รพ.หนองม่วง
รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง

การใช้ยาในเด็ก


การใช้ยาในเด็ก

ความคลาดเคลื่อนทางยาที่เกี่ยวข้องกับขนาดการใช้ยา มีผลโดยตรงต่อผลการรักษา ผู้ป่วยได้รับอันตราย หรือพิการ สาเหตุมักเกิดจากการคำนวณผิดพลาด เช่น ข้อมูลบอกไว้เป็น mg/kg/day แต่ใช้เป็น mg/kg/dose ความถี่ในการใช้ยามากหรือน้อยเกินไป ไม่ได้พิจารณารูปแบบของยาที่มีอยู่ เช่น Phenytoin ชนิดรับประทาน มี 2 รูปแบบที่ออกฤทธิ์ทันทีและชนิดที่ออกฤทธิ์เนิ่น ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละมื้อจะแตกต่างกัน ความถี่ในการรับประทานก็แตกต่างกัน ชนิดที่ออกฤทธิ์ทันทีต้องให้ขนาดน้อย แต่วันละหลายครั้ง ถ้าเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์เนิ่นสามารถให้วันละหลายเม็ดวันละครั้งเดียว ถ้าสั่งใช้ผิดโดยสั่งใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วให้รับประทานครั้งเดียวหลายเม็ด คนไข้อาจเป็นอันตราย ฤทธิ์ของยาก็จะไม่ครอบคลุมได้ตลอด 24 ชั่วโมง คนไข้อาจมีอาการชักได้

การคำนวณขนาดของยาที่ต้องการจากความแรงของยาที่มีอยู่ผิดพลาด เช่น Adrenalineขนาดยาที่ให้ไว้สำหรับเด็กเล็ก เป็น 1:10,000 แต่ยาที่มีอยู่เป็น 1:1,000 ก่อนใช้ต้องนำยาที่มีอยู่มาเจือจาง 10 เท่าก่อน ถ้าไม่รอบคอบ อาจเกิดความผิดพลาดที่อันตรายได้

ความแรงของยาน้ำ จะมีการระบุความแรงหลายแบบ เช่น mg/ml หรือ mg/5ml (1ช้อนชา) การสั่งใช้ควรสอดคล้องกับความแรงของยาที่มี ยาน้ำชนิดที่บอกความแรงเป็น mg/ml มีความเข้มข้นมากเหมาะที่จะใช้กับเด็กเล็กเพราะขนาดยาที่ได้รับจะมีปริมาณน้อยกว่า เช่น Paracetamol ชนิด drop ความแรงของยา คือ 100 mg/ml ในขณะที่ syrup ความแรง คือ 120 mg/5ml ถ้าสั่งผิดพลาดคือสั่ง Paracetamol drop ให้รับประทานครั้งละ1 ช้อนชาเด็กจะได้รับยาเกินขนาด ในทางกลับกันถ้าสั่งยาชนิด syrup ให้รับประทานครั้งละ 1 ml เด็กจะได้รับยาน้อยเกินไป ในการสั่งใช้ยาจึงควรพิจารณาขนาดการใช้ยาที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นการดูภาพรวมของผู้ป่วยทั้งอายุ น้ำหนัก พื้นที่ผิวกาย ประกอบกัน เนื่องจากเด็กที่มีอายุเท่ากันแต่น้ำหนักมีความแตกต่างกันมาก ต้องระมัดระวังสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักต่ำหรือเกินเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งต้องพิจารณาสภาพของผู้ป่วยในขณะนั้นด้วย  มีข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่ควรคำนวณขนาดยาในใจให้บันทึกสิ่งที่คำนวณไว้ด้วย เมื่อใดที่สั่งใช้ยาในขนาดที่สูงสุด (Maximum dose)แพทย์ควรเขียนระบุในคำสั่งด้วยว่า “Maximum dose”เพื่อเป็นการแจ้งเตือน

องค์ประกอบอื่นที่ควรพิจารณาร่วมด้วยในการสั่งใช้ยาผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญแต่ต้องใส่ไว้ในตำรับ เช่น ปริมาณน้ำตาล สารกันบูด ตัวทำละลายยา  แอลกอฮอล์ สารแต่งสี สารแต่งรส สารเพิ่มปริมาณในเม็ดยา (lactose) ฯลฯ  เด็กๆ อาจมีอาการแพ้ต่อสารเหล่านี้ได้

หน่วยการใช้  เช่น  gram milligram microgram mole millimole micromole microequivalent ผู้สั่งใช้ยาจะต้องเข้าใจความหมายอย่างดี หากเข้าใจผิดจะเป็นสาเหตุให้เกิดความคลาดเคลื่อน

เมื่อต้องสั่งใช้ยาที่ไม่คุ้นเคยหรือนาน ๆ จะสั่งใช้ครั้งหนึ่งเกิดความไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบขนาดการใช้ยาจากแหล่งข้อมูลก่อน พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนสั่ง เพื่อความถูกต้อง เหมาะสมและความปลอดภัยของผู้ป่วย

คำสำคัญ (Tags): #ยาในเด็ก
หมายเลขบันทึก: 430547เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2011 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท