๒.การตีความคำสอนพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นการเมืองใหม่


การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของตน โดยการพยายามนำรูปแบบการเมืองการปกครองมาเป็นแนวคิดหลักในปัจจุบันมี ๘ แนวทาง ส่วนผู้เขียนขอเพิ่มอีก ๑ แนวทาง รวมเป็น ๙ แนวทาง โดยพยายามค้านว่าธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นหลักการ หรือ หลักธรรมรัฐ ได้...

 

    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนามีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาโลก ทางด้านกายภาพและคุณภาพ ได้พยายามบูรณาการพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ เรียกง่าย ๆ ว่าเพื่อให้เกิดการร่วมยุคร่วมสมัยนั้นเอง

 

     จะเห็นได้จากการกำหนดหลักสูตรด้านพุทธศาสนาประยุกต์ เช่น นิเวศวิทยาในพระไตรปิฎก สาธารณสุขในพระไตรปิฎก นิเทศศาสตร์ในพระไตรปิฎก เป็นต้น  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้

     รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎกก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ผู้บริหารกำลังเร่งสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดการบูรณาการขึ้น ระหว่างรัฐศาสตร์+พระพุทธศาสนา นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อสะสมองค์ความรู้แล้ว ยังเป็นการขยายความรู้สู่อาณาเขตของศาสตร์สมัยใหม่ที่กำลังนิยม และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันนี้

 

     ในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนได้ศึกษาตำราทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎก ได้มีนักคิดนักวิชาการไทยได้พยายามตีความคำสอนทางพุทธศาสนาออกเป็นหลายแนวทาง ซึ่งพอประมวลได้เป็น ๙ แนวทาง ดังนี้

     ๑)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวประชาธิปไตย   เพื่อให้ทันกระแสจึงเกิดการตีความโดยอาศัยหลักการบางประการที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย เช่น พิธีกรรมในการบวช ก็จะมีการเปิดโอกาสให้สงฆ์ได้มีการออกเสียงว่ายอมรับหรือไม่? พิธีรับกฐิน สงฆ์ก็จะเปิดโอกาสให้มีการทักท้วงว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร? ฯลฯ จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายประชาธิปไตยเอามาอ้างกัน

     ๒)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวสังคมนิยม  แนวทางนี้มาจากหลักการสังฆทาน กล่าวคือเมื่อประชาชนต้องการถวายของให้แก่สงฆ์ ของนั้นก็ตกเป็นของส่วนรวมหาใช่เป็นของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ใครมีความจำเป็นมากกว่าสงฆ์จะให้ภิกษุรูปนั้นก่อน นี้เป็นเหตุที่ฝ่ายสังคมนิยมเอามาอ้างกัน

     ๓)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวธรรมิกสังคมนิยม  แนวทางนี้หลวงปู่พุทธทาสเห็นว่าพุทธศาสนาไม่ได้เป็นทั้งประชาธิปไตยและสังคมนิยม แม้ว่าจะมีส่วนคล้ายกันทั้งสองแนว แต่แท้ที่จริงคือธรรมิกสังคมนิยม คือเป็นสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรม มิใช่สังคมนิยมที่ประกอบด้วยผลประโยชน์

     ๔)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวปรัชญาการเมือง แนวทางนี้เป็นแนวทางที่นักวิชาการไทยที่ได้รับการศึกษามาจากตะวันตกเอามาตีความ โดยพยายามกางหลักการทางรัฐศาสตร์แล้วหาหลักการทางพุทธศาสนาเข้าไปใส่เพื่อให้สอดคล้องกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวทางนี้มีแนวทางที่ชัดเจนกว่าแนวทางที่กล่าวมา

     ๕)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวธรรมาธิปไตย  แนวทางนี้เป็นการหยิบประเด็นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสหมวดธรรมที่ว่าเรียกว่าอธิปไตย ๓ มาวิเคราะห์ ซึ่งหากมองดูตลอดทั้งประโยคแล้ว ยิ่งจับหลักการไม่ได้ ธรรมาธิปไตย เป็นธรรมรัฐเท่านั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง ซึ่งผู้เขียนได้วิจารณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "สังฆาธิปไตย : ระบอบการปกครองสงฆ์" แล้ว 

     ๖)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวประวัติศาสตร์พุทธศาสนา  แนวทางนี้นำเอาประเด็นการเสด็กออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ ว่าทำไมต้องเสด็จออกผนวชตอนกลางคืน ทำไมไม่เสด็จออกไปตอนกลางวันมีปัญหาอะไรหรือเปล่า แนวคิดนี้เป็นเพียงข้อวิจารณ์เท่านั้น ไม่ใช่ระบอบ

     ๗)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวนิติรัฐ  แนวคิดนี้เป็นกลุ่มนักวิชาการอีกสายหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นว่าประวัติพุทธศาสนาเป็นมาอย่างไร ไม่สำคัญเท่าพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ โดยอาศัยพระวินัยมาตีความเป็นแนวนิติรัฐ

     ๘)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นแนวมโนทัศน์ใหม่  แนวความคิดนี้เป็นแนวทางของทางอาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน ที่พยายามนำเอามโนทัศน์ใหม่เพื่อให้การวิเคราะห์พุทธศาสนากว้างขึ้น เพื่อไม่ให้ติดกรอบคิดหลักการต่าง ๆ แต่ควรมองดูพุทธศาสนาที่เจตนารมของพระพุทธเจ้า

     ๙)การตีความคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นระบอบสังฆาธิปไตย แนวคิดนี้เป็นแนวคิดของผู้เขียนเองที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ถ้าพูดถึงหลักการปกครองของพระพุทธเจ้าแล้วคือระบอบสังฆาธิปไตย โดยมีธรรมาธิปไตยเป็น ธรรมรัฐ ซึ่งได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่อง "สังฆาธิปไตย : ระบอบการปกครองสงฆ์" พิมพ์ครั้งที่ ๑ โดย หจก.เจริญอักษร, ๒๕๕๐.

 

........อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอต่อการต่อยอดองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนากับการเมืองรูปแบบใหม่ ก็ต้องขอความร่วมมือกับนักวิชาการทั้งหลายช่วยต่อยอดเป็น แนวทางที่ ๑๐  ๑๑  ๑๒  ๑๓  ...................ไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยกันพัฒนาและบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ให้สมกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยต่อไป......อย่างไร้ขีดจำกัด

 

หมายเลขบันทึก: 436499เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะพระอาจารย์

หนูจะรออ่านบันทึกดีๆแบบนี้นะคะ

ใครมีข้อมูลดี ๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยน เสนอแนะได้นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท