จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ติดดินเพื่อสร้างคุณธรรมในชีวิต


สองคืนสามวันที่ผ่านมา ผมอยู่ในค่ายพัฒนาศักยภาพบุคลากรมหาวิทยาลัยครับ เป็นครั้งที่สองสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (มอย.) ที่ได้รวมตัวกันขัดเกลาตนเองเพื่อให้เกิดความพร้อมในการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งผมว่าโจทย์ที่ มอย. มีก็น่าจะเหมือนๆ กับสถาบันอื่นครับ เพียงแต่วิธีการเดินไปข้างหน้าอาจจะต่างกัน 

อะไรที่ผมว่ามันเหมือนๆ กันสำหรับสถาบันการศึกษา อย่างแรกๆ ก็คงจะเป็น ego ที่เกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวของผู้มีความรู้ ของผู้บริหาร ช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับบุคลากร ตลอดจนความทุ่มเทหัวจิตหัวใจให้กับการทำงาน ซึ่งอย่างหลังนี้บริบทของ มอย.อาจจะต่างจากสถาบันอื่นๆ (โดยส่วนใหญ่) เนื่องจากสถาบันเราเป็นลักษณะไม่หวังกำไร ไม่ใช่ธุรกิจเอกชน (แต่ถูกจัดเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน) แรงจูงใจประเภทสองขั้น โบนัส เกือบจะไม่สามารถนำมาใช้ในการกระตุ้นการทำงานได้เลย (มองได้หลายแง่ครับ ทั้งในแง่ตัวล่อประเภทนี้มีมูลค่าน้อยจนไม่มีประสิทธิภาพใดๆ เลย หรือ บุคลากรไม่เห็นความสำคัญของมันเลยก็ได้ ฮิฮิ)

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างอาจจะเป็นช่องทางเดียวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในสถาบันแห่งนี้ครับ ซึ่งผมก็ต้องบอกว่า "การสื่อสาร" ที่ผมพูดถึงมันมีความหมายมากกว่า การพูด การเขียนหนังสือ การสั่งการ หากแต่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสำหรับสถาบันแห่งนี้กลับต้องใช้ "แบบอย่าง" ใช้ "หัวใจของความจริงจัง ทุ่มเท" ของผู้ส่งสารที่จะถ่ายทอดไปยังผู้รับสาร แล้วการขยับขับเคลื่อนงานจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน

ค่ายพัฒนาบุคลากรของ มอย.จึงเกิดขึ้นครับ (ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผู้จัดอาจจะมีเหตุผลอื่นก็ได้) ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า กระบวนการค่ายทำให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเป็นความสำคัญที่มีคุณค่ามากจากการจัดทำค่ายในครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้มีความท้าทายเพิ่มขึ้นคือ การเพิ่มคุณภาพในการให้การบริการการทำงาน การสร้างจิตสาธารณะและสร้างคุณค่าของการทำงาน

ครั้งที่สองนี้ ท่านอธิการบดีกล่าวในการเปิดค่ายว่า การสร้างมารยาท สร้างคุณธรรมที่ดี อย่างแรกคือ ต้องอยู่ติดดินให้ได้ แล้วจากนั้นให้พยายามตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงเป็นอย่างนี้? ทำไมเราทำอย่างคนอื่นไม่ได้? (อันนี้ผมสรุปเองนะครับ) และสำหรับผมในการเข้าค่ายครั้งนี้ โจทย์ผมก็คล้ายๆ กับอย่างท่านว่าครับ เพราะผมว่างโจทย์ไว้ว่า จากการที่ผมไม่ชื่นชอบการอยู่ในกรอบ ไม่ชอบทำงานภายใต้คำสั่ง การเข้าค่าย อยู่มีกติกาในใจผมมีข้อเดียวครับ คือ ทำอย่างไรให้ผมพร้อมรับและปฏิบัติตามได้ในทุกคำสั่ง ผมคิดว่าปัญหาในการทำงานผมก็มีข้อนี้เป็นข้อหลักครับ

"ทุกคนต้องพร้อมรับทุกคำสั่ง" เป็นกติกาเดียวกับปีที่แล้ว ในชุดที่พร้อมอยู่ค่าย ใส่ถุงเท้า รองเท้ากีฬา (สองอันนี้ยกเว้นสำหรับผม) พร้อมถูกเรียกตลอดเวลา ในเวลาที่มีน้อยนิด และเกือบทุกงานจะต้องใช้เวลาที่มีประสิทธิภาพ เราจะพบว่าภายในกลุ่มเกือบจะไม่มีการสั่งงานกันเลยครับ แต่ทุกคนทำงานที่ตนเองทำได้ โดยไม่มีการรีรอ ร้องขอ ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ เมื่อทุกคนรู้ว่าเราต้องทำอะไร มีเวลาเท่าไร และเรามีความพร้อมกันทุกคน เราจะพบว่า เราทำงานมีประสิทธิภาพมาก หัวหน้าไม่ต้องออกคำสั่งเลย แล้วงานเราก็เสร็จทันเวลา ผมว่ามันน่าทึ่งครับ ในขณะที่เวลาเราทำงานปกติ เรา (หลายคน) รอให้หัวหน้าสั่ง ไม่สั่งฉันไม่ทำ หรือบางที เราถูกสั่งให้ทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด 

"ทุกคนทำเหมือนกัน" ภายใต้กฏเดียวกัน ทุกคนต้องทำเหมือนกัน ไม่ต้องแยกแยะ แบ่งแยกงาน ไม่มีใครสูง ใหญ่โตกว่าใคร ทุกคนมีหน้าที่ ในขณะที่เวลาเราทำงาน หลายครั้งมันเกิดช่องว่าระหว่างงาน ระหว่างบทบาท คำถามคือ อย่างไรที่จะให้ทุกคนรู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร และส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร แล้วก็ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มศักยภาพ เมื่อนั้นการขยับขับเคลื่อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยก็จะผ่านพ้นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว

"ติดดิน และทำเพื่อคนอื่น" แนวทางของค่ายคือ ทุกคนต้องรู้จักนอบน้อม ถ่อมตน มีความเอื้อเฝื้อต่อผู้อื่น และคิดเพื่อคนอื่น และในค่าย ผมก็ว่ามันสำเร็จ แต่คำถามต่อคือ เมื่อมาอยู่ในบริบทการทำงาน จะทำให้เกิดบรรยายอย่างนั้นยังอยู่จะทำได้อย่างไร

(จบก่อนแล้วครับ แต่เนื้อหายังเีขียนไม่หมดครับ ฮิฮิ งานอื่นมันเผาก้นอยู่)

ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ บทสรุปหนึ่งของผมคือ "ทำอย่างไรให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันการทำความดีสำหรับการทำงานในองค์กรของเรา?"

คำสำคัญ (Tags): #ค่าย
หมายเลขบันทึก: 438180เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2011 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขออนุญาตนำแนวทางค่ายไปใช้ประโยชน์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

อาจารย์หายไปนาน คิดถึงหลานน้อย เตาฟิก คงโตแล้ว ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ คงต้องลดอะไรที่เป็นรูปแบบทางการ ถ้าเป็นไปได้น่าจะตั้งวงคุยกัน เลิกอะไรหลายๆๆอย่างที่เป้นแบบรูปแบบทางการ แต่ชอบใจเห็นภาพแล้วเหมือนเข้าค่ายลูกเสือเลย มีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ด้วยไหมครับ...

ขอบคุณครับคุณลำดวน

ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณครับ ดร.ขจิต

*หายไปนานจริงๆ ครับ (แต่คิดถึงตลอด)

*งานนี้เหมือนลูกเสือเลยครับ (เหมือนจริงๆ)

*มีการคุยเชิงวิชาการแต่ก็จะเป็นเพียงคนจุดประเด็นจากนั้นก็แสดงความคิดเห็นวงกว้างเลย ซึ่งคนจุดประเด็นก็ต้องเรียกว่าสุดยอดจริงๆ ครับ คัดสรรมาแล้ว

*ในรูปที่เห็นนั่งล้อมวงนะ ไม่ใช่นั่งคุยวิชาการนะครับ กำลังทานข้าวกันอยู่ ฮิฮิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท