ข้อสรุปความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันด้านเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างไทย – แคนาดา


เอกสารข้อสรุปความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันด้านเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างไทย – แคนาดา ชุดนี้ จัดทำขึ้นโดยเป็นผลจากจากการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้โครงการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระหว่างไทย – แคนาดา ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและการพัฒนาเด็ก ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ถึง ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔

เอกสารข้อสรุปความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันด้านเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างไทย – แคนาดา ชุดนี้ จัดทำขึ้นโดยเป็นผลจากจากการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้โครงการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระหว่างไทย – แคนาดา ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและการพัฒนาเด็ก ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ถึง ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ โดยแบ่งประเด็นของการสรุปเป็น ๒ ส่วนหลักๆ กล่าวคือ ส่วนแรก คือ ความเป็นไปได้ของความร่วมมือภายใต้กรอบด้านการปราบปรามเพื่อลดความเสี่ยง และ ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่ ๒ การดำเนินการด้านมาตรการในการส่งเสริมด้านโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ มาตรการในการป้องกันความเสี่ยงโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน และ ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ส่วนแรก ความเป็นไปได้ของความร่วมมือภายใต้กรอบด้านการปราบปรามเพื่อลดความเสี่ยง จากการหารือร่วมกันหลายฝ่ายทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานแห่งชาติแคนาดาเพื่อการจัดการปัญหาการแสวงประโยชน์จากเด็ก สถาบันระหว่างประเทศด้านการสิทธิและการพัฒนาเด็ก มูลนิธิ Face และ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เกี่ยวกับแนวทางในการทำงานด้านการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ในแง่ของกรอบแนวคิดพื้นฐานในการทำงานเชิงระบบ ประกอบด้วย (๑) การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง กฎหมายที่มีส่งผลต่อการจัดการเนื้อหา และ พฤติกรรม (๒) การสร้างเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ทั้งการเรียนรู้เท่าทัน และ การใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนา(๓) การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อใหม่เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ (๔) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ ทั้ง การจัดทำเครือข่ายเฝ้าระวังทั้งในระบบโลกจริงและเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ (๕) การปฏิรูปกฎหมาย นโยบายที่จำเป็นต่อการสร้างมาตรการทั้ง ๔ ข้างต้น

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างผู้แทนจากศูนย์ประสานงานแห่งชาติแคนาดาเพื่อการจัดการปัญหาการแสวงประโยชน์จากเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย และ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ในฐานะแกนกลางเครือข่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็ก ในระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ ถึง วันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยได้มีการจัดกิจกรรมใน ๓ ลักษณะกล่าวคือ (๑) การจัดอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการปราบปรามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (๒) การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับหน่วยงานภาคนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓) การจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานด้านการส่งเสริมด้านโอกาส และ ป้องกันปัญหาความเสี่ยงของเด็กในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างประเทศไทยกับแคนาดา

ผลสรุปของการทำงานสามารถในส่วนของมาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็กในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถจำแนกลักษณะของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ประสานงานแห่งชาติแคนาดาเพื่อการจัดการปัญหาการแสวงประโยชน์จากเด็ก กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย ได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑       ด้านมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาความเสี่ยง ทั้ง ความเสี่ยงจากเนื้อหา ความเสี่ยงจากพฤติกรรมในการใช้งาน ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ประสานงานแห่งชาติแคนาดาเพื่อการจัดการปัญหาการแสวงประโยชน์จากเด็ก กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย เสนอให้มีการดำเนินการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

       ลักษณะที่ ๑    ความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อมีกรณีการละเมิดกฎหมายอันเป็นการแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็กในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งมาตรการความร่วมมือในการดำเนินการด้านการตรวจคนเข้าเมืองเมื่อมีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแคนาดาเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย หรือ ผู้กระทำความผิด มาตรการความร่วมมือในการสืบสวน สอบสวน รวมทั้ง การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

       ลักษณะที่ ๒    ความร่วมมือในด้านหลักสูตรการอบรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการจัดทำหลักสูตรการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งประเทศแคนาดามีหลักสูตรการอบรมเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนั้น การดำเนินการด้านความร่วมมือในการจัดอบรมให้ความรู้สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทยไปอบรมที่ประเทศแคนาดา (๒) การขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งประเทศแคนาดาในการเดินทางมาอบรมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานในประเทศไทย และ (๓) การร่วมพัฒนาหลักสูตรการอบรมในหลักสูตรเฉพาะทั้งในระดับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ หลักสูตรพิเศษเฉพาะด้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเสริมศักยภาพด้านการสืบสวน สอบสวน

       ลักษณะที่ ๓    ความร่วมมือในด้านงานวิจัย โดยที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทยแคนาดา มีหน่วยงานด้านการวิจัยอันเป็นหน่วยงานสำคัญในการศึกษาสถานการณ์ การศึกษาถึงรูปแบบของการกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ การศึกษารูปแบบทางเทคนิค เป็นต้น การศึกษาวิจัยดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการประเมินสถานการณ์ และ การออกแบบการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจดำเนินการได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานวิจัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแคนาดา กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย โดยอาจจะดำเนินการในรูปของการจัดทำฐานข้อมูลกลางทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสืบค้นงานวิจัยที่น่าสนใจระหว่างทั้ง ๒ หน่วยงาน (๒) การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการทำงานวิจัย โดยการจัดอบรมการทำงานวิจัย และอาจแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เจ้าหน้าที่วิจัยของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแคนาดา กับ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไทยไปฝึกอบรมการทำวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัย และ การศึกษาผลวิจัยสำคัญๆในประเทศแคนาดา หรือ การส่งเจ้าหน้าที่วิจัยจากประเทศไทยมาแลกเปลี่ยนความรู้เชิงประสบการณ์การทำงานและผลการศึกษากับประเทศไทย และ (๓) การดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานการวิจัยภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่ ๒     การดำเนินการด้านมาตรการในการส่งเสริมด้านโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ มาตรการในการป้องกันความเสี่ยงโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน และ ชุมชน หลังจากมีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทย[1] ซึ่งมีแกนหลักคือ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ตลอดจนกิจกรรม การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับหน่วยงานต่างๆ กล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของ สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและการพัฒนาเด็ก หรือ IICRD สามารถพิจารณาได้เป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ (๑) ข้อมูลพื้นฐานในการทำงานด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทย และ (๒) ความเป็นไปได้ในการทำงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง IICRD กับเครือข่ายด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

๒.๑    ในประเทศไทยมีการดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ มาตรการในการจัดการ กฎหมาย นโยบาย ดังนี้

(๑) องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๓ ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก หลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันสารสนเทศ และ เท่าทันเทคโนโลยี ส่วนที่สอง หลักสูตรการใช้สื่อใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทั้ง การพัฒนาตนเอง พัฒนาเครือข่าย พัฒนาชุมชน และ พัฒนาสังคม และ ส่วนสุดท้าย หลักสูตรการบริหารจัดการชุมชน และ ปัจจัยหนุนเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับ เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเอกชนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับพื้นที่ และ ส่วนกลาง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเตรียมปฎิรูปหลักสูตรวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในระบบการศึกษา

(๒) การพัฒนาเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที ภายใต้โครงการจัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสยามกัมจล โดยมีการทำงานร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการพัฒนาเครือข่ายประชาคมเด็กที่ใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาใน ๕ ประเด็นกล่าวคือ การใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนา (๑) การศึกษา (๒) ขับเคลื่อนสังคม (๓) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (๔) ซอฟท์แวร์ และ (๕) การสื่อสารสาธารณะ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายเด็กที่มีความเข้มแข็งและสามารถใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนา และ

(๓) การดำเนินการพัฒนาระบบกองทุนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเด็กให้มีวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ โดยมีการดำเนินการอย่างน้อย ๒ กองทุน กล่าวคือ (๑) ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.. และ (๒) กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการพัฒนาสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

๒.๒    ในแง่ของความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ ทางสถาบันระหว่างประเทศด้านสิทธิและการพัฒนาเด็ก สามารถเชื่อมต่อการทำงานในส่วนของการสนับสนุน “การจัดตั้งศูนย์ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน” ขึ้นภายใต้การดำเนินการของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล โดยมีกรอบแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เป็นการทำงานภายใต้แนวคิดเรื่อง “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่” ที่ประกอบด้วย การเรียนรู้เท่าทันสื่อ วัฒนธรรมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

๒.๓    ศูนย์ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน

๒.๓.๑  ลักษณะและรูปแบบของการทำงาน ในส่วนของแนวคิดพื้นฐานของศูนย์ ฯ ประกอบด้วยแนวคิดหลัก ๓ ส่วนหรือเรียกว่า 3K ประกอบด้วย (๑) การสร้างและพัฒนาความรู้ (Knowledge Creation) ซึ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ใน ๒ ส่วนหลักกล่าวคือ ด้านสถานการณ์ และ ด้านผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ (๒) การถ่ายทอดความรู้สู่สังคมและเครือข่าย (Knowledge Transfer) เน้นการอบรมให้ความรู้แก่เครือข่ายในทุกภาคส่วน รวมถึง การพัฒนาเครือข่ายแบบมีส่วนร่วม และ (๓) การบริหารจัดการ ขับเคลื่อนความรู้สู่การปฏิรูป (Knowledge Management & Movement) เป็นการผลักดันองค์ความรู้ที่ได้จาการทำงานไปสู่สังคม และ นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย

๒.๓.๒  ความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ฯ ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมาได้มีการจัดเตรียมความพร้อมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ฯใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑)    ความพร้อมในส่วนขององค์ความรู้ ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของศูนย์ทั้ง ในส่วนของการปราบปราม  การป้องกัน  การส่งเสริม  และ การคุ้มครอง  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะในส่วนของหลักสูตรการอบรมให้ความรู้ด้าน “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่” ที่ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อ หลักสูตรวัฒนธรรมการใช้สื่อใหม่ และ หลักสูตรการบริหารจัดการสื่อโดยชุมชน

(๒)    ความพร้อมด้านทิศทางของนโยบายแห่งรัฐ โดย พบว่า นโยบายแห่งรัฐที่ปรากฏในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐  หรือ นโยบาย ICT 2020  หรือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ รวมทั้ง แผนแม่บทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ของคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้ง ในด้านการเรียนรู้เท่าทันสื่อ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้ง แนวคิดในการพัฒนา “คน” เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(๓)    ความพร้อมด้านพลังเครือข่าย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมาสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ทำงานวิจัยและขับเคลื่อนเชิงนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ โดยเฉพาะ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับภาคนโยบายของรัฐ  เครือข่ายภาคประชาชน  เครือข่ายภาคเอกชน  เครือข่ายภาควิชาการ  อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางสถาบันฯจึงมีความพร้อมในการทำงานโดยได้รับการสนับสนุนการทำงานจากภาคสังคมร่วมกับเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งในแง่ของการศึกษาวิจัย เครือข่ายที่จะเข้าร่วมในการอบรมความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ รวมทั้ง เครือข่ายในการขับเคลื่อนความรู้ไปสู่การปฏิรูปกฎหมาย และ นโยบายในประเทศไทย

๒.๓.๓  รูปแบบของการบริหารจัดการศูนย์ ฯ ศูนย์ฯนี้จะใช้ระบบการบริการจัดการผ่านกรรมการใน ๓ ส่วนกล่าวคือ คณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ คณะกรรมการกำกับทิศทาง และ คณะกรรมการบริหาร โดยคณะกรรมการบริหาร เป็นกรรมการจาก คณะทำงานศึกษาเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย นโยบายด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อทำให้สามารถพัฒนาชุดความรู้ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เพื่อตอบสนองให้ศูนย์ฯนี้เป็นศูนย์กลางของการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ในระดับปฏิบัติการ จะมีผู้จัดการศูนย์ฯและเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

๒.๓.๔  ทุนของการทำงานของศูนย์ฯ จะประกอบด้วยแหล่งทุนหลักจาก  IICRD ประเทศแคนาดา และ อาจมีการขอรับทุนจากกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง การของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

๒.๓.๕  การทำงานเชื่อมต่อชุดความรู้ไปสู่การปฏิรูปกฎหมาย และ นโยบาย เพื่อทำให้เกิดการทำงานในด้านการปฏิรูปกฎหมาย นโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับเด็ก เยาวชนอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของความรู้ โดยอาศัยการทำงานของศูนย์ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ในการทำงานเชื่อมต่อกับหน่วยงานในเชิงนโยบาย ทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการทำงานเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย

๓.     ประเด็นหลักเบื้องต้นในการทำงาน ภายใต้ลักษณะและรูปแบบของการทำงานของศูนย์ ฯ (3 K) ในเบื้องต้นจะมีประเด็นหลักเบื้องต้นในการทำงาน ดังนี้

       ๓.๑    การทำงานด้านการศึกษาวิจัย (Knowledge Creation) ในระยะแรกจะเน้นการศึกษาวิจัยในด้านสถานการณ์ด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประสิทธิภาพของการจัดการปัญหา แนวทางเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ แนวทางในการพัฒนาศักยภาพด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่

๓.๒    การถ่ายทอดความรู้สู่สังคมและเครือข่าย (Knowledge Transfer) ในระยะแรกของการทำงานจะเน้นการอบรมให้ความรู้กับแกนนำเครือข่าย ในลักษณะของ TOT โดยมีภาคีหลักในการทำงานร่วมกับ เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะอนุกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในจังหวัดนำร่อง สำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบริหารจัดการร่วมกับ สำนักงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และ เครือข่ายครูและนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายครูและนักเรียนที่ทำงานร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในส่วนกลาง เช่น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับพื้นที่ เช่น มูลนิธิกระจกเงา จังหวัดเชียงราย กลุ่มระบัดใบ จังหวัดระนอง โดยในระยะต่อไป จะมีการพัฒนาการทำงานร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

       ๓.๓    การพัฒนาหลักสูตรวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่เป็นวาระหลักเชิงนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้สู่การปฏิรูปกฎหมาย นโยบาย โดยแบ่งการทำงานเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ (๑) การผลักดันแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตของคนในสังคมไทย ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงวัฒนธรรม (๒) การผลักดันหลักสูตรการเรียนรู้วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ในฐานะหลักสูตรระดับชาติ โดยเป็นวาระที่จะผลักดันร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ และ เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะอนุกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในจังหวัดนำร่อง สำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบริหารจัดการร่วมกับ สำนักงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม โดยในระยะต่อไปจะมีการทำงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ภายใต้การทำงานร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการสนับสนุนการทำงานด้านเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับท้องถิ่น



[1] ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนทั้ง (๑) ภาคนโยบาย กล่าวคือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) ภาคประชาชน เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นต้น (๓) เครือข่ายนักวิชาการ เช่น คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันราชานุกูล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (๔) เครือข่ายภาคเอกชน เช่น  บริษัท อินนีทรี จำกัด

หมายเลขบันทึก: 431526เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท