ผลสะท้อนกลับของการเรียนรู้ (๒)


 

ผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้าร่วมงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” ทั้งรอบเช้า และรอบบ่าย กลับกลายเป็นนักเรียน(รู้)ที่พาตัวเองเข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ลูกๆ ของทุกคนร่วมมือกันจัดขึ้นทีละฐาน

 

ก่อนเข้าฐานเรียนรู้แรก ทุกคนจะได้รับสายรัดข้อมือที่ทำจากกระดาษ ๓ สี เพื่อเป็นการแบ่งสมาชิกออกเป็นสามกลุ่ม และได้รับกระดาษคล้องเชือก ๑ ชิ้น

 

ฐานแรก  :  เข้าใจสถานการณ์

“ปัญหาทรัพยากรที่กำลังเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต จนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าทุกคนไม่ระมัดระวังเรื่องของการใช้ทรัพยากร”

 

เป็นห้องฉายวีดิทัศน์ที่แสดงภาพเหตุการณ์การตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนน้ำ และโลกในอนาคต เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่พวกเขาเคยได้ชมมาก่อนแล้ว จึงอยากนำวีดิทัศน์ชุดนี้มาเป็นสื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ผู้ปกครองเกิดความตระหนักในปัญหาดังกล่าว

 

 

ฐานที่สอง : เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร 

“การเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่หลังจากที่มีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง”

 

เป็นห้องที่มีนักข่าวออกมารายงานเรื่องข่าวน้ำท่วมทางโทรทัศน์  ครอบครัวที่รับชมข่าวยังเห็นเป็นเรื่องไกลตัว และยังคงใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านของตัว จึงได้เห็นขยะลอยเกลื่อนกลาด พลันก็นึกได้ว่าเป็นขยะที่ตนทำไว้ทั้งนั้น  เมื่อน้ำลดลง มีการจัดงานสิ่งแวดล้อมโลก ครอบครัวนี้จึงไปหาความรู้จากวิทยากรในงาน และนำความรู้ที่ได้รับกลับมาจัดการกับทรัพยากร ทั้งในลักษณะของการ ลดปริมาณการใช้ (reduce)  การนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ปฏิเสธการใช้ (reject)  การซ่อมแซมให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น (repair)

 

ฐานที่สาม : ป้องกันปัญหา

“รู้เท่าทันปัญหา  สร้างภูมิคุ้มกันก่อนที่จะสายเกินแก้”

เป็นห้องที่มีนักวิทยาศาสตร์มาให้ข้อมูลด้วยการทดลองใช้ต้นไม้คายก๊าซออกซิเจนออกมาทำให้เที่ยนไขที่จุดไว้ไม่ดับเมื่ออยู่ในครอบแก้ว มีคนในโลกอนาคตนั่งยาน (time machine) กลับมายังโลกเพื่อเตือนให้มนุษย์เห็นความสำคัญ มีการรณรงค์ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ ช่วยกันประหยัดทรัพยากร และมอบต้นไม้ให้ผู้ชมกลับไปปลูกที่บ้านด้วย

 

ฐานที่สี่ : สร้างความตระหนัก

“แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังป่วยด้วยข้อมูล”

 

เป็นห้องที่ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ นำข้อมูลเรื่องการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ผลกระทบที่มีต่อสัตว์ ภัยพิบัติ  คำทำนายของศาสนาต่างๆ  และการคาดการณ์อนาคตของนักวิทยาศาสตร์

 

ฐานที่ห้า : โยงใยสายสัมพันธ์

“แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ว่าทุกชีวิตล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน”

 

ฐานสุดท้าย เป็นฐานกลางแจ้งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง ๒๐ คนที่คละกันไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะได้รับบัตรภาพคนละหนึ่งใบ จับคู่กันใบ้คำให้เพื่อนอีกคนรู้ว่ารูปที่ห้อยอยู่ข้างหลังคือภาพอะไร จากนั้นให้เลือกใครก็ได้ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อโยงใยความสัมพันธ์ไปสู่เพื่อนคนอื่นๆ คนที่มีความสัมพันธ์กันก็จะจับเชือกต่อกันไป เมื่อจับกันครบทุกคนแล้วเชือกเส้นนั้นก็ถักกันเป็นร่างแหที่สัมพันธ์กันอย่างสวยงาม

 

นอกจากความสวยงามแล้ว ร่างแหวงนี้ยังแข็งแรงพอที่จะรับร่างของคุณพ่อที่เป็นผู้ชายตัวโตๆ เอาไว้ได้ทั้งคนด้วย !

 

จากนั้นมัคคุเทศก์ตัวน้อยที่ดูแลฐานการเรียนรู้นี้ก็ให้คู่ที่มีความสัมพันธ์กัน ปล่อยมือออกจากเชือกทีละคู่จนกระทั่งเชือกที่เป็นร่างแหคลายตัวออก และไม่สามารถรับน้ำหนักคุณพ่อตัวโตเอาไว้ได้อีกต่อไป

 

กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้จบลงด้วยเพลงชีวิตสัมพันธ์ที่เข้ามาตอกย้ำให้เห็นว่า การมีอยู่ของชีวิตหนึ่งสัมพันธ์กันกับอีกหลายชีวิต และเราทุกคนต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

 

หมายเลขบันทึก: 431753เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท