จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๙. ครูฝึกฝนตนเองอย่างไร (๒)


 
         นี่คือตอนรองสุดท้ายของบันทึกตีความหนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willinghamผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และเป็นเคล็ดลับในการเรียนรู้ฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองของครูเองต่อจากตอนที่แล้ว

         หลักสำคัญคือครูที่ดีต้องเรียนรู้เคี่ยวกรำฝึกฝนตนเองตลอดชีวิตการเป็นครู 

         เรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ครู   ด้วยหลักการ ๓ประการคือ  (๑)มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาการทำหน้าที่ครู  (๒) หาfeedback เพื่อทำ reflection การจัดการเรียนรู้ของตนเอง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงการทำหน้าที่ครูอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง (๓) ลงมือปรับปรุงตนเอง

          โดยยึดหลัก ๓ประการนี้ มีวิธีดำเนินการมากมาย   หนังสือเล่มนี้แนะนำ ๑วิธี คือหา โค้ช ที่ช่วยแนะนำ ทำหน้าที่ feedbackว่าตนทำงานสอนอย่างไร   คล้ายๆ ช่วยเป็นกระจกส่องให้ เราจะได้รู้จักตัวเอง รู้จุดที่จะต้องแก้ไขการสอนของตนเอง และวิธีได้โค้ชอย่างง่ายที่สุดคือเพื่อนครูด้วยกันเองที่ต้องการฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย  จับคู่เป็น “บั๊ดดี้” ทำหน้าที่ผลัดกัน feedback หรือจะจับกลุ่มกันหลายๆ คนก็ได้ หากทำได้

         เพื่อนที่เป็นบั๊ดดี้ ควรสอนในระดับชั้นเดียวกัน  และมีความเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมทั้งมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะปรับปรุงการสอนของตนเองเช่นเดียวกัน

         นอกจากมีบั๊ดดี้หนังสือแนะนำให้บันทึกวิดีทัศน์บรรยากาศและเหตุการณ์ในห้องเรียนไว้  เอาไว้ดูร่วมกันกับบั๊ดดี้ และช่วยกันบอกสิ่งที่เห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการสอน ในบ้านเราการบันทึกวิดีทัศน์เหตุการณ์ในห้องเรียนไม่น่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องบอกผู้ปกครอง  แต่ในสหรัฐอเมริกาเขาแนะนำให้มีหนังสือผ่านครูใหญ่ไปแจ้งผู้ปกครอง  ว่าบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ด้านการปรับปรุงการสอนเท่านั้นไม่นำไปใช้เพื่อการอื่น  และใช้เสร็จแล้วจะลบทิ้ง

         เมื่อได้วีดิทัศน์มาแล้ว หนังสือแนะนำให้ครูดูคนเดียวก่อน โดยอย่างเพิ่งค้นหาส่วนที่จะต้องปรับปรุง  ให้สังเกตภาพรวมก่อน ว่ามีส่วนใดบ้างที่ตนแปลกใจ ไม่คิดว่าจะเห็น  ส่วนนี้จะมีเสมอ เพราะระหว่างที่สอนครูจะพุ่งความสนใจ (Working Memory)ไปที่บางจุดเท่านั้น  ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทั้งหมดได้

         การฝึกดูวีดิทัศน์การสอนของตนเอง และของผู้อื่นที่มีให้ดูในอินเทอร์เน็ต เป็นขั้นตอนแรกของการใช้วิดีทัศน์เป็น feedbackเพื่อปรับปรุงการสอนของตน   ในสหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์ให้บริการวีดิทัศน์นี้ ดูได้ที่ www.videoclassroom.org และ www.learner.org  ครูควรฝึกดูเพื่อให้เกิด “ทักษะการสังเกตอย่างสร้างสรรค์”(Constructive Observation)  และ “การวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์”(Constructive Commenting)  โดยฝึกดูวิดีทัศน์นี้อย่างแตกต่างไปจากการดูทีวีตามปกติเพื่อความบันเทิง  แต่คราวนี้ดูเพื่อหา feedback จึงต้องมีเป้าหมายของการดูอย่างชัดเจน ว่าต้องการหาอะไรจากวีดิทัศน์   เช่นเพื่อดูการจัดการห้องเรียน (ClassroomManagement)  ดูบรรยากาศเชิงอารมณ์ในห้องเรียน

         หลังจากดูคนเดียวจน “ดูเป็น” แล้ว จึงดู ๒ คนกับบั๊ดดี้  ผลัดกันฝึกวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ และอย่างเคารพต่อวิดีท้ศน์การสอนของคนอื่น  จนคิดว่าพร้อมแล้วที่จะดูวิดีทัศน์การสอนของตนเอง พร้อมกับบั๊ดดี้ผลัดกันวิพากษ์

         หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีทำหน้าที่ feedbackอย่างระมัดระวัง   ไม่ล่วงล้ำแตะต้อง อัตตา (อีโก้)ของเพื่อน คือการ feedback ให้ยึดหลัก ๓ อย่าง


         ๑. เป็นคำวิพากษ์ที่ให้กำลังใจ (Supportive)  ไม่สร้างความรู้สึกว่าถูกกดดัน   ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีแต่คำชมอย่างหลอกๆ  ส่วนที่ชมก็ต้องแสดงความจริงใจและเป็นความจริง ที่สำคัญคือไม่ใช่เป็นการจับผิด  แต่เป็นการสะท้อนภาพที่มีทั้งภาพบวกและภาพลบ   และต้องเอาใจใส่ทั้งสาระน้ำเสียง และสีหน้าท่าทาง ของการวิพากษ์


         ๒. บอกพฤติกรรมที่เห็น ไม่ใช่บอกคำวินิจฉัยของตนเอง  เช่น ไม่ใช่บอกว่า “ห้องเรียนสับสนอลหม่าน”  แต่บอกว่า“สังเกตเห็นว่านักเรียนไม่ค่อยฟังสิ่งที่ครูพูด” 

         ๓. บอกสิ่งที่เพื่อนบั๊ดดี้แสดงความต้องการให้ feedbackเท่านั้น   แม้จะเห็นส่วนอื่นที่เป็นข้อเรียนรู้ของตน แต่เพื่อนบั๊ดดี้ไม่ได้ขอให้บอก ก็ไม่ต้องบอก  เป็นการแสดงความเคารพต่ออัตตาหรือความเป็นส่วนตัวของเพื่อน ประเด็นสำคัญที่เพื่อนบั๊ดดี้ยังไม่ได้ขอให้ feedback นี้  จะโผล่ขึ้นมาเองในการดูวิดีทัศน์เพื่อ feedback ซึ่งกันและกันคราวต่อๆไป

         การผลัดกันให้ feedback นี้ เพื่อช่วยให้แต่ครูคู่บั๊ดดี้ละคนสามารถทำreflection ต่อการสอนของตนได้ลึกขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดที่ตัวเองมองตัวเองได้ไม่ทั่วหรือมีอคติด้านบวกหรือเข้าข้างตนเองมากเกินไป  แม้จะใช้วิธีบันทึกวีดิทัศน์เอามาดูภายหลัง ก็ยังมีข้อจำกัด จึงหาบั๊ดดี้มาช่วยชี้ให้เห็นเหตุการณ์สำคัญที่ตัวเราเองอาจมองข้ามไป โปรดระลึกไว้เสมอว่าบั๊ดดี้ไม่ได้มีหน้าที่สอนหรือแนะนำเพื่อนหากเพื่อนไม่ได้ร้องขอ 
 

         โปรดสังเกตว่า การบันทึกวีดิทัศน์เหตุการณ์ในห้องเรียน  นำมาดูเองและดูร่วมกับเพื่อน บั๊ดดี้เป็นการฝึกขยายความรู้ความเข้าใจส่วน “สภาพแวดล้อม”ในวงสีฟ้าในแผนผังข้างบน  ให้ครูมีความสามารถสังเกตและนำเอาความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนในขณะนั้นมาใช้ในการสอนให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น

         เมื่อครูนำเอาข้อเรียนรู้จากการทำ reflection ของการสอนของตน(โดยการช่วยชี้ของบั๊ดดี้)ไปใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ก็หาทางบันทึกวีดิทัศน์ไว้ feedback ตนเอง และให้บั๊ดดี้ช่วยfeedback เป็นวงจรยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนขึ้นไปไม่มีสิ้นสุด   เพื่อยกระดับตนเองสู่ความเป็น“ครูผู้เชี่ยวชาญ”  ที่มีวงจรการเรียนรู้ตามแผนผังข้างบนแบบผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่แบบผู้เริ่มต้น

         คำแนะนำข้อต่อไปคือ ครูต้องมีการจัดการตนเองเพื่อดำรงพลังของแรงปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองในด้านการเป็นครูที่ดี เพื่อให้ได้ปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ  (๑) feedback ที่ดี (๒) หากิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการเป็นครู  (๓)บอกตัวเองให้หมั่นฝึกฝน  ต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่ง  แต่อย่าใจร้อน อย่าโลภ ให้ค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกทำส่วนที่ทำได้ หรือมีลำดับความสำคัญสูงก่อน  เพราะข้อแนะนำที่ให้นั้น ต้องใช้เวลา

         เพื่อช่วยการจัดการตนเอง หนังสือแนะนำให้ครูเขียน “อนุทินการสอน” (Teaching Diary)เพื่อสร้างวินัยในตนเอง  และเพื่อให้เห็นภาพใหญ่และความก้าวหน้าทีละน้อย ของความมานะพยายามของตน เป็นเครื่องมือช่วยทำ self-reflection และใช้เป็นตัวกระตุ้นความอดทนมานะพยายามของตนเอง

         คำแนะนำข้อต่อไปคือ จัดกลุ่มเรียนรู้ของเพื่อนครู  คำแนะนำนี้ทำให้ผมนึกถึง ชร.คศ.  พบกันอย่างสม่ำเสมอ เช่นทุกๆ ๒ สัปดาห์  เพื่อวัตถุประสงค์ ๒อย่าง คือ  (๑) เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  (๒) ลปรร.ปัญหาและวิธีการที่เป็น “ทีเด็ด” ของครู  กลุ่มเรียนรู้นี้ควรร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน และถ้าเอาจริงเอาจังมาก อาจจัดการประชุมบางครั้งเป็นคล้ายๆ JournalClubผลัดกันอ่านวารสารวิชาการด้านการเรียนการสอนในเรื่องที่สมาชิกมีความสนใจร่วมกัน

         คำแนะนำข้อสุดท้าย จงสังเกตว่าอะไรที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนที่ตนสอน นักเรียนมีความปรารถนาที่แรงกล้าด้านใด  คือทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของนักเรียน ที่ไม่ใช่ตัวตนสมมติตอนอยู่ในชั้นเรียนนั่นเอง

         การสังเกตนี้ควรทำกับเด็กในกลุ่มอายุเดียวกันกับนักเรียนที่ท่านสอน  โดยสังเกตในโอกาสต่างๆ แบบที่เขาไม่รู้ตัว  เช่นตามศูนย์การค้า  ร้านอาหาร  ในงานแสดงต่างๆเป็นต้น   หากตั้งใจสังเกตอย่างจริงจัง  ท่านจะได้ความรู้เกี่ยวกับเด็กในวัยที่ท่านสอนสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้  เท่ากับเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้เชิงสาระเกี่ยวกับชีวิตของเด็กเอามาเก็บไว้ในกล่องความจำระยะยาว ในแผนผังข้างบน เตรียมจัดระบบความรู้ให้พร้อมใช้ นั่นเอง

         ตอนสุดท้าย คือตอนที่ ๑๐ จะเป็นบทสรุป

 

วิจารณ์ พานิช
๑๓ ก.พ. ๕๔ 
 
          
           
          
         
             


 

หมายเลขบันทึก: 431262เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2011 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอ ;)...

ผมเห็นด้วยกับการที่ครูต้องมีการจัดการตนเองครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์  ได้อ่านตอนล้าพอดี ทำให้สะท้อนและกระตุ้นตัวเอง อนุทินน่าจะช่วยได้นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท