จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ : ๔. สอนศิษย์กับสอนหลักสูตร แตกต่างกัน



          จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson

การสอนศิษย์กับการสอนตามหลักสูตรแตกต่างกัน

 

          ที่จริงบันทึกนี้ผมถอดความมาจากหัวข้อในหนังสือว่า Covering Curriculum is Not Teaching   ซึ่งหมายความว่าการตลุยสอนให้ครบตามหลักสูตรไม่ใช่กิจของครูที่ดี - ครูเพื่อศิษย์    การทำเช่นนั้นเป็นกิจของ ครูเพื่อกู   คือเพียงแค่สอนให้ครบตามที่กำหนด ในหลักสูตร ไม่ได้พิจารณา หรือเน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์

          การสอนศิษย์เน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์   ไม่ใช่เน้นที่การสอนของครู ไม่ใช่เน้นการสอน ให้ครบตามเอกสารหลักสูตร   ความยากลำบากของนักเรียนอย่างหนึ่งคือ เป็น "โรคสำลักการ สอน" เพราะโดนยัดเยียดเนื้อหาความรู้มากเกินไป   โดยไม่คำนึงถึงระดับพัฒนาการทางสมอง ของเด็ก ที่แม้อายุเท่ากัน เรียนชั้นเดียวกัน แต่พัฒนาการทางสมองบางด้านต่างกัน   หากครูไม่ เอาใจใส่ ไม่สังเกต เด็กที่สมองยังพัฒนาไม่ถึงขั้นที่จะเข้าใจสาระวิชานั้น จะเบื่อหรือเกลียด การเรียนวิชานั้น และอาจทำให้เกลียดการเรียนทั้งหมดไปอย่างน่าเสียดาย

          ที่จริงครูเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจมาก เพราะวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรมักจะแน่นเกินไป เสมอ เพราะในสังคมสมัยใหม่ วิชาความรู้เพิ่มขี้นอย่างมากมาย   เกินกำลังที่ครูจะสอนหมด และนักเรียนจะรับได้หมด หากครูเน้นที่สาระ (content)  ไม่เน้นที่การคิด และความเข้าใจ หลักการ

          ครูเพื่อศิษย์จึงต้องตีความหลักสูตร ทำความเข้าใจศิษย์ และทำหน้าที่ โค้ช หรือ facilitator ให้ศิษย์ได้เรียนเพื่อบรรลุ 21st Century Skills ตามระดับพัฒนาการทางสมอง   โดยใช้หลักสูตรเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนรู้ และออกข้อสอบเพื่อ ทดสอบผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้   เพื่อติดตามนักเรียนเป็นรายคน   ไม่ใช่ทำตามหลักสูตร แบบเปิดหลักสูตรสอน

          การทำหน้าที่ครูแบบนี้แหละที่ท้าทายมาก  สนุกมาก เรียนรู้มาก  และสร้างความสัม พันธ์ระหว่างครูกับศิษย์   ให้ความสุข ปิติสุข แก่ครู  เกินกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้รับ 

          หลักการที่ครู เลาแอนน์ แนะนำคือ ให้จัดลำดับความสำคัญของสาระในหลักสูตร  และวางแผนการเรียนของนักเรียนไว้ตลอดเทอม   โดยต้องเข้าใจด้วยว่านักเรียนมีวิชาอื่น ที่ต้องเรียน ต้องสอบ  และยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรอีกมากมาย   และในทำนองเดียวกัน ตัวครูเองก็มีหน้าที่อีกหลายอย่าง รวมทั้งยังมีภาระส่วนตัวอีกด้วย   ชีวิตการเป็นครูเป็นชีวิต ที่ถูกเรียกร้องให้ต้องทำต้องรับผิดชอบหลากหลายด้าน  ต้องเอาชนะความวุ่นวาย จัดระบบ ตัวเอง บริหารเวลาให้ได้   และต้องฝึกนักเรียนให้บริหารเวลาของตนเป็น ด้วย   รวมทั้งให้ รู้จักควบคุมตนเอง จัดการชีวิตและเวลาของตนเองเป็นด้วย   

          ลงท้ายนักเรียนกับครูต้องเรียนวิชาเดียวกัน ฝึกฝนเรื่องใหญ่ของชีวิตในทำนองเดียวกัน คือการควบคุมจัดการชีวิตหรือเวลาของตน   และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ในท่าม กลางภารกิจหรือสิ่งที่เข้ามาเรียกร้องต้องการตัวเราล้นหลาม

          โดยที่สิ่งเรียกร้องรุนแรงยิ่งคือกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ของตัวเรา ที่ตัวเราเองก่อขึ้นเอง และที่ดดนกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมรอบข้าง     ครูต้องเข้าใจส่วนนี้ที่เป็นธรรมชาติที่ เกิดขึ้นต่อนักเรียน เช่นนักเรียนวัยรุ่น จะมีแรงขับดันทางเพศ บางคนรุนแรงมาก  ครูจะต้องหา ทางบูรณาการความรู้และทักษะเพื่อให้นักเรียนสามารถผ่านพันอุปสรรคในชีวิตช่วงนี้ไปให้ได้   นี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทักษะชีวิต คือทักษะชีวิตการเป็นวัยรุ่น ที่เป็นส่วนหนึ่งของ 21st Century Skills 

          ครูของศิษย์ที่เป็นวัยรุ่น  ที่ไม่ได้เอาใจใส่จัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตการเป็นวัยรุ่น ให้แก่ศิษย์   ปล่อยให้ศิษย์ลองผิดลองถูกเอง และมีเด็กลองผิด หมดอนาคตไปจำนวนมาก  ไม่ถือเป็นครูเพื่อศิษย์ 

          มีครูจำนวนหนึ่งมุ่งสร้างหลักฐานเอกสารว่าตนได้ทำหน้าที่สอนอย่างดี ครบถ้วน สมบูรณ์  แต่ไม่ได้เอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์  ไม่ได้เอาใจใส่ศิษย์เป็นรายคน   ครูเช่นนี้ ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์

          ครูที่มุ่งสอนวิธีตอบข้อสอบ อาจทำให้ผลสอบของศิษย์ดี โรงเรียนมีชื่อเสียง และเขตพื้นที่การศึกษาของตนพอใจ  ผู้้บริหารของกระทรวงศึกษาฯ พอใจ   แต่ประโยชน์ ต่อชีวิตในอนาคตของศิษย์ไม่มาก  สู้การสอนเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างแท้จริงในตัวศิษย์ ไม่ได้    โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อบรรลุทักษะที่ซับซ้อน ที่เรียกว่า 21st Century Skills   ที่จะช่วยให้ ศิษย์ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตในโลกอนาคตที่ซับซ้อน แปรผัน ไม่แน่นอน

          มีครูจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องการรับแรงบีบคั้นใดๆ มุ่งแต่จะจัดการเรียนรู้เพื่อความสนุก สนานของเด็ก  ซึ่งอาจจะเป็นโครงการให้นักเรียนทำโครงการละหลายๆ สัปดาห์   แต่ไม่ได้ วางพื้นฐานความรู้และทักษะ สำหรับการเรียนรู้ในชั้นถัดขึ้นไป

 

เรื่องเล่าจากครู เลาแอนน์

          ครั้งหนึ่ง ครูเลาแอนน์กับทีมครูอีก ๓ คน ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนวัยรุ่น ๕๐ คน ที่มีปัญหาไม่เอาใจใส่การเรียน  อ่านหนังสือไม่ออก และเบื่อเรียน   ศึกษาธิการเขตการศึกษา ให้คำแนะนำแก่ทีมครูว่า "การสอนตามหลักสูตรไม่ใช่การสอนที่แท้จริง" (covering curriculum is not teaching)   ไม่มีใครคาดหวังให้คุณแก้ปัญหา ให้เด็กกลุ่มนี้เรียนทันกลุ่มปกติ โดยการสอนให้จบเล่มตำราภายใน ๑ ปี   ขอแนะนำให้เลือกสาระส่วนที่คิดว่าสำคัญที่สุด และสอนให้เด็กเข้าใจ   อย่าพยายามสอนทุกเรื่อง ให้เลือกเฉพาะส่วนที่เป็นหลักการและทักษะ ที่สำคัญที่สุด   จงสอนให้นักเรียนรู้วิธีเรียน  เพื่อให้เขาเรียนส่วนที่เขาล้าหลังได้เอง

          ทีมครูทำตามคำแนะนำ และพบว่าได้ผลอย่างน่าพิศวง  เมื่อนักเรียนตระหนักว่าครูพร้อมที่จะสอนช้าลงในส่วนที่นักเรียนเข้าใจยาก   นักเรียนก็มีกำลังใจเรียนเพิ่มขึ้น   เอาใจใส่การเรียนเพิ่มขึ้น   และเรียนเสริมส่วนที่ตนเรียนช้าด้วยตนเอง   ในที่สุดนักเรียนกลุ่มนี้มีผลการเรียนเท่ากับนักเรียนกลุ่มปกติในวิชา ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ และคอมพิวเตอร์   และเรียนได้ดีกว่าในวิชาคณิตศาสตร์   รวมทั้งเรียนตำราเล่มนั้นได้ตลอดเล่ม

          นักเรียนกลุ่มนั้นสอนครู เลาแอนน์ ว่า เด็กๆ มีพลังความสามารถในการเรียนมากกว่าที่เราคิด  หากเขามีกำลังใจและรู้สึกคุณค่าของการเรียน   ครูที่เอาใจใส่ ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญในใจครู   ครูที่พร้อมจะเดินเคียงคู่ไปกับการเรียนของเด็ก จะช่วยให้เด็กเรียกพลังการเรียนรู้ของตนคืนมา และเรียนรู้ได้อย่างมีพลัง
 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มี.ค. ๕๔
         
                

หมายเลขบันทึก: 435909เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2011 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทุกวิชาที่สอนก็จะบอกนักศึกษาค่ะว่าต้องพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะครูเองก็ไม่รู้อีกหลายต่อหลายเรื่อง และก็ไม่พยายามสอนทุกเรื่องที่รู้ แต่สามารถแนะนำแนวทางการเรียนรู้ให้ได้

covering curriculum is not teaching = การสอนให้ครบตามเนื้อหา ไม่ไช่การสอนที่แท้จริง

คิดเป็น ทำเป็น สำคัญกว่าเนื้อหา มากครับ เห็นด้วยมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท