บทเรียนของตลาดเพลงดิจิตอลต่ออาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย


ถึงวันนี้ประเด็นขัดแย้งระหว่างคุณนิติพงษ์ ห่อนาค กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่บ้าน(เก่า)ของเขาก็คลี่คลายลงแล้วนะครับ (link)

ในขณะที่ตลาดเพลงนั้นเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว และนักร้องยุคใหม่ก็ผันตัวมาหารายได้จากการแสดงสด รวมถึงสื่อต่างๆ ที่ทำให้นักร้องเข้าถึงผู้ฟังได้มากขึ้นง่ายขึ้นกว่าเดิม นักแต่งเพลงในยุคนี้กลับต้องรับแรงกดดันกว่าเก่ามาก เพราะสมัยก่อนรายได้ที่มาจากลิขสิทธิ์เพลงในอัลบั้ม ที่มักจะมีเพลงดังสักสองสามเพลง (หรือแม้แต่เพลงเดียว) นักแต่งเพลงคนอื่นๆ ที่แต่งเพลงประเภทไม้ประดับอัลบั้มก็ยังมีสิทธิได้รับค่าลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันผู้ฟังสามารถเลือกดาวน์โหลดเอาแต่เพลงที่ตัวต้องการ รายได้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ค่ายเพลงต่างก็ปรับโครงสร้างเงินเดือนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ นักแต่งเพลงเลยตกเป็นเป้าหมายของการลดเงินเดือน ซึ่งก็เป็นที่มาที่ไปของข่าวความขัดแย้งที่กล่าวไว้ข้างต้น

ผมลองมาคิดดูแล้วก็เห็นว่าคนที่เลือกประกอบอาชีพอาจารย์นั้นโชคดีกว่านักแต่งเพลง เพราะโครงสร้างการจ้างนั้นไม่ต่างจากการเป็นนักแต่งเพลงในระบบเก่า นั้นคือการจ่ายแบบเหมารวม อาจารย์แต่ละคนนั้นก็ไม่ต่างจากนักร้องนักแต่งเพลงเท่าไรนัก เพราะแต่ละคนก็ออกแบบหลักสูตร และก็ลงมือบรรเลงเอง (ยกเว้นบางทีอาจจะมีฟีเจอร์ริ่งกับวิทยากรรับเชิญบ้าง)

แต่ละเทอม อาจารย์แต่ละท่านก็ออกแบบหลักสูตรไปสิบสี่ถึงสิบหกสัปดาห์ บางสัปดาห์ก็โดนใจนิสิตนักศึกษา ในขณะที่บางสัปดาห์ก็ไม่ค่อยจะโดนเท่าไหร่ แต่อย่างไรเสีย เราก็สามารถถูไถไปได้ ถ้าภาพรวมมันโอเค ยิ่งถ้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหน่อยก็ยิ่งสบาย ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีนักเรียน

ลองนึกดูนะครับว่าถ้าผู้บริหารนึกอยากเอาอย่างค่ายเพลงบ้าง เอาประสิทธิภาพการสอนและเสียงตอบรับจากผู้เรียนมาเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเดือนและใช้ในการประเมินผลงานเหมือนอย่างที่นักแต่งเพลงยุคใหม่กำลังประสบปัญหาอยู่ในทุกวันนี้ อาจารย์ทุกคนจะต้องสอนให้ดี แต่ละวิชาจะต้องมีบทเรียนที่ท๊อปฮิต ตัดเป็นซิลเกิ้ลได้ไม่อายใคร อาจารย์ท่านไหนเก่งๆ ทำให้วิชาตัวเองดังได้ทุกสัปดาห์ ก็ได้ค่าตอบแทนมากกว่าคนอื่น

ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มคิดว่าถ้าเอาความคิดเห็นของผู้เรียนเป็นตัวชี้วัด แล้วมันจะได้มาตรฐานหรือ? ทำแบบนี้แล้วอาจารย์ที่ใจดี สอนง่ายก็ได้เงินเยอะใช่ไหม? อาจารย์บางท่านบ้าพลังก็ต้องลดพลังลงใช่ไหม?

ผมขอตอบอย่างนี้ครับ ที่ว่าวิชาที่ออกแบบดีนั้น เราต้องเอาผู้เรียนในระดับมาตรฐานเป็นตัวตั้ง เช่นวิชาในระดับชั้นปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย ผู้เรียนควรมีพื้นฐานที่ดีมาจากชั้นมัธยมในสาขาที่ตรงกัน เอามาตรฐานนี้มาเทียบกับหลักสูตร และการวัดประเมินผลของวิชาที่เราสอน ถ้าการออกแบบหลักสูตรนั้นดี และสอนดี เด็กที่พื้นฐานดีก็ควรจะผ่านกันหมด หรือเกือบหมด ถ้าเรามีมาตรฐานกลางว่าหลักสูตรที่ดีนั้นควรจะมีอะไรบ้างแล้ว เราก็จะไม่หลงทาง

อีกประเด็นที่อยากจะพูดถึงคือขั้วตรงข้ามระหว่างความ “ง่าย” กับความ “ยาก” ครับ

หลายๆ ครั้งเราคิดว่านี่คือมิติเดียวของการตัดสินอาจารย์มหาวิทยาลัย และสองขั้วนี้ก็แปรผันตรงกับความ “ดี” และ “ไม่ดี” หรือความ“ดัง” และ ความ “ยี้” ของอาจารย์ท่านนั้นๆ แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันยังมีอีกมิติที่เราไม่ค่อยจะพูดถึง คือความเอาใจใส่กับการปล่อยปะละเลย อาจารย์ที่ได้รับคำชมว่าเป็นอาจารย์ที่ “ดี” นั้น หลายๆ ครั้งไม่ใช่คนที่สอนวิชาที่ “ง่าย” แต่เป็นคนที่เอาใจใส่นักเรียนนักศึกษา แม้วิชาจะยาก ผู้เรียนถูกเคี่ยวเข็ญต่างๆ นานา แต่พอเรียนจบแล้วก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากวิชานั้นๆ

ส่วนตัวผมคิดว่าการเป็นอาจารย์ที่ “ดี” นั้น มีปัจจัยอยู่สองสามประการครับ หนึ่งคือการเฝ้าติดตามพัฒนาการของนักเรียน เช่นการให้ผลสะท้อน (feedback) กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอและอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่รอแค่สอบกลางภาคและปลายภาคค่อยมาดูว่าไอ้ที่เราสอนนั้นมันดีหรือไม่ดีอย่างไร เด็กเข้าใจแค่ไหน ความสม่ำเสมอและคุณภาพของผลสะท้อนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทและต้องฝึกฝนครับ

ประการที่สองที่ผมคิดว่าสำคัญมากคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน และสามารถสร้างความรู้สึกของความเป็นชุมชนในชั้นเรียนได้ (sense of community) ยิ่งทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชานี้เร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นอยากมาเรียน อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ได้เร็วขึ้น ทักษะตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะชั้นเรียนนั้นมีระยะเวลาจำกัด คนหลายพ่อพันแม่มาเจอกันในเวลาไม่กี่เดือน จะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

อีกปัจจัยหนึ่งคือความกระตือรือร้นของผู้สอน และความกล้าที่จะปล่อยวางอำนาจ อัตตาที่ตนมีอยู่ ลองให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความรู้ขึ้นเอง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะต้องสอน จะต้องตามฉันคนเดียว เราสร้างคนนะครับ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ทุกคนควรมีโอกาสได้แสดงออก ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่าไปโทษว่าหนุ่มสาวสมัยนี้หน่ายคัมภีร์เลยครับ หนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัยก็เหนื่อยหน่ายกับการสอนที่จืดชืด ไร้รสชาด เราจะทำอย่างไรให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ให้ผู้เรียนได้ทดลองความคิดผิดถูก ได้ค้นหาตัวตนและเติบโตทางจิตวิญญาณ คำถามนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปครับ และผมคงตอบแทนอาจารย์ท่านอื่นไม่ได้

bored student

ผมได้แต่ภาวนาให้นักเรียนรุ่นใหม่กล้าที่จะมีปากมีเสียงในชั้นเรียนมากขึ้น รู้ถึงสิทธิตัวเองมากขึ้น เรียกร้องความเป็นธรรมถ้าถูกเอาเปรียบ (บนพื้นฐานของเหตุและผล) เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวตามผู้เรียนครับ (ซึ่งผู้เรียนนั้นเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว) แล้วเมื่อนั้น เราก็จะได้เห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายๆ ท่านตัดซิลเกิ้ลดีๆ ให้ผู้เรียนได้เรียน หรือมีวิชาที่ขึ้นท้อปชาร์ตหลายสัปดาห์ ส่วนประเภทไม้ประดับก็ต้องปรับตัวกันไปตามระเบียบ

ใครเห็นด้วยยกมือขวาหน่อยครับ

หมายเลขบันทึก: 430202เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ชอบมากเลยครับ
  • อาจารย์หายไปนาน
  • ความคิดเห็นของผู้เรียนเป็นตัวชี้วัด แล้วมันจะได้มาตรฐานหรือ? ทำแบบนี้แล้วอาจารย์ที่ใจดี สอนง่ายก็ได้เงินเยอะใช่ไหม? อาจารย์บางท่านบ้าพลังก็ต้องลดพลังลงใช่ไหม?
  • ผมเป็นประเภทบ้าพลัง
  • ฮ่าๆๆ
  • ผมว่าต้องดูทั้งเรื่องวิชาการ ดูการพัฒนาของนิสิต ดูเรื่องความรู้ว่าเขาได้ไหม ที่สำคัญต้องกล้าเปิดใจยอมรับให้นิสิตวิจารณ์การสอนครับ
  • มายกมือขาวด้วยคน เย้ๆๆ
  • เอยกมือซ้ายได้ไหม
  • เพราะลูกเสือเขาว่า มือขวา เขาเอาไว้รบกัน
  • ฮ่าๆๆ

ผมก็มาๆ หายๆ ครับอาจารย์ขจิต เรื่องการพัฒนาของผู้เรียนนี่ (วัดผลระหว่างภาคเรียน) ทั้งใช้เวลาและใช้พลังงานมากกว่าการดูเรื่องวิชาการ (วัดผลปลายภาค) จะมีแต่ครูอาจารย์ที่ทุ่มเทห่วงใยผู้เรียนที่ลงแรง ลงเวลา

งั้นเรายื่นซ้ายมาจับมือกันมั่นนะครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท