การบริการที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม


ช่วงนี้ชีพจรลงเท้า ต้องเดินทางไปประชุมและหรืออบรมบ่อยครับ ก็พบกับเหตุการณ์ต่างๆในฐานะ "มุสลิม" คนหนึ่ง ก็คิดว่าจะดีไม่น้อยหากบันทึกลงในบล็อก โดยหวังว่า อาจจะมีบางคนที่พบเจอย่างเดียวกันจะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กัน และอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถ "สื่อ" ไปยังผู้เกี่ยวข้องในบริบทต่างๆได้ทราบ หรือแอบคาดหวังลึกๆว่า ผู้เกี่ยวข้องในบริบทต่างๆจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับ "วิถีชีวิต" ของมุสลิมที่เคร่งครัดในบทบัญญัติอิสลาม

(ขอหมายเหตุตรงนี้ว่า มีมุสลิมจำนวนหนึ่งที่ขาดความเข้าใจและหรือไม่ได้รับรู้ ไม่ได้รับการหล่อมหลอมตนตามบทบัญญัติอิสลาม มุสลิมจำนวนนี้จึงไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาหรือเธอเผชิญอยู่นั้นไม่เอื้อต่อการดำรงตนตามบทบัญญัติอิสลามแต่ประการใด ซึ่งนั่น ไม่อยากให้ใครหรือหน่วยงานใดนำมาใช้เป็นข้ออ้างว่า ทำไม่ มุสลิมคนนั้นทำได้ ทำไม่คุณทำไม่ได้... เป็นต้น)

จริงๆแล้วสำหรับต่างศาสนิกเรื่องที่ผมจะบอกเล่าต่อไปนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับมุสลิมแล้วกลับนำมาซึ่งความ "อึดอัด" และ "ลำบาก" ไม่น้อยครับ  เช่น 

  1. มุสลิมต้องละหมาดวันละ 5 เวลา  ในการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์ของหน่วยงานหรือรถยนต์ที่เราเช่าคงไม่มีปัญหาครับเพราะเราสามารถแวะจอดละหมาดตามมัสยิดหรือปั้มน้ำมันตามรายทางได้ (ในส่วนนี้ขอชื่นชมปั้มน้ำมันหลายปั้มครับที่ได้ลงทุนสถานที่ละหมาดไว้รองรับคนเดินทางที่เป็นมุสลิมซึ่งก็ได้ลูกค้าไปตามระเบียบ) แต่สำหรับการเดินทางโดยรถทัวร์ถ้าเป็นสายใต้ก็มักจะจอดในจุดที่มีสถานที่ละหมาด แต่... มีข้อสังเกตนิดหนึ่งครับว่า ถ้าจะละหมาดและทานอาหารด้วยนี่ มักจะไม่ทันเพราะรถจอดไม่นาน คือ ต้องเลือกว่าจะละหมาดหรือทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง และแม้ว่าในระหว่างการเดินทางเราจะสามารถละหมาดย่อและละหมาดรวมได้ก็ตาม ซึ่งก็ได้แค่ 2 เวลา คือละหมาดมักริบกับละหมาดอีชา ส่วนละหมาดศุบฮฺ รถไม่จอดเราต้องละหมาดบนรถครับ  ในส่วนที่เกี่ยวกับ "อาหาร" นั้นหลายคนก็ไม่สบายใจครับ เพราะเป็นอาหารที่ทำเหมือนกันกับอาหารอื่นๆ เพียงแต่จัดโต๊ะต่างหากแล้วบอกว่า นี่คืออาหารเฉพาะมุสลิม ทั้งๆที่ ณ จุดที่รถทัวร์จอดนั้น ก็มีร้านอาหารของมุสลิมเปิดขายอยู่ใกล้ๆ เป็นไปได้ไหมครับว่า เฉพาะลูกค้ารถทัวร์ที่เป็นมุสลิมทางผู้ประกอบการจะให้เป็น"คูปองอาหาร" ซึ่งลูกค้าสามารถไปทานที่ร้านของมุสลิมได้ และร้านค่อยมาเก็บเงินกับผู้ประกอบการตามที่ลูกค้ามาทานก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีนะผมว่า

  2. อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสิ่งที่อึดอัดและลำบากสำหรับมุสลิมก็คือ ณ โรงแรมที่จัดอบรมหรือประชุมสัมมนา หากไม่ได้พักที่โรงแรมที่จัดอบรมสัมมนาก็อาจจะไม่สะดวก โดยเฉพาะเรื่อง "ห้องน้ำ" หลายโรงแรมไม่มี "น้ำ" สำหรับการปัสสาวะและอุจจาระ อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาผมไปอบรมที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ ก็เจอปัญหานี้ ก็เลยไปบอกพนักงานโรงแรมว่า พอจะบริการขันน้ำให้หน่อยได้ไหม ซึ่งเขาก็เข้าใจประสานกับแม่บ้านทันที ก็มานั่งคิดว่า นี่ถ้าโรงแรมจะติด "หัวฉีดน้ำ" สัก 1-2 หัวฉีดในห้องน้ำก็จะดีไม่น้อยเลย ห้องชายหนึ่งห้องและอีกห้องน้ำหญิงอีกหนึ่งห้อง

  3. สถานที่ละหมาดก็เป็นอีกความต้องการสำหรับมุสลิม โดยเฉพาะสำหรับผู้ไม่ได้พักในโรงแรมหรือสถานที่ที่จัดอบรมหรือสัมมนา อย่างหลายปีก่อนผมไปสัมมนาที่อิมแพคเมืองทองธานี ก็ไปคุยกับพนักงาน เขาก็ใจดีหาที่ละหมาดให้ อย่างนี้เป็นต้น แต่จะดีไม่น้อยหากผู้จัดได้เตรียมไว้ก่อนและมีการประชาสัมพันธ์ไว้ให้ทราบอย่างชัดเจน

  4. อย่างไม่กี่วันมานี้ในช่วงที่ผมไปอบรมที่หาดใหญ่ภรรยาผมก็ขึ้นไปอบรมที่ กทมฯ ผู้จัดคือ สสวท. อาจจะเพราะจัดอบรมให้กับกลุ่มมุสลิมบ่อยเลยเข้าใจ ในเรื่องอาหารทาง สสวท. สั่งตรงกับร้านอาหารมุสลิมไปบริการถึงโรงแรม เป็นต้น

  5. และสำหรับมุสลิมเอง ในฐานะลูกค้า เราสามารถ "ร้องขอบริการที่เหมาะสมกับวิถีอิสลาม" จากผู้ให้บริการได้ หากทุกคนต่างร้องขอ  ผมเชื่อว่า ผู้ให้บริการยินดีที่จะจัดให้ แต่ถ้าเราไม่ร้องขอและบ่นเงียบๆ เราก็จะอยู่กับการบ่นเงียบๆไปอีกนานทีเดียวครับ

หมายเลขบันทึก: 438758เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นับถือในความเคร่งครัดของชาวมุสลิมมากๆ ค่ะอาจารย์

ขอบคุณครับ ดร. จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท