รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

บันทึกเพื่อเรียนรู้ : ทุกข์


ขออนุญาตบันทึกข้อมูลความรู้ไว้สำหรับทบทวนตน สอนลูก และสอนศิษย์ เพื่อจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการค้นหา สามารถนำไปใช้ได้ทันท่วงที มิได้คิดที่จะทำตนเป็นผู้รู้แต่ประการใด เพียงต้องการแปลข้อความยาก ๆ ที่เป็นภาษาบาลีให้เป็นคำง่าย ๆ ให้เหมาะสมกับต้นทุนความรู้ของตนเอง เหมาะสมกับวัยของลูก และลูกศิษย์

 

              ภาพจากhttp://www.br.ac.th/elearning/social/jitraporn

เรื่องของ  "ทุกข์" เป็นแก่นแห่งคำสอนของพุทธศาสนา สัจจธรรมอันเป็นหลักสำคัญนี้เรียกว่า........ "อริยสัจ 4" เป็นคำสอนที่ฉันจำได้ว่าเคยเรียนมาตั้งแต่สมัยประถมศึกษา และยังจดจำมากระทั่งปัจจุบันนี้

หลายวันก่อน ฉันถามนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องของอริยสัจ 4 ด้วยเหตุที่ตัวเองไม่ได้สอนวิชาพุทธศาสนา  เพราะได้ยกหน้าที่นี้ให้กับ พระครูสอนศีลธรรมของโรงเรียน เมื่อนักเรียนตอบไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ เพื่อเป็นต้นทุนทางปั้ญญาในการที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนาในลำดับต่อ ๆ ไป  ดังนี้

สัจจธรรมอันเป็นหลักสำคัญที่นักเรียนจะต้องทำความเข้าใจคือ "อริยสัจ 4" ซึ่งแปลว่า "สัจจะที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐ 4 ประการ" อันเป็นสัจจะทางปัญญา ได้แก่

1. ทุกข์  สอนให้เข้าใจว่า "พอเกิดก็เป็นทุกข์" เสียแล้ว เป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์และสัตย์ที่จะต้องเกิด  แก่ เจ็บ และตาย  จะต้องพบกับความทุกข์ทั้งกายและใจ

2. สมุทัย สอนให้เข้าใจว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นคือ "ตัวตัณหา" คือความดิ้นรนทะยานอยากได้หรือไม่อยากได้ของจิต ได้แก่อยากในกาม  อยากได้ตำแหน่งนั้นแต่ไม่อยากได้ตำแหน่งนี้ อยากได้ลาภยศเงินทอง หรืออยากให้พ้นจากภาวะบางอย่าง

3. นิโรธ สอนให้รู้จักการดับทุกข์ คือสอนให้รู้จัก "ดับตัณหา" หรือความดิ้นรนทะยานอยากและไม่อยากให้ลดน้อยถอยลง

4.มรรค สอนให้รู้จักแนวทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งการ "ดับทุกข์" (มรรคแปลว่า แนวทาง) ซึ่งมีประกอบกัน 8 แนวทาง คือ

1) สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)  = ตั้งใจแน่วแน่ให้เป็นสมาธิ

2) สังมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) = คิดออกจากสิ่งผูกพันที่เป็นทุกข์ไม่พยาบาทและมุ่งร้าย

3) สัมมาทิฐิ(เห็นชอบ) =  รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4

4) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) =  เว้นพูดเท็จ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ คำหยาบ

5) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) = เว้นฆ่าทรมานสัตว์ ขโมยผิดในกาม

6) สัมมาอาชีพ (เลี้ยงชีพชอบ) =  เว้นอาชีพที่ผิดศีลธรรม (ค้าคน อาวุธ ยาเสพติด ทำลายชีวิต)

7)สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) =  เว้นกระทำบาปที่จะเกิดและบาปที่เกิดแบ้ว เพียรทำกุศล

8)สัมมาสติ (ระลึกชอบ) = ระลึกในที่ตั้งสติที่ดีในสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม

หนทาง 8 อย่าง (มรรคมีองค์ 8) นี้ถ้าจะย่อลงมาเพื่อนำไปปฏิบัติก็ได้แก่ "ไตรสิกขา" ซึ่งแปลว่า ข้อที่พึงศึกษาปฏิบัติ 3 ประการ คือ 

ศีล   สมาธิ  ปัญญา

 

หมายเลขบันทึก: 430941เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

     ที่ว่าเกิดเป็นทุกข์ มีบาลีว่า ชาติปิ ทุกฺขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ การเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์  ที่ว่าเป็นทุกข์ก็เพราะความเกิด เป็นเหตุนำมาชซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศก เสียใจก็ไม่มี 

     แต่ความทุกข์นี่ก็ให้ข้อคิดให้บทเรียนเช่นกัน ความเป็นทุกข์สอนให้คนเราได้คิด ได้เพียรพยายาม ได้ต่อสู้ดิ้น ได้หาหนทางเพื่อที่จะพ้นไปจากความทุกข์ ชีวิตจริงๆ ของคนเรามีความทุกข์เป็นพื้น ที่ปรากฏว่าเป็นสุขก็เพราะทุกข์ลดลง (เรื่องนี้มีบาลีรับรองอยู่)ทุกข์ลดลงมากเท่าใด ความสุขก็ปรากฏมากขึ้นเท่านั้น เหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าความเย็นไม่มี ที่ปรากฏว่าเย็น ก็เพราะความร้อนลดลง ลดลงมากเท่าใดความเย็นก็มากขึ้นเท่านั้น

    พูดถึงความสุขเมื่อคนเราเมื่อได้ประสบ บางคนก็ประมาทมัวเมา หลงลืมตน จนคิดว่าสุขนั้นจะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ได้ทำใจให้รู้เท่าทันมันเลย เมื่อความสุขจืดจางไป ตามกฏธรรมชาติหรือที่เรียกว่าไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน คนนั้นก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะยึดมั่น ถือมั่นด้วยความเป็นผู้ไม่มีสติพิจารณา ทั้งสุขและทุกข์นี้เป็นโลกธรรมที่ทุกคนจะต้องประสบ ท่านว่าให้มีสติรู้เท่าทันทั้งสองอย่าง ไม่ดีใจจนเกินไปในเมื่อได้รับสุข ไม่เสียใจจนเกินไม่เมื่อได้รับทุกข์ ควรวางใจเป็นกลางๆ 

     กล่าวถึงความทุกข์ ความทุกข์นี้แลที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  นี่แลเรียกว่าแปรทุกข์ให้เป็นสติปัญญา (ทุกข์ในที่นี้ ถ้าจะมองให้ใกล้ตัวเรา ก็คือตัวปัญหา) พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้หลบหลีกความทุกข์ ไม่ได้สอนให้หลบปัญหา แต่ทรงสอนให้กำหนดรู้  กำหนดให้รู้ว่าเป็นของจริงที่จะต้องประสบ (สัจจญาณ) เมื่อกำหนดรู้แล้วก็พยายามสาวหาเหตุ เหตุของทุกข์เหตุแห่งปัญหาเกิดมาจากอะไร เมื่อดับเหตุได้ตัวทุกข์ก็สิ้นไป ปัญหาก็หมดไป

    อริยสัจ แปลได้หลายนัย อริ แปลว่า ข้าศึก,ศัตรู, ย แปลว่า ไป สัจจะ แปลว่าความจริง แปลจากหลังมาหน้า ก็คือความจริงที่ทำให้บุคคลไปจากข้าศึกคือกิเลส   (กิเลส เป็น ข้าศึกต่อจิตใจ) ความจริงของพระอริยะ, คงามจริงที่ทำให้บุคคลเป็นพระอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ, นี่คือความหมายของคำว่า อริยสัจ

    และในอริอัษฎางคิกมรรค,อริมรรค,มรรคมี องค์ ๘,นั้น ท่านเรียงลำดับจากสัมมาทิฏฐิก่อน เมื่อพิจารณาดูจากการเรียงลำดับ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สองอย่างนี้เป็นตัวปัญญา, สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สามอย่างนี้เป็นตัวศีล, สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามอย่างสุดท้ายนี้เป็นตัวสมาธิ, เมื่อพิจารณาตามหลักนี้แล้ว ก็คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ที่จริงก็รวมลงในไตรสิกขานั่นแล ในการปฏิบัติ ท่านให้เอาปัญญาขึ้นก่อน คือจะต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องแต่เบื้องต้น ก็จะส่งผลให้มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามมา ถ้าเบื้องต้นมีความเข้าใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ส่งผลให้มีการกระทำที่ผิดๆ

    หลักธรรมทั้งหลายในพระพุทธศาสนา ก็รวมลงในอริยสัจนี้แล

    มาเยี่ยมคุณครู ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง

อริยอัษฎางคิกมรรค,ก็ใช้ อริยอัฏฐังคิกมรรคก็ใช้ ใช้หลายอย่าง เหมือนกันโดยอรรถ ต่างกันโดยพยัญชนะ

      ถ้าแปล ให้เด็กๆ สอนเด็กๆว่าตั้งใจชอบ เพียรชอบ นักเรียนอาจไม่ค่อยเข้าใจ บางทีอาจจะเข้าใจเป็นสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก  ต้องบอกด้วยว่าชอบในที่นี้ คือ ถูกต้องชอบธรรม ไม่ผิด เหมือนคำว่า โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ใจใจด้วยอุบายอันแยบคาย ถ้าคนไม่ได้เรียนบาลีก็ยังงงๆอยู่ พิจารณาด้วยอุบายอันแยบคายมันยังไงกันนะ โดยความก็คือพิจารณาสืบค้นให้เห็นถึงต้นเค้าแหล่งที่มาของมัน โยนิโส แปลว่า กำเนิด ที่มา มนสิ แปลว่าใจ

ขอบพระคุณดอกไม้กำลังใจจากคุณศิลา Ico24 และคุณแก้วค่ะ

ขอให้มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะIco48

  • ขอบพระคุณสำหรับการแสดงความคิดเห็น เติมเต็มให้กับบันทึกนี้ค่ะ
  • สำหรับเรื่องการเรียงลำดับนั้น จะลองลำดับดูใหม่อีกครั้งนะคะ ตามที่พระคุณเจ้าบอกมา (ในบันทึก ถัดไปค่ะ)คือ

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สองอย่างนี้เป็นตัวปัญญา, สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สามอย่างนี้เป็นตัวศีล, สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามอย่างสุดท้ายนี้เป็นตัวสมาธิ,

สวัสดีค่ะคุณบีเวอร์Ico48

  • ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท