ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เติมพลังให้ชีวิต... พิชิตปัญหา???


"การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือการสูญเสียความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจ"

 
ภาพเขียน At Eternity's Gate ของ Vincent Willem van Gogh ในปี 1890

     วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับนิมนต์จากท่านนายชาคริต คูวิบูลย์ศิลป์ ซึ่งรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกลาง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีทรัพยากรน้ำ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อไปบรรยายในโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านคุณธรรม และจริยธรรม สำหรับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ ในหัวข้อเรื่อง "เติมพลังให้ชีวิตพิชิตปัญหา" (Adding a power to conquer the problems of life) ณ ห้องริมชล อาคารฝึกอบรมและสัมมนา กรมทรัพยากรน้ำ  โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ร่วมรับฟังประมาณ ๗๐ ท่าน

    จากความเข้าใจของผู้เขียนนั้นมองว่า ในการทำงานของข้าราชการเพื่อสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ ตรัสในวันขึ้นครองราชย์ว่า "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" นั้น จากแนวทางดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการทุกท่านจะต้องย้ำเตือนตัวเองในทุกวินาที และทุกย่างก้าวในการทำงานว่า "ข้าราชการคือคนของประชาชน" และ "หน้าที่หลักคือการหยิบยื่นความสุขแก่ปวงประชา" ดังคำกล่าวที่เรามักจะได้ยินเสมอว่า "หน้าที่ของข้าราชการคือรับใช้ประชาชน" (http://www.youtube.com/watch?v=3ZKGaJPV2qc)ให้ สมดังที่พระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงปรารภแนวทางดังกล่าวไว้  ซึ่งหลักการเช่นนี้ สอดรับกับ "พุทธปณิธาน" ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสบอกแก่สาวกของพระองค์ก่อนที่จะนำ "ธงธรรม" ไปปักกลางใจคนทั่วไปที่ "พบทุกข์และไขว่คว้าหาความสุข" ว่า "เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก"

      ถึงกระนั้น การที่ทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นนั้น บางคราวอาจจะเปรียบประุดุจ "การปิดทองหลังพระ"  และเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคอาจจะทำให้ข้าราชการเกิดความรู้สึกว่า "เราเป็นผู้น้อย" ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวว่า "เป็นเรื่องเล็กน้อย"  จนบางครั้งนำไปสู่ "การเห็นแก่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ" ประเด็นคือ เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาและชาตากรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราควรมีท่าทีอย่างไร  ในหลักศาสนาได้ให้แนวทางของการเติมพลังชีวิตเอาไว้ ๕ ประเด็นด้วยกัน

     ๑. เติมเต็มพลังศรัทธา (Faith) กล่าวคือ ในเบื้องต้นให้เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ศักยภาพของทีม และศักยภาพขององค์กร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ตั้งคำถาม หรือสงสัยในศักยภาพของทั้งสามประเด็นดังกล่าว  "ความเชื่อเท่านั้น" จะพาเราออกจากกับดักของปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ เพราะหากมนุษย์เชื่อว่าตัวเองรอด ทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปอย่างมีความหวัง แต่เมื่อใดที่เราคิดว่า "ไม่รอด" นั่นหมายถึงการที่ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ แม้กระทั่ง "ลมหายใจของเรา" เพราะไร้ซึ่งความหวัง และพลังใจที่จะสู้ต่อไป

     ๒. เติมเต็มพลังวิริยะคือความเพียรอันแรงกล้า (perseverance) วี ระคือความแกล้วกล้าสามารถ องอาจ และพร้อมที่ต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย หรืออ่อนแรง ฉะนั้น คนที่มีวิริยะ คือคนที่กล้าที่จะต่อสู้กับอุปสรรคโดยไม่หวาดหวั่น และปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาจะหนักหนาสาหัสสักปานใดก็ตาม  ประเด็นคือ "อุปสรรค" (อุป+สคฺค)  แปลอีกนัยหนึ่งว่า "เข้าไปใกล้สวรรค์" ดังนั้น เื่มื่อใดที่เราเจออุปสรรคไม่ว่าจะหนักหรือเบาเพียงใด ให้ถือประหนึ่งว่า เรากำลังเข้าไปใกล้ความสำเร็จ หรือสวรรค์มากยิ่งขึ้น  หากไม่เจออุปสรรคนั่นหมายถึง เรากำลังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จ ฉะั้นั้น อุปสรรคคือบทพิสูจน์ความแกร่งกล้้าสามารถของเรา

     ๓. เติมเต็มพลังสติ (Mindfulness) ใน ทุกย่างก้าวนั้น สติเป็นเครื่องมือในการกำกับ และตรวจสอบการเดินทางของเรา  ในบางครั้งเราอาจจะเชื่อมั่นตัวเอง และนำไปสู่ความมั่นใจเกินไป (Over Self-Confidence)  จนทำให้ประมาทขาดความยั้งคิดจนทำให้สิ่งที่คิด พูด หรือทำประสบปัญหาข้างเคียงตามมา ด้วยเหตุนี้ ตัวสติคือความรู้ตัวจะคอยทำหน้าที่กำกับให้ "ความเชื่อมั่น" และ "ความกล้าหาญชาญชัย" เดินคู่และทำหน้าที่ร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง

     ๔. เติมเติมพลังสมาธิให้มั่นคง (Concentration) คือ มั่นคงและจดจ่อต่อสิ่งที่ทำโดยไม่ละทิ้งความหวัง ความฝัน และแรงบันดาล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่เคยวาดฝัน และมีแรงบันดาลใจที่จะก้าวเดินต่อไปเพื่อบรรลุจุดมั่งหมายอย่างไม่ย่อท้อ ประเด็นคือ "เป้าหมาย" ไม่เคยวิ่งหนีเรา ไ่ม่ว่าจะกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี เป้าหมายก็ยังคงมีอยู่และดำรงอยู่มีเสื่อมคลายเพื่อรอให้ใครสักคนที่มีความ มุ่งมั่นไขว่ขว้าและเข้าถึง  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายครั้ง  มนุษย์มักจะวิ่งหนีเป้าหมาย หรือถอนตัวจากเป้าหมายที่วาดฝันเอาไว้ ในขณะที่ตัวเองกำลังได้รับการพิสูจน์จากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

     ๕. เติมเต็มพลังปัญญา (Wisdom) พระ พุทธเจ้าตรัสว่า "ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก" (ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต) เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นเมื่อใด ความมืดจะพลันมลายหายไปเมื่อนั้น  ด้วยเหตุนี้ ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ และเข้าใจสรรพสิ่งอย่างประจักษ์ชัด จะทำหน้าที่ทะลายความกลัว ปัญหา อุปสรรค เสียงร้องไห้ และหยาดน้ำตาให้พลันมลายให้ไปจากใจของเรา ด้วยเหตุนี้ ปัญญาจะทำให้เรา (๑) เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ หรือเชื่อว่าสามารถมี และเป็นตามที่ใจเราปรารถนาจะให้มีและเป็น (๒) กล้าที่จะเดินหน้าต่อไปแม้จะมีปัญหาและอุปสรรคผ่านเข้ามามากนัอยเพียงใด (๓) รู้ตัว และเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่เราเชื่อนั้น และตัดสินใจทำนั้นจะบรรลุเป้าหมาย และ (๔) มุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่เราเคยฝัน มุ่งหวัง และมีแรงบันดาลใจที่เข้าถึงเป้าหมายอย่างไม่ลดละ

     สรุปแล้ว ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าสามารถที่จะทำได้ หรือบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังเอา จึงเป็น "บันไดขั้นแรก" ที่จะทำให้มนุษย์ "กล้า" ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ รวมไปถึงการกล้าคิด กล้าพูด และกล้าที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ถึงกระนั้น ลำพังเพียงความเชื่อเพียงประการเดียวมิสามารถที่จะทำให้มนุษย์เป้าหมายได้ หากแต่เป็นความกล้าที่จะตัดสินใจลงมือกระทำในสิ่งที่ตัวเองมั่นใจว่าจะ สามารถทำได้ภายใต้ศักยภาพของตัวเอง นอกจากนี้  ในความกล้านั้นมิได้หมายถึง "กล้าโดยขาดสติ" จนนำไปสู่การกระทำการที่ประมาทพลั้งเพลอ  แต่เป็นความกล้าที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย และใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งเพื่อให้บรรลุความฝัน และแรงบันดาลใจ

     เมื่อนำ "หลักการที่เสริมสร้างพลังชีวิต" ทั้ง ๕ ประเด็นมาเป็นกรอบในการอธิบายภาพที่ปรากฎด้านบนนี้  ทำให้เราได้ประจักษ์ต่อสายตาว่า "เด็ก สาวชาวญี่ปุ่นที่ยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของสึนามินั้น แววตาและท่าทางของเธอเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเพียงใด   เป็นความแกร่งกล้าและท้าทายต่อความหนาวเหน็บจากสภาพอากาศที่เย็นยะเยือก และความเจ็บปวดที่สภาพจิตผ่านการสูญเสียครอบครัว และญาติๆ ที่ตัวเองรัก สรรพสิ่งที่ตัวเองได้สร้างขึ้นต้องพลันมลายหายไปพร้อมกับคลื่นยักษ์

     อย่าไรก็ตาม "คลื่น ยักษ์อาจจะพัดพาเอาซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่เธอได้สร้างเอาไว้ด้วยความ เหนื่อยยากสูญหายไป แต่คลื่นเหล่านี้ มิอาจพัดพาเอาความหวัง กำลังใจ และแรงบันดาลใจออกไปจากใจของเธอ" จะเห็นว่า "ในบางวันคืนที่เปลี่ยวเหงาและเศร้าสลด" สิ่งสำคัญที่ควรค่าแก่การเฝ้าบอกตัวเองคือ "การ สูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์มิใ่ช่การสูญเสียสรรพสิ่งภายนอกที่เราสร้างมา ด้วยความยากลำบาก หากแต่เป็นการสูญเสียความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจ"

     ผู้เีขียนเชื่อมั่นว่า "สำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชาตา และภัยธรรมชาติที่พัดโหมกระหน่ำซ้ำเติม"  โดยมี "ความเชื่อมั่น ความกล้าหาญ ความตื่นตัว ความมุ่งมั่น และความรู้" อยู่กับตัวเองทุกวินาทีแห่งการหายใจนั้น และเมื่อใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ (ธรรมะ ๕ เกลอ) ได้ทำหน้าที่อย่างประสานสอดคล้อง และลงตัวแล้ว เมื่อนั้น คนเหล่านี้จะมีชีวิตที่อุดมไปด้วย "พลัีงทะยานแห่งชีวิต" และจะสามารถ "พิชิตปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทักทายในช่วงเสี้ยวของกาลเวลาได้อย่างองอาจและภาคภูมิตราบสิ้นลมหายใจ"

หมายเลขบันทึก: 432650เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

ขอเป็นอีกหนึ่งชีวิต มาร่วมรับการเติมพลังฯ นะเจ้าคะ

สาธุเจ้าค่ะ @(*_*)@

มากราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

อาจารย์หมอ JJ และโยมน้ำเกลือหวาน

อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์หมอเป็นอย่างมากที่ได้กรุณาเข้ามาทักทายหลังจากห่างหาย แต่คิดว่าคุณหมอคงทำหน้าที่เพื่อลูกศิษย์อันเป็นที่รัก และมอบองค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายและตกผลึกแก่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ

โยมน้ำเกลือหวานได้เข้ามาร่วมเติมเต็มพลังชีวิต และขอให้พลังดังกล่าวสะท้อนย้อนกลับไปหาตัวโยมเองในการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ บรรดามี และขอให้การใช้ชีวิตของทุกท่านเต็มไปด้วยพลังแห่งการรู้ ตื่น และเบิกบานต่อไป

นมัสการพระคุณเจ้า

         ภาพสะท้อนของหญิงสาวที่ยืนอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวนั้น ทำให้คิดถึงความรู้สึกว้าเหว่ ความสูญเสีย เหมือนยืนอยู่หน้าผาลึก ซึ่งทุกคนอาจพบเจอได้ในยามที่ใจท้อแท้หากผู้ใดก็ตามที่กำลังรู้สึกแบบเธอคนนี้ ขอเพียงคนรอบข้างยื่นมือให้กำลังใจเธอ คำปลอบโยน ความห่วงใยจากคนในครอบครัว ย่อมทำให้เธอคนนั้นรู้สึกดีขึ้นได้เปรียบเหมือนยืนบนหน้าผาที่มีต้นไม้อยู่รายรอบให้ความร่มเย็นแก่จิตใจค่ะ

        ภาพของหญิงคนนั้นตามสื่อต่างๆ ทำให้ดิฉันคิดถึงงานวิจัยของตนเองที่พบว่าการทำงานมีผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มแรงงานสตรี โดยพบว่ามีแรงงานสตรีเกือบ ๑ ใน ๔ มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือสัมพันธภาพในครอบครัว การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม และการได้รับกำลังใจจากการทำงาน หากเขาเหล่านี้ได้รับการเสริมแรงจากปัจจัยข้างต้นที่เหมาะสมย่อมทำให้ความเศร้าในจิตใจลดน้อยลงค่ะ

        การเติมพลังชีวิต ๕ ประเด็นของพระอาจารย์จะช่วยเติมพลังใจให้เข้มแข็ง เป็นวัคซีนที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานในจิตใจให้คนทำงาน

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

ครูเดียร์

เจริญพร ครูเดียร์

อนุโมทนาขอบใจมาก สำหรับแนวคิดและมุมมองดีๆ เพื่อกำลังใจและแนวทางสำหรับ "ผู้ที่อยู่ในห้วงเหวแห่งความมืดบอด"  และถือว่าเป็นการให้คำปรึกษาที่ดีมาก

นมัสการครับ พระอาจารย์

ชอบคำว่าเติมเต็มในมิติต่างๆของพระอาจารย์มากครับ

ท่าน ดร.ภิญโญ,

อนุโมทนาขอบคุณสำหรับกำลังใจ และหวังว่ากัลยาณมิตรจะได้นำหลักการของพระพุทธเจ้าที่ได้รับการขยายและตีความใหม่ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและการทำงาน

กราบนมัสการพระอาจารย์คะ

หนูได้ตอบอีเมล์เรื่องการอบรมให้พระอาจารย์แล้วนะคะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับหรือเปล่าคะ

หนูรบกวนพระอาจารย์ลองตรวจสอบอีเมล์อีกครั้งนะคะ

กราบนมัสการค่ะ

 

โยมมะปรางเปรี้ยว

เป็นความกรุณาของทางทีมงาน Gotoknow บัดนี้สามารถติดต่ออาจารย์ขจิตและทีมงานมาช่วยพัฒนาอาจารย์ของมหาจุฬาฯ ให้เป็นอาจารย์อาจารย์ต้นแบบ ที่เก่งทั้ง "ภาษาอังกฤษ ภาษาไอที และภาษาวิชาการ" 

เจริญพรขอบใจมา ณ โอกาสนี้

กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ

ยินดีมากๆ ค่ะ อาจารย์ขจิตโทรมาแจ้งพอดีเลยค่ะ

มะปรางเปรี้ยว

ดร.ขจิต สมเป็นคนหนุ่มที่คิดไว ทำไมเสียนี่กระไร... เืชื่อมั่นคณาจารย์ต้นแบบจากมจร. จะได้รับองค์ความรู้ และแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้อมูลอย่างอเนกอนันต์ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

นมัสการพระคุณเจ้า

มารับการพัฒนาจิต เติมพลังให้ชีวิต...เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูง

เจริญพร โยมพี่คิม

อนุโมทนาขอบคุณมากๆ ที่โยมพี่ได้กรุณาแวะมาเติมพลัง และหวังใจว่า เื่มื่อหายเหนื่อยแล้ว ครูจะพาลูกศิษย์เดินก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง และหันมองข้างหลังอย่างมีความสุข

                                          

กราบนมัสการครับพระคุณเจ้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท