การดื่มชาเขียวมีประโยชน์จริงหรือ?


จากการที่ได้คุยกับทีม ปรึกษากันเรื่องเนื้อหาที่น่าจะลงใน "เรื่องเล่าจาก ศวก.ที่ ๖ (ขอนแก่น) ก็ปรากฏว่า "ถ้ามีเรื่องความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรด้วยก็ดีนะ" เอาหล่ะซิค่ะ งานเขี้ยนชิ้นนี้ติ๋วเคยเผยแพร่แล้ว ตั้งแต่หัดทำวารสารชื่อ "สาส์นยาและสมุนไพร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มหัศจรรย์ขององค์ความรู้ ณ วันนี้มันก็ยังมีประโยชน์ จึงของเอามาลงไว้ ณ พื้นที่นี้ค่ะกับ "การดื่มชาเขียวมีประโยชน์จริงหรือ"


การดื่มชาเขียวมีประโยชน์จริงหรือ ?

 

ภาวดี  น้อยอาษา...................ผู้เขียน
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๖ (ขอนแก่น)

 

ชาเขียวบรรจุเสร็จในท้องตลาดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงและสารออกฤทธิ์ต่ำ ซึ่งสารชนิดนี้จะเปลี่ยนรูปเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์หากถูกเก็บในสภาวะที่เป็นกลางหรือมีออกซิเจน ที่สำคัญระดับน้ำตาลสูงมาก ผู้ป่วยเบาหวานต้องระมัดระวังในการบริโภค

ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชามีถิ่นกำเนิดในจีน ต่อมาได้ถูกนำไปแพร่พันธุ์ในญี่ปุ่น อินเดียและศรีลังกา ในที่นี้กล่าวถึงชาที่เป็นพืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis O. Kuntze อยู่ในวงศ์ Theaceae

แต่ปัจจุบันเมื่อเอ่ยถึงชาต้องระบุด้วยว่าชาอะไร เพราะมีการเรียกพืชที่มีกระบวนการผลิตคล้ายชา หรือสมุนไพรแห้งที่เอามาชงหรือต้มดื่ม ว่า “ชา” แทบทั้งสิ้น แต่จะมีการเติมคำขยายเพื่อกำหนดลักษณะเช่น ชากระเจี๊ยบ เป็นต้น

ในฉบับนี้จะกล่าวถึงชาชนิดที่มาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis O. Kuntze เท่านั้น

ชาที่พบทั่วไปหลัก ๆ มีอยู่ ๒ พันธุ์คือชาจีน (Chinese Tea) ใช้ผลิตชา ๓ ชนิดคือ

ชาเขียว (Green Tea)

ชาอู่ล่ง (Oolong Tea)

 และชาดำ (Black Tea)

สายพันธุ์ที่สองคือ ชาฝรั่ง (Ceylon Tea) ปลูกมากในอินเดีย เป็นชาที่หมักและอบแห้งแล้ว จะให้สีเหลืองอ่อนกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้

จำแนกชาในท้องตลาดตามกระบวนการผลิตหลัก ๆ แบ่งได้ ๓ ชนิดคือ

ชาเขียว (Green Tea) เป็นชาที่ได้จากการเด็ดยอดใบอ่อนของต้นชา นำมาคั่วในกระทะทองแดง ใช้ไฟอ่อน ๆ จนแห้ง แล้วนำมาบรรจุ

ชาดำ (Black Tea) เป็นการเอาใบชามากองสุมไว้ให้เกิดการหมักแล้วทำให้แห้ง ชาที่ได้จะมีสีน้ำตาลเข้มและมีกลิ่นหอมเฉพาะอันเกิดจากการหมักและ

ชาอู่ล่ง (Oolong Tea) เป็นชาที่ใช้กรรมวิธีควบกันระหว่างชาเขียวกับชาดำคือมีการหมักในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วทำให้แห้ง จะได้ชาที่กลิ่นนุ่มกว่าชาดำ แต่สี กลิ่นและรสเข้มกว่าชาเขียว

                ดื่มชาแล้ว รู้สึกสดชื่น เพราะในใบชามีสารคาเฟอีน (Caffeine) ร้อยละ ๑-๔ เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในกาแฟ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง สารTheobromine ขับปัสสาวะ ช่วยขยายหลอดลม

สารสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่พบในชาและมีการศึกษาถึงฤทธิ์ทางชีวภาพอย่างแพร่หลายคือ

สารกลุ่มโพลีฟีนอลลิก (Polyphenolic Compounds) หลัก ๆ มีอยู่ ๔ ชนิดคือ

(-)-Epicatechin,

(-)-Epicatechin-3-gallate,

(-)-Epigallocatechin และ

(-)-Epigallocatechin-3-gallate

 

ซึ่ง (-)-Epigallocatechin-3-gallate

พบในปริมาณมากที่สุดและมีรายงานการวิจัยว่าสารชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันช่วยชะลอความแก่ ป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด เพิ่มการหลั่งของอินซูลิน ลดการดูดซึมของโคลเลสเตอรอล ต้านการแข็งตัวของเลือด ลดระดับความดันโลหิตและยับยั้งการเจริญของเชื้อ Streptococcus mutans, Streptococcus sobrinus, Lactobacillus spp. และ Actinomyces spp. อันเป็นสาเหตุของฟันผุ

นอกจากนั้นในใบชายังพบ Gallotannic Acid เป็นสารกลุ่มแทนนิน (Tannins) มีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสียโดยละลายออกมาช้า ๆ ขณะชง

การเลือกบริโภคชา

 ในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็น ชาดำ ชาเขียว ส่วนชาฝรั่งนั้นยังพบในวงจำกัด ชาเขียว ความหอมและรสชาดจะเป็นรองจากชาทั้งสองชนิด แต่จากกระบวนการผลิตและผลการวิจัยพบว่า ชาเขียวมีปริมาณสารกลุ่มโพลีฟีนอลลิก คงอยู่ในปริมาณสูง

ซึ่งสารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่าง ๆ เพราะว่าชาเขียวไม่ผ่านกระบวนการหมักสารกลุ่มนี้จึงไม่เปลี่ยนรูป

ปัจจุบันชาที่นิยมบริโภคเป็นชาเขียว โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์บรรจุเสร็จพร้อมบริโภค มิใช่แบบดั้งเดิม อาจจะเป็นผลจากการโฆษณาหรือรูปแบบของการตลาดที่ดึงดูด

แต่มีข้อเท็จจริงที่ผู้บริโภคควรทราบว่า

จากผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับได้พิสูจน์ว่า

สารออกฤทธิ์ในชาเขียวจะมีปริมาณลดลงเมื่ออยู่ในน้ำซึ่งมีสภาวะเป็นกลางและถูกออกซิเจน

ดังนั้นเมื่อชาเขียวถูกผลิตมาเป็นเวลานานหรือถูกเปิดแล้ว ระดับสารสำคัญจะลดลง

เพราะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันสารสำคัญจะเปลี่ยนรูปกลายเป็นสารไม่มีฤทธิ์

ยังมีรายงานการวิจัยพบว่าชาเขียวบรรจุเสร็จที่วางจำหน่ายในท้องตลาด

ประกอบด้วย

คาเฟอีนในปริมาณค่อนข้างสูง แต่ปริมาณ (-)-Epigallocatechin-3-gallate ซึ่งเป็นสารสำคัญอยู่ในระดับต่ำมาก

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น

มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานในปริมาณสูงมาก ผู้ป่วยเบาหวานต้องระมัดระวังในการบริโภค

การบริโภคชาเขียวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรชงดื่มกับน้ำร้อน ตามแบบฉบับดั้งเดิม ดังนี้

เอาน้ำร้อนลวกทิ้ง ๑ น้ำ (เพราะในน้ำนี้มีคาเฟอีนละลายออกมาปริมาณสูง) จากนั้นชงดื่มตามปกติ แต่ไม่ควรทิ้งใบชาไว้ในน้ำนาน เพราะจะทำให้แทนนิน ออกมาปริมาณมาก
เว้นแต่กรณีที่ต้องการดื่มชาเพื่อแก้ท้องเสีย จึงควรชงชาที่ความร้อนสูงแล้วทิ้งใบชาไว้ในน้ำนาน ๆ แล้วดื่ม จะช่วยระงับอาการได้

หากจำเป็นต้องดื่มชาเขียวบรรจุเสร็จจริง ๆ ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่มีรสหวานเพราะจะทำให้อ้วน และเมื่อเปิดควรดื่มให้หมดภายใน ๑๐-๒๐ นาที และเลือกขวดที่มีระยะเวลาการผลิตไม่นาน ภาชนะไม่แตกหรือบุบ เพื่อให้สารสำคัญยังคงอยู่และร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

แม้ว่าชาเขียวจะมีประโยชน์นานัปการดังกล่าวไว้ข้างต้น แต่การดื่มชาเขียวในปริมาณมากจะทำให้ท้องผูก จึงควรรับประทานผักและผลไม้ร่วมด้วย และการดื่มชาชงที่ร้อนเกินไปจะทำให้หลอดอาหารถูกทำลาย อาจจะก่อมะเร็งหลอดอาหารได้

สุดท้ายขอฝากถึงท่านที่รักสุขภาพทุก ๆ ท่านว่า

“สมุนไพรมีประโยชน์แต่ต้องนำมาใช้ให้ถูกต้น ถูกส่วนและถูกวิธี”

เรื่องของชายังมีชาสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีคุณประโยชน์หรือสามารถเกิดโทษได้ หากนำมาใช้ไม่ถูกส่วน ไม่ถูกโรค หรือถูกวิธี เช่น ชาหญ้าหนวดแมว มีสรรพคุณคือขับปัสสาวะ ลดความดัน แต่หากใช้ผิดวิธี จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด อาจถึงขั้นหมดสติได้

 

หมายเหตุ; บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วใน สาส์นยาและสมุนไพรศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของแก่น ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๘

บรรณานุกรม 

(1)  สรจักร  ศิริบริรักษ์. เภสัชโภชนา. 2547. พิมพ์ครั้งที่ 3.       โรงพิมพ์กรุงเทพ, กรุงเทพฯ.

(2)  แสงไทย  เค้าภูไทย. เจาะงานวิจัยสมุนไพรหมื่นล้าน. 2545. อินฟอร์มีเดียบุ๊ค, กรุงเทพฯ.

(3)  Khansuwan, U.; Tipduangta, P.; Srichairatankoo, S.; Chansakaow, S.; Chuamanochan, V.; Chumpan, C.; Vejabhikul, S. 1st International Conference NPH 2005, 83-84.

(4)  Majchrzak, D.; Mitter, S.; Elmadfa, I. Food chemistry 2004, 88, 447-451.

(5)  Su, Y.L.; Leung, L.K.; Huang, Y. and Chen, Z.Y.   Food chemistry 2003, 83, 189-195.

(6) Suganuma, M.; Okabe, S.; Sueoka, N.; Sueoka, E.; Matsuyama, S.; Imai, K., Nakachi, K.; Fujiki, H. Mutation Research 1999, 428, 339–344.

(7) Wei, Q.Y.; Zhou, B.; Cai, Y.J.; Yang, L.; Liu, Z.L. Food chemistry 2006, 96, 90-95.

 

หมายเลขบันทึก: 430429เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2011 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดื่มทุกๆๆชา และ ไม่เย็น ชา กับเพื่อนฝูง ค่ะ

ฮ่า น่ารักมากเลยค่ะครูอ้อย

ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะที่นำมาแบ่งปัน..ขอนำไปเผยแพร่ต่อในหมู่ "คอ(น้ำ)ชา"..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท