โครงการส่งเสริมและพัฒนานิคมการเกษตร ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร


สามารถยกระดับการพัฒนาสู่กระบวนการเรียนรู้การผลิตที่ใช้เทคนิคและเครื่องมือการผลิตด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ มีผลงานแปรรูปที่ทันสมัยเหมาะกับการบริโภคปัจจุบันที่มีความละเอียดประณีตและสะอาดถูกหลักสุขอนามัย และที่สำคัญคือสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมภายในชุมชนโดยใช้ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

             สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีพันธกิจหลักคือการจัดและพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน  โดยภารกิจด้านการพัฒนามีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาตนเองของเกษตรกรตามแนวทางทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง  รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยส่งเสริมให้เป็นนิคมเศรษฐกิจพอเพียงหรือนิคมการเกษตร ให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อสนองนโยบายของ ส.ป.ก.  วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การผลิตพื้นฐานสู่การผลิตสมัยใหม่และส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในการนำทรัพยากรที่มีมาเพิ่มมูลค่า

          สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร (ส.ป.ก.สกลนคร) จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร จำนวน 203 กลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 4,613 ราย กู้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินไปดำเนินพัฒนากิจกรรมกลุ่มแล้ว จำนวน 53,205,000 บาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 ส.ป.ก. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 ส่วนหลัก คือ (1) กลุ่มเดิมที่ตั้งแล้ว  ให้มีการวิเคราะห์และคัดเลือกกลุ่มที่ยังมีศักยภาพเพื่อพัฒนาต่อยอด สนับสนุนการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมให้เป็นต้นแบบขยายผล (2) ส่งเสริมการตั้งกลุ่มใหม่เพิ่มเติม ซึ่งสมาชิกจากทั้งสองกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทั้งในด้านองค์ความรู้ การเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงตลาด

            ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสกลนคร (พ.ศ. 2553-2556) ได้กำหนดวิสัยทัศน์(Vision)ให้จังหวัดสกลนครก้าวไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ควบคู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีเป้าประสงค์รวม(Objectives)คือสกลนครบรรลุเกณฑ์คุณภาพชีวิตอย่างมั่นคง มีประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนา(Strategic Issues)ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้คือยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป้าประสงค์สำคัญคือการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชากรทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดินการเกษตรและอุตสาหกรรม เป้าประสงค์สำคัญคือการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และความเป็นไทย  

               จากพันธกิจหลักของ ส.ป.ก.และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสกลนคร จะเห็นความเชื่อมโยงที่สำคัญคือการให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงแบบเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน  ดังนั้น ส.ป.ก.สกลนครจึงพิจารณาคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจเดิมเพื่อต่อยอดส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทันต่อยุคสมัยที่การบริโภคมีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้น นวัตกรรมและเทคนิคการผลิตใหม่ๆจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพราะจากข้อมูลของ ส.ป.ก.สกลนคร ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก ได้รับการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานโดยการแจกปัจจัยการผลิตเป็นไม้ผลมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งบัดนี้ไม้ผลได้เจริญเติบโตออกผลผลิตจำนวนมาก เช่น มะม่วง 10 ตัน/ปี  ขนุน 6 ตัน/ปี เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถหาตลาดได้เนื่องจากขาดการบริหารจัดการ เพราะผลผลิตกระจัดกระจาย 

          ในปีงบประมาณ 2553 ส.ป.ก.สกลนคร จึงได้ส่งผู้นำแม่บ้านเกษตรกรจำนวน 5 ราย เข้ารับการฝึกอบรมการทำผลไม้อบแห้งและผลิตภัณฑ์ขนมอบ ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และขอสนับสนุนการสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้ ซึ่งได้ดำเนินการสร้างอาคารแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เหมาะสมที่จะเป็นโรงงานคุณภาพได้จึงต้องมีการปรับปรุง อีกทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิต เช่น ตู้อบลมร้อน เครื่องอัดสุญญากาศ เครื่องฝานผลไม้  เป็นต้น  ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนแล้ว กลุ่มเกษตรกรตำบลนาม่อง จะสามารถยกระดับการพัฒนาสู่กระบวนการเรียนรู้การผลิตที่ใช้เทคนิคและเครื่องมือการผลิตด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ มีผลงานแปรรูปที่ทันสมัยเหมาะกับการบริโภคปัจจุบันที่มีความละเอียดประณีตและสะอาดถูกหลักสุขอนามัย และที่สำคัญคือสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมภายในชุมชนโดยใช้ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกด้วย   

   ผู้เสนอโครงการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร (ส.ป.ก.สกลนคร)

หมายเลขบันทึก: 431508เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท