เพลงอีแซว ตอนที่ 14 เกาะติดเวทีการแสดง คิดถึงและเสียดายรายการไทยโชว์


ความบันเทิงอาจมีวันเสื่อมสิ้นสุด แต่สารประโยชน์ที่ได้จากไทยโชว์จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป

เพลงอีแซว ตอนที่ 14

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(คิดถึงและเสียดายรายการไทยโชว์)

ปิดเทอมใหญ่ที่ทีวีไทยไปอีกนานเท่าไร

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

                                   
         ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามดูรายการไทยโชว์มาตั้งแต่ตอนแรก ไทยโชว์ : ขยับกรับขับเสภา ประเดิมเทปแรกตอน "ขยับกรับขับเสภา" เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ด้วยความยิ่งใหญ่อลังการ กับความขลังของบทไหว้ครูเสภา ด้วยเสียงขับของศิลปินแห่งชาติ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติซึ่งมีถิ่นกำเนิดและมีที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี รายการนี้ได้นำเสนอโชว์ด้านศิลปะการแสดงในทุกท้องถิ่นของประเทศไทยต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2554 รวมเวลา 2 ปีกว่า จำนวน 109 ตอน
          แน่นอนว่าการแสดงของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ท่านผู้ชมที่อยู่ต่างท้องถิ่น อยู่คนละภาคอาจไม่เข้าใจในการสื่อความหมายได้อย่างถูกต้องชัดเจนครบถ้วน แต่นั่นคือเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มคนที่มีมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น ชวนให้คิดน่าติดตามเพื่อที่จะได้ไปพบกับเป้าหมายความต้องการที่แท้จริงของการแสดงนั้น ๆ อย่างถูกต้องตรงประเด็น นับว่า รายการไทยโชว์มีประโยชน์ทางการศึกษา ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีแหล่งสืบค้นที่เป็นของจริงและได้นำเอาข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาความรู้ได้อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค

                               

                                        (ภาพประกอบ มาจากเวบไซต์ รายการไทยโชว์)

          รายการไทยโชว์เป็นรายการที่มุ่งเชิดชูศิลปินและการแสดงของไทย ดังนั้นทีมงานจึงมุ่งไปที่ศิลปินแห่งชาติและกลุ่มผู้แสดงที่ยังสืบสานรักษาศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่นเอาไว้ รวมทั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยได้นำเสนอผลงานผ่านสื่อโทรทัศน์ ช่อง ทีวีไทย (ไทย PBS) ทุกวันอาทิตย์ เวลา 18.00-19.00 น. ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับทีมผู้ผลิตรายการไทยโชว์ เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2554 และในช่วงเวลานั้นได้มีการประสานงานกันเกี่ยวกับการนำเสนอรายการไทยโชว์ “ตอนเพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ” ทำให้ผมได้ทราบว่า การที่จะผลิตรายการเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้านออกมานำเสนอได้ในแต่ละครั้งมีความละเอียดอ่อน พิถีพิถันมาก และต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบยกเอาจุดเด่น ๆ ของแต่ละศิลปะการแสดงออกมาให้ได้ เพื่อที่จะเข้าไปให้ถึงในหัวใจและการรับรู้ของท่านผู้ชม
          ไม่ว่าจะยุ่งยากลำบากสักเพียงใด ไม่ว่ากลุ่มศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผู้นั้นจะอยู่จุดใดของประเทศไทย รายการไทยโชว์เดินทางไปพบและเก็บเอาวิถีชีวิตมานำเสนอให้ได้ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์กันจนได้ สิ่งที่เราไม่เคยได้ดู ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้รับรู้ก็ยังได้รู้ได้เห็น นับว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ที่หน้าจอทีวีซึ่งขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ให้ผลที่คุ้มค่าเกินราคาจริง ๆ แต่ในกลุ่มของผู้ที่ไม่เคยได้สัมผัสกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านและการแสดงประจำท้องถิ่นอื่น ๆ อาจมีความเห็นไม่คล้อยตามที่ผมได้แสดงความเห็นไว้ตรงนี้ก็อาจเป็นได้ เพียงแต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่คนรุ่นเก่าได้คิดสร้างสรรค์เอาไว้ได้ถูกประยุกต์และพัฒนาจนกลายมาเป็นศิลปะการแสดงในยุคปัจจุบันอย่างลงตัว หากไม่มีที่มาหรือไม่มีต้นกำเนิดของการแสดงที่ไหนจะสามารถพัฒนาจนมีความเจริญก้าวหน้ามาได้ขนาดนี้
          ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ชีวิตของคนเรามีเกิดมีดับยังจะต้องหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลโลกของเราในแต่ละช่วงอายุของคนเป็นกันอยู่อย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับ มีมามีจาก ไปจนถึงมีการสร้างสรรค์มีทำลาย เป็นสมดุลแห่งความพอดี แต่ในบางสิ่งบางอย่างยังขาดความสมดุลจนมองดูว่าในไม่ช้าอาจจะไม่มีหลงเหลือเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นอีกต่อไป หากมนุษย์หลงผิดคิดว่า “สิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้น ทั้งที่มิใช่ความถูกต้องกลายเป็นความถูกต้องไปเสียได้” อย่างน้อยรายการไทยโชว์ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดเอาไว้และนำเอามาให้ได้เรียนรู้ได้ศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่ความนิยมตามยุคสมัยต่อไป

                            

                                      (ภาพประกอบ มาจากเวบไซต์ รายการไทยโชว์)

          ไทยโชว์ : ปิดเทอมใหญ่ไทยโชว์ (3 เมษายน 2554) ตลอดระยะเวลาสองปีกว่าไทยโชว์ ๑๐๙ ตอน ได้นำเสนอสาระบันเทิงในด้านศิลปะการแสดงไทยที่ทรงคุณค่าหลากหลายมิติทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย คลอบคลุมทุกภูมิภาคลงลึกทุกพื้นที่ ได้ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์จุดประกายความคิด สร้างความหวังให้กำลังใจกับศิลปินทุกวัยทุกระดับ ในฐานะเป็นเวทีสื่อกลางสาธารณะ ทำให้เราได้เกิดการเรียนรู้ความเป็นไทยอย่างมีสาระและสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน ช่วงเวลานี้ สถาบันการศึกษาต่างๆก็ได้ปิดเทอมพักผ่อน ไทยโชว์เช่นเดียวกัน ทางรายการต้องขอปิดเทอมใหญ่ เพื่อลงภาคสนามเก็บเกี่ยวข้อมูลที่ใกล้สูญหาย พร้อมกับไปเยี่ยมเยียนศิลปินทุกท้องถิ่น ทั่วประเทศไทย ซึ่งคุณผู้ชมทุกท่าน สามารถติดตามความเคลื่อนไหวให้กำลังใจ เสนอแนะและร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ เพลงพื้นบ้านสัญจร ๘๔ หมู่บ้าน ได้อย่างต่อเนื่องโดยผ่านทางสังคมออนไลน์
          ทีมงานไทยโชว์และในฐานะตัวแทนลูกหลานศิลปิน คนรักศิลปะการแสดงไทย ทั่วทั้งประเทศต้องขอขอบคุณ Thai PBS ที่เปิดโอกาสให้พื้นที่ได้นำเสนอศิลปะทรงคุณค่า ให้คนไทยได้ประจักษ์ว่าเรามีรากเหง้า เราอุดมด้วยทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อย่างจริงจัง จริงใจ อนุรักษ์ ฟื้นฟู แล้วนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ พัฒนาเพิ่มมูลค่าอย่างเคารพรู้คุณค่า "ความบันเทิงอาจมีวันเสื่อมสิ้นสุด แต่สารประโยชน์ที่ได้จากไทยโชว์จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป เพราะเรา...ไม่อยากให้หายไป"
ที่มาของข้อมูล : http://www.thaipbs.or.th/Thaishow/
                         

                                      (ภาพประกอบ มาจากเวบไซต์ รายการไทยโชว์)

          คิดถึงคมสันต์ สุทนต์ คิดถึงรายการไทยโชว์  ”เพราะเราไม่อยากให้หายไป” ติดตามชมรายการย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ :  http://thaishowtv.blogspot.com 
          ไทยโชว์ : ชนราง ตอนที่ 1   (20 ก.พ. 2554)
          ไทยโชว์ :โนราเมืองตรัง       (13 ก.พ. 2554)      
          ไทยโชว์ : โนราโรงครู          (6 ก.พ. 2554)
          ไทยโชว์ : เพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ (30 ม.ค. 2554)      
          ไทยโชว์ : เมืองสามหมอก 3 (23 ม.ค. 2554)
          ไทยโชว์ : เมืองสามหมอก 2 (16 ม.ค. 2554)
          ไทยโชว์ : เมืองสามหมอก 1 (9 ม.ค. 2554)
 “ความบันเทิงอาจมีวันเสื่อมสิ้นสุด แต่สารประโยชน์ที่ได้จากไทยโชว์จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป เพราะเรา...ไม่อยากให้หายไป”

          ติดตามพร้อมให้กำลังใจ ชมรายการไทยโชว์ย้อนหลังทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow
ร่วมกิจกรรมติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องได้ทาง
http://thaishowtv.blogspot.com,
Facebook,Hi5 พิมพ์ค้นหาคำว่า Thaishow
Email : [email protected], [email protected]
ที่มาของข้อมูล : Khomsun Suthon  
 
ติดตามเพลงอีแซว เกาะติดเวทีการแสดง ตอนที่ 15 เสียดายรายการที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย
หมายเลขบันทึก: 435340เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2011 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท