๑๒.ธรรมรัฐแนวพุทธ


การใช้หลักธรรมในกรปกครอประเทศนั้นเป็นการถ่ายทอดคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวผู้นำสู่วิธีการบริหารจัดการประเทศนั้น ทางพระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บารมี และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเรื่องของบารมี มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ไม่น้อยกับการเมืองเรื่องของอำนาจ

จักกวัตติสูตร : สูตรว่าด้วยอุดมรัฐ (๒)

๔.๓.ธรรมรัฐ (Good  Governance)

            ๔.๓.๑. การสร้างธรรมบารมี 

     การใช้หลักธรรมในการปกครองประเทศนั้นเป็นการถ่ายทอดคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวผู้นำสู่วิธีการบริหารจัดการประเทศนั้นทางพระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บารมี  และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเรื่องของบารมี  (Charisma)  มีความเกี่ยงข้องสัมพันธ์กันอยู่ไม่น้อยกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจ  นักการเมืองบางคนไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้วยเหตุผลว่าบารมียังไม่ถึง [1]   แม้แต่นักวิชาการอย่าง  แมกซ์   เวเบอร์ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของบารมี  บารมีเป็นแหล่งที่มาของลัทธิอำนาจ  หรือ อาณา (Authority) อย่างหนึ่งและบารมีทำให้เกิดผู้นำขึ้นประเภทหนึ่งคือ ผู้นำเชิงบารมี (Charismatic  Leader) พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเรื่องบารมีโดยถือธรรมสำหรับผู้ที่จะบรรลุจุดหมายสูงสุด คือบำเพ็ญทศบารมี หรือ บารมี  ๓๐  ทัศ [2]

 

     ๔.๓.๒. การแผ่พระราชอำนาจด้วยธรรมบารมี

                การชนะที่ยิ่งใหญ่มิใช่ด้วยกำลังอาวุธ  และกองทหารที่เข้มแข็งแต่เป็นการใช้ธรรม หรือคุณธรรมเข้าไปชนะจิตใจของเจ้าผู้ครองนครอื่น ๆ เป็นการชนะอย่างเด็ดขาด ผู้แพ้ก็ไม่กลับมาต่อสู้เพื่อเข้าแย่งชิงอำนาจกลับคืนไปอีก ในพระสูตรระบุเอาไว้ว่า

                “ ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ  ทรงพระภูษาเฉวียงบ่าพระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง  พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นแล้วตรัสว่า

 “จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป  จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ” ทันใดนั้น

จักรแก้วหมุนไปทางทิศตะวันออกท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา (กองทัพ) ได้เสด็จตามไปเสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก(ทิศอื่น ๆ ตามลำดับ) พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะมหาราชเจ้าพระองค์โปรดเสด็จมาเถิด  ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์  โปรดประทานพระราโชวาทเถิดพระเจ้าข้า  ”  [3]

      การปกครองแบบนี้  จึงมีจุดเด่นอยู่ที่  การถือธรรมเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครอง  รวมทั้งการใช้ความถูกต้องในการบริหารตน 

 ๔.๔.การบันทอนพระราชอำนาจ

                การประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสายจากพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่าทัฬหเนมิปฐมกษัตริย์ผ่านมาสู่ลูกหลานถึงรุ่นที่ ๗ พระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ทรงทำตามราชประเพณีคือการประพฤติธรรม  แต่พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่  ๘ ทรงละเลยและบกพร่องต่อแนวทางประพฤติและหน้าที่จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ   ดังนี้

ปัญหาที่  ๑  ขาดการเอาใจใส่ในราชกิจ

                จักรแก้วหายไป  จักรพรรดิ์องค์ที่  ๘  ก็ไม่ใส่พระทัยและยังคงปกครองตามมติ  (ความคิด)ของพระองค์เอง  ประชาราษฎร์ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน  เหมือนกษัตริย์พระองค์ก่อน  ๆ  ซึ่งได้ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

 

ปัญหาที่  ๒  ไม่สงเคราะห์

                ทรงแก้ปัญหาด้วยการถามข้าราชการ  ข้าราชบริพาร  โหราจารย์ และมหาอำมาตย์  แม่ทัพนายกอง  ราชองครักษ์  องคมนตรี แล้วจึงปฏิบัติตาม และทรงจัดการรักษา  ป้องกันและคุ้มครองโดยชอบธรรม  แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์จึงเกิดความขัดสนขึ้น  และมีการขโมยเกิดขึ้นอีก 

ปัญหาที่  ๓  การลักขโมย

                เมื่อจับคนขโมยทรัพย์สินได้  จึงตรัสถามได้ความว่าขโมยจริงเพราะไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ  จึงพระราชทานทรัพย์ให้แล้วกำชับว่า  ให้เลี้ยงชีพ  เลี้ยงบิดามารดา  บุตรธิดา  ประกอบอาชีพด้วยทรัพย์นี้เถิด จึงมีผู้คนพากันลักขโมยเพราะคิดว่าเป็นการร่ำรวยทางลัดดีกว่าไปประกอบอาชีพอย่างอื่น  ในเรื่องดังกล่าวนี้ทำให้เกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตขึ้นมาดังปรากฏว่า

                “  ท่านผู้เจริญทั้งหลาย  ได้ทราบว่าคนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย  พระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานทรัพย์ให้อีก 

จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า  ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่น

ไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง  ”  [4]

 

ปัญหาที่  ๔  การปล้นฆ่า

                พระองค์ทรงดำริว่า  ถ้าให้ทรัพย์แก่คนที่ขโมยทรัพย์ผู้อื่นแล้วอทินนาทาน  จักแพร่หลายด้วยประการอย่างนี้  ทางที่ดีเราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้อย่างแข็งขันแล้วตัดต้นคอ  ตัดศรีษะของบุรุษนั้นเสีย

                เมื่อเป็นเช่นนี้  ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นคือ จัดทำอาวุธศัสตราอย่างคมเข้าปล้นและฆ่าเจ้าของทรัพย์เสีย  ปาณาติบาต  (การฆ่าสัตว์)  จึงแพร่กระจายมากขึ้น

 

ปัญหาที่  ๕  ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม

                เมื่อจับโจรได้แล้ว  โจรก็พยายามเอาตัวรอดด้วยการพูดเท็จ  จึงเกิดมุสาวาท (การพูดเท็จ)แพร่หลาย  อายุก็เสื่อมถอย  วรรณะ  ก็เสื่อมถอย,   เริ่มมาจากปาณาติบาต  (ปัญหาข้อที่  ๔) พูดส่อเสียด  (ปิสุณาวาจา)  ก็แพร่หลาย,   การประพฤติผิดในกาม  (กาเมสุมิจฉาจาร)  ก็แพร่หลาย,  การพูดคำหยาบ  (ผรุสวาจา)  ก็แพร่หลาย,   (สัมผัปปลาปะ)  การพูดเพ้อเจ้อ  ก็แพร่หลาย,   ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา  (อภิชฌา)  และความคิดร้าย (พยาบาท)  ก็แพร่หลาย,    ความเห็นผิด (มิจฉาทิฎฐิ) ก็แพร่หลาย,  ความกำหนัดที่ผิดธรรม  (อธัมมราคะ)  คือกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด  เช่น  พ่อแม่,   ความโลภจัด (วิสมโลภะ) หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ ,   ความกำหนัดผิดธรรมชาติ  (มิจฉาธรรม) คือชายที่มีต่อชาย  หญิงที่มีต่อหญิง

                ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย  ๒๕๐  ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลบิดา  มารดา  สมณะพราหมณ์  และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล  ก็แพร่หลาย

 

                ปัญหาทั้ง  ๕  กลุ่มดังกล่าวที่เกิดขึ้นมีผลต่อสังคมการเมืองในยุคนั้นสมัยนั้นอย่างมาก เพราะเกิดขึ้นมาพร้อมกับความเสื่อมเสียทางศีลธรรม และอายุขัยของมนุษย์และที่สำคัญก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดเจน  คือผู้ปกครองไม่สงเคราะห์ผู้ใต้ปกครองจึงเกิดโจรกรรม  อาชญากรรม  เต็มบ้านเต็มเมือง

                ปรีชา  ช้างขวัญยืน  ได้ให้ทัศนะไว้ว่า 

“ คำสอนในจักกวัตติสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นว่า

ลำพังการรักษาความสงบของสังคมอันเป็นหน้าที่ของมหาชนสมมต

ซึ่งปรากฏในอัคคัญญสูตรนั้นไม่เพียงพอเพราะในที่สุดจะรักษา

ความสงบนั้นไว้ไม่ได้  ต้องทำหน้าที่ทำนุบำรุงประชาชนมิให้อดอยาก 

เรื่องการเลี้ยงชีพ  หรือเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักที่ผู้ปกครองจะต้องจัดการให้ดี หากทำเรื่องนี้ไม่ดีแล้วศีลธรรมซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งชีวิตของมนุษย์ก็พลอยเสื่อมสลายไปด้วย  กล่าวคือ เศรษฐกิจไม่ใช่จุดหมายที่สูงสูดของชีวิต ศีลธรรม (ต่างหาก)  เป็นจุดหมาย  แต่ถ้าขาดการจัดการทางเศรษฐกิจที่ดีแล้ว รัฐก็พาคนไปถึงจุดหมายของชีวิตไม่ได้  ”  [5]

              ความเจริญและความเสื่อมแห่งรัฐในธรรมนองนี้นั้น  โสคราตีส  ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับรัฐหรือสังคมการเมืองที่ไม่ดีที่ไม่ยุติธรรมถึง  ๔  รูปแบบซึ่งเป็นการค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ (gradual  degeneration) ของรัฐที่ยุติธรรมและคนที่ยุติธรรม  ชุมพร  สังขปรีชา  ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า          

“ นครรัฐ หรืออาณาจักรที่ยุติธรรมจะเสื่อมลงสืบเนื่องมาจาก

ความเสื่อมโทรมตกต่ำ (decay) เป็นชะตากรรมหรือวัฏสังขาร

ของสรรพสิ่งอันเป็นอมตะเป็นนิรันดรทั้งหลายทั้งปวง

แต่เหตุผลเฉพาะของความเสื่อมโทรมเช่นนั้นก็มิอาจอธิบาย

ให้ทราบแน่ชัดได้เพียงแต่จะสามารถแสดงให้เห็นเป็นความเชื่อถือ

ในรูปของจำนวนเชิงเรขาคณิต  คือ  ๑) ขั้นตอนแรกของความเสื่อมโทรม

คือ รัฐที่ถือเอาเกียรติยศ  ศักดิ์ศรี และความรุ่งโรจน์เป็นที่ตั้งเป็นจุดมุ่งหมาย (timocracy)   โดยมีสปาร์ต้าเป็นตัวอย่าง  ๒) ขั้นตอนที่สองหรือ รัฐที่กำลังเสื่อมโทรมลงคือ รัฐคณาธิปไตย (oligarchy)  เป็นรัฐที่อำนาจเป็นของคนกลุ่มน้อยไม่กี่คน  ๓) ขั้นที่สาม คือรัฐประชาธิปไตย  (democracy) คือการปกครองของประชาชนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ที่แปรเปลี่ยนไปเป็นฝูงชนหมู่มากที่ไร้เหตุผล   ๔)  ขั้นที่สี่คือรัฐทรราชย์  (Tyranny) คือการปกครองของผู้ปกครองที่มีอำนาจเผด็จการที่กดขี่และไม่ยุติธรรม ”  [6]

                สามารถสรุปได้ว่า พระสูตรนี้  เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยอุดมรัฐตามแนวพุทธซึ่งผู้นำรัฐไหนปฏิบัติตามได้  ดังนี้ย่อมเป็นจักรพรรดิได้  คือ

๑.      เป็นผู้ทรงธรรม

๒.     มีรัตนะ  ๗  ประการ

๓.     รักษาจารีตประเพณีที่ดีงาม

๔.     มีสังคหวัตถุ  ๔

๕.     มั่นตรวจตรา, ป้องกัน  รักษาอาณาประชาราษฎร์   

     ธรรมทั้ง  ๕  ข้อนี้ ผู้นำเมื่อปฏิบัติแล้วจึงจะถือว่าเป็น  อุดมบุรุษ  ส่วนระบอบการปกครองบ้านเมืองก็จะเป็น  อุดมรัฐ  ไปด้วย  หากดูตามพระสูตรนี้แล้วผู้นำเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  คือต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามธรรมเท่านั้น  แต่ถ้าระบอบการปกครองเป็นแบบจักรพรรดิ ก็ไม่แน่เสมอไปว่าผู้นำจะต้องเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

               

 


[1] สัญญา   สัญญาวิวัฒน์.  สังคมวิทยาการเมือง.   (กรุงเทพฯ  : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๓),

หน้า  ๑๓๒.

[2] เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๑๓๓.

[3] ที.ปา.  ๑๑ / ๘๕ / ๖๓ - ๖๔.

[4] ที.ปา.  ๑๑ / ๙๒ / ๖๘.

[5] ปรีชา  ช้างขวัญยืน.  ความคิดทางการเมืองในพระไตรปิฎก. ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘).   หน้า  ๒๖ - ๒๗.

[6] ชุมพร  สังขปรีชา. ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองว่าด้วยธรรมชาติมนุษย์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๑), หน้า  ๖๐–๖๑.

หมายเลขบันทึก: 438464เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท