*ตัวบ่งชี้ที่ 7 ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง : ตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกอาชีวศึกษา รอบสาม


*ตัวบ่งชี้ที่ 7 ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง : ตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกอาชีวศึกษา รอบสาม

 

pimporntext2011

 

ข้อความข้างต้นเป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ด้านการอาชีวศึกษา  การประเมินคุณภาพภายนอกจะเน้นที่การประเมินผลการจัดการศึกษา ในขณะที่การประกันคุณภาพภายในต้องดูแลทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตหรือผลลัพธ์ 

 

 

 

คำอธิบาย ตัวบ่งชี้
ผลการดำเนินงานของสถานศึกษาในการจัดการเรียนรู้และการฝึกทักษะของผู้เรียน โดยความร่วมมือของสถานประกอบการ หน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เน้นการฝึกปฏิบัติจริงทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการเพื่อเพิ่มเพิ่มทักษะทุกด้านในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ จากการประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมหรือภาคชุมชน ตลอดจนหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ1



คำอธิบายตัวบ่งชี้นี้ แรกเห็นก็นั่งพิจารณาว่า ทำได้ง่ายเพราะ  การฝึกงาน2   ซึ่งในโครงสร้างของหลักสูตรในระดับ ปวช. และ ปวส. กำหนดไว้ (รายวิชา ฝึกงาน ปวช. 2000-7001  ปวส. 3000-7001 )3 ก็เป็นความร่วมมือของสถานประกอบการกับสถานศึกษาซึ่งปฏิบัติกันมาต่อเนื่องและเนิ่นนานแล้ว แต่เมื่ออ่าน “นิยาม” การเรียนรู้จากประสบการณ์  (ชื่อตัวบ่งชี้) ระบุชัดเจนว่า  ไม่นับรวมการฝึกงานตามหลักสูตร  ดังนั้น การฝึกงานตามที่นึกถึงตอนแรก ก็ไม่เข้าประเด็นนี้


ทำนองเดียวกัน เมื่อมาถึงประเด็นการพิจารณา ทั้งสามข้อ คือ
1.  แต่ละสาขางานมีจำนวนผู้เรียนที่ได้เรียนโดยระบบความร่วมมือฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของผู้เรียนทั้งหมด
2.  แต่ละสาขางานมีจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยของผู้เรียนที่ได้เรียน โดยระบบความร่วมมือฯ ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อปี สำหรับระดับ ปวช. และไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อปี สำหรับประดับ ปวส.
3.  แต่ละสาขางานดำเนินการให้ผู้เรียนที่เรียนโดยระบบความร่วมมือฯ ทุกคนได้รับการนิเทศจากครูฝึกในสถานประกอบการ



ทั้งสามข้อเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาพิจารณาและต้องให้ครบทุกรายการ ข้อที่ 3 เห็นถึงความชัดเจนในเรื่อง ที่นักเรียน/นักศึกษาจะต้องฝึกในสถานประกอบการ ตอกย้ำใน “ข้อมูลประกอบการพิจารณา”  ได้แก่   ข้อ 1 จำนวนสาขางานที่เปิดสอน ข้อ 2รายงานผลการฝึกประสบการณ์ พร้อมทั้งผลการประเมินการฝึกประสบการณ์ที่ประเมินโดยครูนิทศจากสถานประกอบการ และข้อ 3  สัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการฯ   โดยเฉพาะรายละเอียดข้อ 2 และข้อ 3 




ดังนั้น การจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง (ตัวบ่งชี้)  ผลจากข้อนี้ นั้นก็คือ  สถานศึกษาได้ดำเนินการ การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หรือ ดีวีที (Dual System) เรื่องเก่าดั้งเดิมของเรานั้นเอง เพราะ ระบบทวิภาคีเป็นการนำรายวิชาที่สถานศึกษากับสถานประกอบการร่วมกันกำหนดขึ้นมา ไม่นับรวมการฝึกงานที่ระบบทวิภาคีก็มีเช่นกัน  จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยทั้งระดับ ปวช.และปวส.  (ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงและ 10 ชั่วโมงต่อปีตามลำดับ) ซึ่งทวิภาคีมีจำนวนชั่วโมงเกินกว่าที่กำหนด  ได้รับการนิเทศจากครูฝึก เนื่องจากฝึกอาชีพและประเมินจากสถานประกอบการ  รายงานผลการฝึกฯ ผลการประเมินการฝึก โดยผู้ควบคุมการฝึกหรือครูฝึก  และท้ายสุดสัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการฯ ผู้เรียนทวิภาคีจะต้องทำสัญญาการฝึกตามระเบียบฯ4 กำหนด




ตัวบ่งชี้นี้จะสอดคล้องกับหลักการของหลักสูตร5  ข้อที่ระบุไว้ว่า มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ มีความรู้เต็มภูมิ ปฏิบัติได้จริง ทั้งเป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิชาชีพมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนวิชาชีพ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติสถานศึกษาหลายแห่ง ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถจัดการระบบทวิภาคีได้ในทุกสาขางาน จะด้วยความไม่ชัดเจนในระเบียบการจัด ซึ่งผู้อยู่ในแวดวงอาชีวศึกษารู้กันดีว่า ระบบนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538  ข้อจำกัดในเรื่องสถานประกอบการ ในท้องที่หรือจังหวัดใกล้เคียง  ความยุ่งยากและขั้นตอนในการประสานงานกับสถานประกอบการ  จำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบงานทวิภาคีร่วมกันหรือการรับรู้ของบุคลากรที่พึ่งเริ่มปฏิบัติงานกับ สอศ. หรือประเด็นปัญหาอื่น ๆ    ฉะนั้น แนวทางในการรายงานตัวบ่งชี้นี้มีวิธีการอื่นหรือไม่อย่างไร



ย้อนหลัง หลักสูตรปวช. และ ปวส.  ในระยะเริ่มแรกที่ประกาศใช้ ได้ระบุ ให้สถานศึกษานำรายวิชาในหมวดวิชาชีพไปจัดการเรียนการสอน/การฝึกในสถานประกอบการ อย่างน้อย 1 ภาคเรียน หากสถานศึกษาใดที่ได้ดำเนินการนำรายวิชาและรายวิชาการฝึกงาน ไปปฏิบัติก็สามารถรายงานผลการดำเนินการตัวบ่งชี้นี้ได้บางส่วน  โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการย้ำเตือนหรือเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับสถานประกอบการ ก็คือ  ผลการนิเทศจากครูฝึก  รายงานผลการฝึก  การประเมินผลการฝึก และที่ต้องทำเพิ่มเติมได้แก่ สัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการ สำหรับสถานประกอบการที่จัดระบบทวิภาคีและรับนักเรียน/นักศึกษาฝึกงาน ก็น่าจะใช้เอกสารร่วมกันได้




สำหรับสถานศึกษา ที่ไม่ได้จัดระบบทวิภาคี หรือ จัดฝึกงานเฉพาะใช้รายวิชาฝึกงานอย่างเดียว (ปวช. 2000-7001  ปวส. 3000-7001) ต้องจัดเตรียมแผนการเรียนและแผนการฝึกอาชีพสำหรับปีการศึกษาใหม่หรือปรับแผนการเรียนในภาคเรียนต่อไป   เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพฯ สำหรับตัวบ่งชี้นี้ไว้แต่เนิ่น ๆ นั้นคือ ถ้าไม่จัดระบบทวิภาคีตามรูปแบบ ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณานำรายวิชาไปฝึกประสบการณ์  ซึ่งวิธีการนี้ มีรายละเอียดต้องพิจารณาหลายหัวข้อประกอบ ได้แก่  จำนวนรายวิชา   รายละเอียดในคำอธิบายรายวิชาได้เพิ่มทักษะในสาขาวิชาชีพนั้น  คำอธิบายรายวิชานั้นตรงกับสมรรถนะงานของสถานประกอบการแต่ละแห่งมากน้อยเพียงใด  จำนวนชั่วโมงที่ต้องการฝึกประสบการณ์จริงนอกเหนือจากการฝึกงาน  ประเภทของสถานประกอบการในท้องที่ที่จะรองรับนักเรียน/นักศึกษาหรือสถานประกอบจังหวัดใกล้เคียง/ต่างจังหวัด  ภาคเรียนที่จะฝึกประสบการณ์  การนิเทศการเรียนการสอน  การประเมินผลและสัญญาความร่วมมือ เป็นต้น 



วิธีการดังกล่าวข้างต้น เป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่กันฟัง  สำหรับบางสาขางานในสถานศึกษา ซึ่งไม่ได้จัดระบบทวิภาคีและไม่คิดจะจัดการเรียนการสอนระบบนี้ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหลักการของหลักสูตรอาชีวศึกษา ที่ต้องการให้มีการปฏิบัติจริง มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม จุดมุ่งหมายร่วมกันทั้งของผู้เขียนและผู้อ่านคงจะไม่พ้น ต้องการเห็นถึง ขั้นตอนของการพัฒนาอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ  นี่ยังไม่นับรวมถึงการกำหนดตัวบ่งชี้บางตัว ซึ่งไม่ง่ายในการสร้างความเข้าใจตรงกันและการลงสู่การปฏิบัติจริงได้



เชิงอรรถ
:

1สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน),  คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. 2554 – 2558) ด้านการอาชีวศึกษา ฉบับสถานศึกษา พ.ศ. 2554,  หน้า 16.

2 สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ, หนังสือที่ สมอ 3521 ลงวันที่ 4 พ.ค. 2549 เรื่อง ขออนุมัติรายวิชาฝึกงานในหลักสูตร ปวช. 2545 (ปรับปรุง 2546)  และ ปวส. 2546,  หน้า 1.

3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา,  หนังสือที่ ศธ 0606/976 ลงวันที่ 30 มี.ค. 2549 เรื่อง การปรับเวลาเรียนและฝึกงาน หน้า 2.

4 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ,  ว่าด้วย การจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2547,  หน้า 6.   

5 กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  พุทธศักราช 2546, หน้า 1.

 

 ดาวน์โหลดเอกสาร www.nsdv.go.th/pr/text2011/pimpornno7.pdf

 

 

*นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 28  มีนาคม  2554
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด 
การนำข้อความหรือรูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
อีเมล [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 433249เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2011 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่เผยแพร่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ขอแชร์จากการที่เชิญ สมศ.มาอบรมที่่วิทยาลัย

ท่านให้คำแนะนำในการส่งฝึกงาน ในทางปฏิบัติไม่ง่ายที่จะส่ง นร.ฝึกงานแล้ว จะให้เป็นไปตามข้อกำหนด ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ตรงตามสาขาที่เรียนไม่น้อยกว่าจำนวน ชม.ที่กำหนด ทางออกในทางปฏิบัติที่อนุโลมให้คือ ให้ทำหนังสือขอความร่วมมือเป็น 2 ฉบับ1 คือฝึกงานปกติ 2 ขอความร่วมมือฝึกเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามข้อกำหนด น่าจะเป็นไปได้มากกว่า และผู้ตรวจฯก็อนุโลม

ในทางปฏิบัติ จากการพูดคุยกับสถานประกอบการ ต่างก็ว่า อยู่ๆ การจะมาขอฝึกเรียนรู้ 10-20 ชม. เจ้าของสถานประกอบการมองไม่เห็นว่า นร. จะได้ประโยชน์จริง และในส่วนของสถานประกอบการเองก็มองว่าตนเองเสียมากกว่าได้ ไหนจะต้องมาสอนงาน สอนกฏระเบียบบริษัทฯ ไหนจะเสี่ยงของเสียหาย ถูกขโมย พนักงานจะทะเลาะเบาะแว้งอีกสารพัดฯ

ผมเองกับมองว่า บทบาท สมศ นอกจากจะเป็นผู้มาตรวจคุณภาพแล้ว ควรจะนำเอาปัญหาจากโรงเรียนต่างๆมาช่วยแก้ไข

เช่น จัดระบบการศึกษา ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ให้สอดคล้องต่อความต้องการของสถานประกอบการ ทั้งหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม

กำหนดค่าแรงสวัสดิการให้จูงใจผู้เรียน ในประเทศที่เจริญแล้วเขามีแรงงานด้านเทคนิค 80% ด้านบริหาร 20%. ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ในบ้านเรา

และที่ TPI,Toyota, Cp, MK ต่างต้องมาเปิด ปวช ปวส ทำต้นน้ำเองน่าจะแสดงให้เห็นถึงการจัดการศึกษาของกระทรวงฯ และนักการเมืองที่ชัดเจนแล้ว

นี่ยังไม่ได้พูดถึงมาตรฐานผู้ประเมิน และสถานศึกษาภาครัฐที่ทำตัวแข่งขันกับเอกชน จนกลายเป็นธุรกิจศึกษา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท