รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

หลักธรรมเพื่อพัฒนาชีวิต (๖) หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนา


  อ้างอิง : วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๓๘ - ๔๐    

                ยุคนี้เป็น “ยุคข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งมี เทคโนโลยีอันหลากหลายรูปแบบ คนปัจจุบันจึงมีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารมากมายจากทั่วทุกมุมโลก  จึงมีทั้งเรื่อง  “เหลือเชื่อ” เรื่อง  “ชวนเชื่อ”  และหลาย  ๆ  เรื่องก็ทำให้คนเรา  “หลงเชื่อ”  ไปกับข้อมูลที่ได้รับไปโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้น  เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาว่า  ข้อมูลข่าวสารใดควรปลงใจเชื่อมากน้อยแค่ไหน  จึงขอเสนอเคล็ดลับ  “สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ  ๑๐  ประการ”  จาก  “กาลามสูตร”  อันเป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล  ซึ่งใช้ได้ดีมาจนปัจจุบัน  และดูเหมือนว่าจะเหมาะกับ ยุคโลกาภิวัตน์นี้มากกว่าที่ผ่าน ๆ มาด้วยซ้ำ และที่สำคัญคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองของเราในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งไม่ควรเชื่อ หรืออย่าเพิ่งเชื่อ ๑๐ ประการ ได้แก่
  
  ๑.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะฟังตาม ๆ กันมา 
  ๒.  อย่าเพิ่งเชื่อ  เพราะถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา  
  ๓.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะข่าวเล่าลือ 
  ๔.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอ้างคัมภีร์หรือตำรา  
  ๕.  อย่าเพิ่งเชื่อ  เพราะตรรก หรือเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน  
  ๖.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะคิดคาดคะเนอนุมานเอา  
  ๗.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะคิดตามเอาตามอาการที่ปรากฏ  
  ๘.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตนหรือเข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่
  ๙.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะว่าผู้พูดควรเชื่อได้
  ๑๐.  อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา

     ทีนี้มาว่ากันทีละข้อ  ว่าเราไม่ควรเชื่อหรืออย่าเพิ่งเชื่อ   ในแต่ละข้ออย่างไร 

     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการฟังตามๆกันมา  ความเชื่อ ประเภทนี้ได้แก่พวก  “บอกต่อ”  หรือ  “เขาเล่าว่า”  แล้วก็เชื่อ   ตามเขา  เช่น  มีคนบอกเลขเด็ดมา  ให้ซื้อหวยเลขนั้นเลขนี้ก็เชื่อ เลยซื้อตาม ๆ กัน ผลคือ หวยไม่ออกตามนั้น แถมยังเป็นหนี้สิน เพราะไปยืมเงินทองเขามาซื้อ  เพราะคิดว่าเป็นเลขเด็ดจริง 
เป็นต้น 


     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆกันมา เรื่องความเชื่อข้อนี้คงมิใช่ให้ดูถูกของเก่าหรือของโบราณ แต่ทรงสอนให้รู้จักพินิจพิเคราะห์เสียก่อน  ไม่ใช่เชื่อทันทีเพราะคำสอน คนรุ่นเก่าหลายอย่างก็เป็นโบราณอุบาย ที่เป็นการสอนทางอ้อม เช่น  ในวรรณกรรมเรื่องสวัสดิรักษาของสุนทรภู่ท่านห้ามภรรยานอนหลับทับมือและพาดเท้าบนตัวสามีและห้ามผู้ชายมิให้นอนข้างซ้ายของหญิง  โดยบอกว่าถ้าทำอย่างนั้น  จะมีภัย  คนสมัยนี้อ่านแล้ว อาจสงสัยว่าจะมีภัยได้อย่างไร แต่จริง ๆ แล้วการห้ามเช่นนั้น  เพราะสมัยโบราณ มีขโมยขโจรแยะ ผู้ชายต้องวางดาบไว้ข้างตัวด้านขวา  ถ้าให้ผู้หญิงนอนทับมือ  หรือไปนอนข้างซ้ายเมีย เวลาโจรขึ้นมาจะจับดาบต่อสู้ไม่ทัน  ก็จะเป็นอันตรายได้ความเชื่อที่เป็นของเก่า  หากจะเชื่อหรือจะทำตาม  จึงต้องสืบหาเหตุผลให้กระจ่างด้วย มิใช่เชื่อเพราะเขาเชื่อและเล่ากันมาอย่างนี้
  
      อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ  ข้อนี้ไม่ต้องขยายความก็คงชัดเจนอยู่ในตัว  โดยเฉพาะปัจจุบันมีข่าวลือมากมาย  เช่น มีข่าวลือว่า  ในอนาคตบางจังหวัดของประเทศไทยจะเกิดแผ่นดินไหว  และจมหายไป หากฟังข่าวแล้วเชื่อเลย  ก็อาจจะเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ  หรือบางคนฟังแล้วเครียด คิดมากจนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เขาพูด อาจจะเกิดก็จริง แต่ต้องเป็น ๑๐๐ ปีข้างหน้า เป็นต้น 

      อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างคัมภีร์หรือตำรา  เรื่องนี้ต้องดูให้ดีเพราะหลายครั้งก็มีการอ้างตำราผิด  ๆ  หรือเป็นการหลอกลวง เช่น อ้างว่ารักษาโรคร้ายบางอย่างได้เพราะได้สูตรลับโบราณมา  ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการหลอกเอาเงินจากผู้หลงเชื่อ    หรือในปัจจุบันมักอ้างผลงานวิจัยต่าง  ๆ  ซึ่งหลายครั้งก็เป็นผลวิจัย เพื่อการค้า  โดยบอกความจริงไม่ครบถ้วน  ทำให้ผู้บริโภค   ตกเป็นเหยื่อ หลงไปซื้อสินค้านั้น ๆ เป็นต้น 

 
      อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะหรือเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะเหตุผลบางอย่างก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป  เช่น    ตามหลักคนเป็นเศรษฐีร่ำรวยล้นฟ้า น่าจะมีอำนาจ  และมีความสุข แต่จริง ๆ  แล้ว  คนที่มีเงินทองมากมายอาจจะไม่มีความสุขเลยก็ได้เพราะต้องเดินทางเร่ร่อนไปเมืองนั้น  เมืองนี้ตลอดเวลา  ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว  หรือชีวิตยุ่งจนไม่มีเวลาใช้เงินที่ตนหามาได้
 
     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดคาดคะเนอนุมานเอา  เช่น เห็นคนขับรถเบ็นซ์ไปทำงาน ก็คิดว่าคน ๆ นั้นต้องมีสกุลดีฐานะดีซึ่งจริง ๆ แล้วคน ๆ นั้นอาจยังเช่าบ้านอยู่และเช่ารถขับก็ได้

     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดเอาตามอาการที่ปรากฏ เพราะอาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้เช่น  เห็นชายหนุ่มเดินออกจากบ้านหญิงสาวยามดึก  ก็เดาเอาเองว่า  เขาต้องเป็นแฟนกัน หรือต้องมีอะไรกันแน่ ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ชายหนุ่มนั้นอาจจะเป็นพี่หรือน้องชายของหญิงสาวนั้นก็เป็นได้
 
     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตนหรือเข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่ข้อนี้จะเห็นว่าคนเราเป็นกันมาก เพราะหากเราเชื่อเช่นไร และมีคนคิดคล้าย ๆ กัน เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้น  “ใช่เลย”  ซึ่งการเชื่อเช่นนี้จะทำให้ขาดการเสาะหาข้อเท็จจริง และนำมาซึ่งความเชื่อที่ผิด ๆ ได้
 
     อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดควรเชื่อได้  ยิ่งปัจจุบันมีการแบ่งเป็นหลายฝักหลายฝ่าย  และคนพูดก็ล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียง ในสังคม  ฟังแล้วก่อนจะเชื่อใคร  จึงควรพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ไม่ว่าจะฟังจากที่ใด ไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ  
      อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา    ข้อนี้ฟังดูแรง  และเหมือนคนอกตัญญูที่สอนให้ไม่เชื่อครูของเรา แต่โดยความเป็นจริง  เป็นการสอนให้รู้จักวิเคราะห์ด้วยตนเอง มิใช่ครูบอกอะไรก็เชื่อไปหมด  เพราะครูก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา จึงสามารถพูดผิด  สอนผิดได้ดังนั้น  เราจึงควรคิดเองด้วยว่าสิ่งที่
ครูสอนใช่หรือไม่ใช่เพราะเหตุใด

        พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  เมื่อใดก็ตาม   ที่เราได้ยินใครเขาเล่าหรือพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ก็ให้ฟังไว้ก่อน    ไม่ต้องไปคัดค้าน ต่อล้อต่อเถียง ไม่เห็นด้วย หรือในทางตรงกันข้าม ก็มิใช่ไปเออออห่อหมกกับเขาในทันทีแต่ให้ฟังหูไว้หูแล้วมา   คิดพิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้นมันผิดหรือถูก  เป็นบุญ   หรือบาป  เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ฯลฯ    หากคิดถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จึงค่อยตัดสินว่า ข้อมูลนั้น ๆ เราจะเชื่อ ได้มากน้อยแค่ไหน  หรือจะไม่เชื่อเลย  ก็เป็นไปได้ซึ่งหลักการนี้ นอกจากจะตรงกับกฎทางวิทยาศาสตร์แล้ว  ยังเป็นการเตือน   ให้แต่ละคนได้มีสติและใช้ปัญญาในการใคร่ครวญข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบคอบ  ก่อนจะตัดสินใจทำสิ่งใดลงไป  ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเชื่อสิ่งใดอย่างง่ายดายหรืองมงายไร้เหตุผล 

          หวังว่า  “สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ  ๑๐  ประการ”  นี้จะเป็นแนวทางให้พวกเรายุคปัจจุบันได้รู้จักคิดให้ละเอียดรอบคอบ   ก่อนที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดตาม “ความเชื่อ” ต่อไปในอนาคต   

       

 อ้างอิง : วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๓๘ - ๔๐

หมายเลขบันทึก: 432930เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2011 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะ

สรุปว่าหากจะเชื่อในสิ่งใด ให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญพินิจพิจารณาให้ดีก่อน

จากคำกล่าวที่ว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" ในสังคมปัจจุบัน ขนาดสิ่งที่เห็น ยังไม่ไช่สิ่งที่เป็น ทุกอย่างต้องใช้เวลาค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อคิด และคำอธิบายที่ชัดเจน

ขอบคุณข้อคิดเตือนสติค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณIco48

  • คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่ลึกซึ้งเสมอ
  • เรื่องหลักความเชื่อนี้ พระองค์ใช้สอนชาวบ้านที่เมือง ๆ หนึ่ง
  • ซึ่งเมื่อพระองค์ผ่านไป ชาวบ้านก็ทูลว่ามีนั่งบวชศาสนาอื่น ๆ มาเยือนอยู่เสมอ
  • นักบวชเหล่านี้ก็มักโอ้อวดว่าคำสอนของตนดีกว่าผู้อื่น  เป็นเช่นนี้มาตลอด    
    จนทำให้พวกตนรู้สึกสับสน และสงสัยว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ หรือใครผิด  ใครถูกกันแน่พอชาวบ้านทูลถามแล้ว  แทนที่พระพุทธเจ้าจะทรงสรรเสริญคำสอนของพระองค์เอง  แล้วกล่าวติเตียนคำสอนของศาสนาอื่น  กลับทรงตรัสกับชาวบ้าน ชาวเมืองกลุ่มนั้น  ถึงสิ่งไม่ควรเชื่อ หรืออย่าเพิ่งเชื่อ ๑๐ ประการ นี้แหละค่ะ
  • ขอบพระคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมเยือน มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ
  • สวัสดีครับ พี่อิงจันทร์
  • มาฟังธรรมะภาคเช้าครับ
  • สบายดี มีความสุข นะครับ

สวัสดีค่ะพี่ครูต้อยIco48

  • ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยือน
  • ครูอิงขออนุญาตเพิ่มเติมเรื่องของ "กาลามสูตร" อีกนิดนึงนะคะ เพราะว่า

  “กาลามสูตร”  บางคนก็ สับสนกับคำว่า “กามสูตร” ซึ่งมาจากอินเดียเหมือนกัน  แต่เป็นคัมภีร์โบราณว่าด้วยเพศศึกษา  ที่เขียนโดย วาตสยายน  (วาด-สยา-ยะนะ) ซึ่งมีด้วยกัน ๗ ภาค แต่ละภาคก็จะแบ่งเป็นบทต่าง  ๆ  เช่น  บทว่าด้วยการเลือกภรรยา  การเกี้ยวพาราสี บทว่าด้วยการสร้างเสน่ห์ให้ตนเอง เป็นต้น   แต่สำหรับ  “กาลามสูตร”  (กา-ลา-มะ-สูด)  เขียน ต่างกันกับข้างต้น  เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าได้สอนชาวกาลามะ ซึ่งอยู่ในเกสปุตตนิคม  ดังนั้น  ในพระไตรปิฎกจึงเรียกว่า  “เกสปุตตสูตร”  ตามตำบลที่อยู่ที่พระองค์ทรงสอน  แต่คนทั่วไปมักเรียก  “กาลามสูตร”  ตามสกุลของผู้อาศัยที่นั่นคือ  “ชาวสกุลกาลามะ” เพราะจำได้ง่ายกว่า  

ขอบพระคุณดอกไม้กำลังใจ

จากคุณภัทรานิษฐ์ค่ะIco24

กาลามสูตรหยุดมิจฉาอย่าทิฏฐิ         ใช้สติปัญญาว่าไฉน

อย่าได้เชื่อว่าถูกด้วยถูกใจ               อย่าว่าไม่เพราะมิใช่ดั่งใจตน

เสพข้อมูลใดใดให้วิเคราะห์               ค่อยค่อยเจาะแยกแยะแงะเหตุผล

ถึงสุดท้ายได้้ความแท้แน่กมล           ตามเหตุผลพิสูจน์ได้ใช้ยืนยัน

สวัสดีค่ะคุณบีเวอร์Ico48

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

สวัสดีค่ะน้องฐานิศร์Ico48

  • ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยม มาชม
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ

ขอบพระคุณสิ่งดีๆที่มอบแก่กันค่ะพี่อิง

 

ตอบท่านวิโรจน์ พูลสุข

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้นั้นท่านเป็นครู        วิเคราะห์ดู ให้เห็นเป็นแก่นสาร

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขานั้นเป็นอาจารย์     นักวิชาการก็มีเบรอเลอะเลือนไป

อย่าเพิ่งเชื่อนักการเมืองเฟื่องอำนาจ      ยิ่งฉลาดยิ่งบิดพลิ้วหิวกระหาย

อย่าเพิ่งเชื่อพวกพูดซ่าส์บ้าน้ำลาย        แม้นฟังก็ฟังไว้พิจารณา

อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเห็นว่าเป็นสงฆ์      เพราะความหลงอาจท่านนั้นมุสา

แม้นเป็นสงฆ์ก็อาจสงฆ์จากพงศ์กา      ใช่เป็นสงฆ์ดังศาสดาทุกรูปไป

อย่าเพิ่งเชื่อพวกพูดมากปากถือศีล       พวกสร้างหลักปักถิ่นปลิ้นลื่นไหล

อย่าเพิ่งเชื่อพวกรักชาติวาดลวดลาย     มองไม่เห็นกระทำใดในบอกรัก

อย่าเพิ่งเชื่อสื่อต่างต่างพวกว่างสำนึก   หมั่นตรองตรึกฟังข่าวใดให้ตระหนัก

อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเห็นเป็นคนรัก   สมองหยักหยักอาจสั่งใจให้หลอกลวง

อย่าเพิ่งเชื่อประโคมข่าวต่างสาวไส้      ยากจะเชื่อข่าวใดใดในเมืองหลวง

แต่ฉันเชื่อสิ่งหนึ่งไม่หลอกลวง            เรื่องทั้งปวงออกจากท่านฉันเชื่อใจ      

                                   *** มาเรียนรู้ธรรมะ ...........เพิ่มเติมค่ะ   ขอบคุณนะคะ *** 

                                                           

สวัสดีค่ะน้องแป๋มIco48

  • ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ส่งกำลังใจให้กันเสมอ ๆ

สวัสดีค่ะคุณIco48K.Pually

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ
  • รูปผีเสื้อน่ารักมากค่ะ
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

สวัสดีค่ะ

 มาศึกษาตำรากาลามสูตรค่ะ

อย่าเพิ่งเชื่อ...นอกจากจะได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว

สวัสดีค่ะพี่อิง

  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะคะ
  • ได้รับความรู้และข้อคิดมากมายทุกครั้งที่แวะมาบ้านพี่อิงค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูดาหลาIco48

  • ขอบคุณค่ะที่แวะมาสกัดความรู้ "อย่าเพิ่งเชื่อ...นอกจากจะได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว"
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

สวัสดีค่ะน้องคุณยายIco48

  • ขอบคุณน้องนางบ้านนามากนะคะ แวะมาส่งกำลังใจให้กันเสมอ ๆ เลย
  • ขอให้มีความสุข สวย ไม่บันยะบันยังตลอดกาล 555555555+
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท