บางเสี้ยวชีวิต คุณหมอสงวน


คุณหมอสงวนมีความคิดพื้นฐานประการหนึ่ง คือความเท่าเทียมกันในสังคมในสังคม อันเป็นแนวคิดพื้นฐานจากกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษาสมัย ๑๖ ตุลาคมอันโด่งดัง

เมื่อระลึกย้อนหลังไปถึงประสบการณ์การทำงานในแวดวงสาธารณสุขและด้านสุขภาพมาเกือบตลอดชีวิต แม่ต้อยเองได้สัมผัสกับประสบการณ์ทุกรูปแบบ  เส้นทางเดินของการทำงานไม่ได้ง่ายดังภาพที่เห็นในปัจจุบันนี้เลย

      วันนี้แม่ต้อยอยากจะเล่าส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ได้ร่วมรู้จักและทำงานกับบุคคลคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า”วีรบุรุษ” ของวงการสาธารณสุข ของประเทศเรา นั่นคือ นายแพทย์ สงวน  นิตยารัมภ์พงษ์  ผู้ก่อตั้งสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ คนที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมไทย

      รู้จักคุณหมอสงวน เนื่องจากเราทำงานสายงานเดียวกัน คือด้านการวางแผนและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข  แม่ต้อยทำงานด้านแผนงาน และงบประมาณ ที่กองโรงพยาบาลภูมิภาคในสมัยนั้น  และคุณหมอ ทำงานที่สำนักนโยบายและแผน ของกระทรวงสาธารณสุข

      งานของเราต้องเกี่ยวพันกันอย่างแน่นอน เพราะว่าทั้ง งบประมาณและทั้งนโยบาย ต้องมาจากหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุขภาพ คือ กองโรงพยาบาลภูมิภาคที่รับผิดชอบ โรงพยาบาล ศูนย์ โรงพยาบาล ทั่วประเทศ และกองสาธารณสุขภูมิภาค ที่รับผิดชอบ สำนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย

เรียกได้ว่าแค่หน่วยงานทั้งสองกองนี้เท่านั้นก็คลุมสถานบริการสาธารณสุขทั้งประเทศไปแล้ว งานเราจึงมีมากมายสายตัวแทบขาดเลยทีเดียว

คุณหมอสงวนเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง ในความรับรู้ของพวกเราในสมัยนั้น  มีความเป็นกันเอง ชอบคิดงานใหม่ๆเป็นประจำ  ติดดิน เป็นกันเอง และสนุก จะว่าไปไม่เหมือนคนที่เป็นหมอทั่วไป ที่มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ธรรมดา

แต่คุณหมอสงวน  แสนจะธรรมดา จริงๆ แต่ในความจริง “ ไม่ธรรมดา “จากภายใน

ชอบเรียกแม่ต้อย ว่า “ เจ๊ต้อย “

เนื่องจากขนาดของงบประมาณมีจำนวนมากมายมหาศาลมาก จึงเป็นที่หมายปองของนักการเมืองที่จะไกล่เกลี่ยให้ลงในพื้นที่ของตัวเองมากที่สุด  รวมทั้งการที่จะต้องเตรียมข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อให้งานของกระทรวงเป็นไปตามเป้าหมาย  งานแบบนี้ยากนักที่จะเข้าใจ  แม่ต้อยจำได้ว่าเราได้ร่วมงานกันในการเตรียมข้อมูลในการชี้แจงเป็นรายปี ราวกับการเข้าสอบไล่ปลายปีเลยทีเดียว เพื่อให้สามารถได้งบประมาณในแต่ละปี

คุณหมอสงวนมีความคิดพื้นฐานประการหนึ่ง คือความเท่าเทียมกันในสังคมในสังคม  อันเป็นแนวคิดพื้นฐานจากกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษาสมัย ๑๖ ตุลาคมอันโด่งดัง

“ พี่ต้อยช่วงจัดทีม พาผมและคณะไปดูงานด้านประกันสุขภาพได้ไหมครับ”

“ ไปที่ไหนบ้างละคะ  และจะดูงานด้านใดบ้าง “

ในสมัยก่อน การไปดูงาน เราต้องชี้แจงรายละเอียดถี่ยิบ  รวมทั้งแจ้งสถานที่ ที่เราจะไปด้วยว่าอยากจะหารือเรื่องอะไร?

รายการพวกนี้เราต้องต่อเองหมด จึงจะได้เนื้อหาสาระ ไม่ได้ปล่อยให้บริษัททัวร์ ทำ  เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไร

การดูงานแต่ละแห่งจึงเข้มข้น  แม่ต้อยจำได้ว่าในแต่ละแห่ง เมื่อเสร็จสิ้นการดูงาน  ในช่วงกลางคืน เราต้องเตรียมห้องประชุมเล็กๆ เพื่อสรุปความคิดและประเด้นต่างๆ จนดึกจนดื่น

ทุกๆครั้งเมื่อเสร็จสิ้นการดูงาน คุณหมอสงวนมักจะบอกว่า

“ ขอขอบคุณพี่ต้อยที่ช่วยดำเนินการจนพวกเราได้มาได้ศึกษาหาความรู้ในครั้งนี้”

ครั้งหนึ่งเราพาคณะไปดูงานมีระดับผู้บริหารกระทรวงฯ ไปหลายคน และต้องเดินทางต่อไปประเทศแคนาดา การเดินทางในช่วงสั้นๆ ต้องใช้เครื่องบินภายในประเทศ

เครื่องบินช่วงสั้นๆมีที่นั่งไม่พอ แม่ต้อยในฐานะผู้จัด จึงบอกว่าให้ทุกคนเดินทางไปล่วงหน้าไปก่อน  ส่วนแม่ต้อยจะรอไฟล์ต่อไป อีกสามชั่วโมง

คุณหมอสงวนจึงอาสาอยู่เป็นเพื่อนแม่ต้อยด้วย  เรานั่งคุยกันถึงความฝันของคุณหมอ งานที่จะทำไปข้างหน้า ที่สนามบินเล็กๆแห่งนั้น

จำได้ติดตาว่าเป็นช่วงเวลาบ่ายคล้อยแล้ว พราะอาทิตย์สีส้มกลมสวยค่อยๆเคลื่อนคล้อยลงไป อากาศเริ่มหนาวเย็น เรานั่งกินเบอร์เกอร์ ที่ซื้อจากสนามบินมากินแก้หิว

“ ผมจะตั้งสำนักงานปฏิรูปสุขภาพ จะเป็นออฟฟิสเล็กๆก่อน ในกระทรวง พี่จะมาช่วยได้ไหม?”

แม่ต้อยเป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธคน จึงบอกว่า “ ช่วยได้เสมอคะ  ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม “

เพราะว่าในความเป็นจริงตอนนั้น แม่ต้อยมีงานมากมายที่เริ่มต้นในที่ทำงานของแม่ต้อยเอง หลายๆเรื่อง เช่นงานคุณภาพโรงพยาบาล  งานแผน เงินบำรุงโรงพยาบาล และงบประมาณ งานกำลังคนทั้งแพทย์ และพยาบาล

รวมทั้งงานประกันสังคม งานนี้ตั้งต้นจากงานเล็กๆในความรับผิดชอบของแม่ต้อยเอง ด้วยซ้ำไป จนบัดนี้ขยายใหญ่โตมากมาย จนคิดไม่ถึงว่าในตอนนั้นเราเริ่มต้นได้อย่างไร

ที่สำนักงานปฎิรูปของคุณหมอสงวน เป็นที่ทำงานเล็กๆน่ารัก แต่มีงานมากมาย  แม่ต้อยก็ได้ทำตามที่ได้รับปากไว้ คือไปช่วยตามโอกาส

มีครั้งหนึ่งคุณหมอสงวนจัดประชุมระดับนานาชาติเรื่องนี้และคือ การประกันสุขภาพ  ทีมเล้กๆของคุรหมอต้องการผู้ช่วย แม่ต้อยจึงพาทีมจากกองรพ.ไปช่วยจัดการประชุมครั้งนี้ จำได้ว่าจัดที่จังหวัดนครราชสีมา มีคุณหมอรุจิรา มังคละศิริ เป็นคนรับทางนั้น

งานนี้เรียกว่า โหดสุดๆ เพราะแม่ต้อยไม่รู้จักใครสักคน และเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แม่ต้อยจึงไปต้อนรับคนที่มาประชุมด้วยตนเอง

      สนามบินนานาชาติ ตอนนั้นยังอยู่ที่ดอนเมือง  แม่ต้อยพาทีมไปนอนที่รร.อมารี แอร์พอร์ตเลย  เที่ยวบินที่เข้ามาทุกเที่ยวบิน แม่ต้อยจะไปรับเอง  ยืนยกป้ายรอรับ ราวกับเป็นบริษัททัวร์  เพื่อป้องกันความผิดพลาด

      ใครๆก็บอกว่าแม่ต้อยนี่ท่าจะบ้า..  ให้ใครทำก็ได้ งานแบบนี้ ไม่เห็นต้องทำเองสักนิด

แม่ต้อยบอกว่า “ ไม่ได้หรอก ทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด”

การทำให้ดีที่สุดนี่มันต้องเริ่มตั้งแต่เรานับหนึ่งเลยนะ  อันนี้เป็นแนวปฏิบัติของแม่ต้อยเอง

แม่ต้อยไปยืนยกป้ายจนบริษัททัวร์ จนดึกดื่น จนน้องๆที่มายกป้าย ข้างๆ ชะโงกมาถามว่า

“ พี่ๆๆ  มาจากบริษัท อะไรครับ”

ความผูกพันกับคุณหมอสงวนนั้นยังเกินจนมาถึงเรื่องราวของชีวิตบางด้านของคุณหมอด้วย

จากชีวิตที่มุ่งสู่อุดมการณ์แห่งชีวิตของคุณหมอในสมัยหนึ่ง  จึงทำให้การดำเนินกิจกรรมบางอย่างอยู่ภายใต้การดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

“ พี่ต้อย  ผมจะพบปะเพื่อนๆ  ช่วยแจ้งให้ผมหน่อยนะครับ”

บังเอิญว่า สามีของแม่ต้อยรับผิดชอบงานด้านนี้พอดี เราจึงคล้ายกับสนับสนุนซึ่งกันและกันเรื่อยมา

จวบจน แม่ต้อยได้ถูกทาบทามให้มาทำงานที่สรพ. คุณหมอสงวนเป็นคนแรกที่ให้กำลังใจในการตัดสินใจครั้งนี้

“ ดีแล้วพี่  แต่ผมให้เวลาพี่ ๑๐ ปีนะครับจึงจะไปได้ ระยะแรกคงเหนื่อยบ้าง”

“ อยากชวนพี่มาทำงานด้วยกันอีก แต่แบบนี้ดีแล้ว ”

จิตใจของยอดนักสู้จะออกมาจากคำพูดแบบนี้เสมอ

เรามักจะเรียกขานหน่วยงานทั้งสองแห่งคือ สปสช. และ สรพ.ว่า “ คู่รัก  คู่รส”

คืองานที่เข้าถึงประชาชน ให้ความเสมอภาค ต้องมีคุณภาพคียงคู่ไปด้วย  ต้องเคียงคู่เสมอ

คุณหมอสงวนบอกว่า" ชื่อนี้ดีนะ มันต้องไปด้วยกันจึงจะดี"

คุณหมอสงวนจะช่วยสนับสนุนงานด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการเห็นระบบประกันสุขภาพนั้นมีระบบคุณภาพอย่างทั่วถึง เสมอกัน  ตามความฝัน

และในช่วงสุดท้าย เมื่อคุณหมอล้มป่วยด้วยโรคร้าย ที่ทำให้เราใจหายยิ่งกว่า   แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งเกินมนุษย์ งานหลายๆด้านของคุณหมอยังเดินต่อไปไม่หยุดยั้ง

แม่ต้อยได้ร่วมประชุมครั้งสุดท้ายกับหมอสงวน  คือการเสนอแนวคิดเรื่อง Humanized health care เข้าไปในงานบริการคุณภาพ   ในเวลาเดียว กับที่ คุณหมอสงวน ได้เริ่มงานมิตรภาพบำบัด ซึ่งเป็นแนวคิดอันเดียวกันพอดี

ก่อนการเสียชีวิต คุณหมอได้เซ็นอนุมัติเงินจำนวน ๕ ล้านบาทให้แม่ต้อยดำเนินงาน"โครงการพัฒนาคุณภาพด้วยรัก" ใน ๒๐ จังหวัด

เมื่อไปเคารพร่างกายของคุณหมอในวันสุดท้าย  แม่ต้อยหยาดหยดน้ำอบพร้อมดอกมะลิบนฝ่ามือของคุณหมอสงวนช้าๆ

พร้อมกับพึมพัมด้วยน้ำตาว่า

“ พี่จะทำงานตามความฝันของคุณหมอต่อไปนะคะ พี่สัญญา”

ในคืนหนึ่ง ยังแจ่มชัด ในความทรงจำ  แม่ต้อยสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะความฝันที่ชัดเจนจนมันเหมือนจริง

“ พี่ต้อยครับ ตกลงงานที่ทำพอไหวไหม ทางรพ.เขาว่าไงบ้างครับ?”  เป็นเสียงคุยของคุณหมอสงวน เช่นเคย

“ ก็ โอเคนะคะ พี่ว่า เขาก็สนใจดี “

 

แม่ต้อยก็ตอบไปเรื่อยๆ เท่าที่จำได้เพราะตอนนั้นเราเพิ่งเริ่มงานนี้ประปรายในรพ.

 

อ้าว.. เอ้ะ  แม่ต้อยขยี้ตา หายง่วงเป็นปลิดทิ้ง

นี่คุณหมอสงวนเขามาคุยได้อย่างไร ก็เราเพิ่งไปงานมาเมื่อไม่นานนี่เอง

คงอยากให้งานที่เป็นความมุ่งหวังของคุณหมอ   มุ่งหวังที่จะให้คนไข้ได้รับการดูแลครบสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ได้มีความงอกงามและมีคนสานต่อ

งานที่คุณหมอ ได้ใช้ความเจ็บป่วยของตนเองเข้าแลกในการเรียนรู้ความต้องการของผุ้ป่วยและญาติ  ว่าลำพังเฉพาะด้านการรักษาอย่างเดียว อาจจะไม่สมบูรณ์ และครบถ้วน

อย่าห่วงเลยนะคะ  หลายชีวิต หลายอุดมการณ์ จะช่วยสานฝันของคุณหมอให้ก้าวต่อไป

อย่างไม่หยุดยั้ง

สวัสดีคะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หมอสงวน
หมายเลขบันทึก: 433964เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2011 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับแม่ต้อย...

ดีจังเลยได้รู้จักชีวิตอีกด้านหนึ่งของคุณหมอหงวน 
คนนี้เป็นคนต้นแบบของผมเลยครับ
ผมกำลังจะทำวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ เป็นการทำเพื่ออุทิศให้กับท่านครับ

สวัสดีคะอาจารย์....

       เคยได้มีโอกาสต้อนรับแม่ต้อยเมื่อเร็วๆนี้ที่ภาคใต้ตอนล่าง  และได้มาฟังการสนทนาของแม่ต้อยที่ forum  ประทับใจแม่ต้อย  แต่เมื่อได้อ่านบทความนี้รู้สึกรักแม่ต้อยคะ  เป็นกำลังใจให้อาจารย์แม่ต้อยเสมอและจะเปนกำลังใจเงียบๆตลอดไปคะ

น้ำตาไหลไม่รู้ตัว ไม่ทราบว่าทำไม เรื่องบางเรื่องนำพาความรู้สึกลึกๆออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ขอบพระคุณที่ narrative ส่ิงสวยงามให้รับฟังครับ

สวัสดีค่ะ แม่ต้อย

๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ นี้ จะได้มีโอกาสไปร่วมงาน "มหกรรมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน บริการด้วยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ และรำลึกถึงสามปีที่จากไป นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์"

ไปดูกันว่า "หลายสถานบริการสุขภาพ หลายชีวิต หลายอุดมการณ์ จะช่วยสานฝันของคุณหมอให้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง" อย่างไร กันค่ะ

แล้วหนูจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่หนูมีโอกาสได้ไปร่วมในงาน (ไม่ได้รับรางวัลใดๆนะคะ เพราะปีนี้ส่งผลงานเข้าประกวดไม่ทัน แต่อาจจะไปร่วมจัดนิทรรศการร่วมกับมูลนิธิแพทย์ชนบทค่ะ)

Ico48

สวัสดีคะน้องเกียรติ

พอดีแม่ต้อยไปประชุมมาคะ  เลยไม่ได้เข้ามาที่บล้อกเลยคะ

คิดถึงและติดตามข่าวเสมอคะ

หมูตอน

สวัสดีคะ น้องหมูตอน

แม่ต้อยหลงรักชื่อนี้แล้วนะคะ เพราะเป็นชื่อของลูกชายแม่ต้อยเองคะ

กำลังใจของน้องๆ ทำให้แม่ต้อย ยังมีแรงทำงานต่อไปคะ

คิดถึงคะ

Ico48

เรียนท่านอาจารย์คะ

ดีใจคะ ที่ได้ทราบว่าอาจารย์ ติดตามงานแม่ต้อยตลอด  แม่ต้อยโชคดีคะ ที่มีโอกาสร่วมงานกับคนดีดี  รวมทั้งอาจารย์ด้วยคะ

 

สวัสดีคะ น้องน้ำชาคะ

เจอแม่ต้อยไหมคะ  แม่ต้อยก็ไปงานนี้ด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท