คิดเรื่องงาน (66) ได้ผู้นำดี มีชัยไปเกินครึ่ง...


ไม่มีที่นั่งใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ที่นั่งที่อยู่ในหัวใจของลูกน้อง

         ทุกๆ ครั้งที่เดินทางไปเป็นวิทยากร  ผมมักชอบตั้งคำถามให้ตัวเองตอบเสมอ เป็นต้นว่า “มีความสุขหรือเปล่า?” 
    
    หรือไม่ก็ “ได้อะไรบ้าง?”
        
เฉกเช่นกับครั้งนี้ก็เหมือนกัน 
         มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงได้ให้เกียรติเชิญผมไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ผู้นำกิจกรรมนิสิตได้รับฟังในหัวข้อ “กิจกรรมพัฒนาภาวะผู้นำและการทำงานเป็นทีม”
        
การสัมมนาที่ว่านั้นจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ เลตังรีสอร์ท ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง

 

        ทันทีที่กิจกรรมยุติลง  ผมก็นั่งทบทวนกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการสำรวจ “ความสุข” ในวิถีการทำงานของตัวเองเหมือนทุกครั้ง
        ครั้งนี้ ผมถือว่าตัวเองใช้พลังไปเยอะมาก เพราะบินเดี่ยวมาโดดๆ การเป็นวิทยากรแบบศิลปินเดี่ยวต้องใช้พลังมากโขเลยทีเดียว
        ทุกอย่างต้องเสกสร้างด้วยตนเองซะส่วนใหญ่  กอปรกับเป็นกิจกรรมที่เน้นการบรรยาย  ผมจึงจำต้องพยายามปลุกเร้าให้นิสิตตื่นตัว สนใจกับเรื่องที่นำเสนออยู่เป็นระยะๆ

        สำหรับผมแล้ว  ผมถือว่าท้าทายมาก -
        ท้าทายเพราะกระบวนการที่ผมนำมาใช้กับนิสิตนั้น  นิสิตบางคนยืนยันว่ายังไม่คุ้นชินสักเท่าไหร่  ส่วนใหญ่มักเคยเจอแต่การบรรยายสื่อสารทางเดียว  ไม่มีโอกาสได้นั่งเขียนรูป ไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตตนเองให้เพื่อนฟัง หรือแม้แต่การเจอคำถามแบบแกมหยิกแกมหยอก (แบบว่าฮาลึก-บาดลึก)
        มาครั้งนี้ผมใช้กระบวนการชวนให้ลงมือเขียน ชวนให้ลงมือวาด ชวนให้ลุกมาเล่าเรื่อง  บางครั้งก็โยนคำถามลงไปกลางวง เพื่อให้นิสิตได้ทำการระดมความคิด  ติดอาวุธทางปัญญาผ่านการ “โสเหล่” 
       หรือไม่ก็กระตุ้นให้มีการลุกขึ้นมาแสดงทัศนะแบบศิลปินเดี่ยวสลับไปมาเป็นระยะๆ  ซึ่งก็ถือว่าสร้างสีสันได้ไม่แพ้เวทีอื่นๆ ที่ผมเคยจัดมา
        และนั่นก็คือความสุขเล็กๆ อันเกิดจากการงานที่ผมสัมผัสได้อย่างไม่บิดเบือน  เป็นความสุขอันเกิดจากกระบวนการที่ตนเองได้นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกัลยาณมิตรต่างวัย

 

 

        หากแต่สำคัญไปกว่านั้น 

        เมื่อเวทีของผมปิดตัวลง  หลังรับประทานอาหารเย็น นิสิตก็กลับมารวมตัวกันที่ห้องประชุมอีกรอบ  โดยครั้งนี้มีเวทีสำคัญคือการบรรยายพิเศษเรื่อง “การบริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ”  ซึ่งท่านผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (อาจารย์เพ็ญพักตร์ จริยานุกูล)  ขันอาสาจับไมค์เป็นวิทยากรด้วยตัวท่านเอง
        สารภาพตรงๆ เลยว่า  ผมชอบกิจกรรมนี้มาก
        แทนที่ท่านจะบรรยายล้วนๆ เหมือนนักวิชาการหรือผู้บริหารทั่วไปที่เคยชินกับการบรรยายมากกว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ
        อาจารย์เพ็ญพักตร์ฯ  ปรับรูปแบบจากการบรรยายเชิงเดี่ยวสู่การเปิดโอกาสให้นิสิตได้มีส่วนในการคิดวิเคราะห์และนำเสนอทัศนะของตัวเอง ผสมผสานกันไประหว่างการคิดแบบเชิงเดี่ยวและคิดแบบเชิงกลุ่มอยู่ตลอดเวลา

ผมชอบกระบวนการและบรรยากาศที่มีขึ้นเป็นอย่างมาก  มองเป็นความเรียบง่าย งดงาม และมีพลังอย่างน่ายกย่อง

       อาจารย์เพ็ญพักตร์ฯ  ใช้กระบวนยุทธชวนพูดชวนจา ชวนเสวนาแบบเป็นกันเอง ราวกับแม่กำลังพูดและทำกิจกรรมกับลูกๆ อย่างเอ็นดู 
       ไม่ว่านิสิตจะสะท้อนความคิดมาในมุมใด ก็ “ไม่มีผิด ไม่มีถูก”  แถมยังช่วยเติมเต็มขยายความไปแบบเนียนๆ
        และที่สำคัญ  เมื่อเวลาเดินทางมาถึงจังหวะหนึ่ง  ท่านก็บอกเล่าด้วยน้ำเสียงอันอบอุ่น นุ่มนวล ชวนฟังและชวนคิดตามอย่างที่สุด โดยหลักๆ เป็นการย้อนกลับไปให้ทุกคนได้เห็นภาพอันเป็นเจตนารมณ์ของท่านในวันที่ก้าวเข้ามาทำงานในด้าน “กิจกรรมนิสิต”
       
ครั้งนั้น  ท่านมองว่า “นิสิตคือหัวใจหลักของมหาวิทยาลัย”  อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการเติบโตของนิสิต ท่านประกาศชัดเจนว่า “จะไม่ดูดาย”

  

 

ผมชื่นชมท่านมาก,
       ท่านดูเป็นคนมีเมตตาต่อนิสิต มีความเมตตาต่อทีมงาน อันหมายถึงบุคลากรในสังกัดอย่างเหลือล้น เป็นกันเอง ติดดิน ไปไหนไปกัน เรียกได้ว่าอยู่ในทุกที่และทุกสถานการณ์ที่ลูกน้องกำลังเผชิญอยู่

        ที่สำคัญ ผมเห็นท่านสนใจและใส่ใจต่อกระบวนการทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นในเวทีเป็นอย่างมาก  ท่านฟัง จดบันทึกอย่างต่อเนื่อง  ราวกับกลัวว่าทุกสิ่งอย่างจะกระเด็นหล่นหายไป เลยต้องเก็บเกี่ยวไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำกลับไปสร้างประโยชน์ต่อลูกศิษย์และลูกน้อง

        และยิ่งในตอนหนึ่งนั้น  ท่านได้สะท้อนความในใจอันเป็นเจตนารมณ์ของตัวท่านซึ่งเกิดขึ้นในช่วงมารับตำแหน่งใหม่ๆ อย่างน่าฟังว่า  

  • เข้าพบง่าย 

  • ให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา  

  • มีจิตอาสา ช่วยแก้ไข (ประสานใจ ให้อภัย ไม่ตำหนิ..) 

  • ใส่ใจในหน้าที่ 

  • เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นิสิต 

 

และหลายคนก็ยืนยันว่าท่านทำได้ตามเจตนารมณ์นั้นจริงๆ

       เป็นยังไงบ้างครับ ฟังดูชุ่มปอดมากเลยใช่ไหม
       ถ้าทุกหน่วยงานมีผู้นำแบบนี้ก็ถือว่า “มีชัยไปเกินครึ่ง” แล้วนะ

       ยิ่งพอได้นั่งคุยกับท่านยิ่งสัมผัสได้เลยว่า ท่านให้ความสำคัญกับ “กิจกรรมของนิสิต” มาก 
       เรียกได้ว่า แฟ้มไม่ค้าง  ไม่เข้าใจก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ไม่มีทางที่จะ "ดองแฟ้ม" ไว้เฉยๆ 
       หรือแม้แต่เมื่อจรดปากกาเซ็นอนุมัติแล้ว  ก็จะมอบหมายให้ติดตามนิสิตมารับโครงการฯ ไปทันที 
       บ่อยครั้งก็ถึงขั้นยกมือถือโทรแจ้งนิสิตเองก็บ่อย  (เพราะไม่อยากให้นิสิตต้องมาพะวกและเสียเวลาในการที่จะต้องทำงานของตัวเอง)

      มิหนำซ้ำท่านยังบอกกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ในแบบเป็นกันเองว่านิสิตทำงานหนักพออยู่แล้ว  จึงไม่ควรมาแบกรับระบบที่ซับซ้อนและยุ่งยาก  ทุกคนต้องช่วยให้นิสิตมีเวลาเหลือพอที่จะไปสร้างสรรค์งานดีๆ  อย่าให้มาสาละวนอยู่กับระบบบางอย่าง  อะไรที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนิสิต พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็ควรต้องทุ่มเทให้กับนิสิต  อย่าปล่อยให้นิสิตต้องแบกรับจนเกิดภาวะทุกข์ท้อใจ” 

        ด้วยเหตุนี้แหละ  ผมถึงไม่แปลกในเลยว่า  ทำไมนิสิต หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่หลายต่อหลายท่านถึงได้รักและให้ความเคารพท่านเป็นอย่างมาก

       นี่แหละนะที่เขากล่าวถึง "หัวหน้า" ไว้ในทำนองว่า “ไม่มีที่นั่งใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ที่นั่งที่อยู่ในหัวใจของลูกน้อง”

        นี่คือความสุขที่ผมได้รับมาจากเวที ณ วันนั้น

        (ครับ, ท่านที่เป็นหัวหน้าทั้งหลาย บัดนี้ได้สำรวจที่นั่งของท่านหรือยังว่านั่งอยู่ที่ใด ในหัวใจของลูกน้อง หรือกลับกลายไปนั่งอยู่ชายขอบหัวใจของลูกน้องเสียแล้ว...)

 ...

๑๘  มีนาคม ๒๕๕๔
สัมมนาผู้นำกิจกรรมนิสิต
มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
เลตรังรีสอร์ท, ตรัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 433439เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2011 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ว้า ยังไม่ได้เป็นหัวหน้าใครเลยเนี่ย คุณแผ่นดิน ;)...

เดี๋ยวต้องจองที่นั่งก่อน ไม่รู้เขาจะให้ผมนั่งหรือเปล่าเนี่ย ;)...

เหรอครับ,..
ผมโชคดีแล้ว  อนุมัติให้ออกไปแล้ว (หนึ่งเก้าอี้)
ยังเหลือเก้าอี้อีกหนึ่งตัว 55

เชียร์ให้เป็นครับ อยากทำอะไรสักอย่าง บางทีก็จำต้องใช้สถานะด้วยเหมือนกัน  ผมจะได้โอนไปอยู่ด้วยไง...!!!

โห ... คิดถึง "แม่ฮ่องสอน" มาทันทีเลยนะครับ

โอนมาช่วยผมยกเก้าอี้ (ยกเก้าอี้ = ยกระดับจิตใจคน)

ขอบคุณครับ ;)...

สวัสดีครับ อ.วัสฯWasawat Deemarn

โชคดีมากเลยครับ ได้พบพานกับเรื่องดีๆ คนดีๆ ให้ชีวิตได้เล่าอย่างไม่รู้จบ
และแน่นอนครับ ยังไงๆ ก็ยังยืนยันว่าจะไปยกเก้าอี้ให้จงได้..

 

มีหลายครั้งที่หลายคนชอบตั้งคำถามต่างๆนานา และคาดหวังว่าคนนั้นจะต้องเป็นเช่นนั้น คนนี้จะต้องเป็นเช่นนี้ และหัวหน้าที่ดีควรจะเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งตามมุมมองของดิฉันเองก็ชอบมากเลยในประโยคที่ว่าไม่มีที่นั่งใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ที่นั่งที่อยู่ในหัวใจของลูกน้อง ซึ่งนั่นก็คือหัวใจหลักของการทำงาน(การทำงานเป็นทีมที่ต้องการหัวหน้าทีมที่ดี และพร้อมที่จะยืนอยู่เคียงข้างตลอดเวลา) แต่จะทำยังไงดีล่ะให้หัวหน้าไปนั่งในใจลูกน้องได้ ต้องเลี้ยงข้าวทุกวัน ไปดื่มเบียร์ด้วยกันหลังเลิกงาน หรือต้องให้ตังค์ใช้เมื่อเดือดร้อน นั่นเป็นเพียงคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะคำว่าหัวหน้าที่ดี อาจจะไม่ใช่แค่ ใจดี มีเมตตา แต่เมื่อถึงเวลาโหด มัน ฮาหรือต้องบ้าระห่ำก็คงต้องทำต่างหาก และที่สำคัญชอบมากเลยกับการวางตัวในฐานะหัวหน้าของอาจารย์เพ็ญพักตร์ฯ (ขออนุญาตเอ่ยชื่อค่ะ) ที่ว่า

•เข้าพบง่าย

•ให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา

•มีจิตอาสา ช่วยแก้ไข (ประสานใจ ให้อภัย ไม่ตำหนิ..)

•ใส่ใจในหน้าที่

•เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นิสิต **อย่างนี้ต้องยกนิ้วให้เลยจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท