การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม (Integrity – ING)


การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม (Integrity – ING)

การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม

(Integrity – ING)

เป็นสมรรถนะตัวที่ 4 ของสมรรถนะหลัก คำจำกัดความของ การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม ก็คือ การดำรงตนและประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งตามกฎหมาย คุณธรรม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและจรรยาข้าราชการเพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ

การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม มาจากคำว่า Integrity ที่มีนัยของการแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคำพูด (เท่ากับการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรมระดับที่ 2) ซึ่งคำพูดที่ว่านี้เป็นค่านิยมของบุคคลนั้น ๆ (สิ่งที่เห็นว่าดี) และค่านิยมที่ว่านี้ อาจมาจากหน่วยงาน (ค่านิยมองค์กร) สังคมหรือหลักทางด้านศีลธรรมของบุคคล สิ่งนี้ทำให้สมรรถนะการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรมแตกต่างไปจากสมรรถนะอื่น ๆ ที่เน้นผลการปฏิบัติงานที่ดี แต่ Integrity เน้นที่ค่านิยมมากกว่า

การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรมในโมเดลสมรรถนะของราชการพลเรือนไม่ได้เน้นแค่การแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคำพูด แต่เน้นกลุ่มพฤติกรรมตั้งแต่มีความสุจริต (ระดับที่ 1) จนถึงการอุทิศตนเพื่อผดุงความยุติธรรม (ระดับที่ 5)

ยังมีประเด็นที่ว่า แต่ละระดับของการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรมนั้น สอดคล้องกับวินัยและจรรยาข้าราชการ ดังนั้น ข้าราชการทุกคนควรถูกกำหนด สมรรถนะนี้ที่ระดับ 5 ทั้งหมดนั้น ในเรื่องนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องสองประเด็น กล่าวคือ

1. สมรรถนะและวินัยข้าราชการมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สมรรถนะเป็นการกำหนดมาตรฐานเชิงพฤติธรรม ที่เมื่อแสดงแล้ว หน่วยงานจะเสริมแรงเพื่อให้พฤติกรรมนั้น ๆ คงอยู่ ส่วนวินัยข้าราชการเป็นเรื่องของการบอกว่าอะไรห้ามทำ ถ้าทำจะถูกลงโทษ หรืออะไรต้องทำ ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ

2. การกำหนดระดับสมรรถนะใช้หลักของการรับรู้ความแตกต่างระหว่างระดับ (Just Noticeable Difference (JND)) ซึ่งแต่ละระดับมีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างชัดเจน การนำไปใช้จึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับระดับตำแหน่ง ดังนั้น ระดับตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและขนาดงานที่ต่ำกว่า จึงควรกำหนดระดับสมรรถนะต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและขนาดงานที่สูงกว่า การกำหนดให้ทุกระดับตำแหน่งงานมีสมรรถนะในระดับเดียวกันทั้งหมดจึงอาจไม่เหมาะสม

ระดับที่ 0 ไม่แสดงสมรรถนะด้านนี้หรือแสดงอย่างไม่ชัดเจน

หมายถึง การที่ผู้ดำรงตำแหน่งไม่ได้แสดงพฤติกรรมบ่งชี้ของการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม และจริยธรรมเลยหรือว่าแสดงบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้ประเมินรับรู้ได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ที่มีการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม

ระดับที่ 1 มีความสุจริต เช่น

* ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ถูกต้องตามกฎหมายและวินัยข้าราชการ

* แสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาชีพอย่างสุจริต

เป็นระดับพื้นฐานซึ่งหมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการทุกคนถูกกำหนดให้ปฏิบัติเช่นนี้อยู่แล้ว ส่วนราชการอาจกำหนดตัวอย่างพฤติกรรมให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตนั้น หมายถึงอะไรได้บ้าง เช่น ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น

ระดับที่ 2 แสดงสมรรถนะระดับที่ 1 และมีสัจจะเชื่อถือได้ เช่น

* รักษาคำพูด มีสัจจะและเชื่อถือได้

* แสดงให้ปรากฏถึงความมีจิตสำนึกในความเป็นข้าราชการ

เป็นระดับที่ยากกว่าระดับที่ 1 กล่าวคือ นอกจากมีความสุจริตแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งยังต้องประพฤติตนให้มีสัจจะเชื่อถือได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การรักษาคำพูด ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ สมรรถนะระดับที่ 2 เป็นระดับที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า คนส่วนใหญ่รู้ว่าจะพูดอย่างไรจึงจะทำให้ดูดี ก็มักจะพูดตามค่านิยม จรรยาข้าราชการ เช่น กล่าวว่าในการบริการไม่มีการเลือกปฏิบัติ ในขณะที่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมเช่นนั้น เช่น การลัดคิวการให้บริการให้กับผู้รับบริการบางคน เป็นต้น กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้พูดออกไป เพราะค่านิยมที่พูดออกไปนั้น ในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถกระทำได้ง่าย

ระดับที่ 3 แสดงสมรรถนะระดับที่ 2 และยึดมั่นในหลักการ เช่น

* ยึดมั่นในหลักการ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและจรรยาข้าราชการไม่เบี่ยงเบน ตัวยอคติหรือผลประโยชน์ กล้ารับผิดและรับผิดชอบ

* เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ

เป็นการยึดมั่นในหลักการ ความสำคัญอยู่ที่การยึดมั่นในหลักการนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณหรือจรรยาข้าราชการก็ตาม โดยปกติมักทำให้ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากมากขึ้น อาจต้องสละความสุขส่วนตัวบ้าง ผู้ดำรงตำแหน่งก็ควรต้องยอมที่จะกระทำเช่นนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการถูกต้อง เหมาะสม เพื่อรักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพฤติกรรมของการกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด และรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเองด้วย

ระดับที่ 4 แสดงสมรรถนะระดับที่ 4 และยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง เช่น

* ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องโดยมุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของทางราชการ แม้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจมีความยากลำบาก

* กล้าตัดสินใจ ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม แม้อาจก่อความไม่พึงพอใจให้แก่ผู้เสียประโยชน์

เป็นระดับที่ยากขึ้นกว่าระดับที่ 3 เพราะระดับที่ 3 การยึดมั่นในหลักการนั้น ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ราชการยากลำบากขึ้น เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักการในระดับที่ 4 เน้นที่ผู้ที่เสียประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างถูกต้องไม่พึงพอใจ หรือแม้แต่อาจเป็นการสร้างศัตรูขึ้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งถูกคาดหวังให้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องนั้น

ระดับที่ 5 แสดงสมรรถนะระดับที่ 4 และอุทิศตนเพื่อความยุติธรรม เช่น

* ยืนหยัดพิทักษ์ผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติแม้ในสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงต่อความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานหรืออาจเสี่ยงภัยต่อชีวิต

เป็นระดับสูงสุด ในระดับนี้ผู้ที่เสียผลประโยชน์อาจไม่ใช่แต่ไม่พึงพอใจ แต่อาจแสดงอำนาจในอันที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น การข่มขู่ว่าจะทำให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น หรืออาจทำให้เสี่ยงภัยต่อชีวิต เช่น การข่มขู่ว่าจะทำร้าย เป็นต้น ถึงกระนั้นผู้ดำรงตำแหน่งก็ถูกคาดหวังว่าจะยังยอมอุทิศตัวเพื่อความยุติธรรม

สรุป :

การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม จึงหมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ถูกต้องตามกฎหมายและวินัยข้าราชการ การแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาชีพอย่างสุจริต การรักษาคำพูด มีสัจจะและเชื่อถือได้ การแสดงให้ปรากฏถึงความมีจิตสำนึกในความเป็นข้าราชการ การยึดมั่นในหลักการ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและจรรยาข้าราชการไม่เบี่ยงเบน ตัวยอคติหรือผลประโยชน์ กล้ารับผิดและรับผิดชอบ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ การยืนหยัดเพื่อความถูกต้องโดยมุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของทางราชการ แม้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจมีความยากลำบาก การกล้าตัดสินใจ ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม แม้อาจก่อความไม่พึงพอใจให้แก่ผู้เสียประโยชน์ และการยืนหยัดพิทักษ์ผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติแม้ในสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงต่อความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานหรืออาจเสี่ยงภัยต่อชีวิต

การแสดงถึงพฤติกรรมในสมรรถนะข้อนี้ เป็นการแสดงพฤติกรรมที่ค่อนข้างยาก...เพราะเป็นพฤติกรรมที่วัดได้เป็นรูปธรรม จาก นิสัย การปฏิบัติ ความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ของบุคคลคนนั้นเอง...เรียกว่า "ในความเป็นตัวตนของคน ๆ นั้น"...ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อ ก็จะแสดงให้เห็นเลยว่า คนทั่ว ๆ ไป ลงมติกันว่าคน ๆ นั้น ปฏิบัติตนโดยมีหรือใช้หลักการหรือไม่ ยึดมั่นในความถูกต้อง ความชอบธรรมหรือไม่...ซึ่งจะวัดได้จากผลของการปฏิบัติ...

หมายเลขบันทึก: 438160เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2011 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท