มณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์


มณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์

มณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์

            “มณฑา” หรือ “มณฑารพ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Talauma candollei Bl.” อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพวกจำปา จำปี และยี่หุบ เป็นไม้พุ่มสูงราว 3-10 เมตร เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดใหญ่รูปรี ปลาย ใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา มักเป็นคลื่นหรือเป็นลอน ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือส่วนยอดของลำต้นมีสีเหลืองนวล มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา แข็ง   ดอกมีกลิ่นหอมและส่งกลิ่นไปไกล โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก และออกดอกตลอดปี ส่วนผลรูปรี ออกเป็นกลุ่ม และเนื่องจากมณฑามีดอกสวยและกลิ่นหอมจึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

         ดอกไม้ทิพย์แห่งเมืองสวรรค์ที่ชื่อ มณฑา หรือ มณฑารพ นั้น ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปราย ลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์  ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชาดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาตถาคตแม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม     ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่   ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์  พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ   ประพฤติตามธรรมอยู่ดังนี้ฯ” ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ทุกหนแห่งในเมืองกุสินาราเต็มไปด้วยดอกมณฑารพ “...สมัยนั้น   เมืองกุสินาราเดียรดาษไปด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณแค่เข่า  จนตลอดที่ต่อแห่งเรือน บ่อของโสโครกและกองหยากเยื่อ ครั้งนั้นพวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา  สักการะ เคารพ นับถือ   บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมมาลัยและของหอม ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์...”หลังจากพระพุทธองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระมหากัสสปะเถระ ซึ่งอยู่ที่เมืองปาวา ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองกุสินาราหลายวันแล้ว จึงตั้งใจจะไปเฝ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวาร 500 รูป ขณะที่กำลังเดินทางไปเมืองกุสินาราอยู่นั้น ได้หยุดพักหลบแสงแดดอยู่ใต้ร่มไม้ข้างทาง ได้เห็นนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองกุสินารา ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา พระมหากัสสปะซึ่งเวลานั้น ยังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็นึกสังหรณ์ใจ เพราะดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานวันจาตุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร   เป็นต้น  ซึ่งเทพเทวดาจะบันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลกพระมหากัสสปะจึงได้สอบถามข่าวคราวของพระพุทธ องค์จากนักบวชผู้นั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานมา 7 วันแล้ว และดอกมณฑารพนี้ก็ได้มาจากสถานที่ที่พระองค์ปรินิพพานนั่นเอง เมื่อได้ยินดังนั้นพระมหากัสสปะจึงรีบเร่งนำพระภิกษุสงฆ์ออกเดินทางไปยังเมืองกุสินารา นอกจากนี้ มณฑายังเป็นดอกไม้ของนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดีที่มีนามว่า กิริณีเทวี


 

หมายเลขบันทึก: 434691เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท