หลักและวรรณคดีศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง แต่งโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย ราว พ.ศ. ๑๘๘๘ วรรณคดีที่จารึกเอาไว้ก่อนหน้านี้อาจ สูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว หรืออาจยังไม่พบฉบับ และบางเรื่องก็มิได้จารึกไว้ เพราะคนไทยสมัยก่อนถ่ายทอดวรรณคดีกันทางมุขปาถะ เรียกว่า วรรณกรรมปาก หรือวรรณคดีปาก เป็นผลทำให้วรรณคดีไทยสืบสวนขึ้นไปไม่ได้ไกลกว่าสมัยสุโขทัย (กุหลาบ มัลลิกามาส, ๒๕๔๒ : ๓๙ – ๔๐)

 

การแบ่งวรรณคดีออกเป็นสมัยต่าง ๆ (กุหลาบ มัลลิกามาส, ๒๕๔๒ : ๔๑ – ๔๒)

          การแบ่งวรรณคดีมีอยู่หลายแบบแต่ลงรอยกันโดยถือเอา “เมืองหลวงหรือนครหลวง” เป็นจุดศูนย์กลางในการแบ่งคือ

          ๑.      สมัยสุโขทัย (๑๒๐ ปี) พ. ศ. ๑๘๐๐ – ๑๘๒๐ ตั้งแต่สร้างอาณาจักรสุโขทัยจนถึงกรุงสุโขทัยเสียอิสระภาพแก่กรุงศรีอยุธยา

          ๒.    สมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งย่อยออกเป็น ๓ ตอนคือ

             ๒.๑ ตอนต้น (๗๙ ปี) พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๐๗๒ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง จนถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ต่อจากนั้นว่างเว้นไป ๙๑ ปี เพราะเหตุการณ์ทางบ้างเมืองไม่ปกติ)

             ๒.๒ ตอนกลาง (๖๘ ปี)  พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๒๓๑ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ต่อจากนั้นว่างเว้นไป ๔๔ ปี)

             ๒.๓ ตอนปลาย (๓๕ ปี)  พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๑๐ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถึงสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒

          ๓.     สมัยกรุงธนบุรี (๑๕ ปี)

          ๔.     สมัยกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ

              ๔.๑ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (๘๖ ปี) พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๑๑ ตั้งแต่สมัยรัชกาที่ ๑ – รัชกาลที่ ๔ ลักษณะวรรณกรรมยังเป็นลักษณะเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

              ๔.๒ สมัยรับอิทธิพลตะวันตก พ.ศ. ๒๔๑๑ – ปัจจุบัน

 

วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 

           กรุงศรีอยุธยามีอายุยาวนานถึง ๔๑๗ ปี   ช่วงเวลาที่บ้านเมืองรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ พอที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดวรรณคดีอยู่เฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้อนต้นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านการปกครอง การทหาร ศาสนาและศิลปกรรมในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ทางวรรณคดีปรากหลักฐานชัดเจนว่า แต่งมหาชาติคำหลวงเมื่อ พ.ศ.๒๐๒๕ ตรงกับรัชกาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถส่วนลิลิตยวนพ่าย  ก็แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์พระองค์นี้จึงอาจแต่งในรัชกาลของพระองค์ หรือภายหลังเพียงเล็กน้อย คือ รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

          นอกจากนี้วรรณคดีสำคัญเรื่องอื่น ๆ เช่น ลิลิตพระลอ โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาศและโคลงหริภุญชัย เมื่อพิจารณาถึงลักษณะคำประพันธ์ และถ้อยคำที่ใช้ก็น่าเกิดสมัยร่วมหรือระยะเวลาใกล้เคียงกับมหาชาติคำหลวง และลิลิตยวนพ่ายหลังจากรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ บ้านเมืองไม่สงบสุขเนื่องจากการทำสงครามกับข้าศึกภายนอกและแตกสามัคคีภายในเป็นเหตุให้วรรณคดีว่างเว้นไปเป็นเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษ วรรณคดีเรื่องแรกที่ปรากฏหลักฐานหลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ คือ กาพย์มหาชาติ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๐ ต่อจากนั้นประมาณ ๓๐ ปี บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสามารถเป็นรากฐานให้เกิดวรรณคดีได้อีกระยะเวลาหนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

          ลักษณะวรรณคดีในสมัยอยุธยาตวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นส่วนใหญ่มีเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพิธีกรรมและพระมหากษัตริย์ จึงมีเนื้อเรื่องคล้ายวรรณคดีสุโขทัยส่วนลักษณะการแต่งต่างกับวรรณคดีสุโขทัยเป็นอย่างมากวรรณคดีในสมัยนี้แต่งด้วยร้อยกรอง ทั้งสิ้นคำประพันธ์ที่ใช้เกือบทุกชนิด คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ ขาดแต่กลอนส่วนใหญ่แต่งเป็นลิลิต คำบาลี สันสกฤตและเขมรเข้ามาปะปนในคำไทยมากขึ้น

          สุจิตต์ วงษ์เทศและนิธิ เอียวศรีวงษ์ได้สรุปภาพรวมของวรรณกรรมอยุธยากล่าวคือ "วรรณกรรมสมัยตำราที่เขียนเป็วรรณกรรมของมูลนายผูกพันอยู่กับตำรับตำราที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรภายใต้อิทธิพลของต่างประเทศเช่น บาลี สันสกฤต มอญ เขมรเนื่องจากอดีตของมูลนายผูกพันกับพงศาวดาร วรรณกรรมอยุธยาจึงแวดล้อมด้วยกษัตริย์ หรือเทพเจ้าที่สัมพันทางใดทางหนึ่งกับกษัตริย์" (สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๕๔๖ : ๒๕๓)

 

สรุปวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 

           ศาสตราจารย์คุณหญิงกุลาบ มัลลิกามาส (๒๕๔๒ : ๖๔ – ๖๕) ได้สรุปรูปแบบและลักษณะของวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นได้ดังนี้

          ๑.     จำนวนวรรณคดีมี ๔ เรื่อง คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ลิลิตยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง ลิลิตพระลอ(หรืออาจเป็น ๗ เรื่องโดยเข้าใจว่ามีวรรณคดีอื่นในสมัยนี้ อีก ๓ เรื่อง คือ โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาศ และโคลงหริภุญไชย)

          ๒.    ลักษณะการแต่งเป็นร้องกรองทั้งหมด โดยแยกเป็นลิลิต ๓ เรื่อง คำหลวง ๑ เรื่อง และนิราศ ๓ เรื่อง ซึ่งในสมัยนี้กวีจะนิยมแต่งคำประพันธ์ประเภทลิลิต (โครงกับร่าย) ร่ายดั้น และโครงดั้นมากที่สุด

          ๓.    เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๔ ประเภท คือบทประกอบพิธี ได้แก่โองการแช่งน้ำ บทสดุดีและเล่าเรื่อง ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย, ศาสนา ได้มหาชาติตำหลวง และบันเทิงได้ลิลิตพระลอ

          ๔.    ผู้แต่คือพระมหากษัตริย์ ชนชั้นสูงที่มีการศึกษา หรือบุคคลในราชสำนัก และไม่ปรากฎชื่อผู้แต่งชัดเจน

          ๕.    เป็นสมัยที่เริ่มมีวรรณคดีเพื่อการบันเทิงใจเป็นเรื่องแรกในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ลิลิตพระลอ

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

เอกสารประกอบการเขียน

กุหลาบ มัลลิกามาศ, ศ. คุณหญิง. ความร็ทั่วไปทางวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๒.

นิตยา กาญจนะวรรณ, รศ.ดร. วรรณกรรมอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

ศิลปากร, กรม. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ๒๕๔๐.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยายศยิ่งฟ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน. ๒๕๔๖.

หมายเลขบันทึก: 439735เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท