คลินิกโรคหืดอย่างง่าย ความปลอดภัยใกล้บ้านคุณ


โรคหืดอย่างง่าย

ใครที่ป่วยเป็นโรคหืด หรือมีคนที่รักป่วยเป็นโรคนี้ ย่อมรู้ถึงความทรมานกายยามโรคกำเริบ รวมถึงความทรมานใจที่ต้องเห็นบุคคลอันเป็นที่รักต้องทุกข์ทรมานยามที่เกิดอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยไม่มีการบอกล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการมากจนระดับความรุนแรงมากชนิดอาจจะถึงชีวิต ซึ่งแน่นอนว่า คนเหล่านี้ต้องผ่านประสบการณ์การถูกหอบหิ้วไปส่งโรงพยาบาลชนิดกะทันหันมาบ้างไม่มากก็น้อย และก่อนหน้านี้ครอบครัวที่อยู่ไกล อาจจะลำบากในการนำส่งผู้ป่วยอาการกำเริบเข้าสู่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในตัวเมือง
       
แต่ปัจจุบันการเข้าถึงการรักษาโรคหืดจะไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เมื่อมี “คลินิกโรคหืดอย่างง่าย” ที่มีอยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ (ดูรายชื่อเครือข่ายได้ที่ http://eac2.dbregistry.com/asthma/report/hospital.php)
       
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ COPD ให้ภาพคลินิกที่ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูนี้ว่า เครือข่ายคลินิกโรคหืด และ COPD อย่างง่าย หรือ Easy Asthma and COPD Clinic Network คือ ความพยายามที่จะผลักดันแผนงานการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลชุมชนเข้าไปให้ถึงระดับตำบล และผลักดันต่อไปถึงชุมชน มีแพทย์ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านบ้าง ทำให้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเข้าร่วมอบรม เพื่อให้เข้าใจในแนวทางการรักษาโรคหืดที่ถูกต้องและรูปแบบการทำงานเป็นสหวิชาชีพ โดยการทำงานเป็นระบบประสานกันเป็นทีม และบุคลากรของทีมมีความรู้ความเข้าใจการรักษาโรคหืดในแนวทางเดียวกัน ซึ่งกระบวนการรักษาดังกล่าว ทำให้การรักษาโรคหืดของไทยได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามที่ GINA Guidelines กำหนด
       
“นับตั้งแต่ได้มีการจัดทำโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ COPD อย่างง่าย พบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น แม้จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แต่การรักษาโรคหืดก็ได้มาตรฐานสากล คือ มีการประเมินโรคโดยมีการประเมินสมรรถภาพปอดอย่างง่าย มีการใช้ยาพ่นรักษา มีการให้ความรู้ผู้ป่วยและสอนการพ่นยา ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”
    

 รศ.นพ.วัชรา กล่าวต่อไปอีกว่า หลายๆ โรงพยาบาลสามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบรุนแรง ที่สำคัญก็คือผู้ป่วยทั่วประเทศสามารถเข้ารับการรักษาได้จากโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ และการรักษาก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน
       
“สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืดหอบคงทราบดีว่า การหอบแต่ละครั้งล้วนมีความหมาย เพราะอาการแต่ละคนจะรุนแรงแตกต่างกัน บางคนหอบเพียงไม่กี่นาทีก็หาย แต่บางคนหอบมากถึงขั้นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากโรคที่ว่านี้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะกำเริบขึ้นเมื่อไหร่ และไม่ทราบว่าการหอบแต่ละครั้งจะรุนแรงแค่ไหน ด้วยหลอดลมที่มีการอักเสบเรื้อรัง เป็นผลให้มีเซลล์ต่างๆ มาสะสมที่เยื่อบุผนังหลอดลม ทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ผลจากการอักเสบจึงทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมมีการหนาตัว กล้ามเนื้อหลอดลมมีการหดเกร็งตัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด และหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะเกิดขึ้นทันทีที่ได้รับสารภูมิแพ้ สิ่งที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงก็คือ ควันต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และควรเลี่ยงอาหารมันประเภทต่างๆ”
       
ผศ.นพ.วัชรา กล่าวอีกด้วยว่า โรคหืดสามารถรักษาได้ ผู้ป่วยจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติธรรมดา ขอเพียงเข้าใจแนวทางในการรักษาและดูแลตัวเอง ซึ่งการประชุมใหญ่ในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้คลินิกในเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ COPD ทั่วประเทศ ส่งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร มาร่วมงานเพื่อเรียนรู้ถึงแนวทางการรักษาใหม่ๆ ไปพร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการรักษาระหว่างคลินิก อันจะช่วยให้พัฒนาการด้านการรักษาโรคหอบหืด และ COPD ของไทยก้าวรุดหน้าไปยิ่งขึ้น ผมใคร่ขอเชิญชวนให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากโรงพยาบาลในเครือข่ายคลินิกโรคหืด และ COPD ทั่วประเทศได้เข้าร่วมงานกันให้มากๆ เพื่อสร้างก้าวสำคัญอีกครั้งให้กับการรักษาโรคหืดในไทย
       

 ด้านพญ.เขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหืดที่เข้านอนรับการรักษาใน รพ.เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี 2538 มีอัตรา 66,679 คน เพิ่มเป็น 100,808 คน ในปี 2550 และคาดว่า จะมีผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการหอบรุนแรงจนต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตต่ำ นอกจากนั้น พบว่า ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยที่ได้รับยาพ่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคมีเพียงร้อยละ 6.7 ซึ่งสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของ สปสช.ในปี 2550 พบว่า การรักษาด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ การประเมินสมรรถภาพปอด และการประเมินการใช้ยาสูด อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 สะท้อนว่าผู้ป่วยโรคหืดเข้าถึงบริการน้อยมาก
       

 “การจัดตั้งคลินิกโรคหืดแบบง่ายตาม รพ.ชุมชนนั้น เป็นการทำให้แนวทางการรักษาโรคหืดง่ายขึ้น เป็นการจัดระบบที่จะทำให้แพทย์ใช้เวลาน้อยลงในการดูแลผู้ป่วย และการให้ความรู้เรื่องโรคหืดรวมทั้งแนวทางการรักษาโรค ความรู้เรื่องยาและวิธีการใช้ยาพ่นชนิดต่างๆ แก่ผู้ป่วย ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลที่ได้รับจากการจัดตั้งคลินิกโรคหืดแบบง่าย คือ การรักษาโรคหืดใน รพ.ชุมชนที่อยู่ห่างไกลจะได้มาตรฐาน มีการวัดประเมินสมรรถภาพปอด และมีการใช้ยาสเตียรอยด์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการหอบ และสามารถลดการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน และลดการนอนรักษาที่ รพ.ได้ด้วย”

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 ธันวาคม 2553 07:31 น.

หมายเลขบันทึก: 431609เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมพยาบาลเกเร

ดูแล้วไม่ค่อยจะเกเรเท่าไรนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท