ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุณหภูมิของอากาศที่บริเวณใด ๆ คือพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ที่พื้นโลกบริเวณนั้นได้รับ กล่าวคือในเวลากลางวันพื้นโลกได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศที่อยู่เหนือบริเวณนี้ก็จะได้รับพลังงานความร้อนที่พื้นโลกคายออกมา ทำให้อุณหภูมิของอากาศบริเวณนั้นสูงตามไปด้วย ส่วนในเวลากลางคืนพื้นโลกไม่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์แต่ยังมีพลังงานความร้อนส่วนหนึ่งที่สะสมไว้ และยังคงคายพลังงานความร้อนให้อากาศเหนือบริเวณนั้นแต่ไม่มากเท่าในเวลากลางวัน อุณหภูมิของอากาศเวลากลางคืนจึงต่ำกว่า ในเวลากลางวันในวันเดียวกัน และเมื่อพื้นโลกคายพลังงานความร้อนให้กับอากาศจนพื้นโลกมีอุณหภูมิเท่าอากาศ ก็จะหยุดคายความร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิคงที่และมีค่าต่ำสุด เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในช่วงเวลาต่างๆ ใน 1 วัน
นักเรียนจะสังเกตว่าอากาศบริสุทธิ์ในตอนเช้าทำให้เรารู้สึกถึงความสดชื่นเย็นสบาย ในขณะที่เวลากลางวันเราจะรู้สึกร้อน และจะค่อยๆ คลายความร้อนลงอีกครั้งในเวลาเย็น นักเรียนคิดว่าความร้อนและความเย็นของอากาศเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันเกิดขึ้นได้อย่างไร
การที่ความร้อนหรือความเย็นของอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลานั้น เนื่องมาจากความแตกต่างของตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ในตอนเช้าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและจะค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดบนท้องฟ้าในตอนกลางวัน เมื่อถึงช่วงบ่ายและเย็นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนมาทางทิศตะวันตกและลับขอบฟ้าไปในที่สุด
ขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าอุณหภูมิจะลดต่ำลง เนื่องจากพื้นผิวโลกเย็นตัวลงหลังดวงอาทิตย์ตกในคืนที่ผ่านมา และเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสู่จุดสูงสุดในตอนกลางวัน ผิวโลกจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากกว่าเวลาอื่นๆ ทำให้อากาศร้อน และเมื่อดวงอาทิตย์ตกในตอนเย็นพื้นผิวโลกจะเย็นตัวลงความร้อนก็จะลดต่ำลงด้วยความร้อนเย็นของอากาศที่เปลี่ยนไปนี้ เรียกว่า อุณหภูมิของอากาศ
ในปีหนึ่งๆ อุณหภูมิของอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลกทำให้เกิดกลางวันกลางคืน และการโคจรรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ขึ้น
เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดความแตกต่างของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ ในช่วงเวลาต่างกันในรอบปี และการที่แกนโลกเอียงขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ทำให้โลกได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ซีกโลกที่ได้รับพลังงานความร้อนโดยตรงจะเป็นฤดูร้อนขณะที่ซีกโลกฝั่งตรงข้ามจะเป็นฤดูหนาว โดยฤดูร้อนอากาศจะร้อนกว่าฤดูหนาว เนื่องจากระดับความสูงของดวงอาทิตย์แตกต่างกัน ฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะอยู่สูงในท้องฟ้า ทำให้พื้นผิวโลกได้รับความร้อนโดยตรงอุณหภูมิพื้นผิวดินจึงสูงส่วนฤดูหนาวดวงอาทิตย์จะอยู่ต่ำและส่องแสงในแนวเฉียง ทำให้พื้นผิวโลกได้รับความร้อนไม่เต็มที่ อุณหภูมิจึงลดลงฤดูร้อนจึงร้อนกว่าฤดูหนาว
นอกจากอุณหภูมิของอากาศที่พื้นผิวโลกจะแตกต่างกันแล้ว อุณหภูมิของอากาศที่ระดับ ความสูงจากผิวโลกขึ้นไปยังมีความแตกต่างกันอีกด้วย ถ้าเราขึ้นไปยังที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล เช่น บริเวณดอยหรือภูเขาสูงเราจะรู้สึกว่าอากาศเย็นกว่าบริเวณพื้นดิน นั่นคือที่ระดับความสูงจากผิวโลกต่างๆ กันอุณหภูมิของอากาศจะมีค่าไม่เท่ากัน อุณหภูมิของอากาศที่พื้นดินจะสูงกว่าอุณหภูมิที่ระดับสูงขึ้นไป ดังนั้น เราอาจสรุปได้ว่า เมื่อความสูงเพิ่มขึ้นระยะหนึ่งอุณหภูมิของอากาศจะค่อยๆ ลดลง
อุณหภูมิของอากาศ
อุณหภูมิของอากาศชั้น โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) จะลดลงตามระดับความสูง โดยเฉลี่ยอุณหภูมิจะลดลงประมาณ 6.5 C ต่อความสูง 1 กิโลเมตร ส่วนบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) อุณหภูมิของอากาศจะสูงขึ้นตามระดับความสูง โดยเฉลี่ยอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 5 C ต่อความสูง 1 กิโลเมตร สำหรับบรรยากาศชั้น มีโซสเฟียร์ (Mesosphere) อุณหภูมิของอากาศจะลดลงตามระดับของความสูง กล่าวคือ จะลดลงต่ำสุดประมาณ -95 C ที่ระดับความสูงประมาณ 80 กิโลเมตร จึงเป็นชั้นบรรยากาศที่มีความหนาวเย็นมากที่สุด และชั้นบรรยากาศเทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) อุณหภูมิของอากาศจะสูงขึ้นตามระดับความสูง โดยเฉลี่ยอุณหภูมิจะสูงประมาณ 227 C – 1, 727 C ซึ่งเป็นอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนอกสุด
1. ที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 และ 5 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิของอากาศประมาณ 18 C และประมาณ -3 C ตามลำดับ
2. อุณหภูมิของอากาศจะลดลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น
3. รูปกราฟมีลักษณะคล้ายกันกับกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความสูงกับความดันอากาศ และความสูงกับความหนาแน่นของอากาศ แต่กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของอากาศกับความสูงนี้มีลักษณะเป็นเส้นตรง
พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่มาถึงโลก พื้นผิวโลกจะดูดไว้ประมาณ 15% ส่วนที่เหลืออีก 42% จะถูกสะท้อนกลับไปในอวกาศ
พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ผิวโลกดูดกลืนไว้นี้ จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อุณหภูมิของอากาศใกล้ผิวโลกในแต่ละวันจะมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ คือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น อุณหภูมิจะค่อยๆ สูงขึ้น จนสูงสุดในช่วงเวลาประมาณ 14.00 – 16.00 หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงและลดลงต่ำสุดในช่วงเวลาประมาณ 05.00 – 07.00 น.
โอโซน (Ozone ; O3) เป็นแก๊สที่อยู่ในบรรยากาศชั้นชั้นสตราโตสเฟียร์ ทำหน้าที่ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต และช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์ แต่ปัจจุบันพบว่าแก๊สโอโซนกำลังถูกทำลายลงโดยสาร ซี เอฟ ซี (CFC : Chlorofluorocarbon) ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตทะลุผ่านมายัง พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกอีกด้วย
ซี เอฟ ซี (CFC : Chlorofluorocarbon) เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในสถานะแก๊ส ประกอบด้วยธาตุคลอรีน (Cl) ธาตุฟลูออรีน (F) และคาร์บอน (C) สาร ซี เอฟ ซี ที่สำคัญ ได้แก่ CFC 11(CFCl3) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกโฟม CFC12 (CF2Cl2) ใช้เป็นตัวทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศและ CFC13 (C2F3Cl3) ใช้ทำความสะอาดแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิใกล้ผิวโลกสูงขึ้นกว่าปกติที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นเนื่องจากพลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งมายังโลก จะถูกพื้นดิน พื้นน้ำ ไอน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดูดกลืนไว้ประมาณร้อยละ 35 ต่อมารังสีอินฟราเรด (รังสีความร้อน) ที่ถูกดูดกลืนจะแผ่รังสีออกมาในรูปของพลังงานความร้อน ส่วนรังสีอัลตราไวโอเลตจะเปลี่ยนเป็นรังสีอินฟราเรดและแผ่รังสีให้ความร้อนออกมา ทำให้โลกได้รับความร้อนและถูกกั้นไว้โดยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซีเอฟซี ฝุ่นละออง และไอน้ำ จึงเป็นผลให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติดังกล่าว
ปริมาณก๊าซโอโซน (O3) และปรากฏการณ์เรือนกระจกจะมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ เมื่อแก๊สโอโซนถูกทำลาย เป็นผลให้ปริมาณแก๊สโอโซนลดลง ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นผิวโลกได้มากขึ้น ซึ่งจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในทะเล มหาสมุทร ทำให้แพลงตอนพืชลดน้อยลง จึงเป็นผลให้ปริมาณการใช้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสงน้อยลงด้วย เป็นเหตุให้ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงมากขึ้นในที่สุด
การวัดอุณหภูมิ
เครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า เทอร์มอมิเตอร์ ใช้วัดความร้อนหรืออุณหภูมิของสิ่งต่างๆ ลักษณะเป็นหลอดแก้วปลายปิด ภายในบรรจุของเหลวที่เรียกว่า ปรอท การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมีผลทำให้ระดับปรอทเปลี่ยนแปลงไป เมื่ออากาศร้อนปรอทจากกระเปาะ ที่ก้นหลอดแก้วจะขยายตัวสูงขึ้น เราจะเห็นของเหลวภายในหลอดแก้วเคลื่อนที่ขึ้นมา และเมื่ออากาศเย็นลงปรอทจะหดตัวเราจะเห็นของเหลวหดตัวลงไป
นอกจากนี้ยังมี เทอร์มอกราฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิและสามารถบันทึกอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในเวลาที่ต่อเนื่องกันได้โดยอัตโนมัติ เทอร์มอมิเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้วัดอุณหภูมิในที่ร่ม โดยตัวเทอร์มอมิเตอร์จะอยู่ภายในที่กำบัง เรียกว่า เทอร์มอมิเตอร์แบบสตีเวนสัน อุณหภูมิที่บันทึกได้มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส
(ผู้สนใจ สามารถดาว์นโหลดแบบฝึกฉบับเต็มได้ที่ ไฟล์)
ไม่มีความเห็น