Rjaantick
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

ศก กับ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนทางความเข้าใจ


ศก คือคำลงท้ายของจุลศักราช

    ศก กับ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนทางความเข้าใจ

     จากการสัมมนาทางภาษาก่อนปิดภาคเรียน มีนักศึกษาเขียนคำถามในการสัมมนาว่าเคยอ่านประกาศเกี่ยวกับพิธีสงกรานต์ว่า “ปีฉลู มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน เอกศก จุลศักราช ๑๓๗๑ ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติ”

จึงเกิดความสงสัยว่า "เอกศก ทำไมใช้เรียกปีฉลู ทำไมไม่เป็นปีชวด”

      คำถามนี้ทำให้ผู้เขียนได้พบข้อมูลว่า “นักศึกษาปัจจุบัน แม้จะศึกษาทางด้านภาษาและวรรณคดีก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับคำที่ใช้เรียก ปีจุลศักราช” ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาจได้พบการใช้คำที่ต่อกัน เช่น ปีขาล ฉศก หรือ ปีมะโรง อัฐศก เป็นต้น

      เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงขอให้ข้อมูลว่า “คำลงท้ายที่ใช้เรียกปีจุลศักราชนั้นจะมีคำว่า “ศก” (อ่านว่า สก เพราะหมายถึงหมวดของปีจุลศักราช แต่ถ้าอ่านว่า สะ-กะ จะกลายเป็นชื่อราชวงศ์) ดังนั้น ศก จึงไม่ได้เป็นคำแทนปีนักษัตร กล่าวคือ

เอกศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 1

โทศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 2

ตรีศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 3

จัตวาศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 4

เบญจศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 5

ฉศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 6

สัปตศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 7

อัฐศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 8

นพศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 9

สัมฤทธิศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 0

           ต่อท้ายคำถามจากการสัมมนาที่ว่า “คำว่าทางสุริยคติเป็นปกติ รู้ได้อย่างไรว่าปีนั้นจักรวาลเป็นปกติหรือไม่ปกติ” แม้ผู้เขียนจะอึ้งไปบ้างกับคำถามแต่ก็ขำกับความเดียงสาของผู้ถาม จึงตอบไปว่า “ทางสุริยคติเป็นปกติ หมายถึง ปีนั้นๆ เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันเป็นปกติค่ะ ไม่ได้หมายถึงจะเกิดภัยพิบัติใด ๆ”

        พบกันใหม่เมื่อพบคำถามแปลก ๆ น่านำมาบอกเล่านะคะ

                                   ผศ.ดร.ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

หมายเลขบันทึก: 431003เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มารับความรู้ครับอาจารย์
  • ขอบคุณมากครับ

อยากขอความรู้เพิ่มครับว่า  เอกสารระบุเพียง   วันศุกร์  แรม ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๐  ปีวอก  เบญจศก  จะหาเทียบจุลศักราชได้ไหมครับ  ขอคำแนะนำในการศึกษาการเทียบศักราช ที่ไม่ระบุ ปี จศ. จะศึกษาเพิ่มเติมได้จากไหนบ้างครับ  ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท