ปลายทางที่ตีบตันของการสอนภาษาไทย


การมุ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้เป็นวิธีการเดียวที่พ้นจากปลายทางอันคับแคบ
มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ
 

 

          ภาคการศึกษาหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา...หลังจากเสียงขีดข่วนบนกระดานเงียบไป  ดูเหมือนผมจะอ่านข้อความหลังจากที่มือของครูบรรจงประดิษฐ์อักษรได้ว่า  “ภาษาไทยคือเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ”  เมื่อตอนที่ยังไม่ประสีประสาและเป็นนักเรียนที่เรียนอ่านเขียนภาษาไทยเพื่อให้อ่านออกเขียนได้  ผมไม่มีข้อสงสัยกับข้อความนี้ และออกจะหลงเพ้อไปว่า ภาษาของเราเป็นสิ่งที่สูงส่งและดูศักดิ์สิทธิ์เสียนี่กระไร   

 

          หลายปีผ่านไป ผมยังคงศรัทธาในความ “สูงส่ง” ของภาษาแรกของชีวิต  แต่ความสูงส่งดังกล่าวไม่ได้อยู่ในมิติเดิมอีกต่อไป  สำหรับใครหลายคนที่ถูกปลูกฝังมาเช่นเดียวกับผม ย่อมจะต้องเห็นว่าภาษาไทยนั้นเป็นเหมือนกับศาสตร์ของ “ปัญญาชน”  เพราะประกอบไปด้วยไวยากรณ์ที่มีรายละเอียดมากมากมาย และไหนจะมีวรรณคดีมรดก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ศัพท์แสงที่มีรากเหง้าจากต่างประเทศ และแปลได้ยากยิ่งสำหรับคนในศตวรรษที่ 21  ผู้ที่ชำนาญและเชี่ยวชาญภาษาไทยในสายตาของผมนั้น  จึงมีลักษณะใกล้กับนักบวชผู้คงแก่เรียนเข้าไปทุกที  ผู้หนึ่งผู้นั้นน่าจะเป็นผู้แตกฉานในคัมภีร์ หรือผู้ที่สามารถใช้ภาษาในการประพันธ์หรือเสกสร้างวรรณกรรมชั้นสูงได้  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า  ผู้ใช้ภาษาไทยได้อย่างแตกฉานและงดงามนั้น มิใช่คนที่หาได้ตามท้องตลาดหรือร้านช่องโดยทั่วไป ผมเชื่อว่ามุมมองที่ว่า  “ภาษาไทยเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ศึกษาและเข้าถึงได้ยาก”  มิได้เกิดกับผมเท่านั้น แต่ยังเกิดกับนักเรียนน้อยๆ ที่น่ารักของเราอีกด้วย 

 

          ที่จริงแล้วมิติของความสูงส่งดังกล่าวมิได้มีอิทธิพลที่สลักสำคัญอย่างใดนัก  หากไม่ได้ถูกบีบบังคับจากปรัชญาและวิธีการสอนของครูภาษาไทยส่วนหนึ่ง  ก็เมื่อครูเชื่อว่าภาษาเป็นมรดก ภาษามีค่าและเป็นสิ่งอันสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์  หน้าที่ของนักเรียนจึงมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือการสืบทอดและบูชา  ที่ร้ายกว่านั้นคือ ได้มีความพยายามที่จะสร้างกรอบแนวคิดว่า ครูภาษาไทยจะต้องมีหน้าเป็นผู้ส่งผ่านวัฒนธรรม ซึ่งหากจะเปรียบเทียบก็คงจะไม่ต่างจากทนายผู้หยิบยื่นมรดกให้แก่ทายาทที่พลัดหลง หรือร่างทรงผู้สืบสานเจตนาฟ้าดินให้แก่คนรุ่นต่อไป  ผลก็คือเราจะไม่ตั้งคำถามว่าเราสอนภาษาไทยไปเพื่ออะไร  สิ่งที่เราสอนอยู่เป็นเป้าหมายจริงๆ ของการสอนภาษาไทยหรือไม่  และสิ่งที่เราสอนในวิชาภาษาไทยนั้นควรจะเป็นอะไรกันแน่  ผลของการไม่ตั้งคำถามก็คือการไม่สร้างความรู้  เพราะเราไปทึกทักเองว่าความรู้มีอยู่แล้ว และการเรียนรู้ภาษาไทยคือการเรียนรู้ “ความรู้” เกี่ยวกับภาษา ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงดังเช่น      เสาศิลาจารึกในปราสาทอันผุพัง ด้วยเหตุนี้  ในฐานะที่เป็นครูภาษาไทย เราจะเกิดความอัดอั้นและ “ตีบตัน” ใจทุกครั้งที่เราสอนหนังสือตามหลักสูตรแล้วนักเรียนถามว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม”  “เรียนไปไม่ได้ใช้”  “เรียนแล้วจะเอาไปแก้ไขอะไรหรือทำอะไรได้”  ครูภาษาไทยหลายคนพยายามที่จะหาหนทางออกจากความรู้สึกอันตีบตันนี้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า  “วัฒนธรรม” ผมจึงมักจะได้ยินคำตอบว่า  “เพราะเป็นคนไทยจึงต้องเรียนรู้”  “เพื่อให้เธอใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง” “เพื่อให้ซึมซับจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของ       บรรพบุรุษ” คำตอบดังกล่าวทำให้ผมไม่แปลกใจว่า  สิ่งที่ผมเคยเรียนในวิชาภาษาไทยเมื่อตอนเป็นนักเรียนมัธยมนั้น  บัดนี้ผมเองได้สอนสิ่งเดียวกันนั้นแก่นักเรียนของผม  ทั้งที่ผมและนักเรียนของผมต่างกันทั้งในด้านความคิด ภูมิหลังและประสบการณ์  สังคมไทยในสมัยผมกับสังคมที่นักเรียนของผมดำรงอยู่ก็น่าจะต่างกันมากเมื่อพิจารณาประเด็นนี้ให้ลึกลงไปแล้วผมจึงได้สรุปว่า  การพยายามให้เหตุผลของครูในลักษณะดังกล่าวมา  เป็นการให้ความสำคัญกับภาษามากกว่าการพัฒนาความเข้าใจหรือการ “ตื่นรู้”  ในตนเองของผู้เรียน   การรื้อสร้าง (reconstruction) ในหลักสูตรและการสอนภาษาไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง  แม้ว่าจะมีการลั่นละครเบิกโรงของการปฏิรูปการศึกษาของภาครัฐก็ตาม  ดังนั้น  ผมจึงอยากจะเรียกร้องให้ครูภาษาไทย    นักหลักสูตรและการสอนภาษาไทยหันกลับมาค้นหา “ค้นคุณค่า” และ “สร้างความหมายใหม่” ในการออกแบบหลักสูตรและการสอนของตนเอง  ด้วยการไม่ยึด “องค์ความรู้” เป็นที่ตั้ง แต่จงยึด “กระบวนการสร้างความหมายใหม่ๆ” ของผู้เรียน ดังที่กฤษณมูรติ (แปลโดย นวลคำ จันภา, 2548: 31)  นักปราชญ์        คนสำคัญได้กล่าวไว้ว่า

 

    “การศึกษาควรที่จะเสริมสร้างค่านิยมใหม่ๆ  ถ้าเพียงแต่ปลูกฝังค่านิยมที่ยึดกันอยู่แล้วให้ซึมลงไปในจิตใจของเด็ก  ทำให้เด็กปฏิบัติตามแบบอย่างต่างๆ สืบไป  ก็เท่ากับกำกับจิตเขาโดยไม่ได้ปลุกเร้าให้เขาเกิดสติปัญญาเลย   การศึกษานี้แหล่ะมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิกฤตการณ์โลกที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้         นักการศึกษาหรือครูที่ตระหนักดีถึงเหตุแห่งความวุ่นวายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ควรตั้งคำถามตัวเองได้แล้วว่า จะปลุกเร้าให้ศิษย์เกิดสติปัญญาอย่างไร  อนุชน  รุ่นหลังจึงจะไม่สามารถสร้างความขัดแย้งและหายนะให้สังคมต่อไปอีก” 

 

 
         
           สุนทรกถาข้างต้นเป็นความจริงและเป็นช่องทางเดียวที่เราจะพ้นไปจากความตีบตันของการสอนภาษาไทยแนวอนุรักษ์นิยมสุดขั้วไปได้  เราต้องเยียวยาการสอนภาษาไทยในฐานะ “สิ่งที่มีชีวิต” มิใช่ “สิ่งที่ตายไปแล้ว”  และเช่นกัน เราต้องสอนภาษาไทยในฐานะที่เป็น “สิ่งที่มีชีวิต” หาใช่สิ่งที่ไร้วิญญาณไม่        และการสอนที่มีชีวิตนั้นก็คือการสอนที่เกิดขึ้นจากภายในของผู้เรียน หลักสูตรควรออกแบบโดยอาศัยความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นฐาน เนื้อหาและประสบการณ์ควรมาจากชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนได้สัมผัสจับต้องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ข่าว บทความวิชาการ บทความปรัชญา  วรรณกรรมปัจจุบัน รวมทั้ง       กาพย์กลอนแห่งความคิดควรจะได้มีการนำมาวิพากษ์และไตร่ตรองในชั้นเรียนภาษาไทย  ชั่วโมงวรรณคดี   ควรเน้นไปที่การตอบสนองและการวิพากษ์ของผู้เรียน  ที่ปราศจากกรอบของประเพณีที่คัดเคร่ง ตัวอย่างของกาพย์กลอนแห่งความคิด เช่น  กวีนิพนธ์ “ต้านพายุ” ของคมทวน คันธนู (2546: 13-14)  ที่ว่า
 
 
                       “ไม่มีดอกเทวดาบนฟ้านี้                  ป่วยการหมายบารมีมายึดถือ 
                   มีแต่ตัวมีแต่ตีนมีแต่มือ                        ที่จะลงที่จะรื้อที่จะทำ 
                        ทุกทุกย่านหย่อมหญ้าที่ย่างเหยียบ      ใช่ปูพรมราบเรียบให้เหยียบย่ำ 
                   ล้วนหนามคมหินแข็งคอยแทงตำ             ทั้งผงฝุ่นหมุนคล่ำกระหน่ำวน”    
                                                                   (นาฏกรรมบนลานกว้าง)
 

 

          ประโยชน์อะไรที่จะสอนว่า  กลอนข้างต้นมีความงามและโดดเด่นในด้านการใช้สัมผัสพยัญชนะเสียง     /ย/ ในวรรค  “ย่านหย่อมหญ้าที่ย่างเหยียบ”  คุณค่าอะไรที่จะเราสอนว่ามีการซ้ำคำว่า  “ทุกทุก” แล้วนำไปกำหนดคำถามในการสอบประจำภาคที่ไม่สามารถวัดค่าความเป็นมนุษย์ว่า “วรรคใดมีการซ้ำคำ” หรือ  “วรรคใดมีเสียงสัมผัสพยัญชนะมากที่สุด” คำถามดังกล่าวคือกลิ่นอายและเครื่องหมายของความตีบตันที่ผมกล่าวถึง  ไม่ควรหรือที่เราจะเปลี่ยนคำถามว่า  “กวีนิพนธ์ดังกล่าวต้องการจะบอกสิ่งใด”  “อะไรคือความคิดที่เกิดขึ้นจากการอ่าน”  “กวีนิพนธ์บทนี้คุณค่าอยู่ที่ใด” “ชีวิตของนักเรียนสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ในกวีนิพนธ์นี้อย่างไร”  “ความสุขเกิดจากความทุกข์นั้นมีจริงหรือไม่”  “เราจะมีสุขโดยไม่ต้องผ่านความทุกข์ได้อย่างนั้นหรือ”  “ทำอย่างไรเราจึงเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์” และ  “จริงๆ แล้วเราเชื่อว่ามนุษย์ที่มีสองมือนี้พึ่งตนเองได้จริงหรือไม่” จะเห็นว่าหากการสอนของเราเปลี่ยนไปเช่นนี้  กวีนิพนธ์จะเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการปลูกปั้นสติปัญญาและสามารถทำให้ผู้เรียนสืบค้นลงไปในห้วงคำนึงของตนเอง  ศักยภาพที่พัฒนาของผู้เรียนจึงเป็นผลมาจากการออกเดินทางดั้นด้นเพื่อแสวงหาตัวตนภายใน จากเข็มทิศและแผนที่ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเอง  หาใช่การเสพความงามของวัตถุระหว่างทางอันผิวเผิน  เช่นนักเดินทางผู้มีมัคคุเทศก์ฝึกหัดคอยบอกกล่าวไม่  การออกแบบหลักสูตรและการสอนที่พัฒนากระบวนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่จะทำลายความตีบตันของการสอนภาษาไทย  ดังที่  Kelly  (1999: 78)  นักหลักสูตรได้กล่าวไว้สรุปได้ว่า  กระบวนการเรียนรู้นั้นหาได้เป็นสิ่งที่สิ้นสุดในตนเอง แต่เป็นสิ่งที่มีพลวัตต่อเนื่อง  และมโนทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้คือการพัฒนาความเข้าใจ (development of understanding) มากกว่าที่จะเน้นเรื่องการได้มาซึ่งความรู้  (acquisition of knowledge)  

 

          ครูภาษาไทยและนักหลักสูตรและการสอนจึงควรจะต้องเริ่มตั้งคำถามว่า  อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของการสอนภาษาไทย เราสอนภาษาไทยเพียงเพื่อให้นักเรียนสื่อสารได้ดีและทำได้เช่นสื่อมวลชนในสำนักข่าวอันมีชื่อเสียงแค่นั้นหรือไม่  อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าและเอื้อต่อการสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของผู้เรียน เนื้อหาและทักษะทางภาษาไทยอะไรหรือกระบวนการเรียนการสอนอะไร ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างความรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตและการดำรงตนอยู่ในโลก น่าเสียดายว่าคำถามเหล่านี้ไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือครุ่นคิดอย่างรอบคอบจากผู้สร้างหลักสูตร หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยใดในประเทศ  ผมจึงฝากความหวังเดียวไว้กับครูภาษาไทยในฐานะผู้ใช้หลักสูตร ว่าครูนั้นเองที่จะต้องเป็นผู้วิจัยหรือศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจผู้เรียน       ให้มากขึ้น เพื่อที่จะนำไปจัดเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยที่มีคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริงได้  ผมมีความฝันว่านักเรียนของเราจะต้องไม่มีฐานะเป็นธนาคารที่ถูกยัดเยียดความรู้  ที่ไม่สามารถสร้างดอกเบี้ยอะไรได้ แต่พวกเขาจะต้องเป็นแปลงดินอันอุดมไปด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา  ที่พร้อมจะงอกงามและผลิดอกและงอกผลแห่งจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์

 

          วันเปิดภาคการศึกษาที่จะมาถึง...ผมตั้งใจที่จะไม่ขีดเขียนอะไรบนกระดานดำให้มากนัก แต่จะให้นักเรียนของผมออกไปเขียนและสอนผมให้รู้เสียทีว่า ภาษาไทยที่เขาสามารถจะใกล้ชิดและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร  ผมเชื่อว่าชั่วโมงเรียนนั้นคงจะสนุกและทำให้ผมตื่นตาและ “ปิติใจ”      ได้ไม่น้อย 

______________________________

 

รายการอ้างอิง 

กฤษณามูรติ.  นวลคำ  จันภา (ผู้แปล). การศึกษาและสาระสำคัญของชีวิต.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิอันวีกฤษณา.

คมทวน คันธนู (นามปากกา). 2546.  นาฏกรรมบนลานกว้าง.  พิมพ์ครั้งที่  9.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบัน  วิชาการ 14 ตุลา.

Kelly, A. V.  1999.  The curriculum: Theory and practice. 4ed.  London: Paul Chapman.

 

 

การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ  ควรดำเนินการตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 434773เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจที่มีครูภาษาไทยรุ่นใหม่ ๆ ที่เขียนแทนความรู้สึกได้ดีจริง ๆ

หลาย ๆ ครั้งที่เคยเจอคำถามเหล่านี้  ซึ่งเราก็ตอบไปว่าเพราะภาษาไทยเป็นสมบัติของชาติที่เราต้องเรียนรู้ อ่านบทความนี้แล้วได้ข้อคิดที่ดีหลายอย่าง ขอบคุณมากคะ

เรียน คุณครูเทศบาล ครับ

ขอบพระคุณที่เป็นมิตรในการร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยนะครับ ผมก็เคยทำเช่นที่อาจารย์บอกแก่นักเรียนครับ แต่อย่างที่พูดไปแล้วว่า การผลักสิ่งที่จะสอนให้มีคุณค่าโดยยกขึ้นเป็นสมบัติชาตินั้น คงจะไม่ยุติธรรมทั้งต่อผู้เรียนและการสอนภาษาไทยนัก เพราะสมบัติชาติมีคุณค่าเพราะสังคมยกย่อง แล้วสังคมนั้นก็ไม่ใช่ผู้เรียนของเรา ที่นั่งอยู่ต่อหน้าเราในชั้นเรียน เราไม่อาจเรียกสิ่งที่ถูกบังคับให้เรียนว่าสมบัติ แต่สำหรับผม ภาษาไทยไม่ใช่สมบัติ แต่ภาษาไทยเป็นชีวิตของเรา...คนไทยทุกคนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท