รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

บันทึกเพื่อเรียนรู้ : อิทธิบาท 4 และ พรหมวิหาร 4


 

เมือบันทึกก่อนได้กล่าวถึง "ปัญญาในไตรลักษณ์" การจะลึกซึ้งถึงปัญญาในไตรลักษณ์ได้นั้น มิใช่จะทำได้ง่าย ๆ  พระพุทธองค์ ให้แนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ถึงซึ่งความสำเร็จ 4 ประการ เรียกว่า "อิทธิบาท 4"

อิทธิบาท 4 หมายถึงเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ ได้แก่

1. ฉันทะ  คือจะต้องเกิดความพอใจและเข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องนั้น ๆ 

2. วิริยะ เมื่อเข้าใจ  เกิดความพอใจในสิ่งนั้นแล้ว ก็จะต้องพยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วง

3. จิตตะ  พยายามหรือวิริยะแล้วยังไม่พอ จะต้องมีความเอาใจฝักใฝ่และตามติดในสิ่งนั้น

4. วิมังสา เมื่อมีความฝักใฝ่ในสิ่งนั้นแล้ว ก็ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ คือพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่ เรื่อง  ทุกข์   ไตรสิกขา  กระทั่ง อิทธิบาท 4 ล้วนเป็นแก่นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เราจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงสอนเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบจริง ๆ หลักปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เพื่อเป็นหลักปฏิบัติ เพราะเมื่อพ้นทุกข์แล้ว ก็ต้องหมั่นขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการทำใจให้มี "พรหมวิหาร 4" ได้แก่

1. เมตตา  คือความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข เกิดความรู้สึกเป็นมิตร ไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  และไม่เกลียดใคร

2. กรุณา คือความปรารถนาที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ มีใจเผื่อแผ่ แม้ศัตรูก็ช่วย

3. มุทิตา  คือพลอยยินดี ถ้าเขาได้ดีมีความสุข

4. อุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจหรือเสียใจเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น แม้คนรักหรือศัตรูถึงซึ่งความวิบัติ

Wallpaper : ดอกบัวแสนสวย

หมายเลขบันทึก: 431006เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เจริญพรโยมอิงจันทร์

อนุโมทนาสำหรับบันทึก "ธรรมะดี" ที่นำมาแบ่งปันกับพวกเรา  และคิดว่าหลักการเหล่านี้จะเกิดประโยชน์สำหรับผู้ที่แสวงหาความรู้ ตื่น และเบิกบานบนสายธารแห่งธรรม

มาเยี่ยมชมบันทึกธรรม คุณครูช่วงนี้เพิ่มบันทึกขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าภาระทางโรงเรียนคงจะเบาลงไปแล้ว..ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

อนุโมทนาบุญอิงจันทร์งานเผยแผ่             อยากให้แคร์งานปฏิบัติขัดจิตใส

ผู้รู้ธรรมต้องถึงธรรมชำระใจ                    พิสุทธิ์ใสใจผ่องแผ้วดังแก้วงาม

ระวังเป็นเช่นโบราณเปรียบขวานพร้า         ตัดถากผ่าทุบหั่นฟันกระหน่ำ

แต่งทุกอย่างดังใจได้ประจำ                      แต่ถากด้ามตัวไม่ได้ช้ำใจจัง

เหมือนเปรียญเก้าเอาแต่ท่องจองหองว่า     พระชราด้อยบาลี...ชิโอหัง !

อวดตัวแน่ข้านี้ดีเด่นดัง                             กลับพลาดพลั้งไปนรกตกอบาย

 

นมัสการพระคุณเจ้าธรรมหรรษาIco48 

  • ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจจากพระคุณเจ้า
  • รวมทั้งกำลังใจด้วยภาษาอักษร
  • การบันทึกทั้งสามเรื่องที่ผ่านมา คือ อริยสัจ 4  อิทธิบาท 4 และ พรหมวิหาร 4
  • อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง  เป็นการทบทวนความรู้ และ ตรวจดูจิตว่า เราได้ปฏิบัติตามหรือไม่ มีข้อใดบ้างที่เรายังบกพร่องอยู่
  • ถือเป็นการทบทวนจิตตัวเองมากกว่าค่ะ  ขอบพระคุณ ค่ะ 
  • มาทักทายก่อนเข้านอนครับ
  • โลกเราวุ่นวายเพราะคนห่างไกลธรรม หลายคนมุ่งไปทำบุญ เพื่อสัมผัสบารมีกับพระผู้ปฏิบัติดี แต่ลืมฝึกฝนสร้างบารมีที่ตนเอง
  • "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา" คำกล่าวนี้ ลึกซึ้ง ลึกล้ำครับ

นมัสการพระคุณเจ้าIco48พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ทิวาพัฒน์

  • แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึก 3 บันทึกติด ๆ กัน ได้แก่เรื่อง อริยสัจ 4  อิทธิบาท 4 และ พรหมวิหาร 4 นั้น  คือ เนื้อหาของบทเรียนในวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมค่ะ
  • จริง ๆ แล้วจำได้ว่า เนี้อหาเหล่านี้ เคยเรียนในระดับประถม ในวิชา ศีลธรรม  ซึ่งหลักสูตรในปัจจุบันไม่มีวิชา ศีลธรรม แล้ว  เพราะไปรวมกับกลุ่มสาระสังคมฯ
  • ครูอิงคิดว่า อริยสัจ 4 เป็นเนื้อหาสำคัญ ที่นักเรียนจะต้องเรียนให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
  • จึงนำมาบันทึกรวบรวมไว้ที่นี้ ส่วนหนึ่งเพื่อความสะดวกในการสอนนักเรียน และหยิบยกมาสอนลูก ๆ ที่บ้าน ตามแต่โอกาสจะอำนวย (คือต้องดูว่า เด็ก ๆ พร้อมจะรับหรือไม่)
  • ช่วงนี้งานไม่หนักมากแล้วค่ะ  เนื่องจากว่าอยู่ในช่วงปิดเทอมค่ะ  งานต่าง ๆ ที่ทำ มักทำให้เป็นปัจจุบัน ไม่หมักหมม  จึงมีเวลามากขึ้นค่ะ
  • ก่อนจะเขียนบันทึก ทั้ง 3 บันทึก ก็คิดใคร่ครวญ  เกรงว่าจะโดนตำหนิว่า ทำตัวเป็นผู้รู้มาก จึงได้เขียนประโยคเด่น กำกับไว้ว่า

ขออนุญาตบันทึกข้อมูลความรู้ไว้สำหรับทบทวนตน สอนลูก และสอนศิษย์ เพื่อจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการค้นหา สามารถนำไปใช้ได้ทันท่วงที มิได้คิดที่จะทำตนเป็นผู้รู้แต่ประการใด เพียงต้องการแปลข้อความยาก ๆ ที่เป็นภาษาบาลีให้เป็นคำง่าย ๆ ให้เหมาะสมกับต้นทุนความรู้ของตนเอง เหมาะสมกับวัยของลูก และลูกศิษย์

สวัสดีค่ะท่านวิโรจน์ พูลสุขIco48

 

ขอใช้คำตอบตามที่ได้ตอบพระคุณเจ้าธรรมหรรษา และ พระคุณเจ้า พระมหาวินัย นะคะขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำที่ทรงคุณค่า ควรแก่การพิจารณาทบทวน ยอมรับว่าตัวเองยังพร่องอยู่มากในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ยังเพิ่งคลานเตาะแตะเองค่ะ จึงมักเข้าไปศึกษาเรียนรู้ในบันทึกของพระคุณเจ้าทั้ง พระธรรมหรรษา  และ พระมหาวินัย ตลอดจนบันทึกของท่าน  บางบันทึกก็มิกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะต้นทุนความรู้ไม่ถึงจริง ๆ ค่ะ แต่ก็พยายามทำตัวให้เป็นอุบาสิกาที่ดี ตามคุณสมบัติ 10 ประการ คือ

1. เป็นผุ้มีความเคารพ เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

2. เป็นผุ้ที่ปฏิบัติ อุปัฏฐาก ภิกษุ สามเณร ด้วยความเคารพ

3. เป็นผุ้มีกาย วาจา ใจ อันสงบสำรวม เรียบร้อยดี

4. เป็นผู้มีความละอาย กลัวต่อบาปกรรมทุกชนิด

5. เป็นผุ้หมั่นสมาทานรักษาศีลโดยเคร่งครัด

6. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นไม่หน้าไหว้หลังหลอก

7. เป็นผู้หมั่นสาธยายมนต์ให้คล่องแคล่วชำนาญ

8. เป็นผู้มีความเสียสละ บริจาคทาน ในพระพุทธศาสนา

9. เป็นผู้หมั่นในการเจริญสมาธิ ภาวนา(ข้อนี้ยังพร่องอยู่มาก)

10. เป็นผู้มีปัญญา สอดส่องธรรม และใคร่ครวญในธรรม

ระวังเป็นเช่นโบราณเปรียบขวานพร้า         ตัดถากผ่าทุบหั่นฟันกระหน่ำ

แต่งทุกอย่างดังใจได้ประจำ                      แต่ถากด้ามตัวไม่ได้ช้ำใจจัง

โบราณช่างเปรียบเทียบเปรียบเปรยว่า     พรรณนาได้เหมาะสมคำคมนั่น

มีดขวานพร้าโดนจับด้ามทุกยามวัน        เห็นทีว่าด้ามนั้นก็เกลากลึง

สวัสดีค่ะน้องชำนาญIco48

  • ขอบพระคุณน้องชำนาญค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ ๆ
  • จริง ๆ แล้วอยู่ที่บ้านก็ทำบุญได้ค่ะ
  • หลวงพ่อจรัญ บอกว่า
  • "...การสร้างบุญนั้นไม่ยาก บุญคือความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการชำระจิตใจให้หมดจดจากความสกปรกเศร้าหมอง จิตแจ่มใสใจก็สะอาดหมดจด นี่แหละถึงจะเรียกว่าความสุขเกิดจากบุญที่สร้าง ที่เรามาสร้างบุญหมายความว่า ไม่ใช่เอาสตางค์มาทำบุญ เพราะอย่างนี้เรียกว่าการบำเพ็ญทาน บริจาคทาน ถวายสังฆทาน การอุทิศแต่ยังไม่พบความสุขที่แน่นอน และแท้จริง ซึ่งเกิดจากการทำใจให้สบาย ทำใจให้เป็นปกติ ถ้าจิตใจเราปกติดีแล้ว จิตไม่เศร้าหมอง จิตผ่องใส ใจสะอาด เราถึงจะสบายอก สบายใจ เป็นความสุขที่เกิดจากการชำระจิตใจ...สุขที่แท้จริงจะได้จาการที่เรามาบำเพ็ญกุศลเจริญภาวนา ทำใจให้สบาย ขำระใจให้สะอาด ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ที่จิต..."

มีดขวานพร้าโดนจับด้ามทุกยามวัน        เห็นทีว่าด้ามนั้นก็เกลากลึง

อนุโมทนาด้ามขวานคนนั้นจับ               มิอาจลับตัวเองได้มิใช่หรือ

ท่านถ่ายทอดเผยแผ่ดีที่เล่าลือ             หากฝึกปรือภาวนาบุญพาไป

สั่งสมบุญเอาไว้ใส่กระปุก                     ยามนั่งลุกยืนเดินนอนหรือตอนไหน

วิปัสสนาตั้งจิตคิดทันใด                       นี่แหละไซร้ปรารถนานำพาบุญ"

"นี้คือรูปนั่ง"...ตั้งจิตคิดอย่างนี้             สติมี"กำลังนั่ง"ตั้งเสริมหนุน"

"ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา"เข้าถึงบุญ       หมั่นตักตุนบุญนี้ดีจริงเอย                     

สวัสดีค่ะท่านเบIco48

  • ขอบพระคุณค่ะที่มาเยี่ยมเยียน
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

อรุณสวัสดิ์ท่านวิโรจน์Ico48

ยอมรับยังมิถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน        เพียงระดับอนุบาลจริงจริงหนอ

สวดมนต์ ฝึกสมาธิ มิรั้งรอ                    แม้มิพอแต่ก็เป็นสุขใจ

อนุโมทนาบุญท่านผู้ผ่านแล้ว                มีดวงจิตเหมือนแก้วสว่างไสว

ส่วนเรานั้นต้องฝึกหัดอีกนานไกล           ขอบพระคุณท่านที่ให้คำแนะนำ

สวัสดีค่ะพี่อิงจันทร์

  แวะมารับความรู้ทางธรรม น้อมนำไปปฏิบัติค่ะ

  ขอบคุณค่ะ

  พี่อิงจันทร์สบายดีนะค่ะ

สวัสดีค่ะน้องอุ้มIco48

  • ต้องขออภัยน้องอุ้มด้วยนะคะ
  • พัก หลัง พี่อิงไม่ค่อยได้แวะไปเยี่ยมเยียนพี่น้องผองเพื่อน
  • คิดถึงน้องอุ้มเสมอนะคะ
  • พี่สบายดีค่ะ  ขอบพระคุณน้องอุ้มที่ห่วงใย และแวะมาเยี่ยมเยียน

อิทธิบาท ๔

....หนทาง สู่ความ สำเร็จ
แนวเผด็จ เด็ดดาว หลากหลาย
ขอเสนอ แนวอ่าน สบายสบาย
ไม่ยาก เจียนตาย ดอกเธอ

ฉันทะ (ความพอใจ)
....เริ่มด้วย ชื่นชอบ เป็นหลัก
เพลิดเพลิน ขยันผลัก ฉุดเสมอ
การกิจ ที่ยาก นะเกลอ
เหมือนเจอ จับกล้วย ปลอกกิน

วิริยะ (ความเพียร)
....พานพบ พอใจ ในสิ่ง
ยากยิ่ง มิท้อ ฝันถวิล
หยาดเหงื่อ น้ำตา หลั่งริน
ไม่สิ้น เพียรทน ทำการ

จิตตะ (ความคิด)
....ให้ใจ กายเฝ้า ครุ่นคิด
มุ่งพิชิต เช้าค่ำ สืบสาร
ไถ่ถาม ค้นคว้า จดจาร
สำราญ ฝึกประลอง เชิงเชาว์

วิมังสา (ความไตร่ตรอง)
....สิ่งใด ได้รู้ เรียนลอง
ไตร่ตรอง อย่าง่าย เชื่อเขา
อาจอ้าง ผิดหลง มัวเมา
พิเคราะห์ ขัดเกลา จึ่งดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท