ประชันความไพเราะของเพลงร้องทำนองไทย ค่ายสมาน vs. ค่ายสุนทราภรณ์ ตอนที่ ๑ เพลงน้ำตาลใกล้มด


เพลงน้ำตาลใกล้มด (ค่ายสมาน กาญจนผลิน) ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงม่านโอลา คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน ปรีชา บุณยเกียรติ เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ส่วนเพลงน้ำตาลใกล้มด (ค่ายสุนทราภรณ์) ดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิม “เขมรเขียว” คำร้องโดยสุรัฐ พุกกะเวส ทำนองโดยเวส สุนทรจามร วินัย จุลละบุษปะขับร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗
เมื่อห้าหกสิบปีที่แล้วมา เพลงลูกกรุงเริ่มเติบโตโด่งดัง เพราะมีผู้สร้างสรรค์เพลงเก่ง ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายคน แต่หากจะแบ่งอย่างคร่าว ๆ แล้ว จะมี ๒ ค่ายใหญ่ ๆ คือค่ายของครูสมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเป็นผู้แต่งทำนองเพลงเป็นหลัก โดยมีครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ ครูชาลี อินทรวิจิตร ฯลฯ เป็นผู้แต่งคำร้อง กับค่ายวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (ในภาคเวลาราชการ) หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ (ในภาคนอกเวลาราชการ) ซึ่งมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง ทั้งแต่งทำนองเพลง และขับร้องเองด้วย และมีครูแก้ว อัจฉริยกุล เป็นผู้แต่งคำร้องเป็นหลัก
 
ทั้ง ๒ ค่ายมีผู้ที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยอยู่ด้วย กล่าวคือ ค่ายสมานมีครูสมานเอง และครูพริ้ง กาญจนะผลิน พี่ชาย ทั้งสองท่านสืบเชื้อสายนักดนตรีไทยโดยตรงมาจากบิดาคือหมื่นคนธรรพ์ประสิทธิสาร (แตะ กาญจนะผลิน) ซึ่งเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทย ครูสมานเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร ศึกษาดนตรีไทย ดนตรีสากล และการเรียบเรียงเสียงประสานจากครูมนตรี ตราโมท พระเจนดุริยางค์ และขุนสมานเสียงประจักษ์  เมื่อครูสมานดำริจะเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสากลแบบ “สังคีตประยุกต์” โดยให้ดนตรีไทยบรรเลงสลับดนตรีสากลขึ้น ก็มีครูพริ้งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้ ส่วนครูเอื้อ สุนทรสนานก็เป็นชาวสมุทรสงคราม เมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีไทย ครูเอื้อเรียนดนตรีที่โรงเรียนพรานหลวง สวนมิสกวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง โรงเรียนนี้มีอาจารย์ใหญ่คือ พระเจนดุริยางค์ เมื่อครูเอื้อรับผิดชอบวงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์และรับนโยบาย “สังคีตสัมพันธ์” (โดยให้ดนตรีไทยเล่นพร้อมกันไปกับดนตรีสากล) จากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น คือ พลโท ม.ร.ว.ขาบ กุญชร ก็มีครูดนตรีไทยเข้ามาร่วมงานด้วย ที่มีชื่อเสียงมากเช่น ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ เป็นต้น ค่ายสุนทราภรณ์นอกจากครูเอื้อแล้ว ยังมีผู้แต่งทำนองเพลงที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิม เช่น ครูเวส สุนทรจามร ครูธนิต ผลประเสริฐ เป็นต้น
 
ค่ายสร้างสรรค์เพลงทั้ง ๒ ค่ายได้รังสรรค์ผลงานประวัติศาสตร์ให้วงการเพลงไทยสากลเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากได้สร้างแบบแผนการบรรเลงดนตรีแบบ “สังคีตประยุกต์ “ และ “สังคีตสัมพันธ์” ดังที่กล่าวแล้ว ยังได้แต่งเพลงไทยสากลโดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมไว้อีกเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยเพลง ทั้งถอดทำนองมาใส่เนื้อร้องแบบเนื้อเต็ม และตัด ดัดแปลงทำนองให้เหมาะสมกับการเป็นเพลงไทยสากล เพลงเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมจากผู้ร้องผู้ฟังเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ (แม้ว่าจะไม่รู้จักว่าดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมเพลงใดก็ตาม) คุณูปการอีกประการหนึ่งที่มีต่อดนตรีไทยโดยเฉพาะก็คือทำให้เพลงไทย ดนตรีไทย เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่นอกเหนือจากรูปแบบเฉพาะของดนตรีไทยที่ได้ยินได้ฟังกันคุ้นหูมานาน
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง ๒ ค่าย โดยมิได้นัดหมายกัน (หรือโดยเจตนาจะประชันกันก็ไม่รู้) ได้แต่งเพลงไทยสากลโดยดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมทำนองเดียวกัน หรือดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิมคนละเพลงแต่ตั้งชื่อเพลงไทยสากลชื่อเดียวกันไว้หลายเพลง แต่ละเพลงล้วนไพเราะน่าฟังทั้งสิ้น ซึ่งผมจะได้หยิบยกนำมาเรียบเรียงนำเสนอเพื่อประโยชน์ของการฟังเพลงอย่างมีความรู้ (สารบันเทิง) เริ่มด้วยเพลงชื่อเดียวกันแต่คนละทำนองอย่างเพลง “น้ำตาลใกล้มด”
 
สำนวน “น้ำตาลใกล้มด” เป็นสำนวนไทยที่มีมานานแล้ว น่าจะตัดทอนมาจาก “น้ำตาลใกล้มดใครจะอดได้” ในวรรณคดีไทยเรื่อง “อิลราชคำฉันท์” พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์ พ.ศ. ๒๔๒๔ – พ.ศ. ๒๔๖๖) ได้แต่งเป็นอินทวงศ์ฉันท์ ๑๒ มีความว่า “ผาณิตผิชิดมด ฤจะอดบอาจจะมี แม่เหล็กฤเหล็กดี อยยั่วก็พัวก็พัน” หมายความว่า “น้ำตาลหากอยู่ใกล้ชิดมดก็ไม่มีทางที่มดจะอดได้ เช่นเดียวกับแม่เหล็กกับเหล็กที่อยู่ใกล้กันย่อมดึงดูดพัวพันกัน” สำนวน “น้ำตาลใกล้มด” จึงหมายถึงชายหญิงที่ใกล้ชิดกันมากย่อมห้ามใจไม่ให้รักกันได้ยาก
 
เพลงน้ำตาลใกล้มด (ค่ายสมาน กาญจนผลิน) ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงม่านโอลา คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน ปรีชา  บุณยเกียรติ เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพลงม่านโอลาเป็นเพลงไทยเดิมสำเนียงพม่า คำว่า “ม่าน” หมายถึงชนชาติพม่า
 
เนื้อร้องเพลงน้ำตาลใกล้มด (ทำนองม่านโอลา)
“น้ำตาลใกล้มดหรืออดได้ ความหวานเอมใจ ชวนฤทัยให้เฝ้าพันพัว หวานสนิทอมฤตเอมรสมดเห็นก็สั่นรัว ลงโทษใครไหนได้ น้ำตาลฉ่ำใจหวานชื่นกระไร น้ำตาลเองไม่มองตัว มวลมดหรือคิดชั่ว มดเพียงเกลือกกลั้วเพราะความที่ตัวหลงรสที่ยั่วยวนใจ จึงเพียรเข้าไปใกล้ ด้วยความหวานน้ำตาลเอมใจ หวังจะได้เชยชมลิ้มลอง
แล้วพี่ใกล้น้องปองแต่เจ้า จึงหลงมึนเมาหลงรักเจ้าพี่เฝ้าแต่รัก เพ้อครวญใคร่ดวงใจคอยหวัง ทั้งทรวงพี่หน่วงหนัก แล้วพี่ผิดหรือเปล่า เห็นเพียงแต่เงา เหมือนไฟแผดเผาฤทัยร้อนเร่ารุมรัก เหลือยั้งใจคิดหัก  ถึงเป็นก็รักถึงตายก็รัก เหมือนเจ้าสลักทรวงพี่ เอ็นดูเถิดคนดี อย่าให้รักนั้นหักทรวงพี่ รักของพี่มีเพียงรักเดียว”
 
 
(สุเทพ วงศ์กำแหงก็เคยขับร้องไว้ แต่ยังหาลิงค์ฟังไม่ได้)
 
เพลงน้ำตาลใกล้มด (ค่ายสุนทราภรณ์) ดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิม “เขมรเขียว” คำร้องโดยสุรัฐ พุกกะเวส ทำนองโดยเวส สุนทรจามร วินัย  จุลละบุษปะ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗
 
เพลงเขมรเขียวหรือเขมรเขาเขียวเป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น สำเนียงเขมร เป็นเพลงเก่า ไม่มีข้อมูลผู้แต่ง เมื่อหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรเขาเขียวสองชั้นมาแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสามชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เรียกชื่อว่าเพลงเขมรเขาเขียวสามชั้น ในปีต่อมาท่านได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “เพลงเขมรเลียบพระนคร” (หรือบางทีก็เรียกว่าเขมรเลียบนคร) เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ต่อมาได้แต่งจบครบเป็นเถา เรียกว่า “เขมรเลียบพระนครเถา” ส่วนจางวางทั่ว พาทยโกศลได้นำเพลงเขมรเขาเขียวมาแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสามชั้นและแต่งตัดเป็นอัตราจังหวะชั้นเดียวครบเป็นเถาเรียกว่า “เพลงเขมรเขาเขียวเถา”
 
เนื้อร้องเพลงน้ำตาลใกล้มด (ทำนองเขมรเขียว)
“น้ำตาลใกล้มด ใครอดงดได้ ดวงใจไหนจะเว้นให้ ต้องใจผูกพัน หญิงและชายเมื่ออยู่ใกล้กัน ต้องเกิดกระสัน สุดกลั้นใจภิรมย์
น้ำตาลใกล้มด สุดจะอดสุดที่มดจะข่ม มองดูรู้ในอารมณ์ รสหวานรอให้ชม ต้องชมภิรมย์หทัย ไหนเลยจะไม่เชยชิดก็ผิดไป ชื่นจิตใจให้ฉ่ำทรวง
อันความรัก แรงนักสุดจะหักใจหวง เฝ้าชะแง้แลพิศติดเตือน อย่าเหมือนดังมดแฝงพวงมะม่วง ปองประโลมหวังชมผลพวง ตราบร่วงสู่ดิน แม้น้ำตาลใกล้มดอดกิน สุดสิ้นเจ็บจินต์ตรมใจ”
 
 
ท่านผู้อ่านฟังเพลง ๒ เพลงนี้แล้วโปรดบอกด้วยว่าท่านชอบเพลงใด จะขอบคุณมากครับ
 
วิพล นาคพันธ์
๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
 
 
หมายเลขบันทึก: 438223เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2011 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ชอบ"...เพลงน้ำตาลใกล้มด (ค่ายสุนทราภรณ์) ..."

ท่านผอ.สบายดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท