ใบความร้บัญชีเบื้องต้น 1 week1


อาจารย์วรรณลักษณ์

ใบความรู้ที่ 1    (Information  Sheet)

เรื่อง  พื้นฐานการบัญชี

จุดประสงค์การเรียนรู้ (Objective)

  1. อธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชีได้อย่างถูกต้อง
  2. สามารถอธิบายวัตถุประสงค์การบัญชีและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาชีพการบัญชีได้อย่างถูกต้อง
  3. แสดงความสนใจในการร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นและยกตัวอย่างได้เป็นอย่างดี

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชี

ประวัติของการบัญชี

การจดบันทึกทางการบัญชี  เกิดขึ้นในสมัยบาบิโลเนียนและอียิปต์ หรือเมื่อประมาณ  5,000  ปี มาแล้ว  โดยค้นพบหลักฐานการจดบันทึกข้อมูลบนแผ่นดินเหนียว  ในช่วงแรกเป็นการจดบันทึกข้อมูลเป็นปริมาณ  ต่อมาการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป  มีการนำเงินตรามาใช้แทนการแลกเปลี่ยน  มีการคิดค้นตัวเลขอารบิคแทนเลขโรมัน  มีการลงทุนดำเนินธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร  การบัญชีจึงมีการพัฒนาตามความจำเป็น  และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

      มีการพบหลักฐานว่ากว่า 4,000 ปีแล้ว ได้มีการจัดทำบัญชีสินค้า บัญชีค่าแรง และค่าภาษีอากร ในเมโสโปเตเมีย ต่อมาก่อนคริสตศตวรรษที่ 14 พ่อค้าชาวอิตาเลี่ยนได้พัฒนาระบบบัญชีคู่ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เขาคิดขึ้นนั้นไม่ได้รวบรวมไว้จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1494 นาย FRA LUCA PACIOLI ชาวอิตาเลี่ยน ได้แต่งหนังสือชื่อ เรียกสั้น ๆ ว่า "Summa" เป็นตำราว่าด้วยการคำนวณเกี่ยวกับเลขคณิต พีชคณิต การแลกเปลี่ยนเงินตรารวมทั้งการบัญชี ซึ่งเขาได้รวบรวมกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหลักการบัญชีคู่ไว้อย่างสมบูรณ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งวิชาการบัญชี" ต่อมาราวคริสตศตวรรษที่ 18 เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีการลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะมีการลงทุนร่วมกัน ทำให้เกิดความคิดที่จะบันทึกบัญชีกิจการแยกต่างหากจากเจ้าของ เพื่อจะได้ทราบว่าใครลงทุนเท่าใด และมีสิทธิส่วนได้ ส่วนเสียในกิจการเท่าใด นอกจากนั้นยังมีการจัดทำงบการเงินเพื่อรายงานถึงผลการดำเนินงานและฐานะของธุรกิจให้ผู้ร่วมลงทุนได้ทราบ ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

     สำหรับประเทศไทย  การบัญชีเริ่มต้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  (24  มิถุนายน 2475)  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยส่วนรวม อันนำไปสู่การออกประมวลรัษฏากรจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  และนิติบุคคล  การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำบัญชี  ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482  โดยผู้ที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการบัญชีในระยะแรก คือ พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม  กฤษณามระ)  และหลวงดำริอิศรานุวรรต (ม.ล. ดำริ  อิศรางกูร ณ อยุธยา)  ได้จัดทำหลักสูตรการสอนวิชาการบัญชีเพื่อเผยแพร่  ทำให้คนไทยมีความรู้ทางด้านการบัญชี ท่านทั้งสองจบการศึกษาทางด้านการบัญชีจากประเทศอังกฤษ  และกลับมารับราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ความหมายของการบัญชี

การบัญชี (Accounting) คือ ขั้นตอนของระบบการรวบรวม การวิเคราะห์และการรายงานข้อมูลทางการเงิน (Pride, Hughes and Kapoor. 1996 : 534) 

สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกย่อว่า ส.บช. (The Institute of Ceritfied Accountants and Auditor of Thailand : ICAAT) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ดังนี้

“ การบัญชี (Accounting) หมายถึง ศิลปะของการเก็บรวบรวม บันทึก จำแนก และทำสรุปข้อมูลอันเกี่ยวกับ  

เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน ผลงานขั้นสุดท้ายของการบัญชีก็คือการให้ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลหลายฝ่าย และผู้ที่สนใจในกิจกรรมของกิจการ”สมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของประเทศสหรัฐอเมริกา ( The American Institute of Certified Public Accountants : AICPA) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ดังนี้

" Accounting is the art of recording, classifying and summarizing in a significant manner and in terms of

money, transactions and events which are, in part at least, of financial character and interpreting the results thereof."

จากคำนิยามดังกล่าว การบัญชี หมายถึง ศิลปะของการจดบันทึก การจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ และการสรุปผลสิ่ง

สำคัญในรูปตัวเงิน รายการ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน รวมทั้งการแปลความหมายของผลการปฏิบัติดังกล่าวด้วย

สรุปความหมายของการบัญชี ได้ดังนี้

1.  การจดบันทึก (Recording)  การบันทึกรายการทางบัญชีหรือรายการค้า (Transactions) และเหตุการณ์ (Events)  จะต้องเป็นรายการหรือเหตุการที่เกิดขึ้นแล้ว  ในอดีตจะเป็นการบันทึกลงในสมุดบัญชี แต่ปัจจุบันการบันทึกส่วนใหญ่จะให้คอมพิวเตอร์

            2.  การใช้หน่วยเงินตรา (Terms of money)  การบันทึกรายการทางบัญชีต้องใช้หน่วยเงินตรา เช่น บาท ดอลล่าห์ และถือว่าจำนวนที่บันทึกลงไปแต่ละหน่วยมีค่าคงที่ แม้ค่าของเงินจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม

            3.  การจัดหมวดหมู่ของรายการ (Classifyling) เมื่อมีการบันทึกบัญชี จะต้องมีการจัดหมวดหมู่ของรายการ โดยการแยกประเภทบัญชี เป็น สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย

            4.  การสรุปผล (Summarizing) เมื่อมีการบันทึกบัญชีไประยะหนึ่ง เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จะต้องนำรายการที่ได้จัดหมวดหมู่ไว้แล้ว มาสรุปผลการดำเนินงานและฐานะของกิจการ โดยจัดทำเป็นงบการเงิน  ซึ่งประกอบด้วย งบกำไรขาดทุน และงบดุล

 

การบัญชีและการทำบัญชี (Accounting and Bookkeeping)

        การบัญชี เกิดขึ้นมาเพราะกิจการต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีเอกสารหลักฐาน  เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับ  รายรับ  รายจ่าย  และสินทรัพย์อื่น ๆ ของกิจการ และเพื่อให้เจ้าของกิจการได้ทราบถึงความก้าวหน้าหรือข้อบกพร่องในการดำเนินงาน  การบัญชีจึงเป็นหน้าที่ของ  นักบัญชี  (Accountant)  โดยตรง ซึ่งต้องเป็นผู้ควบคุมและตรวจตรางานของผู้ทำบัญชี เพราะนักบัญชีจะต้องสามารถวางระบบบัญชีและควบคุมการลงบัญชีทั้งหมด เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบการบันทึกบัญชี การจัดทำรายงานการเงิน และแปลความหมายของรายงานการเงิน

            ส่วน  การทำบัญชี  (Book – keeping)  เป็นวิธีการจดบันทึกรายการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงิน หรือสิ่งของที่กำหนดมูลค่าเป็นเงินไว้เป็นหลักฐาน  โดยจัดแยกไว้เป็นหมวดหมู่ตามประเภทของรายการนั้น  และเรียงลำดับรายการที่เกิดขึ้นก่อนหลังในสมุดบัญชีได้ถูกต้อง และสามารถแสดงผลการดำเนินงาน รวมทั้งฐานะการเงินของกิจการในระยะหนึ่งได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติงาน เช่นนี้เรียกว่า ผู้ทำบัญชี งานของการทำบัญชี คือ การบันทึกรายการค้าหรือข้อมูลทางบัญชีที่เกิดขึ้น การจัดทำงบการเงิน ผู้มีหน้าที่ในการบันทึกบัญชี เรียกว่า ผู้ทำบัญชี (Bookkeeper) ซึ่งในปัจจุบันงานส่วนนี้คอมพิวเตอร์สามารถทำแทนได้

การทำบัญชี (Bookkeeping) เป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชี (Bookkeeper) ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

1.1 การรวบรวม (Collecting) หมายถึง การรวบรวมข้อมูลหรือรายการค้าที่เกิดขึ้นประจำวันและหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เช่น หลักฐานการซื้อเชื่อและขายเชื่อ หลักฐานการับและจ่ายเงิน เป็นต้น

1.2 การบันทึก (Recording) หมายถึง การจดบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป พร้อมกับบันทึกข้อมูลให้อยู่ในรูปของหน่วยเงินตรา

1.3 การจำแนก (Classifying) หมายถึง การนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้แล้ว มาจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ของบัญชีประเภทต่างๆ เช่น หมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้และค่าใช้จ่าย

1.4 การสรุปข้อมูล (Summarizing) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จำแนกให้เป็นหมวดหมู่ดังกล่าวมาแล้วมาสรุปเป็นรายงานทางการเงิน (Accounting report) ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจตลอดจนการได้มาและใช้ไปของเงินสดในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง

ดังนั้น  การทำบัญชี  จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบัญชี 

          งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี

          งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชีของกิจการต่าง ๆ นั้นจะเป็นระยะเวลายาวนานเท่าใดก็ได้ เช่น  1 เดือน 3 เดือน  6 เดือน หรือ 1 ปี แต่จะนานเกินกว่า 1 ปีไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย

            งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชีในแต่ละงวดหรือรอบนั้นหมายถึง การที่กิจการจะทำการบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในงวดเวลาที่กำหนด จากนั้นก็จะสรุปออกมาว่าในงวดเวลานั้นกิจการมีผลกำไรหรือขาดทุนอย่างไร และเมื่อถึงวันสิ้นงวดนั้น กิจการมีฐานะการเงินอย่างไร

            ปีการเงินหรือปีบัญชี (Fiscal Year) ในการกำหนดงวดบัญชีเท่ากัน 1 ปี หรือ 12 เดือน จะเรียกงวดบัญชีนั้นว่า ปีบัญชี หรือปีการเงิน ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่เท่าไรก็ได้ เช่น 1 ตุลาคม 2540-30 กันยายน 2541 เป็นต้น แต่โดยปกติเพื่อความสะดวกและสอดคล้องต่อการเสียภาษีให้แก่รัฐบาล กิจการส่วนใหญ่จะกำหนดปีการเงินหรือให้บัญชีให้เหมือนกับปีปฏิทิน (Calendar Year) คือ 1 มกราคม-31 ธันวาคม ของทุกปี

จุดประสงค์การบัญชีและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาชีพการบัญชี

ความสำคัญของการบัญชี

ความสำคัญของการบัญชีหลักใหญ่ ๆ ก็คือ เป็นแหล่งข้อมูลของธุรกิจที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของธุรกิจ เช่น ผู้เป็นเจ้าของกับพนักงานหรือเจ้าของธุรกิจกับผู้ลงทุน เจ้าหนี้ หรือธนาคารที่จะพิจารณาให้สินเชื่อหรือแม้กระทั่งการสื่อความหมายระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง ดังนั้นข้อมูลทางการบัญชีจึงมีความสำคัญดังนี้

1. เพื่อให้เจ้าของกิจการสามารถควบคุมอย่างใกล้ชิดและเมื่อปรากฎข้อบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจแก้ไขได้ทันที

2. เพื่อช่วยให้เจ้าของกิจการนำข้อมูลทางการบัญชีไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจ

3. เพื่อช่วยให้ทราบผลการดำเนินงานของกิจการในขณะใดขณะหนึ่งว่ากิจการมีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของเป็นจำนวนเท่าไร

4. เพื่อช่วยให้ทราบฐานะการเงินของกิจการในขณะใดขณะหนึ่งว่า กิจการมีผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา กิจการมีกำไรหรือขาดทุนเป็นจำนวนเท่าไร

5. เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มทุนหรือลดทุน ตลอดจนการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อขยายกิจการ

6. เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

7. เพื่อให้บุคคงภายนอกใช้ในการอ้างอิงประกอบการพิจารณาความมั่นคงของกิจการ

จุดประสงค์ของการจัดทำบัญชี

1.  เพื่อให้กิจการมีระบบบัญชี ระบบเอกสาร และระบบการควบคุมภายในด้านบัญชีที่ดี  จัดทำเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การบัญชี และประมวลรัษฎากร

2.  เพื่อบันทึกบัญชีได้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี และตามพรบ.การบัญชี และประมวลรัษฏากรกำหนด นำส่งภาษี ให้ถูกต้องและทันเวลา ทำให้งบการเงินของกิจการถูกต้อง น่าเชื่อถือ ประหยัดภาษี และลดความเสี่ยงจากภาระภาษีต่างๆ ในการถูกสรรพากรตรวจสอบ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อาจารย์บัญชี
หมายเลขบันทึก: 438057เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2011 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท